จิตวิทยาการกีฬา

การพัฒนาคนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (ฝึกเพื่อแข่งขัน )

การพัฒนาคนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
ขั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการแข่งขัน

ในฉบับนี้เป็นขั้นของการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเคลื่อนไหวร่างกาย การสร้างจิตใจและสังคมที่ก้าวเข้าสู่ขั้นของการฝึกเพื่อแข่งขัน (Training to Compete) ให้กับเด็กๆ

ระยะนี้เป็นระยะของนักกีฬชายที่มีอายุ ระหว่าง 16-18 ปี และนักกีฬาหญิงที่มีอายุระหว่าง 15-17 ปี จะเห็นได้ว่านักกีฬาชายและหญิงก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ โดยที่นักกีฬาผู้หญิงยังคงนำในเรื่องของการเข้าสู่ขั้นของการแข่งขันเมื่อเทียบกับนักกีฬาชาย

เป้าหมายของขั้นนี้ คือ ขั้นที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในหลายๆองค์ประกอบของความเป็นเลิศ เป็นขั้นที่เฉพาะเจาะจงในการแข่งขันมากขึ้น หลังจากที่ได้มีการเตรียมการ เรียนรู้และพัฒนาในขั้นต่างๆที่ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ระยะนี้จึงเป็นขั้นของการพัฒนาร่างกายเฉพาะทาง ที่เหมาะสมกับชนิดกีฬาที่เล่น และเริ่มต้นการวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง เป็นการผสมผสานด้านร่างกาย ทักษะ จิตใจและอารมณ์เข้าด้วยกัน

ขั้นของการแข่งขันนี้เป็นขั้นที่ทำให้การฝึกมีความหนักมากขึ้นทั้งกาย ทักษะและจิตใจ และที่มีความเฉพาะเจาะจงที่จะนำไปใช้ในการแข่งขันมากขึ้น การวิเคราะห์และประเมินผลองค์ประกอบของความเป็นเลิศ (ร่างกาย ทักษะ และจิตใจ) การพัฒนาทักษะกลไกที่ส่งผลต่อการเล่นกีฬาควรที่จะพัฒนาถึงจุดสูงสุดได้ระดับหนึ่งแล้วเพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากการใช้ร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่

ความถี่ของการฝึกซ้อมก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่สัดส่วนของการฝึกซ้อมและการแข่งขัน อยู่ที่ 90/10 และระยะเวลาของการแข่งขันไม่ควรเกิน 10 เดือนในหนึ่งปี นักกีฬาต้องมีช่วงเวลาของการพักตัวเองในการฝึกซ้อมและแข่งขันบ้าง

ในด้านจิตใจของนักกีฬา การปลูกฝังแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของการแข่งขันก็ต้องได้รับการปลูกฝังมากขึ้นและต่อเนื่อง เป้าหมายของการแข่งขันถึงแม้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลการแข่งขันมากขึ้น แต่ผลการแข่งขันก็ต้องได้รับการปลูกฝังว่าไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดในการแข่งขัน เพราะผลการแข่งขันเป็นเรื่องที่เกินการควบคุมของนักกีฬา ตัวอย่างเช่น แม้นักกีฬาจะเล่นดีที่สุดเท่าที่เคยเล่นมา แต่ก็ยังแพ้ได้ หากในวันนั้นนักกีฬาคู่แข่งขันก็เล่นได้ดี และดีกว่าเราได้ อย่างไรก็ตามเมื่อนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันแม้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับแพ้ชนะเป็นหลัก ทุกครั้งที่ลงแข่งขัน ต้องเล่นอย่างเต็มความสามารถ ตั้งแต่ ต้องเตรียมตัวอย่างเต็มที่ เช่น นอนให้เร็วหรือเพียงพอก่อนการแข่งขัน รับประทานอาหารที่ถูกทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การพักผ่อนต้องเพียงพอ การอบอุ่นร่างกายและการยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เหมาะสม เมื่อเกิดปัญหา สามารถแก้ปัญหา ไม่ยอมแพ้เมื่อเล่นได้ไม่ดี หรือแต้มแข่งขันเป็นรอง ควบคุมอารมณ์ในการเล่น และมีความเข้าใจว่าองค์ประกอบของความเป็นเลิศและการแข่งขันจะทำได้ดี ร่างกาย ทักษะและจิตใจต้องมีการเตรียมการอย่างหนักแต่ไม่หนักจนเกิดการบาดเจ็บ

ทางด้านอื่นๆของความเป็นเลิศของการแข่งขัน การเตรียมร่างกายก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องและควรจะมีการเตรียมพร้อมที่มากกว่าการนำไปใช้จริง ที่เป็นเช่นนี้เพราะระยะเวลาการแข่งขัน สถานการณ์และสภาพแวดล้อมการแข่งขันอาจจะมีความไม่แน่นอน หากเราต้องใช้ร่างกายเยอะๆ ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง อากาศร้อนมากๆ พูดอีกแบบหนึ่งคือหากเราเตรียมไว้ 150 แต่ใช้ 100 ดีกว่าการที่เราเตรียม 80 แต่ต้องใช้ ในสถานการณ์จริง 100

ส่วนเรื่องของทักษะเพื่อการเข้าสู่ขั้นของการแข่งขัน ก็ต้องมีการฝึกให้มีความเข้าใจว่าการแข่งขันที่เป็นการเปรียบเทียบความสามารถกันแบบนี้ นักกีฬาต้องมีการฝึกซ้อมกอล์ฟให้เกิดทักษะในทุกรูปแบบ ทุกสถานการณ์และข้อจำกัด เพราะในการแข่งขันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามสภาพการณ์แข่งขันที่เป็นการแข่งขันข้างนอก (Outdoor) เราต้องเตรียมให้พร้อมไว้ในทุกกรณี:

 ในฉบับหน้าเรามาทราบเรื่องของการฝึกนักกีฬาที่มีเป้าหมายของการพัฒนาร่างกาย ทักษะและจิตใจที่เป้าหมายเพื่อชัยชนะ (Training to Win) กันครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย