เราได้เห็นอะไรจาก Honda LPGA Thailand
เราได้เห็นอะไรจากการแข่งขันกอล์ฟอาชีพ Honda LPGA Thailand
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 การจัดการแข่งขันกอล์ฟหญิงระดับโลกอย่าง Honda LPGA Thailand ก็ยังสามารถดำเนินการได้อย่างดี ท่ามกลางมาตรการที่เข้มงวดของการดูแลและป้องกันตามมาตรฐานสุขภาพเป็นอย่างดี
นอกจากบรรลุเป้าหมายทางการจัดการแข่งขันแล้ว ความสำเร็จของนักกีฬาหญิงไทย ถึง 3 คน ยิ่งเพิ่มความสำเร็จและความสุขให้กับคนรักกอล์ฟและชาวไทยอย่างมาก การที่ 3 อันดับแรกของผลการแข่งขันเป็นนักกีฬาหญิงไทยนับว่าเป็นสุดยอดของความสำเร็จของวงการกอล์ฟไทย และจะทำให้วงการกอล์ฟไทยได้รับความสนใจและเพิ่มจำนวนนักกีฬามากขึ้นอย่างแน่นอน
นักกีฬากอล์ฟหญิงของเรา ณ วันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) อยู่ในระดับโลกตามการจัดของ Rolex World Ranking กันหลายคน เริ่มตั้งแต่แชมป์การแข่งขันครั้งนี้ โปรเม (เอรียา จุฑานุกาล) ที่อันดับโลกกลับมาที่ 21 ของโลก เป็นรองก็แต่โปรเหมียว (ปาจรีย์ อนันต์นฤการ) ที่อยู่อันดับที่ 11 ของโลก และแน่นอนว่าน้องใหม่ของกอล์ฟอาชีพหญิงอย่างโปรจีน (อาฒยา ฐิติกุล) ที่ได้ที่ 2 ในรายการ Honda LPGA Thailand อันดับที่ 133 ของ Rolex World Ranking หลังสิ้นสุดการแข่งขัน Honda LPGA Thailand
จากความภาคภูมิใจในความสำเร็จของนักกอล์ฟหญิงไทยในครั้งนี้ จะเป็นการขับเคลื่อนของวงการกอล์ฟไทยอย่างเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามแม้การแข่งขันจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่มีหลายอย่างที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากการแข่งขันในครั้งนี้ โดยเฉพาะในมุมมองทางด้านของจิตวิทยาการกีฬา
จะเห็นว่าโปรเม กล่าวถึงเรื่องของจิตใจ นักจิตวิทยาการกีฬาที่มีผลต่อการเล่นอยู่ในหลายๆการให้สัมภาษณ์ เช่น “นิลส์สันและแมร์ริออตต์ (นักจิตวิทยา) บอกกับตนว่า อยากให้เชื่อมั่นในตัวเองแบบเดียวกับที่พวกเธอเชื่อตน ซึ่งคำพูดนี้มีความหมายกับตนมากๆ (www.matichon.co.th/sport/sportscoop/news_2715917) และทั้งสองคนมีผลต่อจิตใจของเธอมาตลอด” ขณะที่โปรเหมียวก็มีคำพูดที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจของเธอก่อนการแข่งขัน Honda LPGA Thailand ครั้งนี้ว่า “เล่นที่ประเทศบ้านเกิด กดดันมากขึ้นเพราะทุกคนต้องการให้ฉันเล่นให้ดี พยายามจะรักษาฟอร์มนี้ให้ถึงสัปดาห์หน้า” (SiamGolf, 3 พฤษภาคม 2564) ขณะที่โปรจีน ก็แสดงความรู้สึกในการเล่นครั้งนี้ว่า “Just focus what I can control, not without my control, and then just do my best out there. Enjoy every single moment of it, because this is not the last chance in my life.” (SiamGolf, 11 พฤษภาคม 2564)
จากการแข่งขันทั้ง 4 วัน มีข้อสังเกตหลายอย่างที่เป็นหลักการที่นักกีฬาพึงเข้าใจ และปลูกฝังให้เกิดขึ้นในความคิดไว้เสมอ คือ 1) การแข่งขันมีขึ้น มีลง 2) การแข่งขันจะสิ้นสุดและเราจะรู้ว่าแพ้หรือชนะ เมื่อเราพัตต์ลูกลงหลุมสุดท้าย ถ้าเมื่อพัตต์ลงแล้ว มีคนทำได้ดีกว่าเรา แสดงว่าเราไม่ได้เป็นแชมป์ แต่ถ้าเมื่อพัตต์ลงแล้ว ไม่มีใครทำคะแนนเท่าหรือดีกว่าเรา เราคือแชมป์การแข่งขันครั้งนี้ นั่นหมายความว่าตราบใดที่ยังไม่ใช่หลุมสุดท้าย เรายังไม่รู้ว่าใครจะได้และใครจะเป็นแชมป์ นักกีฬาทุกคนจึงต้องทำให้ดีที่สุดและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ถ้าโปรเมยอมแพ้ตั้งแต่เริ่มต้นแข่งขันวันที่ 4 ของการแข่งขัน คงไม่ได้เป็นแชมป์ในครั้งนี้ 3) คำกล่าวว่า การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว การรักษาแชมป์ยิ่งยากกว่า ยังคงเป็นหลักการที่ใช้ได้อยู่เสมอ ความยากของโปรเหมียว ทั้งที่มีจิตใจที่แข็งแกร่ง มีทักษะและร่างกายที่สุดยอด แต่การที่ต้องรักษาแชมป์หรือเป็นผู้นำตลอด 4 วันนับว่ายากและกดดดันมาก และอีกมุมหนึ่งของการเป็นผู้นำ หากการแข่งขันนี้เปรียบเสมือนการวิ่งไกล ที่นักกีฬาวิ่งนำหน้าเพื่อนตลอดเวลา (ทุกวัน) ถ้าเป็นแชมป์ในวันสุดท้ายด้วย ก็ถือว่าเสมอตัวเพราะวิ่งนำมาตลอด แต่ถ้าวิ่งตามอยู่ข้างหลัง และไม่ได้เป็นแชมป์ก็ถือว่าเสมอตัว เพราะวิ่งตามมาตลอดระยะทาง แต่ถ้าแซงก็ถือว่าชนะทันที
หากจะวิเคราะห์สภาพจิตใจของนักกีฬาเก่งทั้ง 3 คน แล้ว จะเห็นได้ว่าโปรเหมียวมีความกดดันมากที่สุด ที่มีสาเหตุจาก ความคาดหวังของคนดู การที่ได้แชมป์ ANA มาหมาดๆ มีวงสวิงที่สวยงามและระยะการตีที่ไกลที่สุดคนหนึ่งของนักกีฬาหญิง แถมยังเป็นผู้นำมาตลอดจนถึงเริ่มต้นแข่งขันในวันสุดท้าย เหมือนนักกีฬาระยะไกลที่วิ่งนำหน้าเพื่อนร่วมแข่งขัน ขณะที่โปรเม แม้จะเคยเป็นมือ 1 ของโลก มีความสามารถและประสบการณ์สูงมาก ก็ค่อยๆวิ่งตามหลังมาอย่างสบายใจ มีความคาดหวังจากคนดูๆ น้อยกว่าโปรเหมียว นักกีฬาเก่งระดับนี้ เมื่อมีสภาพจิตใจที่ผ่อนคลาย ไม่กดดัน จึงสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ส่วนโปรจีน ดาวรุ่งพุ่งแรง ในมุมมองของการคาดหวังผลการแข่งขัน น่าจะน้อยกว่าโปรเหมียวและโปรเม เพราะการเพิ่งเข้ามาในการแข่งขันระดับอาชีพไม่นาน อายุน้อยกว่าใครๆ และได้มีตัวอย่างของการเป็นน้องใหม่แต่สามารถทำผลงานได้ดีเหมือนที่โปรเหมียวได้แสดงให้เห็นในการคว้าแชมป์ ANA มาแล้ว การเล่นที่ไร้ความกดดัน และและน้องใหม่ก็ไม่น่าจะเป็นไปไม่ได้เหมือนโปรเหมียวได้แชมป์ในการแข่งขัน ANA จึงยิ่งทำให้สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
เหตุการณ์และสภาพแวดล้อมในลักษณะนี้คงไม่หมดไป และมีให้เห็นในนักกีฬที่ตามๆมา ทำอย่างไรถึงจะฟันฝ่าเงื่อนไงเหล่านี้ให้ได้
ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นเช่นไรก็ตาม หลักการคือทำอย่างไรให้นักกีฬาสามารถที่จะมุ่งไปที่วิธีการเล่นเป็นหลัก ทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถควบคุมได้มากที่สุด และควบคุมให้ได้มากที่สุด
จะเห็นได้ว่านักกีฬาทั้ง 3 คนก็ได้พูดถึงการมุ่งความสนใจ จิตใจไปในสิ่งที่สามารถควบคุมได้เป็นสำคัญ ความยากคือการควบคุมความคิด ความรู้สึก และอารมย์ดังกล่าว ซึ่งสามารถเพิ่มความเข้มแข็งของจิตใจด้วยทำการฝึกฝนอย่างต่อเนิอง จริงจัง เช่นเดียวกับที่เราทำกับกายและทักษะอย่างหนักและต่อเนื่อง
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย