ศาสตราจารย์ ดร. คณิต เขียววิชัย
ศาสตราจารย์ ดร. คณิต เขียววิชัย
รองอธิการบดี พระราชวังสนามจันทร์
มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสนามจันทร์
“เด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน, ดีกว่า ก็ต้องยอมรับ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงกันได้”
สอบตก : สมัยเรียน ม.7 – ม.8 ที่วัดสุทธิฯ ผมเคยสอบตก สมัยก่อนข้อสอบจากกระทรวงฯ ยากมาก ขนาดสอบซ้อมได้ที่หนึ่ง แต่สอบไล่ตกก็ยังมี ใครไม่แน่จริงโรงเรียนไม่ยอมปล่อยออกไป กลัวเสียชื่อเสียง ตอนสอบตกปีแรก ไม่มีครูท่านใดแนะนำให้เรียนซ้ำเลย บอกให้ไปเรียนอาชีวะดีกว่า
สุขภาพ : มาพบว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้สอบตก เพราะตัวเองมีปัญหาสุขภาพ สามวันดี สี่วันไข้ ที่โรงพยาบาลเลิศสินเห็นหน้าผมก็จ่ายยาได้เลย เวลาไปเรียนในกระเป๋าเต็มไปด้วยยา ใครปวดหัวตัวร้อน จะรู้กันว่าต้องมาหาผม แล้วจะมียารักษาให้
รู้จักกีฬา : ก่อนหน้านี้ไม่เคยเล่นกีฬา เอาแต่อ่านหนังสือ แต่ด้วยสุขภาพไม่ดี ร่างกายไม่พร้อม อ่านยังไงก็จำไม่ได้ พอตอนปลายปีมีเพื่อนชวนไปเล่นกีฬา เตะฟุตบอลกันเหงื่อท่วม ปรากฏว่า โรคที่เคยเป็นหายหมด กลับมาอ่านหนังสือรู้เรื่อง พออยู่ ม.8 สอบทีเดียวผ่านเลย ผมจึงคิดว่าร่างกายและจิตใจ มีความสำคัญ ต้องดูแลควบคู่ไปด้วยกัน
พลศึกษา : ครูสอนภาษาอังกฤษเคยทักว่า ผมน่าจะไปเป็นครูสอนพลศึกษา เพราะถึงแม้อายุจะแค่ไหน ถ้าร่างกายแข็งแรง คนอื่นขึ้นบันไดไม่ไหว แต่เราสบายมาก ผมก็เริ่มเห็นสัจธรรม ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่พลศึกษาจุฬาฯ เป็นอันดับสอง อันดับแรกเลือกนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ ซึ่งผมพลาดไปเพียงคะแนนเดียว แต่กลายเป็นว่า รู้สึกดีใจมาก เพราะผมอาจจะเป็นกลายเป็นทนายขาลีบ พกยาเต็มกระเป๋าไปว่าความ พอเรียนพละ เทอมแรกก็ต้องเปลี่ยนกางเกงใหม่หมดเพราะฟิตขึ้น ได้เรียนวิชาการสร้างสมรรถภาพทางร่างกาย ด้วยวิธีการต่าง ๆ จนเกิดเจตคติว่า ทุกวันเราต้องออกกำลังกาย และยังดีใจที่ได้นำวิชาความรู้ กลับมาสอนเด็ก ๆ ให้มีทักษะโดยเฉพาะเรื่องฟุตบอล ที่สามารถทำทีมจนประสบความสำเร็จ
สร้างกระบวนการคิด : ไม่ใช่ให้เล่นเหมือนตัวหมากรุก เขาจะแก้ปัญหาเองได้ในสนาม ทุกคนสามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้หมด โดยผมจะตั้งโจทย์ต่าง ๆ ให้เขาได้ฝึกซ้อม พอไปเล่นจริง เจอสถานการณ์แบบที่ฝึกซ้อมมา เขาก็ทำกันได้ดี และในทีมยังต้องสร้างความสัมพันธภาพที่ดี ไม่แค่ในเรื่องกีฬาเท่านั้น มีการพูดคุย ดูแลกันในทุก ๆ เรื่อง ผมเคยทำงานมาหลากหลายหน้าที่ รวมถึงการเป็นผู้บริหารในตำแหน่งต่าง ๆ ยิ่งทำให้ได้บทเรียนสำคัญมาว่า คนเรานั้น ถ้าสัมพันธภาพดี ผลผลิตจะออกมาดี
บูรณาการ การทำงาน : ผมอาจจะได้เปรียบ ที่มีประสบการณ์ในเชิงบวกเยอะ ก็นำมาประยุกต์ใช้กับงาน เคยมีอยู่ครั้งที่ผมต้องรักษาการหัวหน้าแผนกดูแลอาคาร ทั้งช่างไฟ ช่างไม้ ช่างปูน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับรถ ฯลฯ ซึ่งแต่ละแผนกเขาไม่คุยกันเลย ก็มานั่งนึกว่า จะทำอย่างไรดี นึกย้อนไปถึงพื้นฐานที่เรียนมา นั่นคือ วิชานันทนาการ, คนเราถ้ามีความสุขจะคุยกันรู้เรื่อง แต่ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การสร้างสัมพันธภาพ ไม่มีอะไรจะดีเท่า นันทนาการ กีฬา การท่องเที่ยว ระหว่างที่ไป ก็จัดกิจกรรมสนุก ๆ ให้เขาได้เล่น ละลายพฤติกรรม สร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้แก่กัน มีความร่วมมือกันดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สู้กับปัญหา : ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่งมา ก็เผชิญกับปัญหามาตลอด โดยเฉพาะ โควิด -19 และอีกหลาย ๆ ด้าน ที่มีผลกระทบต่อการศึกษา ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยก็มีการปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการเชื่อมต่อกับชุมชน ใกล้เคียง หรือห่างไกล แต่มีความต้องการรากเหง้า หรือสิ่งที่ศิลปากรมีความถนัด เช่น การจัดศิลปะ วัฒนธรรม ในแถบเยาวราช หรือ พื้นถิ่นอย่างที่ ราชบุรี เราพยายามเน้นความรู้ในมหาวิทยาลัย แล้วนำไปร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ทั้งนี้จะไม่ให้เขาต้องทำตามเรา แต่จะนำของเราไปบวกเพิ่ม เพื่อทำให้พื้นฐานของเขาแน่นขึ้น นำไปสู่ความยั่งยืน นี่คือเป้าหมายของมหาวิทยาลัย
สถาบันต้นแบบ : เราพยายามหาโมเดล ในการสอนออนไลน์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถไปเผยแพร่ในชุมชนใกล้เคียงได้ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลออกไป เราก็มีความเป็นห่วง พยายามหาแนวทางที่จะลงไปเป็นพี่เลี้ยง ช่วยหาแนวทางที่เหมาะสมให้ มิเช่นนั้นการต้องอยู่กับบ้านนาน ๆ ไม่ได้มาโรงเรียน พัฒนาการทางความรู้จะไม่ทันคนอื่น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราก็พยายามใช้เทคโนโลยีที่ผนวกกับศิลปะ เข้าไปช่วยโรงเรียนต่าง ๆ นำนวัตกรรมไปเผยแพร่ เป็นรูปแบบที่ต้องเปลี่ยนไปตามภาวะปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดิจิตัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก
สุนทรียศาสตร์ : บริบทของศิลปากรอันหนึ่ง ที่อยากจะนำเสนอก็คือ เรามีสุนทรียศาสตร์ ทำให้คนมีความนุ่มนวล รักสวย รักงาม สิ่งนี้คือเรื่องที่เราต้องช่วยกันรณรงค์ เพื่อนำแนวคิดสุนทรียศาสตร์ ไปลดความรุนแรงในสังคม ให้คนเห็นความสวยงาม และมีความอ่อนโยน ทำอะไรก็ดูดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้หน่วยงานทางการศึกษาเห็นความสำคัญ และนำไปดำเนินการต่อ โดยศิลปากร ยินดีที่จะให้ความร่วมมือทุกด้าน โดยเฉพาะ Art Base Learning อาศัยศิลปะไปช่วยในการเรียนรู้ทุกแขนงวิชา โดยหนทางที่เราต้องยึดมั่นก็คือ ศิลปะ วัฒนธรรม โบราณคดี ขณะเดียวกัน เราก็ได้ผนวก บูรณาการกับทางวิทยาศาสตร์ กับศิลปะ สังคมศาสตร์ ทำให้องค์ความรู้ ค่อนข้างมีความลุ่มลึก ยั่งยืน ทันสมัยขึ้น เพราะปัจจุบันเป็นโลกแห่ง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วการทำงาน ก็อย่าคิดแค่ว่าจะทำให้เสร็จ ต้องดูถึงความงามทางศิลปะ ที่จะช่วยเสริมคุณค่าของงานนั้นอีกด้วย
หลักสูตรใหม่ : สมัยนี้ความรู้หาที่ไหนก็ได้ แต่กระบวนการทางความคิดหายาก เราจึงเปิดหลักสูตรที่บูรณาการ 3 ศาสตร์ ได้แก่ การจัดการ นันทนาการ การท่องเที่ยวและกีฬา เราสังเกตได้ว่า มีกีฬาเมื่อไหร่ก็มักจะมีท่องเที่ยวอยู่ด้วย แต่กลับไม่ค่อยมีนันทนาการ เช่น สนามกีฬาระดับโอลิมปิก ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ มีความทันสมัย ไฮเทคฯ ใคร ๆ ก็อยากจะเข้าไปดู เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสร้างขึ้นมาได้
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการนันทนาการ การท่องเที่ยวและกีฬา : เราพยายามใช้วิทยากรที่เยอะขึ้น หลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องการจัดการตลาด การจัดเชิงนโยบาย การเป็นผู้จัดการอีเว้นท์ต่าง ๆ เป็นการติดอาวุธทางปัญญา เพื่อให้คิดเป็น และไปคิดต่อ เราไม่ให้เขาหยุดแค่เรียนจบปริญญาเอก ให้ไปต่อยอดทางความคิดได้ เพราะการมีเครือข่าย การเรียนการสอนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไปดูแหล่งสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและกีฬา นันทนาการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไปด้วยกัน โดยเราเปิดรับจากทุกสาขา เพราะการเรียนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท คิดว่ามีพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่แน่นแล้ว รู้ในเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี พอสมควร จบสาขาอะไรก็ได้ มาเรียนปริญญาเอก ต่อยอดในสาขานี้ได้หมด ที่เราต้องการก็คือ ความหลากหลายทางความคิด ไม่มีข้อจำกัด การจบปริญญาเอก ต้องทำเรื่องข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ไม่ใช่เป็นแค่จะไปเป็นผู้นำ ไม่ติดยึดกับการบรรยายทฤษฎีแนวดิ่ง และเรากำลังจะเปิดปริญญาโท การจัดการนันทนาการการท่องเที่ยวและกีฬา เน้นในเรื่องของการเป็นผู้นำ มีความทันสมัย รู้เทคโนโลยี เข้าใจในเรื่องมานุษยวิทยา ซึ่งสำคัญมาก ต้องเข้าใจสังคมวิทยา ในแต่ละพื้นที่ มีเขามีวัฒนธรรมยังไง กำลังเตรียมการอยู่ ตั้งเป้าว่าจะเปิดได้ในเร็ว ๆ นี้
คิดนอกกรอบ : คณาจารย์ที่เคยสั่งสอนผมมา ได้ปลูกฝังความคิดที่ดีไว้ให้ ทำให้ผมมีความคิดต่างจากคนอื่น แต่เราไม่ได้คิดแผลง ผมจะมีมุมมองแตกต่างจากคนอื่น บางครั้งเมื่อมองขึ้นไปข้างบนเราอาจจะเห็นอะไรยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมองย้อนจากข้างบนลงมาข้างล่างบ้าง ก็อาจจะเป็นมุมมองที่แปลกออกไป ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น หรือเห็นได้ชัดเจนขึ้นกว่ามุมเดิม ๆ เช่นบางครั้งจะทำอะไร พอเงินไม่มี งบไม่พอ ก็ไม่ทำ ผมก็บอกว่า ทำไมเราไปต้องติดอยู่กับเงินล่ะ? เปลี่ยนใหม่ได้มั้ย? เงินไม่มีหรือไม่พอ ก็ช่วยกันหาเงินก่อน หาวิธีว่าจะสร้างรายรับได้อย่างไร ตัวอย่างที่เคยทำกันมาแล้วก็คือ ฟิตเนส ของศิลปากร ข้างในมีอุปกรณ์ทันสมัย ราคาสูงมาก พอจะเปิดศูนย์บริการ คำนวณค่าไฟออกมาเดือนละหลักแสน จะเปิดเป็นห้องแล็บให้เด็กฝึกอย่างเดียว ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีอายุการใช้งานแค่ไม่กี่ปี เราต้องคิดใหม่ว่า ทำอย่างไรถึงจะหาเงินให้ได้คุ้มค่าไฟ ก็มีไอเดียว่า ควรไปนำเสนอกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มาใช้ฟิตเนสที่นี่ ซึ่งเรามีพร้อมทั้งอุปกรณ์ทันสมัย และบุคลากรคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ก็ได้ผลเกินคาด สร้างความคึกคัก สร้างชื่อเสียงให้กับเราเป็นอย่างมาก รายได้ก็มี เด็กก็ได้ฝึก จบออกไปก็มีช่องทางในการทำงานได้อีก
หลากหลายที่มา : การเรียนรู้ไม่ได้มาจากช่องทางเดียว ขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องนั้น ๆ ต้องมีความคิดต่าง ความคิดนอกกรอบบ้าง งานถึงจะสำเร็จได้ เรื่องบางเรื่อง ต้องให้ครูสอน, บางเรื่อง ต้องให้พ่อ แม่ สอน ขณะที่บางเรื่อง ต้องให้ ปู่ ย่า ตา ยาย สอน หรือ พี่ต้องสอนน้อง แม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย สมัยก่อนรุ่นพี่ ก็ต้องคอยสอนรุ่นน้อง แต่ในปัจจุบันบรรยากาศความเป็นพี่น้องแบบนี้กำลังจะเลือนหายไปตามกระแสสังคม ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย หากเราหลงลืมไม่ย้อนกลับไปดูถึงรากเหง้าของพวกเราเอง
กอล์ฟ : ก่อนหน้าที่จะเล่นกอล์ฟ ผมรู้สึกต่อต้านเลยนะ อ่านหนังสือทีไรเจอประเด็นเหมือนกอล์ฟเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมบ่อยมาก จนเมื่อผมค้นพบสัจธรรม เริ่มเปลี่ยนความคิด เมื่อครั้งได้ทุนจากโรตารี่ ให้ไปทำงานช่วยสอนการวิจัยทางพลศึกษา ที่ มหาวิทยาลัย ในเมืองยอคยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย 4 เดือน ระหว่างที่สอน ได้พักวันพุธ โปรสอนกอล์ฟที่นั่นก็ชวนไปเล่น ด้วยพื้นฐานของนักกีฬา นักฟุตบอล พอขานิ่ง ฐานมั่นคง จับปุ๊บก็ตีได้ไปลิ่ว ได้ออกรอบกับอธิการ คณบดี โปรที่สอน สี่คนพอดี หลังจากนั้นใจแตก ชีวิตเปลี่ยนไปเลย กลับมาก็ตีแต่กอล์ฟ รองเท้าฟุตบอลทิ้งไว้จนยุ่ย แร็คเก็ตเทนนิสก็ปล่อยจนพัง ผมมาวิเคราะห์ว่า เหตุที่ชอบกอล์ฟ เพราะเป็นกีฬาที่แข่งกับตัวเอง ทำให้มีกำลังใจ ความมุ่งมั่น มีสมาธิควบคุมตัวเอง และสอนให้ห้ามงก เห็นคนอื่นตีไกล จะไปทำตามไม่ได้ เสียหายหมด หรือประมาทไม่ได้ กอล์ฟสอนหลายเรื่อง
กีฬาสังคม : สิ่งหนึ่งที่ผมอยากสอนกับนิสิตก็คือ กอล์ฟเป็นกีฬาทางสังคม คนเล่นกอล์ฟเป็นสุภาพชน การได้เล่นไปด้วยกัน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บางทีก็ได้พูดคุย ได้รับความรู้ หรือไอเดียใหม่ ๆ ดี ๆ ก็จากเพื่อนร่วมก๊วนในสนามกอล์ฟ แต่ถ้าเล่นไม่เป็น แล้วไปสอน ใครจะเชื่อเรา ผมจึงร่างหลักสูตรวิชากอล์ฟ ในหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อให้เด็กได้เรียน รวมถึงจากคณะอื่น ๆ ด้วย เช่น วิศวะ หรือ อักษรศาสตร์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องมาก เพราะต่อไปเขาอาจจะได้ทำงานกับคนต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ส่วนใหญ่ก็ชอบเล่นกอล์ฟกันทั้งนั้น ถ้ามีความรู้ความสามารถในเรื่องกอล์ฟบ้าง พอได้เล่นด้วยกัน มีความสนิทสนม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกันและกัน ก็อาจจะมีโอกาส มีความก้าวหน้ามากขึ้น อยากให้เด็กของเรามีอาวุธครบด้าน
รักษาสุขภาพ : ช่วงวิกฤติโควิด ยิ่งต้องออกกำลังกาย ทุกวันก็พาแม่บ้านมาด้วย ระหว่างเขาเดิน ผมก็วิ่ง แล้วก็ชิพกอล์ฟ เป็นการผ่อนคลาย ได้ฝึกทักษะ ทำให้เวลาไปเล่น ลูกชิฟก็เป็นสิ่งเดียวที่เป็นอาวุธสำคัญ เพราะได้ซ้อมบ่อย พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารก็ต้องรู้จักเบรกตัวเอง ลดแป้ง เสริมโปรตีน เน้นผัก ไม่ไปในพื้นที่แออัด เลี่ยงได้เป็นดีที่สุด เอาไว้เราได้ฉีดวัคซีนกันก่อนค่อยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนสุขภาพจิต ก็อย่าไปจริงจังจนกระทั่งเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ถ้ามุ่งมั่นมากเกินไปจะเครียดตลอดเวลา เมื่อถึงเวลา ต้องพยายามปรับอารมณ์
เด็ดขาด แต่ไม่แน่นอน : นั่นคือปรัชญาชีวิตของผม เราต้องกล้าตัดสินใจ แต่ถ้าหากมีข้อมูลทีหลังไม่ถูกต้อง ก็เปลี่ยนแปลงได้ อย่าทำอะไรแบบหัวชนฝา คุยกับใครก็อย่าไปเถียงแบบยอมไม่ได้ ถ้าเขาหลักการดีกว่า ข้อมูลดีกว่า ก็ต้องยอมรับ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงกันได้ อย่าไปใช้วิธีขัดคอคนอื่นแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า เมื่อตัดอคติได้ เราก็มีความสุข ยินดีรับฟังทุกคน ไม่ต้องไปเถียงใคร
แกงหม้อเดียว กินได้ตลอดเดือน : สำนวนไทยโบราณที่ว่านี้ เป็นจริงได้เสมอ หากเรารู้จักให้ รู้จักแบ่งปัน อยากจะฝากไว้กับสังคมไทยว่า สังคมแห่งความสุขสำคัญที่สุด และเราจะก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ผู้คนจะต้องมีวินัย แต่ก่อนจะมีวินัยได้ ต้องมีระเบียบก่อน เพราะระเบียบ จะสร้างวินัย ต้องเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก สิ่งเหล่านี้จะพาเราก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้ ในวินาทีนี้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน วัฒนธรรมไทยโบราณที่กำลังจะเลือนหายไป เพราะเราไปมุ่งเน้น เรียนวิชาการจากสังคมตะวันตก จนรู้สึกว่ามีความเป็นตัวใครตัวมันมากไปแล้ว แต่พอวิกฤติเกิดขึ้น เราเริ่มหันกลับมาช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีกระแสน้ำใจในรูปแบบต่าง ๆ ให้เห็นกันมากขึ้น เป็นทิศทางที่ดีที่คนไทย เริ่มเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กันและกันมากขึ้น ผมอยากให้ทุกคนรักษาแนวคิดนี้ไว้ตลอดไปครับ