สร้างโอกาสและชีวิตดีๆ ให้ลูกเราด้วยกีฬากอล์ฟ
สร้างโอกาสและชีวิตดีๆ ให้ลูกเราด้วยกีฬากอล์ฟ
คนเรามีแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตและครอบครัวไม่เหมือนกัน
บางคนคิดถึงชีวิตของตัวเองเป็นหลัก เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องรอง เงินทองที่หามาได้เก็บไว้ใช้เพื่อตนเอง ให้คนอื่นแค่จำเป็น ทุกอย่างทำเป็นหน้าที่ เช่น ให้ลูกเรียนแบบประหยัด เรียนตามระบบ กับโรงเรียนของรัฐ เรียนเพื่อให้ต่อเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐให้ได้ เมื่อเรียนจบแล้วก็หางานทำทำวิถีชีวิตทั่วๆไปที่ลูกเลือกเอง
บางคนคิดถึงครอบครัวเป็นหลัก โดยเฉพาะชีวิตของลูกๆ ที่จะดิ้นรนให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ เรียนอินเตอร์ได้อยากให้เรียนอินเตอร์ ไปเมืองนอกได้ให้ไป ทุ่มติดอาวุธให้ลูกอย่างเต็มที่ เห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศ
ทั้งสองแบบไม่มีใครผิด ใครถูก แล้วแต่แนวคิด ปรัชญาของการดำเนินชีวิต
กีฬากอล์ฟเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของครอบครัว ที่ผู้ปกครองจะมอบให้ลูก ซึ่งก็มีผู้ปกครอง 2 ลักษณะ
กลุ่มแรกก็จะคิดว่า กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่มีต้นทุนสูง ลำพังจะให้ลูกเล่นกีฬา ให้ไปเล่นกีฬาอย่างอื่นดีกว่า ราคาถูก
อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเห็นว่ากีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ชีวิตลูก ไม่ว่าลูกจะไปทำอาชีพอะไรถ้าเล่นกอล์ฟเป็นก็จะทำให้มีต้นทุนสูง สร้างเครือข่ายได้ง่าย จึงตัดสินใจสนับสนุนให้ลูกเรียนกอล์ฟเล่นกอล์ฟ ซึ่งถ้าตั้งใจเล่นให้ดีก็อาจจะยึดเป็นอาชีพได้
หรือบางคนก็เรียนรู้ว่า ถ้าลูกเล่นกอล์ฟดี เรียนดี สามารถจะหาทุนเรียนต่อ ณ ประเทศอเมริกา ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียเงินน้อย
สำหรับคนที่ยังไม่มีแนวทาง ผมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ ว่าเด็กหนึ่งคนที่จะเล่นกอล์ฟแบบมีเป้าหมาย จากไม่เป็นจนถึงจบมัธยมปลายและได้ทุนเรียนต่อต่างประเทศจะใช้งบเท่าไร
เริ่มจากที่เล่นกอล์ฟไม่เป็นที่อายุ 7 ขวบ จบถึงอายุ 18 ที่จบมัธยมปลายหรือเกรด 12 ในระบบอินเตอร์
ครั้งแรกของการให้ลูกเริ่มเล่นกอล์ฟ ถ้าพ่อแม่ตีกอล์ฟเป็นก็ถือเป็นสิ่งดี เพราะจะช่วยทำให้ลูกมีโอกาสสัมผัสกอล์ฟง่าย เข้าใจเกมกอล์ฟอย่างดี อาจจะสอนให้แต่แรกแล้วถึงจะไปให้โปรสอน หรือถ้าพ่อแม่เล่นกอล์ฟไม่เป็นก็คงต้องไปจ้างโปรสอน
สิ่งสำคัญที่ควรต้องรู้ เพื่อการวางแผนและบริหารจัดการกับเรื่องตัวเลขงบประมาณที่ต้องเตรียม ผมจะแยกให้ดูเป็นหมวดหมู่ และสรุปรวมให้
ค่าเรียนเฉลี่ย 50,000 บาทต่อปี ตลอด 12 ปี เสียค่าโปรผู้สอนและค่าโค้ช 600,000 บาท (1,200 บาทต่อสัปดาห์ เรียนเฉลี่ย 3 สัปดาห์ต่อเดือน 12 เดือน เท่ากับ 36 สัปดาห์ คิดเป็นเงิน 43,200 ต่อปี บวกเพิ่มให้เป็นตัวเลขกลมๆ)
ค่าสมัครเข้าแข่งขัน ค่าฝึกซ้อมเมื่อไปออกรอบ ค่าที่พัก ค่าแคดดี้ ค่าทิปแคดดี้ ค่าอาหาร ค่าพาหนะและผู้ปกครองไปด้วยอย่างน้อย 1 คน มีทั้งการแข่งขัน 1 วัน 2 วัน และ 3 วันเมื่อโตขึ้น เฉลี่ยเดือน 15,000 บาท ปีละ 180,000 บาท ตลอด 12 ปี คิดเป็นเงิน 2,160,000 บาท(สองล้านหนึ่งแสนหกหมื่นบาท)
เป็นค่าเฉลี่ยที่น้อยที่สุด ไล่ตั้งแต่เล็กค่าใช้จ่ายยังน้อย แต่ถ้าโตขึ้นมีการเดินทางไปต่างประเทศด้วยจะมีค่าเครื่องบิน ค่าคนเดินทางไปด้วยเพิ่ม ค่าใช้จ่ายอื่นๆก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยเพิ่ม ถ้าคิดแบบน้อยไว้ก่อนเดินทางเฉพาะตัวเด็กกับผู้ปกครอง 1 คน ก็น่าจะตกประมาณ 1,000,000 บาท (12 ปี)
ค่าอุปกรณ์ ค่าเสื้อผ้า ค่าลูกกอล์ฟ ค่าฝึกซ้อมในสนามไดร์ฟ คิดเฉลี่ยที่ปีละ 50,000 บาท 12 ปี 600,000 บาท
รวม 1-4 เท่ากับ 4,360,000 บาท เฉลี่ยปีละ 363,333 บาท ซึ่งตัวเลขจะใกล้เคียงกับตัวเลขจริงที่ผู้ปกครองเคยจดไว้อย่างละเอียดว่า ปีหนึ่งใช้เงินไปเท่าไร ยิ่งเฉพาะช่วงตอนโต จะไปที่ปีละประมาณ 5 แสนบาท ส่วนตอนเล็กปีหนึ่งก็จะตกประมาณ 1.5-2 แสนบาท
12 ปี ของการสนับสนุนลูกให้เล่นกอล์ฟ (อย่าไปเรียกว่าลงทุน เพราะลงทุนมันควรจะได้กำไร แต่นี่ยังไม่รู้ว่าจะได้กำไรหรือเปล่า) หมดเกือบ 5 ล้าน แต่ถ้าได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศเท่ากับไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปีหนึ่งๆ อย่างน้อย 1 ล้าน 5 แสน รวม 4 ปีเท่ากับประหยัดเงินไป 6 ล้านบาท ซึ่งถ้าลูกไม่ได้ทุนอยากจะส่งลูกไปเรียนเองก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ไปหรือเปล่า
ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าโปรสอนกอล์ฟเรียกว่าสูงไหม ไม่น่าจะเรียกว่าสูง ค่าสมัครแข่งแต่ละครั้งก็ถือว่าพอใช้ค่าสนามก็มากพอสมควร แต่ค่าใช้จ่ายหนักๆ ที่เราต้องเสียเป็นประจำที่กินเงินต่อเนื่อง คือค่าแคดดี้และค่าทิป ครั้งหนึ่งๆ ต้องมี 800 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าสนามที่ซื้อโดยมีบัตรเยาวชน
หนึ่งเดือนเด็กจะออกรอบเฉลี่ย 5 วันเป็นอย่างน้อยใช้เงินค่าแคดดี้ 4,000 บาท ใน 1 ปี 48,000 บาทและ 12 ปี ใช้เงิน 576,000 ใกล้เคียงกับค่าสอนของโปร และค่าอุปกรณ์ ค่าฝึกซ้อม
ถ้าเรามีสนามที่เล่นที่ราคาไม่สูง ไม่เสียค่าแคดดี้ (พ่อแม่ หรือโค้ชเป็นแคดดี้ให้) หรือซื้อเฉพาะรถกอล์ฟขับเองได้ ผู้ปกครองน่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเชียว
ผมกำลังพยายามอย่างยิ่งกับการทำสนามที่ได้มาตรฐาน แต่เสียค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดสำหรับเด็กๆ ตัดค่าใช้จ่ายบางอย่างออกไป ประหยัดงบประมาณอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง …ซึ่งอาจจะมีข่าวดีเร็วๆ นี้
โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์