What Ever

นครศรีธรรมราช… ครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยว

นครศรีธรรมราช… ครบเครื่องเรื่องท่องเที่ยว

“เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู” คำขวัญของจังหวัดฯ ซึ่งเป็นเสมือนบทสรุปสุดยอดของดี ที่ทำให้ผู้มาเยือนควรหาโอกาส เสาะแสวงแหล่งเที่ยว แหล่งกิน แหล่งช้อป เพื่อจะได้สัมผัสถึงความเป็น นครศรีธรรมราช อย่างแท้จริง โดยข้อมูลบางส่วนนั้น สืบค้นได้จาก ททท. (นครศรีธรรมราช หลงรักประเทศไทย) ซึ่งให้รายละเอียดที่น่าสนใจไว้อย่างครบถ้วน

การเดินทางไปยัง นครศรีธรรมราช ทำได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถส่วนตัว นั่งรถประจำทาง หรือรถไฟ และอีกวิธีที่ขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ได้มีเวลาหยุดยาวนานนัก นั่นคือการนั่งเครื่องบิน แล้วเช่ารถขับเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งทำได้สะดวก ประหยัดเวลา อีกทั้งยังคล่องตัว สามารถเดินทางไปไหนได้อย่างอิสระ เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าน่าสนใจ เชิญชมตัวอย่างบางสถานที่ที่เราขอแนะนำในทริปนี้นะครับ

ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช : ตั้งอยู่ ณ ถนนราชดำเนิน ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานของศาลหลักเมือง ออกแบบคล้ายศิลปะศรีวิชัยเรียกว่า ทรงเหมราชลีลา ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลัง ถือเป็นบริวารสี่ทิศเรียกว่า ศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วย พระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน ปี 2542 องค์เสาหลักเมือง ทำด้วยไม้ตะเคียนทอง ได้มาจากภูเขายอดเหลืองในนครศรีธรรมราช ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษาเมือง เหนือสุด

เป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการแกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลต่อศิลปกรรมในภาคใต้และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ

กำแพงเมืองเก่า : ไม่ไกลจากศาลหลักเมืองนัก ตามเส้นทาง ถนนราชดำเนิน เป็นกำแพงที่ซ่อมขึ้นใหม่ ตามรูปเดิมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับการบูรณะเพิ่มเติมขึ้นอีกใน ปี 2533 ขนานไปกับคูเมือง ตั้งแต่ป้อมประตูชัยเหนือ หรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออกยาว 100 เมตร และใน ปี 2548 ได้บูรณะเพิ่มเติมเป็นแนวขนานกับคูเมืองทางทิศตะวันตกยาว 150 เมตร เหมาะสำหรับการแวะถ่ายรูป เช็คอิน โดยมีฉากหลังสวย ๆ บรรยากาศย้อนยุค

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร : เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานได้กล่าวว่า เจ้าชายธนทกุมาร และพระนางเหมชาลา ได้อัญเชิญพระทันตธาตุลงกำปั่นไปกรุงลังกา เพื่อถวายแก่พระเจ้ากรุงลังกาที่ได้มาทูลขอ แต่เรือกำปั่น

ถูกพายุพัดแตกกลาง ทะเลซัดทั้งสองขึ้นฝั่งถึงหาดทรายแก้ว ฝังพระทันตธาตุที่ซ่อนในพระเกศาของพระนางเหมชาลาลง ณ หาดทรายแก้ว และสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เป็นที่หมายไว้ ในปีมหาศักราช 1098 (พ.ศ.1719) พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ เป็นเจดีย์ทรงลังกา สูง 55.78 เมตร

(กรมศิลปากรบูรณะปลียอดทองคำเมื่อ ปี 2538) จากฐานบัวคว่ำบัวหงายถึงปลียอด สูง 6.8 เมตร ใช้ทองคำเนื้อสิบหุ้มโดยรอบ ภายในวัดพระมหาธาตุฯ มีวิหารที่มีความสำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะ พระวิหารหลวง มีความงามตามแบบ สถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังมี วิหารสามจอม ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า “พระศรีธรรมาโศกราช” วิหารพระมหาภิเนษกรมน์ (วิหารพระทรงม้า) วิหารทับเกษตร ประดิษฐานพระพุทธรูปถึง 92 พระองค์ ส่วนวิหารเขียนและวิหารโพธิ์ลังกา เป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ในบริเวณวัดพระธาตุจำหน่ายเครื่องถมนคร งานฝีมือโบราณที่ถือเป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราช ทั้งแหวน สร้อย กำไล พาน ขัน เป็นต้น

บ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ : เดินจากวัดพระมหาธาตุฯ ไม่ไกลนัก ท่านจะพบกับบ้านไม้ทรงปั้นหยายกพื้น หลังคาสูง สร้างขึ้น เมื่อปี 2445 โดยท่านขุนรัฐวุฒิวิจารย์ หรือชื่อเดิม นายเขียน มาลยานนท์ นายอำเภอเมืองกลาย ต่อมาได้ยกให้ นายโกวิท ตรีสัตยพันธุ์ (หลาน) ในปี พ.ศ. 2482 เปิดเป็นโรงเรียนรัฐวุฒิวิทยา ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนครวิทยา และได้ปิดลงในปี 2529 ต่อมาในปี 2536 นายสำราญ ตรีสัตยพันธุ์ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของตระกูลตรีสัตยพันธุ์ ได้ซื้อบ้านและที่ดินแปลงนี้ มาปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นบ้านโบราณของจังหวัด ให้คนรุ่นหลังของชาวนครฯ และนักท่องเที่ยวได้มาชม ด้านหน้ามีร้านกาแฟสวย ๆ ให้นั่งพัก สามารถเดินสำรวจความงามของเรือนไทยโบราณหลังนี้ได้อย่างเต็มอิ่ม

บ้านหนังตะลุง สุชาติ ทรัพย์สิน : ตั้งอยู่ถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 ไม่ไกลจากวัดพระมหาธาตุฯ มากนัก ก่อตั้งโดย นายสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปิน แห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) ปี 2539 ใช้บริเวณบ้านจัดเป็น พิพิธภัณฑ์ จัดแสดงหนังตะลุงประเภทต่าง ๆ สาธิตการแกะรูปหนังตะลุง มีเวทีสาธิตการแสดง เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่ 08.30 – 17.00 ทุกวัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 075-346-394

บ้านคีรีวง อ.ลานสกา : เมื่อปี 2531 เกิดภัยจากน้ำป่า พัดเอาบ้านหายไปนับร้อยหลัง แต่ชาวบ้านก็สามารถพลิกฟื้นให้กลายเป็น ชุมชนแห่งการท่องเที่ยว ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมชุมชนต้นแบบ ในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน คีรีวง เป็นที่รู้จักกันดี ว่ามีบรรยากาศร่มรื่น และมีอากาศดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย มาเที่ยว มาพักผ่อนที่นี่ เหมือนกับได้ชาร์จพลังชีวิตให้เต็มอิ่ม ท่านจะสัมผัสกับทั้งธรรมชาติอันแสนสดชื่น และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชมชนเก่าแก่ดั้งเดิม มีความน่ารัก เรียบง่าย อยู่กันอย่างสงบและมีน้ำใจ ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนอยู่กับธรรมชาติ อาชีพหลักคือ การทำสวนผลไม้ผสม เรียกว่า “สวนสมรม” เช่น มังคุด

เงาะ ทุเรียน สะตอ และยังมีกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่นกลุ่มมัดย้อม กลุ่มสมุนไพร และกลุ่มทุเรียนกวน อีกทั้งยังต่อยอดพัฒนาธุรกิจใหม่ ไปสู่การให้บริการนักท่องเที่ยว เดินป่าสู่ยอดเขาหลวง มีลูกหาบ โฮมสเตย์ และมีศูนย์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมชุมชนคีรีวงได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูกาลผลไม้ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของทุกปี

วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) อ.สิชล : ชาวชุมชนวัดเจดีย์ และใกล้เคียง นับถือเคารพ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ตั้งแต่สมัยบรรพชน สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น นับย้อนหลังไปเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยถือว่า “ไอ้ไข่” คือวิญญาณของเด็กศักดิ์สิทธิ์ ที่คอยช่วยเหลือชาวชุมชน และดูแลปกปักษ์รักษาวัดเจดีย์ แต่ไม่ได้มีการสืบค้น หรือมิได้มีการกล่าวถึงตำนาน เพียงแค่นับถือกันอย่างนั้นมา จนวันหนึ่งได้เกิดตำนานไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ศิษย์ หลวงพ่อทวด จากบุคคลสำคัญ นั่นก็คือ จอมขมังเวทย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) ที่ได้รับฟังถ้อยคำจากหลวงพ่อทวด ผ่านร่างทรง เมื่อครั้งสมัยจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อทวด เมื่อ ปี 2497 (เนื่องจาก ท่านขุนพันธ์เป็นผู้มีส่วนร่วม ในการจัดสร้างพระชุดนั้นด้วย) หลวงพ่อทวดถามผ่านร่างทรงว่า ท่านมาจากนครศรีธรรมราช ท่านรู้จักลูกศิษย์เราหรือไม่ เป็นเด็กวัดอยู่ทางทิศเหนือ ของนครศรีธรรมราช ท่านขุนพันธ์จึงสืบหาจนมาประสบพบเจอกับ ผู้ใหญ่เที่ยง เมืองอินทร์ จนได้นับถือเป็นสหาย แลกเปลี่ยนสายวิชากัน ด้วยผู้ใหญ่เที่ยงเอง ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง​ และรู้จัก ” ไอ้ไข่” เป็นอย่างดี ท่านขุนพันธ์ จึงได้เจอกับลูกศิษย์หลวงพ่อทวด ที่วัดเจดีย์นามว่า “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” ตามคำบอกกล่างของหลวงพ่อทวดผ่านร่างทรง ซึ่งเป็นไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์ที่บรรพบุรุษชาวชุมชนวัดเจดีย์ นับถือสืบกันมา และท่านขุนพันธ์เอง ก็ได้สืบค้นศึกษาจนกลายเป็นตำนาน ไอ้ไข่ศิษย์หลวงพ่อทวด และได้ยืดถือตำนานนี้บอกเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งถือว่า ท่านขุนพันธรักษ์ราชเดช คือ ผู้สืบค้นตำนานนี้เป็นคนแรก (ที่มา วิกิพีเดีย)

นครศรีธรรมราช ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจ ทั้งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว อีกมากมายจริง ๆ ซึ่งแต่ละแห่งล้วนมีเอกลักษณ์และความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คงต้องอาศัยจังหวะและเวลาว่า ที่ใดจะเหมาะกับการในเยือนในแต่ละครั้ง มากี่ครั้งก็คงยังไม่หมดความสนใจกันง่าย ๆ อย่างแน่นอน อีกทั้งอาหารการกิน ที่จัดว่ามีเมนูขึ้นชื่อ ร้านเด็ด ร้านดัง มารอในแต่ละมื้ออีกนับไม่ถ้วน เป็นอันสรุปได้ว่า มาที่นี่ จะกี่รอบก็ไม่รู้จักคำว่าเบื่อแน่นอนครับ.