ดร.ณิชานาฎ บรรจงจิตร
ดร.ณิชานาฎ บรรจงจิตร
อดีต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาบุคลากร
สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“ชีวิตนี้ไม่เคยทะเลาะกับใคร แม้แต่ครั้งเดียวเลยค่ะ” คุณตุ๊ (ดร.ณิชานาฎ บรรจงจิตร) ยืนยันคำพูดด้วยน้ำเสียงหวาน ๆ “ไม่เคยพูดสาด ตะเบ็ง ตะโกน เพราะนึกอย่างเดียวเลย ทำแล้วเดี๋ยวไม่สวย หน้าตาจะกลายเป็นยักษ์” เธอเล่าต่อพร้อมเสียงหัวเราะ “ใครจะมาทะเลาะกับเราก็ไม่เป็นไร ขอยืนนิ่ง ๆ ยืนยิ้ม ปล่อยให้เขาพูดไป จนเขายอมแพ้ไปเอง เพราะไม่รู้จะทะเลาะกับใคร”
อาชีพหลักของคุณตุ๊ (หรือบางคนอาจจะเรียกว่า อ.ตุ๊ บ้าง ดร.ตุ๊ บ้าง) นั่นคือ นักประชาสัมพันธ์ ทำงานสายนิเทศศาสตร์ ตำแหน่งที่ กกต. ช่วงหนึ่งก็คือ ผู้อำนวยการโฆษก กกต. เป็นผู้อำนวยการฝ่ายผลิตสื่อ ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ อยู่ทางด้านสื่อ กับงานด้านแถลงข่าวเป็นหลัก…
สมัยเด็ก คุณตุ๊ เป็นเด็กเรียน เป็นเด็กเรียบร้อย จริงจังมาก นั่งหน้าห้องตลอด เรียน ป. 1 ที่โรงเรียนประสาทพร ของครูล้วน ควันธรรม ซึ่งเป็นน้องชายของคุณปู่ ตั้งแต่ 5 ขวบ อายุน้อยที่สุดให้ห้อง ชอบเรียนหนังสือมาก ๆ เคยได้รางวัลเรียนดีตอนมัธยม และยังชอบทำกิจกรรม เช่น พิธีกร ประกวดร้องเพลง รำ ดรัมเมเยอร์ แล้วเธอยังออกแนวคุณหนู อยู่ในกรอบ เพราะคุณพ่อคุณแม่รับราชการทั้งคู่ เรื่องหนีเรียน โดดเรียน ไม่รู้จัก ไม่กล้าทำ กลัวเรื่องการทำผิด ประพฤติตนดีจนได้รับรางวัลหน้าเสาธงบ่อย ๆ
ยุคนั้น เป็นค่านิยมว่า เด็กเรียนดี ต้องเรียนบัญชี ถึงจะไม่ใช่สิ่งที่ชอบ แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มเรียนดี ก็ต้องเรียนบัญชี จนจบ ปวช. สาขาบัญชี แล้วใช้วุฒิ ปวช. เข้าไปสอบ กพ. ครั้งแรกก็ติดเลย คิดว่าขอให้เข้าไปได้ก่อน งานอะไรก็ทำได้หมด เผอิญได้ไปทำงานที่เกี่ยวกับคดี สำนวน ที่ตำรวจต้องมาส่ง มีหน้าที่พิมพ์คำฟ้องส่งศาล สมัยก่อนก็คือเสมียน ไม่ได้ใช้งานด้านบัญชีเลย………
ตอนเด็ก ๆ เวลาดูทีวีแล้ว คุณตุ๊ อยากเป็นผู้ประกาศข่าว ทำให้ชอบพูด ชอบแสดงออก กิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ขันอาสาเลย ขอเป็นพิธีกร ตั้งแต่เด็ก พอเข้าทำงานปีแรก พี่ ๆ ก็ผลักดันให้รุ่นน้องที่เข้าทำงานมาใหม่ ๆ ล่าสุด ที่จบมาจาก กพ. มาเป็นโฆษก “เราก็ยกมือ วิ่งออกไปหน้าไมค์เลยค่ะ เวลามีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น รับบริจาค ต้องดึงคนเข้ามาทำกิจกรรม อะไรต่าง ๆ ของสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนหน้านั้นคือหน่วยงานแรก ใช้คำว่า กรมอัยการ จะได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นพิธีกร งานกิจกรรม งานกาชาด เชิญชวนให้เข้ามาร่วมกันบริจาค”
พอจบปริญญาตรี คุณตุ๊ ไปทำงานเกี่ยวกับ โยกย้าย แต่งตั้ง แต่ทำได้ไม่นานก็ตามหาฝัน เพราะยังไม่ใช่สายนิเทศน์ที่ตัวเองชอบ พอดีผู้ใหญ่เห็นแววและบุคลิกภาพ เลยให้ไปทำเป็น นักประชาสัมพันธ์ จากนั้นเธอก็ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์ “เรียนได้ดีมากเพราะเป็นสิ่งที่เราชอบค่ะ ได้เกรดเกือบจะได้ทุน ไม่ต้องดูหนังสือเยอะ ใช้ตัวตนของเราในการเรียนในแต่ละวิชา โดยเฉพาะ วิชาการพูดเพื่อการสื่อสาร ได้เกรด เอ ตลอด เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำงานตรงสาย เรียนสนุกมาก”…
นอกจากการเป็นโฆษกพิธีกร คุณตุ๊ ยังรักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ชอบอยู่กับเสียงเพลง อยู่กับไมค์ จนได้เป็นนักร้องอาชีพ คุณพ่อทำงานราชการไปด้วย แล้วก็เป็นนักร้อง เล่นดนตรี สีไวโอลิน อยู่ในวงของคุณปู่ล้วน ควันธรรม น้องชายสองคนก็เล่นดนตรีอาชีพ เข้าบ้านก็ร้องเพลงกันทั้งวัน เธอจึงเป็นลูกไม้หล่นใต้ต้นทางด้านดนตรี และยังเคยออกเทป กับคุณวินัย พันธุรักษ์ มาแล้ว ตั้งแต่ตอนเข้ารับราชการใหม่ ๆ ตอนอายุ 18 พอดีมีการหานักร้องใหม่ ๆ ส่วนเราเองก็ชอบรับร้องเพลงตามงานสังสรรค์ งานแต่งงาน ตอนเรียนปริญญาตรีเล่นโฟลค์ซองกับเพื่อน พอเลิกเรียนก็วิ่งไปร้องเพลง 1 ชั่วโมง พอได้ค่าขนม ร้องเพลงลูกกรุงทั่วไป สากลด้วย แนวคาร์เพนเตอร์ ทำให้ได้ทิปจากคนฟัง กลายเป็นรายได้ที่ดี เลี้ยงตัวได้ ส่งตัวเองเรียนหนังสือ จ่ายค่าเทอม เก็บตังซื้อรถ จากรายได้เสริม ก็กลายเป็นรายได้หลัก ขณะที่ราชการเงินเดือนตามวุฒิ แล้วค่อย ๆ ไต่กันไป และช่วงนั้น คุณแม่ศรีสุดา รัชตะวรรณ กำลังหานักร้องหน้าใหม่ เข้าไปอยู่ในวงสุนทราภรณ์ อัยการท่านหนึ่งทราบว่าเราชอบร้องเพลง ก็เลยเรียกให้ไปคุยกับคุณแม่ พอคุยแค่ไม่เท่าไหร่ท่านก็รับ โดยยังไม่ได้ร้องเพลงอะไรให้ฟังเลย ท่านบอกไม่ต้องร้องหรอก ฟังเสียงพูดก็พอแล้ว และให้ไปฝึกเพื่อเข้าอยู่ในกรอบวิถีของสุนทราภรณ์ จนได้ออกงานกับวงบ่อย ๆ ได้ขึ้นเวทีใหญ่ ๆ อย่างวันสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์…..
สำหรับการทำงาน คุณตุ๊ ก็ทำหน้าที่ได้หลายบทบาท เป็นโฆษก ทำหน้าที่ดำเนินรายการ เกริ่นนำก่อนจะเริ่ม การแถลงข่าวในทุก ๆ เรื่อง แต่ชอบมากที่สุดคือการจัดรายการวิทยุ ตอนอยู่ กกต. เป็น ผอ.โฆษก กกต. ไปจัดที่ วิทยุรัฐสภา “พอสอบใบผู้ประกาศวิทยุ ผ่าน ก็ไปจัดรายการวิทยุ เกี่ยวกับเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง จัดอยู่ 2 คลื่น แห่งประเทศไทย กับ รัฐสภา จัดอยู่หลายปี พอดีอยู่ในสายงานด้วยค่ะ เช่นจะเลือกตั้ง ก็นำความรู้ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จัดแบบสนุกสนาน ร่าเริง มีของแจก คนฟังได้ร่วมสนุก เนื้อหามันเครียด แต่เราพยายามปรับให้ไม่เครียด ไม่หนัก มีการพูดคุยกับคนฟัง ทำเกม รับรางวัล เหมือนกับรายการทั่ว ๆ ไป สลับกับการเปิดเพลง”
คุณตุ๊ ทำงานด้านประชาสัมพันธ์มาตลอด ได้พบปะผู้คนเยอะแยะมากมาย “ได้ออกไปข้างนอก เพื่อไปนิเทศงาน สอนงานกับหน่วยงาน กกต. ตามจังหวัดต่าง ๆ ที่ทำให้เรารู้สึกแข็งแกร่ง และนำความรู้ที่ได้รับ ไปถ่ายทอด ประกอบกับช่วงนั้นเรียน ปริญญาเอก ที่ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา พอจบออกมา ก็ได้ใช้ความรู้นั้น กับงานวิชาการอีกแนวนึง นั่นคือ เป็นที่ปรึกษาหลักสูตร การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงของ กกต. เรามีหลักสูตรให้นักการเมืองและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการภาคเอกชน เข้ามาเรียน ได้ใช้ความรู้ระดับปริญญาเอก เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในการสอบเอกสารทางวิชาการส่วนบุคคล”
ว่าไปแล้วก็เหมือนกับเรื่องบังเอิญ ในเรื่องการศึกษา… “เพราะจริง ๆ จะเรียนปริญญาโทอีกใบ ที่ตรงกับสาขาของการเลือกตั้ง พอดีมีพี่อีกคนบอกว่า ทำไมจะต้องไปเรียนซ้ำ เรียนให้เป็นปริญญาเอกไปเลย หมดเรื่อง จะได้รู้สึกถึงความเป็นอาจารย์ไปด้วย เอาไปใช้ต่อยอดได้ เลยตัดสินใจเรียน”
“โอ้โห… เป็นอะไรที่สาหัสที่สุดในชีวิต” ดร.ตุ๊ ถึงกับอุทาน พร้อมหัวเราะ เมื่อถามถึงการเรียน “เกือบจะไม่จบหลายครั้งหลายครา อุปสรรคเยอะมาก พวกเราก็ยกทีมกันฝ่าฟัน จับมือกัน สู้ไปด้วยกัน จนค่อย ๆ ทยอยจบ”
“การเรียนปริญญาเอกนั้น ผลลัพธ์คุ้มค่ามาก แต่กว่าจบได้นั้น หลายครั้งหลายครา ที่อยากจะเลิกเรียน แต่ก็หันมาถามตัวเองให้ชัด ๆ เลยว่า มีอะไรบ้างที่เคยทำแล้วไม่สำเร็จ? เอาออกมากางดูกันเลย คำตอบคือ ไม่มี เพราะฉะนั้น ต้องไม่มีเรื่องใดที่ล้มเหลวในชีวิต เตือนตัวเอง แล้วฮึดสู้” หัวข้อที่ทำวิจัยเพื่อเป็น ดร. ก็คือ “วัยรุ่นในยามค่ำคืนที่มุ่งผลสำฤทธิ์ต่อการสำเร็จการศึกษา”…
“ต้องตระเวน ไปเก็บข้อมูลตอนกลางคืน เป็นหัวข้อที่อาจารย์ที่ปรึกษาถามย้ำว่า แน่ใจนะว่าจะทำ เพราะมีค่าใช้จ่ายเยอะแน่นอน ต้องไปนั่งเฝ้าเด็กตอนกลางคืน คนไม่รู้ก็นึกว่าเราไปเที่ยว กลุ่มเป้าหมายของเราคือ ขอให้เป็นนักศึกษา แต่ทำงานกลางคืน ดูซิว่า เขาจะมุ่งผลสำฤทธิ์หรือไม่ เราต้องปลอมตัวไป เพื่อไปสัมภาษณ์โดยไม่เขารู้ตัว แอบอัดเทป พยายามคุยให้เข้าคำถามแต่ละหัวข้อที่ร่างเอาไว้ มีความเสี่ยงอยู่เหมือนกัน เพราะทั้งตัวเด็กและเจ้าของสถานที่ จะรู้ไม่ได้เด็ดขาดว่าเรากำลังทำอะไร เป็นงานวิจัยที่ระหว่างนำเสนอ คนจะตั้งใจฟังกันมาก เขาบอกว่าสนุกสนาน เพราะกว่าจะผ่านการกลั่นกรองให้เป็นคำพูดที่เหมาะสมได้ อาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้ต้องแก้แล้วแก้อีก จนออกมาเป็นเชิงวิชาการได้” ดร.ตุ๊ เล่าพร้อมกับแววตาแห่งความภาคภูมิใจ….
“นอกจากนี้ สังคมที่เราได้ก้าวเข้าไป ยังหล่อหลอมให้เจอกับกลุ่มเพื่อน คนที่คิดแต่เรื่องดี ๆ ให้ไปรวมกลุ่มอยู่กับเขา เหมือนอย่างการได้เข้าไปเป็นคณะกรรมการ สมาคมศิษย์เก่าสวนสุนันทา ทำให้ได้เข้ามาช่วย มาทำงานที่สำคัญนี้ และยังมีงานอื่น ๆ ที่มารอเตรียมแต่งตั้ง เป็นที่ปรึกษาในงานที่เกี่ยวกับการอบรม ก่อนเกษียณสามปีได้เปลี่ยนจาก ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ เป็น ผอ.สำนักพัฒนาบุคลากร ดูในเรื่องการฝึกอบรม ทั้งบุคคลภายนอก และภายในเอง นอกจากนั้นก็ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรกับหน่วยงานภายนอก เอาประสบการณ์ การเขียนหนังสือราชการ การพูดเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ไปทั้งตามหน่วยงาน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คุ้มค่ากับสิ่งที่ทุ่มเทไปค่ะ”
สำหรับบุคลิกภาพส่วนตัวนั้น… “เป็นคนคิดเองทำเอง ทุกเรื่องในชีวิต, ลิขิตเอง กำหนดเองมาตลอด ไม่เคยเป็นวัยรุ่น เพราะไม่รู้จะเป็นตอนไหน อายุ 18 ก็ทำงานทันที ทำงานมีรายได้ก่อนเรียนจบด้วยซ้ำ ทำให้ข้ามไปเป็นผู้ใหญ่เลย อายุราชการที่พึงมีเต็มเหยียด 42 ปี ไม่เคยเป็นวัยรุ่นกับใครเลย เรื่องเที่ยวเล่นสนุกสนาน เที่ยวกลางคืน ปาร์ตี้ ไม่เคยรู้จัก ทำแต่งานกับเรื่องเข้าวัดเข้าวา ชอบมากเป็นพิเศษมาตั้งแต่เป็นเด็ก ๆ เลย จนบางทีโดนแซว ว่าทำไมไปวัดบ่อย เพราะเราชอบเข้าไปหาผู้ใหญ่ ไปสนทนาธรรม เวลามีกิจกรรมที่วัดก็ไปช่วยงาน วันเด็ก วัดจัดงานก็ไปเป็นโฆษก เราคุ้นชินกับการเป็นพิธีกรทุกงาน”
“ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยได้เล่นกีฬา แต่เมื่อมีกระแสการออกกำลังกายเข้ามา ก็ทำตามทันที แล้วก็เห็นผล เดินรอบหมู่บ้าน วิ่งบนลู่วิ่งที่บ้าน ทำมานานแล้ว สม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ ไม่ทานอะไรที่ทำร้ายตัวเอง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ชีวิตอยู่กับกลางคืน แต่ไม่เอาสิ่งเหล่านี้เลย เป็นคนอยู่ในกรอบนี่คะ อะไรที่ไม่ดี มันไม่ชอบไปเอง ร้องเพลงอย่างเดียว พอว่างหน่อย ก็มีกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน ไปร้องเพลงคาราโอเกะที่ร้าน ร้องแบบจริงจัง ไปทีไรก็มักจะมีคนขอร้องเพลงคู่ นักดนตรีก็มักจะพูดว่า คุณอย่าบอกนะ ว่าไม่ได้ทำงานอะไรที่ไม่เกี่ยวกับร้องเพลง อย่างน้อยก็ต้องเคยร้องเพลงประกวด”
ดร.ณิชานาฎ ยังแถมท้ายถึงเคล็ดลับความสุขตามแบบของเธออีกว่า… “ชีวิตนี้ไม่รู้จักคำว่าเครียด เป็นอย่างนั้นจริง ๆ ค่ะ สมมติว่ามีเรื่องอะไรที่จำเป็นต้องคิด หรือต้องกังวล จะปลดปล่อยไปได้เมื่อได้ทำงาน โดยเฉพาะถ้างานนั้นต้องจับไมค์ มันจะสลัดทิ้งไปโดยปริยาย ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง มีความสุขขึ้นมาทันควัน พูดอะไรได้ยืดยาว ใครทำให้เราโกรธได้ เขาคงไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา เพราะให้อภัยคนง่ายที่สุด มองโลกในแง่ดีตลอดเวลา ทำให้เราไม่ทุกข์ ไม่เครียด อย่าไปเก็บไว้ให้หนักนะค่ะ”