แก้วใจจุลจอม : พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีความทุกข์โทมนัส (2)
พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีความทุกข์โทมนัส (2)
“ร. ที่
ถึง พระยาเทพประชุนปรีวีเคาน์ซิล ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่
……………………..ฯลฯ ……………………………….
เรื่องเรือล่มนั้น นึกจะบอกให้พระยาเทพประชุนทราบแต่แรก แต่ไม่มีแรงจะบอก ทีหลังก็มีการมากเสีย ไม่มีเวลาจะเขียน เพื่อจะเล่าความโดยย่อดังนี้ คือที่ตำบลบางพูดนั้นเป็นที่น้ำตื้น.. ในเวลานั้นเราไปถึงกลางทาง จมื่นทิพเสนาลงเรือกลไฟกลับมาบอกเมื่อไปพ้นปากเกร็ดหน่อยหนึ่งว่าเรือล่ม เราถามว่าใครเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง บอกแต่ว่าลูกตายคนเดียว นอกนั้นดีหมด ครั้นไปถึงบางพูด คิดว่าลูกเล็กนักคงจะตาย แล้วเสร็จก็ไม่รีบร้อนเข้าไปดู รอไล่เลียงความอยู่ประมาณ ๑๕ นิมิต นายอ่ำแจ้งความว่า ตายแต่ลูกคนเดียว ตัวเองได้โดดน้ำลงไปรับขึ้นมา ก็หมายว่าเป็นจริงทั้งนั้น ต่อเทวัญขึ้นไปเห็นจึงได้ลงมาบอกว่าหญิงใหญ่ก็เต็มทีเหมือนกัน รีบไปแก้ไขอยู่ถึง ๓ ชั่วโมง แต่เปล่า แก้ไขคนตายแล้วทั้งนั้น ตายเสียแต่เมื่อเอาขึ้นมาจากน้ำแล้ว จนเขาไม่แก้กันแล้ว การเป็นดังนี้ เพราะไว้ใจคนผิด เข้าใจว่าบุญคุณจะลบล้างความริษยาเกลียดชังกันได้ แต่การกลับเป็นอย่างอื่นก็เป็นอันจนใจอยู่ เราไม่ว่าเป็นการแกล้งฆ่าที่คิดไว้ว่าจะฆ่าด้วยอย่างนี้ แล้วแลสมประสงค์ เห็นว่าเป็นเหตุที่เผอิญจะเกิดเป็นขึ้นให้เป็นช่องที่อคติเดินได้สะดวกตามประสงค์ หญิงใหญ่นั้นเป็นคนว่ายน้ำแข็ง แจวเรือพายเรือได้แข็ง ที่ตายครั้งนี้เห็นจะเป็นเพราะห่วงลูก เพราะพี่เลี้ยงของลูกว่ายน้ำไม่เป็น คนที่อยู่ในเก๋งเรือนั้นถึง ๖-๗ คน ด้วยกันนอกนั้นรอดหมด ตายแต่พี่เลี้ยงของลูกที่ว่ายน้ำไม่เป็นคนหนึ่งกับแม่ลูกเท่านั้น เก๋งเรือนั้นปิดฝาเกล็ดแลเอาม่านลงข้างแถบตะวันออกตลอดเพราะแดดร้อน ข้างแถบตะวันตกเปิดฝาเกล็ดอยู่สองช่อง ช่องนั้นเฉพาะพอตัวคนลอดออกมาได้ หญิงใหญ่นั้นได้ช่องที่หน้าต่างนั้นจะว่าเพราะติดท้องก็จะไม่ติด กลัวว่าจะพาลูกออกมาด้วย แต่สิ้นกำลังออกมาไม่ได้ จึงได้ค้างอยู่ การซึ่งเป็นขึ้นครั้งนี้ ทำให้ได้ทุกข์โทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยพบเลยตั้งแต่เกิดมา เกือบจะไม่ได้เห็นพระยาเทพประชุนต่อไป…
“ร. ที่
ถึง พระยารัตนาโกษา
ด้วยเหตุอันตรายซึ่งเป็นที่เศร้าโศกครั้งนี้ พระยารัตนโกษาคงจะทราบความแล้ว บัดนี้มีความคิดถึงพระยารัตนโกษามาก ด้วยการที่จะต้องทำนั้นมีมาก ถึงพระยารัตนโกษาออกมาอยู่นอกแล้วก็คงจะต้องใช้ทำการเหมือนกัน
๑. โกศซึ่งจะใส่อัฐิสุนันทา ที่ส่งรูปแบบหมาย A ออกมาให้ดูเป็นทองคำลงยาราชาวดี จะทำในกรุงเทพฯ แต่ของที่จะต้องสั่งเป็นเครื่องประดับนั้น ที่จะว่าต่อไปข้างล่างนี้
๒. คือแบบที่หมาย C กรอบรูปแลกรอบหนังสือซึ่งจะมาติดฝามณฑปทั้งสี่ด้าน กรอบที่ ๑ ซึ่งหมายไว้ ด้วยเลข ๑ เป็นกรอบเปล่าไม่มีอะไรอยู่กลางนั้น ให้ทำรูปสุนันทาลงน้ำยาศรีเหมือนตราจุลจอมเกล้า เป็นรูปครึ่งตัวเล็กใหญ่พอควรกันแก่กรอบ ได้ส่งตัวอย่างรูปออกมาให้ดูสองรูป รูปครึ่งตัวนั้นพอจะได้สังเกตเค้าให้แน่นอน ที่จะทำลงยานั้นอย่าให้ทำแต่งตัวห่มตาษเลย ให้ใช้ห่มแพรอย่างรูปที่นั่งข้างโต๊ะเต็มตัว รูปนั้นเป็นเหมือนมาก ให้เอาเหมือนรูปนั้นเป็นดี ศรีเสื้อผ้าถ้าทำได้ทุกศรีให้ทำ เสื้อม่วงห่มเขียวสดถ้าสองศรีนี้ไม่ได้ศรีอะไรก็ตามอย่างไทยๆ
๓. แผ่นที่หมายเลข ๒ เลข ๓ เลข ๔ พื้นกลางเป็นลงยาน้ำเงินตัวหนังสือประดับเพชร แผ่นที่ ๒ หนังสือนั้นว่า “สมเด็จพระนางเธอสุนันทากุมารีรัตน์” แผ่นที่ ๓ ว่า “ประสูติ วัน๗ ฯ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีวอก โทศก ๑๒๒๒” แผ่นที่ ๔ ว่า “สิ้นพระชนม์วัน ๒ฯ๘ ๗ ค่ำ ปีมะโรง โทศก ๑๒๓๒”
๔. กรอบหนังสือและกรอบรูปทั้งสี่นี้ เป็นลายทองคำ ปรุประดับเพชรทั้ง ๔ กรอบ ขนาดโตเล็กเอาเท่าที่เขียนมา
๕. เฟื่องปากมณฑปเป็นเฟื่องทองประดับเพชร ตามอย่างที่หมายเลข ๕ จะต้องใช้ ๑๒ ตอนจึงรอบปากโกศ ระยะสั้นยาวของเฟื่องเท่าตัวอย่างรูปหมายเลข ๕ ในตัวอย่างอีกแห่งหนึ่งนั้น เจ้าต๋งจงเขียนเป็นอย่างให้เห็นว่าเฟื่องนั้นเมื่อดูข้างมิใช่เป็นของสิ่งอื่นต่างหาก
๖. พู่ที่จะห้อยตามเฟื่องใช้เป็นพู่เส้นๆ ไหวได้เหมือนพู่ห้อยสายนาฬิกา เป็นเพชรรอบเหมือนตัวอย่าง
ที่หมายเลข ๖ เหมือนกันที่หมายเลข ๖ อีกแห่งหนึ่งนั้นจะเห็นข้างในของพู่นั้น
๗. ใบไม้เพชรที่หมายเลข ๗ จะมาติดหัวแหวนประดับประจำยามใช้สี่ใบ ใบไม้เพชรที่หมายเลข ๘ จะมาใช้ติดหัวแหวนประดับตามถานบัตร และกาบ พรมสรใช้ ๒๐ ใบ
๘. บรรดาของทั้งนี้ เป็นเครื่องประดับโกศสุนันทา ใช้เพชรเบรเลียนบ้าง เพชรซีกบ้างตามสมควรแก่ที่จะประดับมาให้งามได้
๙. เครื่องประดับโกศลูกหญิง แบบที่หมาย D ที่เขียนกรอบกลางว่างมานั้นให้ทำรูปลูกลงยาเหมือนอย่างรูปสุนันทา แต่รูปลูกนั้นมีแต่ที่แม่อุ้ม ที่จะทำนี้ให้ยกรูปแม่เสีย ทำแต่รูปลูก จะทำเต็มตัวได้ฤาจะทำครึ่งตัวก็ตาม จะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นพระธุระในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระโกศ หรือกรอบรูป ส่วนที่ประดับตกแต่งให้สมพระเกียรติ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยัน ความรักความสิเน่หายิ่ง
ร. ที่ ๑๘๙
๔๒
ถึงชาวอเมริกัน ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ
ท่านทั้งปวง
เราได้มีความยินดี เพราะท่านทั้งหลายได้พร้อมใจกันให้พรเราในวันเกิด เราขอตอบแก่ท่านทั้งหลายว่าถึงในการที่ล่วงมาแล้ว เราต้องได้ความทุกข์แลความไม่สบายเป็นอย่างยิ่ง เพราะการในครอบครัวเรา เรายังมีความยินดีส่วนหนึ่งที่เห็นว่าท่านทั้งปวงแลเจ้านายข้าราชการ ราษฎรพลเมืองของเรา ได้มีส่วนในความทุกข์แห่งเรามาก แลได้เห็นน้ำใจของท่านทั้งปวง ซึ่งมีใจรักเราโดยความซื่อตรงแห่งผู้ซึ่งอยู่ใต้ความปกครองของเรา ฤาที่ได้มีไมตรีรักใคร่โดยทางไมตรีแห่งการบ้านเมืองแลเฉพาะตัวเรา เพราะเหตุนี้ทำให้เราเบาบางความทุกข์ได้ประการหนึ่ง
อนึ่ง ถึงว่าเมื่อเราต้องเป็นทุกข์อยู่ดังนั้น เรายังมีที่สบายใจอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ทุกข์ คือเห็นว่าบ้านเมืองของเรามีความเจริญอยู่เสมอ มิได้ทดถอยไปเพราะตัวเราทุกข์ แลทางพระราชไมตรีของประเทศทั้งปวงก็ยิ่งเจริญมากขึ้น เพราะเหตุนี้แลเราจึงแจ้งแก่ท่านทั้งหลายได้ว่า เรายังมีความยินดีอยู่
เราไม่ได้คิดจะหยุดถอย ที่จะคิดให้บ้านเมืองมีความเจริญ ทั้งการผลประโยชน์ในเมือง แลการที่จะเกี่ยวข้องกับนานาประเทศ เราคิดจะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเต็มกำลังที่เราจะทำได้ทุกอย่างอยู่เป็นนิจ
ท่านทั้งปวง ขอท่านได้รับความขอบใจของเราที่ท่านได้มีความเสียใจด้วยในเวลาเรามีทุกข์ แลมีความยินดีในเวลาที่ควรจะยินดี คือ การทำบุญวันเกิดของเราครั้งนี้
เราขอท่านทั้งหลายได้รับความสุขทุกอย่าง ซึ่งควรที่ท่านจะได้โดยกำลังของเรา ในอาณาเขตของเรา ฤาการที่เหลือกำลังที่จะให้ท่านเป็นไปได้ตามใจ แต่จะมีผู้ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในสกลโลก ซึ่งจะให้สำเร็จได้ทุกประการ จึงโปรดให้ท่านทั้งหลายมีความสุขสำราญทุกเมืองเทอญ
พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
ณ วัน ๔ฯ๑๑ ๑๐ ค่ำ ปีมะโรง โทศก ศักราช ๑๒๔๒
ตรงกับวันที่ ๒๙ เซบเตอเบอ ปี ๑๘๘๐
(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์
มณีจันทร์ฉาย