Interview

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์
อธิบดีกรมพลศึกษา
“ดีใจในสิ่งที่ได้รับ แต่ต้องไม่ดีใจจนเหลิง, เวลาเสียใจ ก็เก็บเอาประสบการณ์นั้น มาเป็นบทเรียน”

ชอบกีฬา : ชอบเกมท้าทาย โลดโผน เหมือนเด็กผู้ชายทั่ว ๆ ไป แต่ไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่มีความสนใจ จึงมาเรียน ปกศ.สูง พลศึกษา แล้วมาต่อปริญญาตรี มศว.พลศึกษา เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่อยากจะเจออะไรใหม่ ๆ ช่วงเรียนพละ ผมเป็นนักกีฬาบาสเกตบอล แล้วต่อไปก็มีทักษะด้านวอลเลย์บอล แบดมินตัน ส่วนประเภทอื่นก็เล่นได้ ต้องฝึกในทุกชนิดกีฬา นอกจากนั้นยังต้องฝึกการเป็นโค้ช ทำหน้าที่การตัดสิน พยายามที่จะมีส่วนร่วม เพื่อจะได้เข้าไปตัดสินในกีฬาชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปอบรมเพื่อเป็นกรรมการผู้ตัดสิน ในยุคนั้น ก็มีทั้ง ฟุตบอล วอลเลย์บอล ตระกร้อ กรีฑา ซึ่งเป็นกีฬาหลักที่คนเรียนพลศึกษาในสมัยนั้นต้องเป็น ต้องผ่าน ต้องได้ แล้วก็มีกีฬาอื่น ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เช่น ว่ายน้ำ ฮ็อคกี้ มวยไทย ฯลฯ เรียกได้ว่าผ่านมาค่อนข้างเยอะ ผมเคยประเมินศักยภาพตัวเองว่า คงไม่ไปถึงนักกีฬาระดับทีมชาติ ไม่ได้ใฝ่ฝัน แต่คิดว่าตัวเองชอบอะไร แล้วทำในสิ่งที่ชอบ นอกจากเล่นกีฬาหลักแล้ว ก็ยังไปเล่นกีฬาไทย ๆ ฝึกกระบี่กระบอง จนได้เป็นประธานชมรมฯ ของ มศว. ขณะนั้น อยากเรียนรู้มากกว่า อยากจะเก็บประสบการณ์ในหลาย ๆ ด้าน

สายการศึกษา : ผมสอบบรรจุได้หลายสังกัด ตอนจบ ม.ศ. 3 ก็สอนเข้าวิทยาลัยครู ตอนนั้นเรียน ปกศ.ต้น ที่ จังหวัดกาญจนบุรี เด็กต่างจังหวัดไม่ได้มีวิสัยทัศน์อะไรมากมาย อาชีพครูดูน่าสนใจ พออายุครบ 18 ก็สอบบรรจุได้ แต่คิดว่า เราน่าจะไปมากกว่านั้น ทางบ้านก็คิดว่าเป็นการศึกษาที่ยังน้อยเกินไป ให้เรียนต่อดีกว่า ผมก็สอบได้ ปกศ.สูง พอจบ ก็สอบบรรจุกรมสามัญได้อีก จะอยู่โรงเรียนมัธยม ทางบ้านให้ตัดสินใจเอง แต่ผมยังไม่พอใจ ขอเรียนต่อจนจบปริญญาตรี พอจบ ก็สอบบรรจุที่วิทยาลัยพลศึกษา อุดรธานี ถือว่าเป็นจุดที่พึงพอใจ เพราะเป็นสถาบันหลัก ที่จะผลิตบุคลากรทางพลศึกษาจริง ๆ

ทั้งทำงาน ทั้งเรียน : ผมทั้งสอบบรรจุ และสอบเรียนต่อควบคู่กันไปด้วย แต่คิดว่าการได้ทำงานเป็นเป้าหมายที่เราพึงพอใจ เลยเลือกไปทำงานก่อน หลังจากทำงานได้สองปี ก็สอบเข้ามาเรียนต่อปริญญาโทที่ประสานมิตร สาขาพลศึกษา แล้วกลับไปทำงานที่เดิมสักระยะ พอดีช่วงนั้นทางพอดี ท่านเลขาฯ กรมฯ กำลังต้องการคน ชักชวนให้เข้ามาช่วยราชการ ก็เข้ามาทำงานที่กรมฯ เป็นครั้งแรก ช่วงแรกยังคิดว่าชอบความเป็นครู แต่ก็เริ่มเปลี่ยน ย้ายตำแหน่งจากอุดร ซึ่งเป็นวิทยาลัยพลศึกษาขนาดใหญ่ เปิดตัวเป็นอันดับ 5 ของประเทศ มาอยู่ที่สุพรรณบุรี เพราะใกล้บ้านที่กาญจนบุรี หาโอกาสกลับมาดูแลพ่อแม่บ้าง

ทำงานกรมพลศึกษา : ช่วงนั้นต้องทำหน้าที่สอนให้ครบ เพื่อความก้าวหน้า และต้องมาทำหน้าที่ที่กรมฯ ด้วย โดยทำงานขยับไปเรื่อย ๆ ตามที่จะได้รับมอบหมาย เหมือนเลขาฯ หน้าห้อง ได้ดูระบบหนังสือของราชการว่าการโต้ตอบเป็นอย่างไร เป็นคนคัดกรองเรื่องให้กับท่านเลขาฯ หลังจากนั้นก็ถูกเรียกให้มาช่วยท่านอธิบดี อีกหลายท่าน ทำหน้าที่ในการคัดกรอง เสนอแนะ เพราะท่านจะมีเวลาอ่านในระดับหนึ่ง ผมเป็นคนให้ข้อมูลว่าเรื่องนี้อ่านแล้วเป็นอย่างไร ให้ท่านตัดสินใจได้เร็วขึ้น แทนที่จะต้องอ่านในทุก ๆ เรื่อง แล้วก็คอยประสานในเรื่องทั่ว ๆ ไปให้

ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา : จากนั้นก็ได้รับมอบหมาย ได้ทำงานส่งเสริม พัฒนา อบรมบุคลากร ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ในสาขาต่าง ๆ ตอนนั้นถือว่าเป็น อีกบทบาท ที่จะได้สัมผัสกับบุคลากรชั้นนำ ทั้งของไทย และต่างประเทศที่เราเชิญมาเป็นวิทยากร ทำให้ได้พัฒนาความรู้และประสบการณ์ไปอีกด้านหนึ่ง มีทั้งด้าน ส่งเสริมให้ความรู้ และจัดอบรมให้บุคลากรด้วย ทางศูนย์ฯ ได้รับเครื่องมือมาจากประเทศญี่ปุ่น หน้าที่ของเราคือคอยดูแลผู้มาดูงาน หรือขอใช้เครื่องมือเพื่อทำวิจัยในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ทำให้เราก็ได้ประสบการณ์ในการใช้เครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาไปในตัว

มหกรรมกีฬาของเอเชีย : ช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ทางกรมฯ ส่งผมไปอยู่สำนักงาน เอเชี่ยนเกมส์ ให้ไปทำงานทางด้านการเป็นผู้จัดทางด้านกีฬาโดยตรง โอกาสดีคือได้สัมผัสกับสำนักงานเลขาฯ โดยผมเป็นตัวแทนในส่วนฝ่ายพิธีการ, ท่านอธิบดียุคนั้น ได้รับหน้าที่สาขาฝ่ายศิลปกรรมและออกแบบ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการกำหนดกราฟิกดีไซน์ ในการจัดการแข่งขัน, สำนักงานก็ติดอยู่กับส่วนสิทธิประโยชน์ บางครั้งก็ได้ช่วยงาน ทำให้ได้เรียนรู้งานทางด้านนี้ไปในตัว ซึ่งทั้งเรื่อง กราฟิกดีไซน์ และ สิทธิประโยชน์ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในตอนนั้น ถึงแม้จะมีมานาน แต่ยังไม่เคยจัดให้เป็นรูปธรรมมากนัก, หลังจากเสร็จ เอเชี่ยนเกมส์ ก็เป็นงาน เฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ในยุคนั้น ยังไม่เป็นกีฬาคนพิการของเอเชีย, เป็นของกลุ่ม ตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย กลุ่มเอเชียกลางยังไม่ได้เข้ามาร่วม จัดกันจนถึงครั้งที่ 8 ก็กลายมาเป็น เอเชี่ยนพาราเกมส์ ตอนนั้นผมถูกเรียกตัวให้มาเป็นหัวหน้าสำนักงานเลขาฯ ของเฟสปิก ถือว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ต้องทำ ประเทศไทยจึงได้จัดมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย ทั้งสองรูปแบบ หลังจากนั้นอีกสองปี ก็มีจัดกีฬามหาวิทยาลัยโลก และรายการสำคัญอื่น ๆ ก็ตามมาอีกเรื่อย ๆ

สำนักกีฬา : พอเสร็จงานเฟสปิก ท่านอธิบดี ก็มอบหมายให้ ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหารของสำนักกีฬา และเติบโตมาโดยตลอด หน้าที่คือ ดูแล บริหารจัดการ เหมือนเลขาฯ ของสำนักฯ แต่ผมอาจจะทำเพิ่มขึ้นไปอีก ในการวิเคราะห์ระบบงบประมาณ ระบบวิชาการไปด้วย ใครที่เสนอผลงานมา ก็จะอาศัยประสบการณ์ทางวิชาการ ช่วยดูช่วยแนะนำให้ได้บ้าง โตมาจากฝ่ายบริหาร ขึ้นมาเป็นผู้ช่วยฯ และเป็นผู้อำนวยการสำนักฯ ขึ้นมาเป็นรองอธิบดี และไปเป็นผู้ตรวจราชการอีกระยะหนึ่ง ตั้งใจว่าจะไปศึกษางานด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพราะคิดว่าด้านกีฬาเราอยู่มาด้วยตลอดแล้ว, ในมุมมองของผม ภาพของคนพลศึกษา คนกีฬา ที่อยู่ในราชการแต่ละส่วนนั้นค่อนข้างน้อย เราไปอยู่ตรงนั้นก็ดีเหมือนกัน จะได้ไปเต็มเติมในเรื่องกีฬา และได้เรียนรู้งานทางด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ทำดีได้ทุกที่ : ไม่ว่าตำแหน่งจะอยู่ที่ไหน เราก็ทำงานได้เสมอ และควรตั้งใจว่า จะทำให้ดีที่สุด ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะได้เข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา เพราะท่านอธิบดีก่อนหน้านี้ ทำงานได้เข้มแข็ง ผมก็เชียร์ท่านเต็มที่อยู่เหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เป็นการให้โอกาสจากผู้บริหาร

ลูกหม้อกรมพละ : ผมเริ่มบรรจุที่กรมพลศึกษามาตั้งแต่ต้น เรียกว่าเป็นลูกหม้อได้เลย ทำงานมาสามสิบกว่าปี ได้เห็นรูปแบบการทำงานมาตั้งแต่รุ่นอดีต รุ่นกลาง มาจนถึงรุ่นใหม่ หรือเจนซี ในปัจจุบัน การทำงานมีการปรับเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ สไตล์การทำงาน ผมพยายามนำจุดอ่อน จุดแข็ง ของแต่ละยุค มาผสมผสานกัน

แนวคิดผสมผสาน : ยุคเก่า ต้องบุกเบิก มีอุปกรณ์น้อย งบประมาณน้อย ทุกอย่างต้องลงมือทำเองทั้งหมด, ปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐาน งานเยอะขึ้น เงินเยอะขึ้น แต่ทุกคนก็บอกว่ายังไม่พอ, ผมบอกว่า เงินไม่พอ ไม่ใช่ของใหม่ เป็นมาตั้งแต่อดีตอยู่แล้ว เมื่อเงินไม่พอกับงานที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เราจะต้องดำเนินการก็คือ ต้องสร้างความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในอดีต กรมฯ เรา เป็นแหล่งของผู้เชี่ยวชาญ ทุกด้านของวงการกีฬา

กรมพลศึกษา : ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2476 จาก พรบ. การศึกษาชาติ ปี พ.ศ. 2475 กำหนดให้การเรียนการสอน เป็น 3 ส่วน นั่นคือเด็กจะต้องมีทั้ง จริยศึกษา คือ คุณธรรม, วุฒิศึกษา คือ ความรู้ และ พลศึกษา คือ ร่างกาย โดยมีปรัชญาว่า เด็กไทยจะพัฒนา จะเรียนรู้ไปได้ดี จะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ก่อน ร่างกายดี ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ในการทำงานต่าง ๆ ก็เกิดขึ้น โดยใช้กิจกรรมทางการพลศึกษาในการสร้างให้เด็กรู้จักบทบาทหน้าที่ของตัวเอง รู้จักภาวะของการเป็นผู้นำ และ ผู้ตาม นั่นคือ รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย คือการปลูกฝัง คุณธรรม และจริยธรรม ให้กับเด็ก ร้อยเรียงกันไป เมื่อยุคแรก ๆ มีการคัดกรองบุคลากรในชั้นหัวกะทิ ทางด้านการพลศึกษาและการกีฬาของประเทศ มาอยู่ที่นี่ ทุกอย่างในอดีต งานกีฬาทั้งหมด ศูนย์กลางอยู่ที่กรมพลศึกษา ต้นปี พ.ศ. 2501 ช่วงที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 6 ตอนนั้น ผู้บริหาร คิดจะแยกงานบางอย่างออกไป เช่น งานเพื่อความเป็นเลิศ เป็น องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย (อสกท.) และขยายตัวพัฒนามาเป็น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในปัจจุบัน, ผลักดันให้มีการตั้ง คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เช่นนี้เป็นต้น, สมาคมกีฬาต่าง ๆ ก็เกิดที่นี่ อย่างเช่น ฟุตบอล หลักการคือ นักฟุตบอลที่ติดตัวเป็นชุดนักเรียนไทย จะพัฒนาต่อไปเป็นเยาวชน เป็นทีมชาติ, สมาคมกรีฑา ก็เก็บตัว ฝึกซ้อม ที่นี่ โดยมีขั้นตอนต้นแบบมาจากฟุตบอล คือ เด็กที่จะติดเยาวชนทีมชาติ ต้องผ่านนักเรียนไทยก่อน เท่ากับว่า กรมพลศึกษา ได้วางรากฐานให้ โดยบุคลากรที่เก่ง ๆ อยู่กับเราเยอะแยะมากมาย ช่วยกันสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ ๆ มาโดยตลอด

ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬา : ผมสังเกตว่า กรมพลศึกษา ทิ้งช่วงการทำงานกับภาคสังคมกีฬา โดยเฉพาะกับสมาคมกีฬาต่าง ๆ ทำให้มีระยะห่างค่อนข้างเยอะ ทั้ง ๆ ที่ในอดีต สมาคมกีฬา กับ บุคลากร กรมพลศึกษา จะทำไปด้วยกัน, ตัวผมเอง ตั้งแต่มาอยู่ที่กรมฯ ก็ทำมาตลอด เป็นผู้ตัดสินของสมาคมต่าง ๆ หลายแห่ง และที่สำคัญ มาทำเรื่องยกน้ำหนัก ทำงานจนได้รับความไว้วางใจ ให้ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร เป็นเลขาฯ สมาคมฯ อีกหลายสมัย, ปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่ปรึกษา และเป็นอุปนายกให้สมาคมบาสเกตบอล อีกด้วย, ถ้าเราทำงานควบคู่กันไปกับทางสมาคมต่าง ๆ แล้ว เราจะใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่าย เกื้อหนุนงานของกันและกัน ดังนั้น แนวนโยบายของผมคือ ผลักดันให้น้อง ๆ รุ่นใหม่ ได้ทำงานร่วมกับสมาคมกีฬาเพิ่มมากขึ้น กำลังเจรจาว่า เราจะมีการทำข้อตกลง MOU และบูรณาการงานร่วมกันให้เพิ่มมากขึ้น

วิกฤติโควิด : ผมจะใช้นโยบาย เราต้อง Give ก่อน เพราะถ้าไม่ให้ ก็อย่าคิดที่จะ Take เลย, เราทำงานอยู่ในระบบนี้มานาน เราให้เขาแล้ว เพื่อนไม่ทิ้งเราหรอก จะต้องทำงานด้วยกัน ถึงจะเจอกับปัญหา แต่ก็ต้องเดินหน้า หาหนทาง หาทางออก ช่วยกันแก้ปัญหา อย่างเช่น พอโควิดมา วอลเลย์บอล ไทยแลนด์ลีก ประสบปัญหาทุกด้าน ตั้งแต่การหาผู้สนับสนุน สนามจัดการแข่งขัน เราก็บอกให้เข้ามาคุยกัน เรื่องงบประมาณค่าเช่า ไม่ต้องพูดถึง เชิญมาใช้สถานที่ได้เลย กรมพลศึกษา ยินดีร่วมเป็นเจ้าภาพ เพราะเราไม่มีนโยบายในการหากำไรอยู่แล้ว เราดูหลักการว่า อะไรที่จำเป็นต้องจ่าย เช่นค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่มาทำงาน ก็จ่ายไป ส่วนเรื่องของค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ถ้าไม่มี กรมฯ ก็เป็นเจ้าภาพไว้ก่อน แล้วผมจะขอประชุมกับผู้บริหารเพื่อหาทางออก เพราะ ณ เวลานี้ เราต้องช่วยกันแล้ว

ตอบแทนสังคม : นอกจากผมทำงานที่กรมพลศึกษาแล้ว ผมยังทำงานให้กับสมาคมฯ ซึ่งถือเป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทน ผมทำงานให้กับสมาคมยกน้ำหนัก มาร่วม 30 ปี นอกจากเป็นเลขาฯ แล้วยังขึ้นไปเป็นกรรมการเทคนิคของเอเชีย ได้รู้จัก ได้ติดต่อ กับเพื่อน ๆ อีกเยอะแยะมากมาย, ส่วนครอบครัว โดยเฉพาะลูก ๆ ก็ส่งเสริมให้เขาได้ค้นพบตัวเอง ในความสนใจ ในความชอบทางกีฬา โชคดีที่ลูกคนแรก พอสามขวบเริ่มพาไปว่ายน้ำ ก็ชอบ ลูกคนต่อ ๆ ไป ก็พาไปว่ายน้ำด้วย พอโตขึ้นมาอีก ที่กรมฯ จัดกีฬาภาคฤดูร้อนสำหรับเด็ก ๆ ก็พาเขามาดูว่า สนใจอะไร ใครชอบ ใครสนใจทางไหน ผมก็เปิดโอกาสเต็มที่ ผมจะบอกกับภรรยาว่า การที่ให้ลูก ๆ มาใช้เวลากับสนามกีฬา เขาได้สังคมเพื่อน ได้มีการพัฒนาในทักษะ พัฒนากล้ามเนื้อ ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาร่างกาย ดีกว่าอยู่บ้านแล้วนั่งเฝ้าหน้าจอทีวี ถือว่าเป็นอีกแนวทาง ที่เราได้ใช้กีฬาให้เกิดประโยชน์กับครอบครัว

ดูแลตัวเอง : ผมออกกำลังกาย ดูแลตัวเองบ้าง แต่ไม่ค่อยชอบวิ่งเท่าไหร่ อาศัยจ้อกกิ้ง หรือทำอะไรเบา ๆ และเมื่อปี 2557 เพิ่งจะมีโอกาสได้เล่นกอล์ฟบ้าง ก่อนนี้เคยเห็นพี่ ๆ ไปเล่นกอล์ฟกัน แต่ยังดูว่า เสียเวลามาก คิดว่าจะเป็นกีฬาหลังเกษียณ, ณ วันนี้คือ เวลาช่วงวันหยุด เริ่มหาสนามที่ระยะไม่ไกล ไม่ต้องใช้รถกอล์ฟ ได้เดิน ได้สุขภาพ ได้เพื่อนฝูง แต่ยังเล่นได้แค่เดือนละครั้งสองครั้ง หรือบางวันช่วงเย็น ๆ ก็ลงไปเดิน จ้อกกิ้งเบา ๆ ในสนามศุภฯ บ้าง

หลักคิดชีวิต : ทำงานมาสามสิบกว่าปี ผ่านอะไรมาเยอะ มีทั้งประสบความสำเร็จ ความล้มเหลว ผิดหวัง เสียใจ, ผมใช้ทางพระเข้ามาเป็นสรณะ โชคดีที่ตอนจบ ป.7 ได้ไปบวชเรียนอยู่หนึ่งเดือน หลังจากทำงาน ก็มีโอกาสลาบวชอีกหนึ่งพรรษา ผมจึงใช้หลักทางธรรม เข้ามาเป็นแนวทางในชีวิต, ทั้งหมด ทั้งหลาย ทั้งปวง ก็คือ มีการมีสติ และรู้จักปล่อยวาง ดีใจในสิ่งที่ได้รับ แต่ต้องไม่ดีใจจนเหลิง เวลาเสียใจ ก็เก็บเอาประสบการณ์นั้น มาเป็นบทเรียน มาวางแนวทางว่าในอนาคตจะทำอย่างไร เราถึงจะไม่ก้าวพลาดอีก ใช้ในการทบทวนตัวเอง เหมือนเดินจงกลม ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เราพลาดตรงไหน บางครั้งในขณะที่ทำ เราคิดว่า ทำดีที่สุดแล้ว แต่มันยังไม่สมบูรณ์ที่สุดในสายตาคนอื่น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพร้อมที่จะรับฟังแนวทางและข้อเสนอแนะของคนอื่นให้มากขึ้น เอามาวิเคราะห์ พิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ถูกต้องเหมาะสมที่สุด ในขณะเดียวกันเราก็จะแชร์ประสบการณ์ตรงนี้ ให้กับผู้ร่วมงาน น้อง ๆ , เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับเขาได้

คำสอนพ่อแม่ : ผมเป็นเด็กบ้านนอก พ่อแม่บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ ฉะนั้นอะไรที่ทำได้ เมื่อมีโอกาส ก็จะพยายามทำ ต้องให้คืนสู่สังคม อย่างตอนนี้ก็มีดูแลเด็กในโครงการของ CCF ให้ได้มีโอกาสทางการศึกษา เป็นการให้อนาคตกับเขา

สติ : บางคนเจอวิกฤติ ทำผิดพลาด พอถูกสอบ ก็ตกใจ จนไปไม่เป็น, ผมบอกเสมอว่า ทุกคนทำผิดพลาดได้ โดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กล้าพูดว่าส่วนใหญ่เคยโดนกันทั้งนั้น แต่เราต้องตั้งสติ แล้วมาดูว่า อะไรเกิดขึ้น หาคำตอบให้ได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการทำงาน ทุกวันนี้มีปัญหา คั่งค้าง ของเก่า ๆ หรือ สะสางไม่ได้มาในอดีต หลาย ๆ ยุค หลาย ๆ สมัย เราต้องเปิดใจกว้างขึ้น คิดนอกกรอบ ทำยังไงเราถึงจะก้าวข้าม ออกไปนอกกรอบ บางครั้งเห็นว่า ลูกน้องก็ติดอยู่ในกรอบ แล้วจะไม่สามารถก้าวพ้นออกไปได้ ผมจะพยายามแนะนำ มองให้กว้างยิ่งขึ้น มองหาปัญหาให้เจอ

ลิงแก้แห : ทุกคนบอกว่า ปัญหาเยอะมาก นั่นก็ใช่, แต่เมื่อเจอปัญหา ไม่ว่าจะเยอะขนาดไหนก็ตาม ผมจะแนะนำให้เริ่มจากการแก้เรื่องง่าย ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ ปลดไปทีละปัญหา ถ้าเรารีบเกินไป ก็จะเหมือนกับสุภาษิตโบราณที่ว่า ลิงแก้แห ยิ่งแก้ ยิ่งพัน ต้องตั้งสมาธิ แล้วค่อย ๆ ปลด เรื่องที่ง่าย เรื่องที่อยู่ภายนอก ปลดทีละเงื่อน ทีละเปลาะ แล้ววันหนึ่งเราจะปลดทั้งหมดได้ แต่ถ้าใจใหญ่ ใจด่วน ใจเร็ว จะทำพร้อม ๆ กันทีเดียว มันจะยิ่งพันติดร่างแห สุดท้ายก็พันตัวเอง ยิ่งปลดไม่ออก นี่คือหลักการที่ผมใช้อยู่ แล้วถ้ามีเวลาก็พยายามหมั่นทำบุญ บริจาคโลหิตสม่ำเสมอ ตั้งเป้าทำกุศลไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ไปทีละขั้น ไม่เร่ง ไม่รีบร้อนครับ.