Just Say Know

Multiple Sclerosis ภัยใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน

Multiple Sclerosis ภัยใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน

กรมการแพทย์โดยสถาบันประสาทวิทยาชี้โรค MS : Multiple Sclerosis หรือโรคปลอกประสาทอักเสบ เป็นภัยใกล้ตัวหญิงวัยทำงาน อายุ 20-40 ปี แนะอาการผิดปกติทางระบบประสาทที่ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและให้การรักษาเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ

โรคเอ็มเอส (MS) หรือ Multiple Sclerosis เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจะเกิดอาการขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 20 – 40 ปี ซึ่งเป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน จากการสำรวจพบว่า 3 ใน 4 ของผู้ป่วยเอ็มเอสได้รับผลกระทบต่อการทำงาน ทั้งนี้พบว่าหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยเอ็มเอสจะเกิดภาวะทุพพลภาพภายใน 20 – 25 ปี หลังเริ่มมีอาการครั้งแรก และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2 เท่า รวมไปถึงมีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรมหากพบมีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นประมาณ 1%

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) หรือ โรคเอ็มเอส (MS) ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันระบบประสาท ทำให้เกิดการทำลายปลอกหุ้มประสาทในระบบประสาทส่วนกลางหรือปลอกหุ้มเส้นประสาทในส่วนปลาย แต่เนื่องจากเป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติได้รุนแรงและเรื้อรัง ผู้ป่วยมักสูญเสียความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันและทำงาน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรค MS จะมีอาการหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดโรค เช่น หากเกิดที่เส้นประสาทตา จะส่งผลต่อการมองเห็น อาจสูญเสียการมองเห็นของตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างเนื่องจากการอักเสบของเส้นประสาทตาผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ร่วมกับการมองเห็นที่ผิดปกติ หากเกิดที่ไขสันหลังหรือสมองผู้ป่วยจะอาจจะมีอาการอ่อนแรง รับความรู้สึกผิดปกติ ทรงตัวลำบากหรือสูญเสียความสามารถในการทรงตัว พูดหรือกลืนลำบาก ปัสสาวะหรืออุจาระผิดปกติ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติว่าทำหน้าที่ใด ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าว ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อได้รับตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาเพื่อลดระยะเวลาในการฟื้นตัว และลดความถี่ในการกลับเป็นซ้ำ

อาการผิดปกติของระบบประสาทมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง อาการผิดปกติเหล่านี้เรียกว่า การกำเริบหรือการกลับเป็นซ้ำของโรค ซึ่งอาการที่เกิดจากการกำเริบของโรคมีได้หลากหลายแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการเดิน มีอาการเกร็ง ปวด ขากระตุก ปัสสาวะไม่ออก, อาการชาแน่นรอบอก อ่อนแรงหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มแทง ปวดร้าวที่คอและกลางหลัง, ปัญหาเรื่องการมองเห็น ตามัวกึ่งเฉียบพลัน เห็นภาพซ้อน สีผิดเพี้ยน, ปัญหาเรื่องการทรงตัว ทรงตัวลำบาก มีลักษณะเฉพาะคือ มักเป็นและดีขึ้นเอง จากนั้นจะมีอาการกำเริบซ้ำในตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ ดังนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตตนเองและอย่ารอช้าที่จะพบแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคเอ็มเอส

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรค MS ให้หายขาดได้ แต่สามารถชะลอการเกิดความพิการหรือลดจำนวนครั้งของการกำเริบอาการโรคเอ็มเอสได้ด้วยยา ทั้งยาฉีดและยาเม็ด ซึ่งจะรักษาเมื่อโรคกำเริบและการป้องกันภาวะโรคกำเริบด้วยยาบางกลุ่มเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินของโรค รวมถึงรักษาตามอาการที่แสดง ร่วมกับการฟื้นฟูความผิดปกติด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นการป้องกันการกลับเป็นซ้ำและลดความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยโรค MS จึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจจะกระตุ้นให้กลับเป็นซ้ำหรือทำให้อาการรุนแรง โดยการดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อรับวิตามินดีเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ5หมู่ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรค MS โรคความผิดปกติทางระบบประสาท รวมถึงโรคอื่นๆ ด้วย

ที่มา : กรมการแพทย์, บทความสุขภาพ รพ.กรุงเทพฯ อินเตอร์ฯ