Just Say Know

ยูนิเซฟแนะ ไม่ควรแยกเด็กเสี่ยงจากครอบครัว

ยูนิเซฟแนะ ไม่ควรแยกเด็กเสี่ยงหรือที่ติดเชื้อโควิดจากครอบครัว

จากการระบาดของโควิด -19 ในประเทศไทยระลอกล่าสุด มีจำนวนเด็กที่ติดเชื้อมากกว่าทุกครั้ง และด้วยมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การกักตัวผู้มีความเสี่ยงสูง และการให้เข้ารักษาในสถานพยาบาล ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะถูกแยกจากครอบครัว เช่นที่เห็นเป็นข่าวอยู่หลายครั้ง ภาพที่ออกมาสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็นไม่มากก็น้อย และแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจด้วย

ซึ่งองค์การยูนิเซฟและกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ออก แนวทางการดูแลเด็กที่ มีความเสี่ยงสูง หรือติดเชื้อโควิด-19 โดยเน้นลดการแยกเด็กจากครอบครัวและส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด ซึ่งแนวทางปฏิบัตินี้นำมาจากแนวปฏิบัติสากลของยูนิเซฟ เรื่อง “การกักหรือแยกตัวเด็ก : การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย โดยต้องการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อเด็ก

แนวปฏิบัติดังกล่าว ระบุว่า การตัดสินใจแยกเด็กที่ติดเชื้อหรือกักตัว ควรคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ควรประเมินแบบองค์รวมโดยคำนึงถึงผลกระทบอื่นที่อาจเกิดขึ้นจากการแยกเด็กออกจากครอบครัวด้วย เช่น ความเครียดของเด็กจากการต้องปรับตัว การต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจเป็นญาติที่ไม่ได้สนิทนัก หรือการที่กิจวัตรต่างๆ ที่เด็กเคยทำอาจต้องเปลี่ยนไป นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่เด็กจะเผชิญกับความรุนแรง การถูกทำร้าย การถูกละเลยทอดทิ้ง และการถูกแสวงประโยชน์ในระหว่างที่ต้องถูกแยกจากครอบครัว รวมถึงควรพิจารณาเป็นรายกรณี โดยขึ้นอยู่กับอาการเจ็บป่วย ความจำเป็นที่ต้องได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค และสภาพที่บ้าน รวมถึงการมีผู้ที่มีความเสี่ยงอยู่ในครัวเรือน

นางคิม คยองซัน ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ยูนิเซฟยินดีที่กรมกิจการเด็กและเยาวชนและกรมอนามัยเป็นผู้นำในการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันมากที่สุด โดยได้ยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลักตามที่ระบุไว้ในแนวทางปฏิบัติของยูนิเซฟ มาตรการใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากการติดเชื้อควบคู่ไปกับผลกระทบด้านอื่นของเด็กด้วย เราควรดำเนินการเพื่อให้เด็กได้อยู่กับครอบครัวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

แนวปฏิบัติของยูนิเซฟ แนะนำว่า ในกรณีที่เด็กติดเชื้อ เมื่อเด็กต้องถูกแยกตัว ควรอนุญาตให้คนในครอบครัวที่เด็กคุ้นเคยไปอยู่กับเด็กด้วย ควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านเด็กมากที่สุด มีการจัดทำข้อมูลรายบุคคลของเด็ก และจัดให้มีการสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ปกครองเป็นประจำทุกวัน

ในกรณีที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลักติดเชื้อและต้องเข้ารับการรักษา ควรจัดให้เด็กได้อยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวขยายหรือคนรู้จักของครอบครัวที่เชื่อถือได้ ซึ่งระบุตัวโดยผู้ดูแลหลักของเด็ก ทั้งนี้ต้องมีการจัดทำเอกสารรายละเอียดของเด็กและครอบครัว และจัดให้มีการติดต่อระหว่างกันเป็นประจำ ในกรณีเด็กถูกทิ้งไว้ลำพัง ผู้พบเห็นต้องแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300

ผู้ที่สนใจต้องการรายละเอียดแนวปฏิบัติเรื่อง “การกักหรือแยกตัวเด็ก: การคุ้มครองและป้องกันการแยกเด็กจากครอบครัวในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สามารถ ดาวน์โหลดได้ที่ https://uni.cf/3cr3IyO (ภาษาไทย) และ https://uni.cf/34XjH3l (ภาษาอังกฤษ)

ที่มา: องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย