112 ปี ที่รอคอย
112 ปี ที่รอคอย
โอลิมปิก ครั้งที่ 29 ณ กรุงโตเกียว กำลังเริ่มในอีกไม่กี่วันนี้แล้วครับ… ถึงจะจัดกันด้วยความวิตกกังวล ท่ามกลางปัญหาระดับมวลมนุษยชาติ ก่อนหน้านี้ ที่จะฟันธง เสียงของผู้สนับสนุน และคัดค้าน ก็แตกออกจนต้องลุ้นกันถึงวินาทีสุดท้าย และลงมติว่า “ต้องจัด” ปัญหาอะไรจะมีหรือเกิด ก็แก้กันไปให้ดีที่สุด มิเช่นนั้นก็คงเลื่อนไปอีกแบบไม่รู้จบ ด้วยความเชื่อที่ว่า ชีวิตคนยังไงก็ต้องดำเนินต่อไป มิใช่แค่เพียงชีวิตรอดเท่านั้น แต่ยังต้องมีอารยธรรม มีขนบ มีความสุข มีกิจกรรม ที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น
ข้ามมาถึงเรื่องกีฬากอล์ฟกับโอลิมปิกเลยครับ เรื่องแปลกมากที่กีฬาระดับสากลอย่างกอล์ฟ และเคยอยู่คู่กับโอลิมปิกมาตั้งแต่ยุคแรก กลับถูกยกเลิกและเงียบหายไปนาน จนกระทั่งคณะกรรมการได้เริ่มจัดกันใหม่อีกครั้งในโอลิมปิกครั้งก่อน เมื่อปี 2016 ที่ บราซิล มาย้อนรอยประวัติมหกรรมกีฬาโอลิมปิก กันสักนิดครับ
โอลิมปิก ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน กำเนิดขึ้นได้ต้องยกความดีความชอบให้กับ “ปิแอร์ เดอ ดูเบอร์แตง” ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นทั้งขุนนางและนักกีฬาที่มีชื่อเสียง เกิดเมื่อ 1 มกราคม 1863 (พ.ศ.2460) ใน ปารีส เมื่อตอนอายุท่านได้ 26 ปี เกิดความคิดจะรื้อฟื้นการแข่งขันโบราณ ที่หายไปนานถึง 15 ศตวรรษ จึงเริ่มติดต่อกับบุคคลสำคัญจากประเทศต่าง ๆ ทั้ง อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ใช้เวลาถึง 4 ปี จนสามารถเปิดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการได้สำเร็จ ณ ตำบลซอร์บอนน์ กรุงปารีส เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2435 มี 15 ประเทศ เข้าร่วม และได้ข้อกำหนดว่า กำหนดให้จัดทุก 4 ปี โดยให้สมาชิกหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และได้เริ่มจัดครั้งแรก ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อปี 1896 เพื่อให้เกียรติกับกีฬาโอลิมปิกในยุคโบราณ มีนักกีฬา 997 คน จาก 24 ชาติเข้าร่วมแข่งขัน ในกีฬา 19 และได้จัดต่อเนื่อง มีการพัฒนาจนเติบโตมาถึงปัจจุบัน และยังมีการจัด โอลิมปิก ฤดูหนาว สลับกันทุก 2 ปี โดยเริ่มครั้งแรก ที่ เมืองซาโมนิกซ์, ฝรั่งเศส ปี 1924 รวมถึง พาราลิมปิก สำหรับผู้พิการ ทั้งฤดูร้อน และฤดูหนาว, ยูธโอลิมปิก สำหรับเยาวชน ฤดูร้อนและฤดูหนาว อีกด้วย
ส่วนการแข่งขันกอล์ฟครั้งแรกในโอลิมปิก เกิดขึ้นเมื่อมีการจัดโอลิมปิกครั้งที่ 2 ในปี 1900 ซึ่งประเทศฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ, กอล์ฟ แข่งขัน ระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 1900 ณ สนามกอล์ฟ คองเปียญ (Compiegne Golf Club) ซึ่งสร้างในปี 1896 โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ชาย 36 หลุม, หญิง 9 หลุม และ ชาย เน็ตสกอร์ 18 หลุม และ เรื่องที่น่าแปลกก็คือ นักกีฬาหลายคนที่เล่น ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองกำลังแข่งขันในโอลิมปิก! ทั้งนี้เนื่องจาก โอลิมปิกได้ถูกรวมอยู่ในส่วนหนึ่งการจัดงานเวิร์ลแฟร์ และผู้จัดไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแข่งขันกีฬามากนัก เกิดความสับสน จนมีปัญหาสารพัดในการแข่งขัน
ความแปลกประหลาดของประวัติศาสตร์ยังไม่จบ ทั้งนี้เนื่องจากการจัดงานที่มีแต่ความสับสนผิดพลาด ทำให้ มาร์การ์เร็ต แอบบ็อต นักกีฬาสาวชาวอเมริกัน ซึ่งทำสกอร์ได้ 47 จากการแข่งขัน 9 หลุม เพียงพอเพื่อชนะการแข่งขัน ขณะที่ คุณแม่ของเธอ แมรี่ อีฟ จบเข้ามาเป็นอันดับ 7, แต่ มาร์การ์เร็ต ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับโอลิมปิก เนื่องจากเธอไม่ทราบว่าแข่งขันรายการอะไรอยู่ อีกทั้งยังไม่ได้รับเหรียญรางวัล แต่กลับได้เป็นชามรางวัลแทน (ผู้ชนะอันดับ 2 และ 3 ก็เป็นสาวอเมริกันทั้งหมด)… จนกระทั่งภายหลังเมื่อยอดนักกอล์ฟหญิงได้จากโลกนี้ไปแล้ว ลูก ๆ ถึงได้รับทราบข่าวดีอันยิ่งใหญ่ จาก ศ.พอลล่า เวล์ช แห่ง ม.ฟลอริด้า ว่า มาร์การ์เร็ต แอบบ็อต คือ นักกีฬากอล์ฟเหรียญทองโอลิมปิกหญิงชาวอเมริกันคนแรก! ส่วนนักกอล์ฟชาย ที่คว้าเหรียญทอง ชาลส์ แซนด์ ก็เป็นอเมริกันด้วยเช่นกัน
กอล์ฟโอลิมปิกในปี 1900 รอบสุดท้าย อัลเบิร์ต แลมเบิร์ต ชายหนุ่มจาก เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา เดินทางมาปารีสเพื่อทำธุรกิจและเข้าร่วมการแข่งขัน 36 หลุม สามารถคว้าเหรียญทองด้วยเน็ตสกอร์ 73 ในการแข่งขันแบบนับแต้มต่อ 18 หลุม ทำให้เขาเกิดความตื่นเต้นกับประการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาบ้าน จึงได้เริ่มวางแผนที่จะบรรจุกอล์ฟไว้ในโอลิมปิก ที่จะจัดขึ้น ณ เมือง เซนต์หลุย ในปี 1904 โดยได้รับความร่วมมือจาก ผู้พันจอร์จ แมคกรูว์ ซึ่งเป็นพ่อตาของเขาเอง
โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1904 เป็นครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ร่วมกับงาน เวิร์ลแฟร์ มีผู้เข้าร่วม 651 คนจาก 12 ประเทศ ซึ่ง กอล์ฟ แข่งขัน ระหว่าง 17-19 กันยายน 1904 ณ สนาม นิว เกลน เอคโค่ คันทรี คลับ มีตัวแทนจาก 2 ประเทศ สหรัฐอเมริกา มีนักกอล์ฟ 74 คน และแคนาดา มีนักกอล์ฟ 3 คน มีทั้งการแข่งขันตีไกล แข่งขันพัตต์ แข่งแบบมีแต้มต่อ การแข่งขันทีมนัซซอร์ (วิธีเล่นแบบหนึ่งที่นับคะแนน ดีที่สุด 9 หลุมแรก 9 หลุมหลัง และ 18 หลุม) และการแข่งขันแมตช์เพลย์ เพื่อชิงเหรียญโอลิมปิก โดย อัลเบิร์ต แลมเบิร์ต ได้ร่วมลงแข่งขันด้วย ทำให้เขาได้สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการเป็นนักกีฬาเพียงคนเดียว ที่ได้ลงแข่งกอล์ฟในโอลิมปิกทั้งสองครั้ง ส่วนผู้ที่ได้รับเกียรติทีออฟเป็นคนแรกคือ เรย์มอนด์ ฮาฟเมเยอร์ ผู้มอบถ้วยรางวัล Havemeyer ให้กับ การแข่งขัน U.S. Amateur Golf ในแต่ละปี
ในประเภททีม สหรัฐอเมริกา กวาดเหรียญไปได้ทั้งหมด แต่ที่ต้องลุ้นก็คือ ประเภทเดี่ยว เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง แชมป์สมัครเล่นของอเมริกา เอช แชนเดอร์ อีแกน, ซึ่ง อีแกน ชนะการแข่งขันตีไกล จนผ่านเขามาถึงรอบรองชนะเลิศของแมทช์เพลย์ ร่วมกับ บัช แมคคินนีย์, แฟรงค์ นิวตัน จากอเมริกาทั้งคู่ และ จอร์จ ลียง จากแคนาดา โดย แมคคินนีย์ ชนะการแข่งพัตต์ 9 หลุม จากสนามพัตต์กอล์ฟที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษ, ส่วน อีแกน และ ลียง ต่างก็ชนะในแมทช์ของตัวเอง แล้วมาเผชิญหน้ากันเพื่อตัดสินหาว่าใครจะได้เหรียญทอง
สภาพอากาศวันสุดท้ายทั้งเปียกทั้งหนาวและยังมืดครื้ม, อีแกน ทำระยะไม่ได้ดีนักเพราะแวร์แฟร์ที่ชุ่มไปด้วยน้ำ ขณะที่ วงสวิงแบบแฟลต ของ ลียง เริ่มทำงาน ได้ผล จนขึ้นนำ อีแกน ไป 3 อัพ เมื่อเหลือ 2 หลุมสุดท้าย สามารถคว้าเหรียญทองกลับแคนาดาได้สำเร็จ เรื่องที่น่าสนใจก็คือ จอร์จ ลียง เริ่มเล่นกอล์ฟเมื่ออายุ 38 นับว่าช้ามาก นั่นเป็นเพราะเขาอายุมากเกินไปที่จะเล่นกีฬาอย่าง คริกเก็ต รักบี้ เบสบอล และเทนนิส แล้วกอล์ฟ ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเขาคว้าแชมป์ แคนาเดี้ยน อะเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ได้ถึง 8 ครั้ง ซึ่งตอนที่มาชนะโอลิมปิก เขาก็เป็นแชมป์มาแล้ว 3 สมัย
โอลิมปิก ครั้งต่อมา จัดขึ้นในปี 1908 ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จอร์จ ลียง ได้เดินทางไปป้องกันแชมป์ แต่กลับพบว่า ไม่มีกีฬากอล์ฟในการแข่งขัน เนื่องจากเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เล่น ระหว่าง คณะกรรมการกอล์ฟโอลิมปิกและ Royal & Ancients ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในวงการกอล์ฟ จนทำให้นักกอล์ฟชาวอังกฤษถอนตัวจากการแข่งขัน และกอล์ฟถูกยกเลิก, มีข้อเสนอให้ ลียง ได้รับเหรียญทอง แต่เป็นในเชิงสัญลักษณ์ ราวกับเพื่อจะปลอบใจ แต่เขาบอกปฏิเสธ และเดินทางกลับ
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้ง 4 จัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มในปี 1912 ซึ่งมีการเล่นกอล์ฟไม่มาก จึงไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไป พอถึงปี 1914 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โอลิมปิก จึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย พอถึงปี 1920 กลับมาจัดอีกครั้งที่เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยี่ยม แต่ผู้เล่นไม่มีจึงต้องงดไปอีก และในปีถัดมา 1921 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ปรับปรุงเงื่อนไขการเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก โดยกำหนดบทบัญญัติว่า กีฬาจะต้องมีองค์กรคอยดูแล และต้องเล่นใน 40 ประเทศ เนื่องจากข้อกำหนดใหม่นี้ กอล์ฟจึงขาดคุณสมบัติเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 1936 ที่กรุงเบอร์ลินอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีได้จัดการแข่งขันกอล์ฟระดับนานาชาติ ‘The Great Golf Prize of Nations’ ซึ่งเล่นที่เมืองบาเดิน-บาเดิน ร่วมกับการแข่งขันโอลิมปิก และวางแผนให้มีพิธีมอบเหรียญรางวัล คล้ายกับงานโอลิมปิก มี 7 ประเทศ เข้าร่วมการแข่งขัน ผู้ชนะประเภททีม 2 คน จากการเล่น 4 รอบ จะได้รับถ้วยรางวัลของฮิตเลอร์ ซึ่งเขาเคยสัญญาไว้ว่า หากผู้ชนะเป็นชาวเยอรมัน จะมอบถ้วยรางวัลนี้ด้วยตัวเอง
รอบสุดท้าย ทีมเยอรมันขึ้นนำทีมอังกฤษ, ฟอน ริบเบนทรอป รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมัน ขอให้ฮิตเลอร์เดินทางมาที่สนาม ในขณะที่เขาคิดว่าเยอรมนีจะชนะอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทอมมี่ เธิร์สก์ และ อาร์โนลด์ เบนท์เลย์ จากทีมอังกฤษ เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่ง เธิร์สก์ ได้สร้างสถิติด้วยคะแนน 65 พาทีมอังกฤษขึ้นนำ ส่วนทีมเยอรมัน เล่นได้อย่างน่าผิดหวัง จนตกลงไปอยู่อันดับ 3 โดยทีมฝรั่งเศสแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 2, ฟอน ริบเบนทรอป จำเป็นต้องแจ้งข่าวร้ายแก่ฮิตเลอร์ ซึ่งโกรธจัด สั่งคนขับรถให้ส่งเขากลับเบอร์ลินทันที ทิ้งให้ ดร.คาร์ล เฮงเคลล์ เป็นผู้มอบถ้วยรางวัลชนะเลิศให้กับทีมอังกฤษ…
ถ้านับอย่างเป็นทางการ ครั้งสุดท้าย ที่ กอล์ฟ บรรจุในโอลิมปิก ก็คือ โอลิมปิค ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนต์หลุยส์ อเมริกา ใน ปี 1904 แล้วก็ว่างเว้นไปจนถึง ปี 2016 เป็นเวลาถึง 112 ปี ที่รอคอย โอลิมปิค ครั้งที่ 28 ณ เมืองรีโอ เดจาเนโร ประเทศบราซิล กอล์ฟถึงได้กลับมาเป็นกีฬาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และในอีกไม่กี่วันนี้ โอลิมปิค ครั้งที่ 29 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กอล์ฟ ก็เป็นอีกหนึ่งในกีฬาความหวังที่จะได้เหรียญของประเทศไทย มาร่วมส่งแรงใจเชียร์นักกอล์ฟไทยทุกคน ให้ประสบผลสำเร็จกันด้วยนะครับ.
กองบรรณาธิการ
ข้อมูลบางส่วนจาก golfcollege.edu, olympics.com, wikipedia, google.com