Interview

อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ

อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ
ศิลปินแห่งชาติ
รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยศิลปากร
“อะไรที่ทำให้เกิดความเครียด ถ้าเราเข้าใจมัน ก็ตัดทิ้งได้ง่าย”

ศิลปะ : รักมาตั้งแต่เด็ก แม่เคยเล่าว่า ตอนเด็ก ๆ ชอบเอาไม้มาขีดเขียนที่หน้าบ้าน โตขึ้นมาก็ไปขอสมุดเก่า ๆ ของพี่ที่เหลือ ๆ มาวาดรูปเล่น แต่ก็ไม่มีครูคอยสอนเป็นพิเศษ ชอบอะไรก็ไปตามนั้น โตขึ้นมา ก็ชอบไปยืนดู แอบดู พี่ที่วาดรูปให้กับโรงหนัง คิดอยู่ตลอดเวลาว่า วันหนึ่งจะต้องเขียนรูปแบบนั้นบ้าง พอเข้าโรงเรียนประจำอำเภอทุ่งสง ครูที่สอนศิลปะ จบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมรู้สึกชอบมาก ดูท่านไม่เหมือนคนอื่น แต่งตัวเท่มาก เป็นแรงบันดาลใจ พยายามไปใกล้ชิดท่าน จนมีอยู่งานหนึ่ง ท่านรับงานปั้น ไปติดตั้งที่ศาลาประชาคมของอำเภอ ท่านก็มาเรียกผมให้ไปช่วย ผมดีใจมาก ขณะที่ทำอยู่ด้วยทุกวัน ท่านก็จะเล่าเรื่องของมหาวิทยาลัยศิลปากรให้ฟัง ค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปมากขึ้นทุกที จนจะเรียนจบชั้น มัธยม 3 ก็บอกที่บ้านว่า จะไปเรียนศิลปะ

ไม่มีใครเห็นด้วย : ทุกคนมองว่าแล้วจะเอาอะไรกิน บอกว่าคิดใหม่ได้นะ เพราะในอำเภอทุ่งสง มีวิทยาลัยเกษตร เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับความนิยมจากเด็ก ๆ ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนไปเรียนต่อที่นี่ ถ้าเข้าจังหวัดก็ไปเรียนวิทยาลัยครู พ่อก็บอกว่า ถ้าอยากเรียนวิทยาลัยครูก็จะคุยกับเพื่อนให้ แล้วถ้าอยากเรียนวิทยาลัยเกษตร ก็จะคุยกับญาติให้ แต่ผมก็ไม่เลือกสักที่ ยังอยากมากรุงเทพฯ

เข้ากรุง : คุณพ่อคงทนเสียงรบเร้าของผมไม่ไหว ปล่อยให้มาอยู่กับพี่ที่กรุงเทพฯ ด้วยความไม่รู้อะไรเลย ไปสอบเรียนเพาะช่างก็ยังไม่ติด เขาให้เขียนรูป เราก็เขียนได้ แต่มันไม่ได้สัดส่วน ไม่เคยผ่านการฝึกอะไรมาก่อน ขณะที่ดูคนอื่นเก่ง ๆ กันทั้งนั้น พอสอบไม่ได้ ต้องกลับบ้าน แล้วคงจะไม่ได้กลับมาอีกแล้ว

ไทยวิจิตรฯ : ผมก็ไปขอป้าว่า อยากเรียนแต่ไม่มีตังค์ ช่วยจ่ายค่าเทอมให้ด้วย เพื่อไปเรียนไทยวิจิตรศิลป์ โรงเรียนศิลปะของเอกชน ที่ตัดสินใจเรียนก็เพราะ ค่าเรียนถูกที่สุด อยากจะขอป้าให้น้อยที่สุด แต่พอไปเรียนแล้วก็เหมือนกับการกวดวิชา ก็ตั้งใจเรียนทั้งปี เพื่อเตรียมสอบใหม่ เรียนไป 3 เทอม โดนให้ออก 2 ครั้ง สาเหตุก็คือ จ่ายค่าเทอมไม่ทัน เขาเขียนชื่อมาแปะไว้หน้าโรงเรียนว่าห้ามเข้า พอมีตังค์ไปจ่าย ก็กลับเข้าไปเรียนอีก

ตกเพราะตัวเอง : เรามั่นใจแล้วว่าเขียนรูปได้ ก็ไปสอบอีก ไม่อยากเรียนที่อื่นเลย มั่นใจมากว่ายังไงก็ต้องได้ พอถึงวันสอบสัมภาษณ์ ดึงเอาบัตรเข้าห้องสอบมาให้อาจารย์ดู บุหรี่ตกออกมาด้วย พออาจารย์ถามก็ตกใจ ปฏิเสธไม่ออกเพราะหลักฐาน ถูกคัดชื่อออกอีก สอบไม่ได้เป็นปีที่สอง ทั้ง ๆ ที่ปีนั้น พร้อมหมดทุกอย่างแล้ว แต่มาตายด้วยตัวเราเอง เริ่มแย่หนักขึ้น เงินก็ไม่มีเรียนแล้ว แต่ก็เริ่มมีเพื่อน ชวนกันไปหางาน ก่อสร้างก็ทำ จนมีเพื่อนมาบอกว่ามีงาน ค่าแรงวันละ 20 บาท ทำหน้าที่คอยตักสี ผสมสีให้กับช่างเขียน ผมกับเพื่อนก็ไปทำงาน นั่งดูกันไปทุกวัน พอว่างก็เอาสีที่เหลือมาเขียนรูปเล่น จนกระทั่งพี่ที่เป็นช่างเขียน บอกว่า อย่ามานั่งเสียเวลาอยู่อย่างนี้เลย ไปเรียนหนังสือดีกว่า ผมก็บอกว่า อยากเรียน แต่สอบไม่ได้ เขาก็ให้กำลังใจมาอีก

เพาะช่าง : จนครบปี ก็ไปสอบอีกรอบ 3 อะไรที่เคยเป็นข้อบกพร่อง แก้ไขจนหมด ทำให้คราวนี้สอบได้ แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองเริ่มเลยวัย เรียนช้าไปกว่าเพื่อน ๆ ถึงสองปี มีความน้อยอกน้อยใจเหมือนกัน แต่เมื่อสอบได้ก็เริ่มฮึดขึ้นมาอีกครั้ง ห้องที่ผมสอบได้ เป็นห้องท้ายสุด เป็นห้องรวมดาว มีครบทุกอย่าง เด็กดื้อ เกเร เด็กฝาก ตำรวจ ทหาร อายุเยอะแล้ว มาเรียนปรับยศ สารพัด กลายเป็นว่าผมไม่ได้เป็นตัวประหลาดในห้องนี้เลย ระหว่างเรียน คิดอยู่เสมอว่า อยากเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร

ศิลปากร : ผมได้รับแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากภาพยนตร์ของท่านมุ้ย พอได้ดูยิ่งอยากเข้าไปเรียนศิลปากร ก็ชักชวนเพื่อนที่อยากไปเรียนต่อด้วยกัน มาฝึก มาซ้อม ตั้งใจกันมาก ผมเลือกจิตรกรรมอันดับ 1 เพราะยากสุด มัณฑนศิลป์ อันดับ 2 ผมไปดูผลสอบสองครั้ง ไม่มีชื่อติด กลับมาบอกเพื่อนว่า ไม่เป็นไร เรียนต่อ ปวส.เพาะช่าง ไป แต่เพื่อนอีกคนมาบอกว่า เห็นชื่อผมอยู่ว่าสอบติด ให้กลับไปดูใหมj ด้วยการประมาณตัวเองว่า ถ้าติด คงติดอยู่ท้าย ๆ ทำให้ดูแต่ลำดับท้าย ๆ ไม่ดูข้างบน ซึ่งชื่อผมอยู่ลำดับที่ 5 กลับไปบอกที่บ้านว่าสอบติด ไม่มีใครเชื่อผมสักคน ต้องขอให้พ่อเพื่อนเป็นผู้ปกครอง ไปเรียนก็กลัวไม่จบ ทุกคนบอกว่ายากมาก แต่ผมก็เรียนไปเรื่อย ๆ เรียนปริญญาตรี 5 ปี ผมนอนอยู่ในมหาวิทยาลัย 4 ปีครึ่ง แต่ก็ไม่เป็นอะไรที่ประหลาด ส่วนใหญ่ก็คล้าย ๆ กัน สิ่งหนึ่งที่ได้ก็คือ เรารู้จักรุ่นพี่รุ่นน้อง มีสายสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ตัวเองสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง จากความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นอกจากจะได้สร้างงานศิลปะ ได้เรียนรู้แล้ว ยังทำให้ชีวิตมีความแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย ทำงานหารายได้เองตลอดเวลา ทำให้รู้จักคนโน้นคนนี้ กระจายไปเรื่อย ๆ พอเราเป็นรุ่นพี่ ก็ช่วยเหลือรุ่นน้อง ๆ ได้

ทำงานนิตยสาร : นับว่าโชคดี พอเรียนจบ ก็ได้งานที่ นิตยสารลลนา ของ อ.สุวรรณี สุคนธา (สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง) ผมแสดงงานวิทยานิพนธ์วันนี้ วันรุ่งขึ้น รุ่นพี่ก็มาตามให้ไปทำงาน ไม่ต้องไปสมัครงานที่ไหน ตอนนั้นก็ยังงง ๆ เรียนจบใหม่ ๆ ยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย รุ่นพี่ก็บอกว่า ถ้าจะไปก็ไปทันที หรือไม่งั้นก็ไม่ต้องไปเลย โอกาสนี้ไม่มีอีกแล้ว พอเข้าไปก็ได้รู้ว่า นี่คือหนังสือที่ใคร ๆ ก็อยากทำ อยากเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ได้เรียนรู้วิธีการทำหนังสือ ทำอาร์ตเวิร์ค ออกแบบ ฝ่ายศิลป์ เป็นช่างภาพ ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง กระบวนการทำหนังสือสมัยก่อนยังไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์มากเหมือนปัจจุบัน

เรียนต่อ : ทำงานไปอีกพัก เกิดความคิดว่า สงสัยต้องเรียนต่อ แต่ตอนนั้นไม่กล้าบอกใคร แอบไปเรียน จนผ่านไปเป็นปี อาจารย์เขาเห็นก็เรียกเข้าไปพบ นึกว่าจะถูกตำหนิ แต่กลายเป็นท่านบอกว่า ผมไปเรียนน่ะดีแล้ว เพราะนิสัยแบบผมทำงานแบบนี้ไม่ได้หรอก เผื่อจะได้เปลี่ยนงานที่ตรงกับตัวตน ผมก็เรียนจนจบปริญญาโทที่ ม.ศิลปากร

โปแลนด์ : เจ้าหน้าที่วัฒนธรรมของสถานทูตโปแลนด์มาติดต่อ บอกว่าเห็นงานของผมที่แสดงแล้วได้รับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ รัฐบาลโปแลนด์อยากจะให้ทุน สนใจรึไม่ ผมแทบจะตอบตกลงในทันที เพราะโอกาสแบบนี้คงไม่มีง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย ก็ขอเวลาสักนิดในการตัดสินใจ ผ่านไปอีกแค่วันเดียวผมก็กลับไปตอบตกลง แต่เขาก็คงรู้ว่า ถ้าปล่อยไปคนเดียวคงลำบากแน่ จึงให้มา 2 ทุน ผมก็ชวนรุ่นพี่ให้ไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น ถ้าผมไปคนเดียว คงกลับบ้านตั้งแต่อาทิตย์แรก คุยไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ โลกมันคนละระบบ เรียนอยู่ 3 ปี โลกใบมันโตขึ้น เปิดกว้างให้ ในหอพักที่ผมอยู่มีเพื่อนต่างชาติเป็นสิบคน เรียนด้วยกัน ทำงานด้วยกัน พอใกล้ปีใหม่ เพื่อนเยอรมันชวนไปบ้าน พอหน้าร้อนเพื่อนที่กรีกชวนไปบ้าน ไปทำงาน เก็บผลไม้ ในสามปี ผมเที่ยวยุโรปได้เกือบหมด เพราะมีเพื่อน ทำงานไปเก็บเงินไป จนเรียนจบ กลับมาหารุ่นพี่ที่เป็นช่างภาพ จังหวะนั้นสิ่งพิมพ์ก็เริ่มเข้าสู่ขาลง ก็พากันไปเปิดสตูดิโอที่ซอยหลังสวน ทำสักพัก จนมองหน้ากันแล้วรู้สึกว่า มันไม่น่าจะใช่ เพราะเราคงไม่ถนัดกับการทำธุรกิจการค้าแบบเต็มตัว รุ่นพี่ก็ถึงจุดอิ่มตัว และผมก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่อาชีพของผม ในที่สุดก็เลิก

รับราชการ : บังเอิญว่า อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเจอผม พอสอบถามความเป็นไป ก็ชวนให้ไปช่วยกันสอน พอไปช่วยอยู่ได้สักปี ท่านก็มาบอกว่า มีตำแหน่ง อยากให้ผมบรรจุ ครั้งแรกก็ลังเล คิดว่าตัวเองจะอยู่ได้รึไม่ ยิ่งเมื่อก่อนเคยมีรายรับเยอะ ๆ แต่ในท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจว่า ดีแล้ว เราก็ปรับตัวเอง ให้มีชีวิตที่เรียบง่ายก็ได้ ที่สำคัญคือ ได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง ได้สอน ได้ทำงานศิลปะ ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ ก็เลยสอบบรรจุเข้าไปเป็นอาจารย์ในคณะจิตรกรรม สอนได้ปีนึง คณบดี ให้ช่วยไปเป็นรองคณบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา เพราะผมสนิทกับเด็ก ทำโน่นทำนี่ ปรากฏว่า ตั้งแต่ตอนนั้น จนถึงเกษียณ ขาข้างหนึ่งผมทำงานบริหารมาตลอด เป็นมาแล้วหลากหลายหน้าที่ เป็นหัวหน้าภาค เป็นผู้ช่วยคณบดี เป็นคณบดี ขนาดเกษียณแล้วยังกลับมาเป็นรองอธิการบดี ไม่ได้หนีไปไหนจากตรงนั้นเลย งานศิลปะก็ได้ทำแค่ครึ่งเดียวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้สร้างเด็ก ได้นำความรู้ที่เรามี มาถ่ายทอด ผมอายุราชการน้อย เพราะเริ่มต้นช้ากว่าคนอื่น แล้วยังปากหนัก ถ้าให้ทำธุรกิจคงไม่ไหว ไม่ต่อรอง ใครขอให้ช่วยอะไรก็ช่วย ถ้าผมอยากทำ ทำให้เต็มที่ จนโดนบ่นว่า ทำธุรกิจไม่ได้ ใจอ่อน อยากทำไปหมด ขอให้ได้ทำ ถ้าคิดว่าสนุก จะได้หรือไม่ ไม่รู้

ผลงาน : ในระดับปริญญาตรี ผมก็เหมือนช่างวาดรูปทั่วไป แต่มุมมองในยุคนั้นอาจจะดูใหม่หน่อย เช่นเขียนเงาสะท้อนในกระจก จากตึกสูง ในสมัยก่อนยังมีอยู่น้อย เวลาเห็นก็จะตื่นเต้น เนื่องจากเคยเป็นช่างภาพ เก็บข้อมูล มุมเหล่านี้มาใช้กับงานเขียน ซึ่งก็ไปได้ดี แต่พอไปอยู่โปแลนด์ ได้เห็นอะไรต่าง ๆ ในยุโรป ความเป็นช่างวาดก็ลดลง งานร่วมสมัยอื่น ๆ ก็เข้ามามากขึ้น ใช้สื่ออื่น ๆ เข้ามาผสม ภาพถ่าย วีดีโอ ฟิล์ม ฯลฯ ยุคนั้นสมองเราอาจจะทำงานเต็มที่ คิดอะไรก็ออกมาเป็นแนวใหม่ไปหมด ไม่สามารถนำความคิดย้อนกลับมาเป็นงานแบบจิตรกรรมได้ ช่วงหลัง ๆ งานที่ออกมาเป็นตัวตนที่แน่นอน คืองานประเภท สื่อผสม การจัดวาง

Spiritual Media : แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ความรู้ ที่ทำให้เกิดงาน มาจากพุทธศาสนา, มีเดีย ที่ใช้เป็น New Media เช่น ภาพเคลื่อนไหว แสง สี เสียง ฯลฯ เวลาที่เราศึกษาในพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึง อายตนะ สัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ในโลกของศิลปะ นอกจาก ที่เห็นด้วยตาแล้ว ยังมีศิลปะที่ สัมผัส ได้กลิ่น ได้ยิน กระแทกเข้าไปในอารมณ์ได้ อันหนึ่งมาจากการทำความเข้าใจลึกในเรื่องพุทธศาสนา เพื่อให้เข้าใจ ขันธ์ 5 กับ New Media ที่ศิลปินพยายามหาทางออกให้กับตัวเอง ไม่ให้ซ้ำอยู่ในขนบเดิม พระพุทธเจ้าได้คิดสิ่งเหล่านี้ได้ก่อนเรามานานแล้ว เราก็ขอน้อมนำมาใช้ต่อ

เป็นทราย : เป็นผลงานที่จัดขึ้นในห้องแสดง จะขอให้ถอดรองเท้าก่อน เพราะพื้นห้องถูกปูด้วยทราย เวลาเดินเข้ามาก็จะเริ่มรู้ได้เองว่าสัมผัสกับอะไร ซึ่งได้แนวคิดนี้มาจากการอ่านหนังสือของท่านพุทธทาส เรื่องจิตเดิมแท้ นั่นคือทราย ไม่ว่าใครจะทำอะไรกับทราย ทรายก็ไม่เคยบ่น ทรายไม่เคยตื่นเต้น คนที่ไม่มีจิตสัมผัสอะไรเลย ก็จะเดินผ่านไป แต่บางคนจะรู้สึกลึกซึ้งต่าง ๆ นานา แล้วแต่จะตีความ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมของแต่ละคน กับสื่อที่เราสร้างไว้ให้ ซึ่งอาจจะเป็นงานที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของผม

ศิลปินแห่งชาติ : เป็นเกียรติอันสูงสุดในชีวิตของคนทำงานศิลปะ เพียงแต่ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ถ้าถามว่า ผมเคยพยายามไปให้ถึงจุดนั้นหรือไม่ ก็ไม่เคยนะ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้เขามองเราแล้วให้เรา เพราะต่อให้เราอยากได้ ถ้าไม่ใช่ มันก็คือไม่ใช่ วันหนึ่งเมื่อผลพิจารณาออกมา ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุด ยากที่จะลืม เป็นสัญญาที่จะทำให้บอกได้ว่า เราจะยืนหยัด ในเส้นทางเส้นนี้ต่อไปได้ เป็นอะไรที่เกินความคาดหมาย

เกษียณ : คนเรา 60 ปีมีครั้งเดียว จากวันหนึ่งที่เคยโลดแล่น แล้วอีกวันไม่ต้องทำงาน เคยมีคำถามว่า ชีวิตเราจะเป็นยังไง แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ก็ปรับตัวได้ เพราะชีวิตเราไม่ได้มีอะไรมาก ผมอาจจะโชคดีที่มีสายสัมพันธ์เยอะ รู้จักคนโน้นคนนี้ พอเกษียณเขาก็ติดต่อเข้ามาหา จะให้ไปช่วยทำโน่นทำนี่ เป็นที่ปรึกษา ทำให้ไม่เคยได้หยุด อาจจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะที่บ้านมีบ่นมาว่า เกษียณแล้วยังไม่เคยอยู่บ้าน เหมือนกับทำงานอยู่เลย ผมก็พยายามคิดว่า อะไรที่ช่วยได้ก็จะช่วย จนกระทั่งถึงวันที่ท่านอธิการบดี โทรไปหา ชวนให้มาเป็นรองอธิการบดี ผมก็ถามที่บ้านก่อน พอได้รับอนุญาตก็กลับมา ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะขาที่ไปวางเป็นที่ปรึกษาที่โน่นที่นี่ ก็ไม่มีอะไรได้หยุดเลย แล้วก็ที่นี่อีก งานเยอะขึ้น แต่รู้สึกสนุกกว่า เพราะไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน ผมจะคิดแค่ว่าผลของมันคืออะไร ทำแล้วช่วยประโยชน์อะไรบ้าง ทุกวันนี้ผมก็เป็น กรรมการมูลนิธิหอศิลป์ของกรุงเทพมหานคร, หอศิลป์ที่สงขลา ก็ไปเป็นที่ปรึกษา ฯลฯ

ช่วยงานศิลปะเต็มที่ : ไม่ว่าที่ไหนของเมืองไทย จะทำอะไรเกี่ยวข้องกับศิลปะ ถ้าคิดว่าช่วยได้ ผมยินดี เคยมีอยู่ครั้ง ขนลูกศิษย์ประมาณสี่สิบกว่าคน ไปถึง อ.เบตง บอกว่าที่นั่นอยู่ห่างไกล อยากได้สตรีทอาร์ท มีเวลาให้สิบวัน พอชวนเด็ก ๆ เขาก็กลัว ต้องคิดวางแผนเรื่องการเดินทาง ออกจากหาดใหญ่ วิ่งเข้ามาเลเซีย แล้วอ้อมกลับเข้ามาด้วยความสวัสดิภาพ ทำงานกันอยู่สิบวัน เปลี่ยนเบตงให้เป็นเมืองศิลปะ

ดูแลตัวเอง : ผมออกกำลังสม่ำเสมอ ตามสไตล์ของผม ตื่นนอนประมาณตีสี่ครึ่ง ไม่เกินตีห้าจะเป็นคนแรกในหมู่บ้านที่ลุกออกมาเดินรอบหมู่บ้าน ประมาณ 5 กิโลฯ กลับมารดน้ำต้นไม้ ทำโน่นทำนี่ถึงหกโมงครึ่ง จากนั้นอาบน้ำแต่งตัวไปทำงานต่อ บางวันตื่นมาแล้วฝนตก ออกไปเดินไม่ได้จะรู้สึกหงุดหงิด ก็ต้องหาอะไรทำ บางทีฝนจะตกอยู่แล้วยังต้องรดน้ำต้นไม้เลย

Easy Come Easy Go : ถึงจะมีความเครียดเยอะ แต่ก็ต้องคิดซะว่า ผ่านมาแล้ว เดี๋ยวก็ผ่านไป อะไรที่ทำให้เกิดความเครียด ถ้าเราเข้าใจมัน ก็ตัดทิ้งได้ง่ายหน่อย มีอยู่บ้างที่มันค้างเติ่งอยู่ ก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพียงแต่ว่า ต่อให้งานยุ่งขนาดไหน พอถึงบ้านแล้วผมจะตัดทิ้ง ไปยุ่งกับเรื่องต้นไม้ดีกว่า เพราะหากเอาความเครียดเรื่องงานกลับไปบ้านด้วย ชีวิตที่บ้านก็คงพังตามไปด้วย สมัยก่อนยังมีที่ให้แวะ แต่ปัจจุบันโควิดมา ตรงกลับบ้านอย่างเดียวเลย เราต้องอยู่ให้ได้ครับ