พี่เลี้ยง
พี่เลี้ยง
“ครอบครัว” คำนี้มีความหมายมากมายนักสำหรับมวลมนุษย์ชาติ การที่มนุษย์เราจะสามารถสืบเผ่าพันธุ์จากรุ่นไปสู่รุ่นได้นั้น มนุษย์ก็ต้องอาศัย “ครอบครัว” เป็นหลัก หรือใครก็ตามไม่ต้องการครอบครัวก็ตามสบายเลยครับ แล้วทีนี้ “พี่เลี้ยง” มาเกี่ยวดองหนองยุ่งตอนไหนกัน…
เมื่อมีครอบครัวย่อมมี “บุตรหลาน” ตามมา ในหลายครอบครัวเลือกที่จะหยุดงานไม่คนใดก็คนหนึ่งเพื่อการดูแล “ลูกๆ” นั่นเอง แต่ไม่น้อยที่จะเลือกเอางานมาก่อนโดยใช้ “พี่เลี้ยง” เข้ามาทำหน้าที่แทน จากอดีตถึงปัจจุบันครูไก่ได้เห็นพี่เลี้ยงของเด็กๆมามากมายก่ายกอง…ถ้าจะนับเอาเวลาก็กว่า “35ปี” เข้าไปแล้วที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของ “พี่เลี้ยง” ของเด็กๆที่พามายังCLUBที่ครูทำงาน…
อดีตนั้น “พี่เลี้ยง” จะมีอายุราวๆ40ปีกว่าเข้าไปโน่น ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติมาก เหมือนกับว่าเขาดูแลลูกหลานเขาเองก็ไม่ปาน ครูไก่เคยเห็นบรรดาครอบครัวที่มีพี่เลี้ยงซึ่งเอาใจใส่ต่อ “งาน” ซึ่งก็คือเด็กๆที่เขาดูแล เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็น “ผู้ใหญ่” ที่รับผิดชอบต่อสังคมของตัวเอง และขณะเดียวกันสิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ “ความผูกพัน” ต่อพี่เลี้ยง ซึ่งต่อมาจะถูกส่งความไว้วางใจไปสู่อีกรุ่นนั่นคือความไว้วางใจที่มีต่อกัน หรือบางครอบครัวก็อยู่กันไปถึงต้องจัดงานศพให้ก็มี นี่คือความจริงที่ผมทราบมานาน…
แต่ ณ.ปัจจุบัน “พี่เลี้ยง” ดูจะเปลี่ยนไปมากมายนัก…เริ่มจากอายุก็ไม่น่าจะเกิน30ปี ความเอาใจใส่ต่อเด็กๆก็น้อยลง มาถึงก็นั่งก้มหน้าก้มตาเฝ้าดูแต่หน้าจอเล็กๆของโทรศัพท์ กระทั่งเด็กเรียนเทนนิสจบเธอจะเงยหน้าขึ้น แล้วก็เอา “หูฟัง” ออกไม่สนว่าเด็กๆจะเป็นอย่างไรกันบ้าง นี่คือ “พี่เลี้ยง” 7ใน10คนเป็นอย่างนี้…หรือถ้าใครที่เกิดจะได้คนดีเข้ามาดูแลเด็กๆ ผมก็ดีใจกับครอบครัวเหล่านั้นด้วยนะครับ…
บ่อยครั้งครูไก่ก็ต้องปลอมตัวเป็นพี่เลี้ยงเด็กเสียเอง พาเจ้าตัวน้อยไปเข้าห้องน้ำ ทั้งล้างก้น อาบน้ำ ดูแลเสื้อผ้า ก็จะทำไงได้เราดูแลบรรดา “พ่อๆ” เขามาแบบนี้แล้วจะปฏิเสธลูกๆเขาได้อย่างไรกัน รักพ่อเขาอย่างไรก็รักลูกๆเขาแบบนั้นเช่นกัน การที่จะมอบความไว้วางใจให้ใครสักคนมาดูแลลูกหลานของเรา ขอแนะนำนะครับ “เราควรสืบดูเทือกเถาเหล่ากอ” ให้ดีเสียก่อนนะสักนิดนึงก็ยังดี แล้วยิ่งเป็น “โคตรเหง้า” ที่เคยดูแลกันมาแต่เก่าก่อนนั่นแหละดีที่สุดครับ…
“การทำบุญโดยการซื้อชีวิตสัตว์”
ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นกระแสที่พูดกันพอสมควรกับการ “ไถ่ชีวิตโค-กระบือ” ว่าหลังจากเอา “ชีวิต”ของพวกเค้ามาแล้วจะทำอย่างไรกันดีกับลมหายใจที่เหลือ ความจริงบรรดา “โค-กระบือ” ที่เรากระชากชีวิตของเขาออกมาจากความตายที่อยู่ต่อหน้า ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว…มันจะมีอยู่2กลุ่มคือ กลุ่มแรกคือบรรดา “โคขุน” ที่มาเพื่อเป็นอาหาร กับบรรดา “โคปลดระวาง” นะครับ…
กลุ่มแรกเนี่ย เนื้อตัวจะสะอาดสะอ้าน มีเนื้อมีหนังที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเข้าไปสู่กระบวนการต่างๆที่จะเกิดต่อไป…แล้วบรรดา “โคปลดระวาง” นั้นสุขภาพร่างกายก็ตามสภาพ หน้าตาเนื้อตัวดูจะไม่น่าดูอะไรนัก น้ำหนักกับอายุจะดูแตกต่างกันลิบลับ ซี่โครงอาจแลคล้าย “ลูกระนาด” โครงก็เหมือนเอาผ้าห่มมาคลุมต้นไม้ที่ตายแล้วเท่านั้นเอง…แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าบรรดาโคเหล่านี้มีหญ้าฟางที่จะแทะเล็มได้หลังจากรอดตายมาก็จะคืนสภาพเดิมได้ไม่ยากเย็นนัก…
แต่สิ่งที่ควรคำนึงให้จงหนักคือ ชีวิตที่ต้องพึ่งพา “การรักษา” หลังจากนั้น ก็เพราะ “โรค” ที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว การที่เราจะ “ไถ่ชีวิต” พวกเขาไปแล้วควรได้คิดต่อไปว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตเหล่านั้นต่อไป…โดยมากก็จะนำไปฝากไว้ที่วัดหรือไม่ก็ชาวบ้านที่อยากจะมีวัวควายไว้ด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป แล้วหยูกยาที่วัว-ควายเหล่านั้นต้องได้รับตามเวลาที่โรคจะมา… นั่นคือการได้รับวัคซีนที่เหมาะสมกับเวลานะครับ…สัตวบาลหรือคนที่รู้จริงเนี่ยเรามีมากพอหรือยัง เหล่านี้คือ “ภาระ” ที่ใครก็ตามที่หาญกล้ามาอาสารับบทบาทนี้ เดี๋ยวก็จะเหมือนที่เราเคยเห็นเป็นข่าวเป็นคราวกันมาคือ… บรรดาหมา-แมวที่ผู้ใจบุญไปเก็บไปอุ้มมารับอุปการะไว้ แล้วก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราวกันขึ้นมาอย่างในอดีต…
ครูไก่คิดว่าการจะได้บุญจากการซื้อชีวิต “ของเพื่อนร่วมโลก” มันก็เป็นสิ่งที่เลิศล้ำอยู่แล้วครับ…เพียงแต่ขอให้ต่อ “โซ่ความคิด” ออกไปอีกว่า “เราจะเอาอย่างไรกันดีหนอ” ทั้งอาหาร, ยา, หมอ ที่ซึ่งเราจะเอาเขาไปอยู่มันมีอยู่รึเปล่า หมาแมวมันยังกินอาหารเหมือนคนเราได้นะครับ แต่ “วัว-ควาย” เขากินอะไรเหมือนเราบ้าง “หญ้า-ฟาง” เรามีอยู่รึไม่ในวงจรชีวิตของเรา หยูกยามีมั้ยที่เหมือนเรา สถานพยาบาลสัตว์เป็นอย่างไร สปาหมาแมวมีมากมายนะ แต่ก็ยังไม่เคยเห็นใครจูงวัว- ควายเข้าสปาสักครั้ง…
การซื้อชีวิตนั่นคือสิ่งดีครับผมเห็นด้วยจริง เพราะผมเองก็ทำเหมือนกัน เอางี้ฉบับหน้าค่อยว่ากันนะ…ว่าชีวิตของเขานั้นดีเลวอย่างไร…
ครูไก่ ลำพอง ดวงล้อมจันทร์