ดร.วินัย รุ่งฤทธิเดช
ดร.วินัย รุ่งฤทธิเดช
บริษัท จตุรเจริญชัย จำกัด
บริษัท เพชรสมุทรคีรี จำกัด
บริษัท รุ่งมณีอินดัสเตรียล จำกัด
ครอบครัวชาวประมง : คุณพ่อ (เตี่ย) เป็นเจ้าของเรือประมง มีเรืออยู่ในสังกัดสิบกว่าลำ ถึงท่านไม่ได้เรียนหนังสือ แต่มีทักษะทางช่าง จึงตั้งอู่ไว้ซ่อมแซมเรือ มีโรงกลึง เป็นของตัวเอง หลังจากนั้นญาติ ๆ คนรู้จัก ก็อยากให้เราดูแลซ่อมเรือให้ กิจการเลยขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ส่วนพี่ชายก็เป็นไต้ก๋งที่เก่งมาก ๆ
เรียนดีแต่อยากทำงาน : ช่วงเรียนหนังสือ เตี่ยกับแม่ ไม่เคยให้ทำงาน บอกว่า ผมมีหน้าเรียน ก็เรียนไป จนตอนจบ ม.ศ.3 ผมสอบได้ที่หนึ่งจาก โรงเรียนศรัทธาสมุทร (โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรสงคราม) แต่ผมเลือกไม่เรียนต่อ เพราะอยากทำงาน มีอิสระ มีเงินใช้ ถึงพ่อแม่อยากให้เรียน แต่ก็ไม่บังคับ ถ้าไม่เรียนก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าไปเที่ยวสำมะเลเทเมาละกัน
เจ้าของโรงกลึง : ผมไปทำงานในอู่ของเตี่ย อาศัยความขยัน ไปฝึกฝนตัวเองให้เป็นช่างกลึง โดยทั่ว ๆ ไปจะต้องให้ไปเริ่มหัดจากงานเชื่อมก่อน ถึงจะมาทำงานกลึงได้ เพราะเป็นงานยากกว่า แต่ผมก็ได้ไปฝึกงานกลึงเลยเพราะเป็นคนทำงานละเอียดอยู่แล้ว ทำอยู่แค่ปีเดียว เขาก็ปล่อยให้ทำเองทั้งหมด สมัยก่อนเป็นการทำงานตามต้นแบบจากของจริง วัดขนาดให้เหมือนของเก่า หรือให้กลึงแล้วใช้งานด้วยกันได้ ความตึงของชิ้นงานก็แล้วแต่ประเภท เช่นถ้าเป็นข้อต่อที่มีการเคลื่อนไหว ก็ต้องเผื่อให้พอประมาณสำหรับลูกปืน หรือเป็นตัวต่อก็ต้องตึงมาก เพื่อใช้ค้อนตอก หรือใช้ไฮโดรลิกอัด เราเผื่อได้หมด อาศัยประสบการณ์ล้วน ๆ จนถึงขนาดกลึงใบจักร ขนาดน้ำหนักเป็นตันได้ ซึ่งงานพวกนี้ผิดพลาดไม่ได้ ต้องทิ้งสถานเดียว
กลับมาเรียน : ทำงานโรงกลึงได้ 5 ปี อายุได้ 19 เห็นเพื่อน ๆ เรียนหนังสือกัน ส่วนเราเอง งานก็เริ่มอยู่ตัว จึงคิดถึงเรื่องไปเรียนศึกษาผู้ใหญ่ ถ้าไปเรียนตอนค่ำและเสาร์อาทิตย์ ก็ไม่ได้เสียงาน เลยอยากทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย จนได้วุฒิ ม.ศ. 5 ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ไปเรียน ทำงานกันแล้ว เรียนเพื่อเพิ่มวุฒิ ปรับเงินเดือน หรือเรียนต่อปริญญาตรีเพิ่มวิทยฐานะทางการศึกษา พอจบ ก็ไปต่อ ม.รามฯ ทันที เพราะไม่ต้องสอบเข้า เลือกลงคณะ นิติศาสตร์ เพราะคิดว่าเราหัวดีจำได้ พอดีปีนั้นน้ำท่วม มีการเลื่อนสอบ ทำให้สะดุดเรื่องการเรียนแล้วหยุดยาวเลย วินัยทางการเรียนตอนนั้นยังไม่ดี ทิ้งเรื่องเรียนไปอีกพักใหญ่
ปริญญาตรี : จนกระทั่ง พรรคพวกที่เรียน ม.สุโขทัยฯ มาชักชวน หลังจากเว้นเรื่องการเรียนมาเป็นสิบปี ผมเปลี่ยนแนวมาเรียนเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ ผลการเรียนก็น่าพอใจ จากเดิมที่เคยคิดว่าถนัดเรื่องการท่องจำ พอทำงานไปสักพัก เริ่มต้องคิดเรื่องต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งงาน ทั้งส่วนตัว ครอบครัว เรื่องท่องจำคงไม่ถนัดอีกแล้ว หลังจากเรียนจบ มุมมองทางธุรกิจก็กว้างขึ้น เพราะได้แนวคิด การคำนวณเชิงเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่ทำธุรกิจไปโดยไม่รู้เรื่องอะไรเลย และยังได้ขยายจากการเป็นผู้ผลิตเรือมาเป็นทำประมงด้วย เพราะเรามีเรืออยู่แล้ว นำไปใช้งานที่ต่างประเทศ ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดี
เปลี่ยนแปลงธุรกิจ : งานซ่อมคืองานบริการ โอกาสผิดพลาดมีสูง ยิ่งถ้าไม่ได้ลงมือทำเอง ให้ลูกน้องออกไปทำ ถ้าฝีมือไม่ถึง ถ้าเกิดข้อบกพร่อง เล็ก ๆ ก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ชื่อเสียงเราเสียหาย และเวลายังไม่เป็นตัวของตัวเอง ลูกค้าประจำเรียกเมื่อไหร่ก็ต้องไป เพราะถ้าเขาออกเรือไม่ได้ค่าเสียหายมันสูง ยิ่งถ้าเรียกให้เราไปซ่อมแล้วไม่ไป ก็ดูใจดำไปหน่อย ทำให้เรากำหนดเวลาชีวิตของตัวเองไม่ได้ บางครั้งวางแผนพาครอบครัวไปเที่ยววันหยุด แล้วเรือลูกค้าเสียขึ้นมา ก็ต้องไปบริการให้ จนผมถูกครอบครัวงอนเป็นประจำ (หัวเราะ) จนกระทั่งผมมาคิดว่า อยากจะลดเรื่องการบริการซ่อมเรือ เป็นผลิตของใช้ในเรือ เพราะเรามีผลิตใช้เองอยู่แล้ว เช่น สมอเรือ แต่ไม่ได้ทำขายใครเป็นเชิงพาณิชย์โดยตรง ถ้าเราหันมาผลิตสินค้าคุณภาพดี แล้วขยายตลาด น่าจะเป็นธุรกิจที่มั่นคงกว่า ด้วยความรู้เดิมที่เรามีนี่แหล่ะ เลยเปลี่ยนแนว จากที่เคยให้บริการซ่อม มาเป็นการผลิตสินค้า
สมอเรือ : เตี่ยผมเป็นช่างที่เก่ง แต่ค้าขายไม่เก่ง ท่านยังถามเลยว่า ทำสมอเรือจะขายได้สักกี่ตัว เพราะเรือหนึ่งลำ ก็ใช้แค่ชิ้นเดียว แล้วยังอยู่เป็นสิบปี, ซึ่งผมก็ตอบไปว่า เราไม่ทำแค่สมอเรือ แต่จะทำตัวอื่น ๆ ที่เป็นสินค้าสิ้นเปลืองด้วย ถ้าเราทำเป็นมืออาชีพจริง ๆ ขยายตลาดให้กว้าง ไม่อยู่แค่แม่กลอง จังหวัดชายทะเลของประเทศไทยมีหลายสิบแห่ง เรือประมงมีห้าหมื่นลำ ถ้าเป็นลูกค้าเราสัก 20 % ก็เป็นหมื่นลำแล้ว ถึงสิบปีเขาจะเปลี่ยนที แต่จำนวนขนาดนี้เราก็อยู่ได้แล้ว ถ้าสินค้าเราดีจริง ก็น่าจะไปได้ คุณสมบัติของสมอที่ดีคือ ต้องน้ำหนักน้อย แต่ยึดเหนี่ยวเรือได้ดี ไม่ว่าจะทิ้งลงไปในลักษณะไหน พอเชือกตึงต้องสามารถพลิกตัวยึดพื้นไว้ได้ ยิ่งมีแรงดึงเยอะ ยิ่งกดให้จมพื้นลงไป
พัฒนาให้ทันสมัย : จากเดิมเป็นเจ้าของ ต้องอยู่กับอู่ พองานผลิตเริ่มลงตัว ไม่มีอะไรให้เป็นห่วง ก็เริ่มทำตัวเป็นพนักงานขาย ออกตลาด เอาสินค้าไปโชว์ ตัวที่เด่นที่สุดคือ สมอเรือ เพราะตลาดมีคู่แข่งน้อย ทำราคาได้ ลูกค้ายอมรับในตัวสินค้า เนื่องจากสมัยนั้นโรงงานทำสมอเป็นกิจการเก่าแก่ทั้งนั้น แต่เราทำแล้วใกล้ชิดกับผู้ใช้ พัฒนาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ มีการรับประกันด้วย หากใช้ไม่ได้ เรายินดีดูแลทุกส่วน ในการขายสินค้า เรามีการพัฒนาและปรับปรุงอยู่ตลอด ถือว่าเป็นการให้บริการลูกค้าด้วย ขณะเดียวกันเราก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อผลิตรุ่นต่อ ๆ ไป ให้มีคุณภาพดียิ่ง ๆ ขึ้น ตรงกับความต้องการและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า เพราะปัจจุบัน มีเรือหลายชนิดมาใช้สินค้าเรา เช่นเรือยอร์ช เรือท่องเที่ยว เรือบรรทุกสินค้า ฯลฯ ไม่ใช่เรือก็มี เช่น แพ ที่ใช้ในกิจการต่าง ๆ ซึ่งในสมัยก่อนใช้ทุ่นขนาดใหญ่ ๆ ขนาดรวมสองตันเพื่อถ่วงน้ำหนัก แต่พอมาใช้สมอของเราตรึงสี่มุมน้ำหนักรวมแค่สองร้อยกิโลกรัมก็เพียงพอแล้ว
เก่งบวกเฮง : บริษัท จตุรเจริญชัย จำกัด ผลิต จำหน่าย เรือกำจัดวัชพืชในน้ำ, อุปกรณ์ประมง ที่ทำด้วยโลหะ สำหรับเรือขนาดกลางและขนาดใหญ่ ทำมากว่า 35 ปีแล้ว เช่น สมอเรือ ลอบ ห่วงคลาย ลูกค้าหลัก ณ วันนี้ เป็นประเทศเพื่อนบ้าน ชื่อเสียงเรื่องอุปกรณ์เรือเราสะสมมานานแล้ว จนมีครั้งหนึ่ง อบต. ที่เพชรบุรี มีปัญหาเรื่องวัชพืชในลำคลอง แล้วเห็นผู้เลี้ยงปลาสลิด ได้ต่อเรือเพื่อกำจัดวัชพืชไว้ใช้เอง แต่ไม่สามารถสร้างให้กับหน่วยราชการได้ ทาง อบต. จึงได้ติดต่อมาที่บริษัท เพราะเรามีความพร้อมในเรื่องทำงานให้กับหน่วยงานอยู่แล้ว หลังจากได้เห็นตัวอย่าง ก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วสร้างออกมาเป็นลำแรก เรือทำหน้าที่สับวัชพืชในน้ำให้ละเอียด แล้วลอยไปเป็นอาหารสัตว์น้ำ เหมาะกับแหล่งน้ำที่มีการไหลวน เช่น คลอง แม่น้ำ ขณะที่เราใช้หลักกลศาสตร์ในการออกแบบ ให้พุ้ยน้ำดึงเรือให้เข้าไปหาวัชพืช ถ้าน้ำตื้นก็ไม่ต้องติดเครื่องที่หาง ใช้ถ่อก็ยังได้
พอเริ่มเป็นที่รู้จักก็ผลิตออกมาเรื่อย ๆ
ปริญญาโท : ผมจบปริญญาตรีตอนอายุ 41 และเริ่มเรียนปริญญาโทเมื่ออายุ 46, ครั้งแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเรียน จนธุรกิจเริ่มอยู่ตัวแล้ว เริ่มหันไปทำงานด้านสังคม อยู่ช่วยงานหอการค้า ไปเป็นรองเลขาฯ ที่สมุทรสงคราม, เป็นประธานเครือข่าย OTOP ต่อมาได้รับเกียรติจาก ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเรียกว่า คณะกรรมการส่งเสริมกิจการ เลยได้สัมผัสกับวงการวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่น ๆ ที่เอ็นดูเราก็แนะนำว่า น่าจะไปเรียนปริญญาโท พอดีช่วงนั้น ม.มหิดล เปิดสอบอยู่ ผมเองก็อยากเรียนให้ลูกดู เพราะลูก ๆ เข้ามหาวิทยาลัยกันแล้ว อยากทำให้เห็นว่า ถึงพ่อทำจะธุรกิจ ทำงานสังคม ก็ยังเรียนไปด้วยได้ ผมเข้าเรียน สาขาพัฒนาชนบทศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานสังคมที่ทำมากกว่าเรื่องธุรกิจ ได้ประโยชน์ในเรื่องแนวคิด เรียนยากมาก อาจารย์ให้เลือกว่าจะทำ สารานิพนธ์ จะง่ายกว่า การทำ วิทยานิพนธ์ ซึ่งมีสิทธิ์ต่อปริญญาเอกที่นี่ได้, ผมเริ่มอยากจะมุ่งทางด้านการศึกษาแล้ว ก็เลือกทำงานยาก หลักสูตร 2 ปี ผมใช้เวลาเรียน 5 ปีเต็ม จนจบเมื่อปี 2551
วิทยานิพนธ์ : หัวข้อ “การร่วมโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” ผมนำมาจากประสบการณ์ตรง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับ SME ทั่วประเทศ ในการทำ CSR, เพราะบริษัทของผมสมัครเข้าโครงการ CSR แต่ไม่ผ่าน ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ จึงนำเรื่องนี้มาเป็นวิทยานิพนธ์ ให้เป็นวิทยาทาน เพื่อให้รู้ว่า ไม่ผ่านเพราะอะไร บทสรุปรวม ๆ ก็คือ การให้โอกาส SME หรือธุรกิจขนาดย่อมสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะขนาดกลางมีความแข็งแกร่งกว่ามาก
บทสรุป ข้อชี้แนะ : ภาครัฐควรให้โอกาส ธุรกิจขนาดย่อม ในการร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทุกวิถีทาง เช่นส่งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ มาให้คำแนะนำ, เกณฑ์ตัวชี้วัดต่าง ๆ ควรเอื้ออำนวยต่อการผ่านการคัดเลือกรอบแรกในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ แต่ถ้าจะขึ้นในระดับต่อไป ต้องให้ได้มีโอกาสปรับตัวให้เหมาะสม เพราะหากไม่ให้ผ่านรอบแรก เขาก็จะทิ้งไปเลย และไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ราวกับว่า เขาอยากจะทำดี แต่ทำไม่ได้, การช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือคนเท่านั้น การทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ก็ช่วยได้เช่นกัน เช่น ไม่ทิ้งอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งสิ่งที่ยังไม่บำบัดลงน้ำ ไม่ปล่อยอะไรขึ้นสู่อากาศหากไม่ได้จัดการลดของเสียก่อน นี่ก็เป็นการช่วยสังคมเช่นกัน โดยไม่ต้องไปบริจาคอะไรเลย การรับผิดชอบต่อสังคม โดยการไม่ทำร้ายสังคม การเสียภาษีถูกต้อง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ แล้ว
จังหวะชีวิตพาไป : พอได้รู้จักกับคนสายวิชาการมากขึ้น เพื่อนรุ่นน้องที่บริหารหลักสูตรปริญญาเอก ก็ชักชวนให้ไปเรียน ช่วงนั้นผมใกล้จะจบปริญญาโท เหลือแค่ติดวิทยานิพนธ์อีกนิดเดียว ก็ไปลงเรียนปริญญาเอก เพราะมีคนช่วยทั้งผลักและดุน วันที่ผมเข้าไปพบคณบดีเพื่อทำเรื่องจบ ท่านเอ่ยปากเลยว่า คุณมีวิสัยทัศน์ อยากให้มาช่วยสถาบันฯ ตั้งสมาคมศิษย์เก่า อยากให้คนที่มาทางสายธุรกิจบ้าง ผมจึงเป็นนายกศิษย์เก่าที่นั่นเป็นคนแรก
ปริญญาเอก : ผมเรียนค่อนข้างเร็ว เพราะมีประสบการณ์จากการเรียนปริญญาโทแล้วว่า เราช้าเพราะอะไร การเรียนระดับนี้เน้นย้ำในเรื่องของการเป็นผู้บริหาร มีผลงานของตัวเอง ไม่ได้ลอกใครมา มีความเข้าใจในเนื้องาน การสอบวิชาต่าง ๆ ต้องผ่านตามเกณฑ์ คนอื่นทำแทนไม่ได้ แต่เราไม่จำเป็นต้องทำงานด้านธุรการเองทั้งหมด มีผู้ช่วยทำให้ได้ ทำให้จบหลักสูตรนี้ได้อย่างสง่างามใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี ในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชา การบริหารการพัฒนา ซึ่งผมเลือกเรียนใน สาขา เอกชนและภาครัฐ โดยทำวิทยานิพนธ์ในเรื่อง การขยายโอกาสทางการค้าสมอเรือในประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถนัด และเป็นประโยชน์ เป็นงานวิจัยเพื่อผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย
เพื่อส่วนรวม : พอธุรกิจประสบความสำเร็จ การศึกษาจบขั้นสูงสุดแล้ว ก็อยากจะทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้น เดิมคิดจะทำงานการเมือง แต่ความเห็นต่างเริ่มเกิดขึ้น เริ่มจากคนในครอบครัวก่อนเลย ขนาดลูกก็ยังชอบนโยบายของแต่ละพรรคต่างกับเรา ผมเริ่มมองเห็นปัญหา จนคิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย ทำงานสังคมส่วนใหญ่คนจะรัก แต่พอทำงานการเมืองมันมีการเห็นต่าง เพื่อน ๆ ทักว่า ผมเป็นคนตรง ทำงานสายการเมืองอาจจะมีปัญหาเยอะ พอดีจังหวะนั้นภาครัฐเปิดรับสมัครผู้ตรวจการเลือกตั้ง รุ่นพี่ที่รักกัน (คุณอุดม ใจเย็น ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ราชบุรี) รีบโทรมาแจ้งข่าว แนะนำว่า ผมควรจะไปเป็นกรรมการ ไม่ใช่เป็นผู้เล่น ผมจึงสมัคร ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ทั้งจังหวัดคัดกรองจนเหลือแค่ 8 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นตัวแทนของ กกต. มีวาระ 5 ปี หน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง หลัก ๆ คือ ดูแลตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่ละครั้ง ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่ดูแค่ผู้สมัคร แต่ยังดูกระทั่งข้าราชการที่ทำตัวไม่เป็นกลาง หากมีปัญหาก็รายงานให้กับ กกต.ส่วนกลาง เพื่อทำการตรวจสอบ
ชีวิตส่วนตัว : เมื่อก่อนผมเคยสูบบุหรี่จัดมาก แต่เลิกได้เพราะ แรงบันดาลใจจากลูก มาเขียนป้ายไว้ที่โต๊ะทำงาน, เหล้า ก็เคยดื่มหนัก จนไปตรวจพบว่าตับเริ่มมีปัญหา ต้องระวัง เหลือแค่ดื่มเพื่อสุขภาพ ไม่ได้ดื่มเพื่อความสนุก ใส่ใจเรื่องโภชนาการ และออกกำลังกายที่เหมาะสม ตอนเด็ก ๆ ไม่ได้เล่นกีฬา เพราะเน้นเรียนอย่างเดียวเลย ชอบอ่านหนังสือ จนอายุยี่สิบกว่า ๆ ถึงเริ่มใส่ใจกับสุขภาพ หันมาว่ายน้ำ เคยเล่นกอล์ฟบ้าง แต่เนื่องด้วยเวลา ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่น ถนัดเรื่องการว่ายน้ำมากกว่า
เรื่องของใจ : ต้องมีสมาธิ และจิตใจที่คิดว่าเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ทุกวันพระ ผมถือศีล 5 เคร่งครัด ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ไม่ทำตัวเป็นภาระ ใครจะกินอะไรก็กินไป ผมก็แค่เลี่ยง กินแค่ผักตักแค่ธัญพืชก็จบแล้ว ที่สำคัญคือการให้อภัย ไม่ว่าจะเรื่องเล็กใหญ่แค่ไหน ถ้าทำใจได้ รู้จักปล่อยวาง คิดว่าทุกคนอยากเป็นคนดีกันทั้งนั้น พยายามคิดดีทำดีแบบนี้ จะได้บุญหรือเปล่าไม่รู้นะ แต่สิ่งที่ได้แน่ ๆ สำหรับผมก็คือ ความสบายใจครับ