คอลัมน์ในอดีต

ตอนที่ 38 วันพระ

๓๘ วันพระ

เช้าตรู่ของวันพระ พระนิรันตระ จัดเตรียมเดินธุดงค์จากป่าสู่หมู่บ้านหนองน้ำเพื่อมารับบิณฑบาต ส่วนยายเอมกับราชาวดีต่างก็จัดเตรียมอาหารคาวหวานเพื่อจะใส่บาตรพระนิรันตระ ทั้งใส่บาตรเช้าและจะนิมนต์ฉันอาหารเพล

ราชาวดีตั้งอกตั้งใจทำน้ำพริกปลาทูเป็นพิเศษ ผักริมรั้วถูกจับมาลวกจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ตำลึงข้างรั้วนำมาต้มกับหมูสับ ไข่ต้มยางมะตูมที่ยายสอน ขึงด้ายตัดอย่างละเอียดลออ ขนมหยกมณี สีสรรน่ารับประทาน

ยายเอมบอกว่า

“วดีไปอาบน้ำเตรียมใส่บาตรกับยายก่อน ตะวันขึ้นแล้วสักพักพระคุณเจ้าคงจะมาถึง วาง

ไม้วางมือก่อนมีเวลาอีกเยอะ สำหรับอาหารเพล”

“ จ้ะยาย วดีจะรีบไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้ เหลือแค่ขนมหยกมณีที่รอให้มันเย็นเท่านั้นแหละยาย นอกนั้นวดีเตรียมไว้หมดแล้ว ค่อยอุ่นอีกทีก่อนถวายเพล”

ยายเอมอมยิ้มในความตั้งอกตั้งใจของหลานรัก ความสุขใจอันเกิดจากการทำบุญทำกุศลนี่มันหาที่สุดมิได้เลย ขอให้หลานของข้าจงเดินสายธรรมด้วยเถิด ข้าคงนอนตายตาหลับ

ตะวันเริ่มทอแสงในยามเช้าแสนสดชื่นแทนที่พระจันทร์เต็มดวงในคืนขึ้น ๑๕ ค่ำ อีกไม่นานพระนิรันตระก็ถึงเรือนยายเอม ซึ่งคอยอยู่แล้ว อาหารคาวหวาน ดอกบัวที่จะใส่บาตรเช้าถูกวางบนโต๊ะไม้ที่ซึ่งคลุมด้วยผ้าขาวถักชายสวยงามด้วยฝีมือของพิมพ์จันทร์ลูกสาวยายเอมแม่ราชาวดี ที่แกยังเฝ้าคิดถึงไม่เคยลืมเลือน ยายเอมแกได้ราชาวดีนี่เองมาทดแทนดวงใจที่หายไป

“นิมนต์พระคุณเจ้า”

“วดีกราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ”

พระนิรันตระเปิดบาตรรับอาหารคาวหวานและดอกบัว พร้อมกับให้พรด้วยอาการสงบนิ่ง สองยายหลานรับพรและกรวดน้ำเรียบร้อยก่อนที่พระนิรันตระจะก้าวเดินไปรับบิณฑบาตบ้านต่อไป

ยายเอมรีบบอกว่า

“พระคุณเจ้า เจ้าคะ วันนี้อิฉันขอนิมนต์ให้พระคุณเจ้านำอาหารที่บิณฑบาตเช้าแล้ว

กลับมาฉันที่บ้านอิฉันนะเจ้าคะ และขอนิมนต์พระคุณเจ้าอยู่ฉันเพลเลย ด้วยอิฉันกับวดีตั้งใจและเตรียมอาหารไว้พร้อมแล้ว ขอพระคุณเจ้าจงโปรดรับคำนิมนต์ด้วยเถิดค่ะ”

ราชาวดีพนมมือไว้หว่างอก  รีบเสริมคำพูดของยายเอม…

“นะเจ้าคะ หลวงตา วดีเตรียมอาหารคาวหวานฝีมือวดีเองเจ้าค่ะ หลวงตาได้โปรดกับวดี

และยายด้วยนะเจ้าคะ”

พระนิรันตระอมยิ้มแล้วตอบรับด้วยความยินดี..

“ได้ซิโยมเดี๋ยวอาตมาจะขอไปบิณฑบาตไปทั่วๆ วันนี้อาจจะได้แค่ฝั่งทางนี้ แล้วจะ

กลับมาโยม”

ยายเอมกับราชาวดีรีบยกมือท่วมหัว เปล่งวาจาพร้อมกัน

“สาธุ สาธุ เป็นบุญของเรายายหลาน”

……………………………………………………..

พระนิรันตระบิณฑบาตเดินต่อมายังบ้านป้าแช่มและสังเกตเห็นนรินทร์หนุ่มรูปงาม ซึ่งออกมายืนรอใส่บาตรพร้อมป้าของตน มีกริยาท่าทางอ่อนน้อมเหมือนไม่ใช่เด็กชาวบ้านแถวนี้

“นิมนต์พระคุณเจ้า”

ยายแช่มเอื้อนเอ่ย  นรินทร์พูดตาม

“กราบนมัสการครับ”

“เจริญพรโยม”

สองป้าหลานใส่บาตรเรียบร้อย พระนิรันตระให้พรและนำกรวดน้ำเสร็จสรรพ

“เจ้าหนุ่มน้อยนี่ท่าทางลักษณะดี หลานป้าหรือ?”

“ใช่เจ้าค่ะ อิฉันพึ่งไปรับมาอยู่ด้วย แต่ก่อนอยู่กับพ่อ-แม่ของเขาทางฝั่งกระโน้นเจ้าค่ะ”

“ท่าทางเจ้าหนุ่มลักษณะดีเหลือเกิน”

 นรินทร์รีบพนมมือค้อมศีรษะนมัสการอีกครั้ง

“ขอบคุณขอรับพระคุณเจ้า”

“อาตมาขอตัวไปบิณฑบาตต่อล่ะนะโยม”

พระนิรันตระเดินไปจนสุดฝั่งพร้อมกับฉันเช้าอย่างเรียบง่ายริมฝั่งนี้ ได้เวลาจึงเดินย้อนกลับมายังบ้านของยายเอม ซึ่งสองยายหลานเตรียมปูอาสนะไว้เรียบร้อย พร้อมจานชามที่เตรียมไว้ เพื่อให้พระนิรันตระได้ฉันเพล เมื่อพระนิรันตระฉันเพลเสร็จสรรพให้ศีลให้พร

“พระคุณเจ้าพักผ่อนตามสบายนะเจ้าคะ หรือพระคุณเจ้าจะเดินดูอะไรรอบบริเวณหมู่บ้านตามอัธยาศัยก็ได้นะเจ้าคะ”

“เอ้า…โยม ไม่อยากสนทนาธรรมแล้วเหรอ”

พระนิรันตระรู้ดีว่ายายเอมและราชาวดีอยากสนทนาธรรมต่อจากวันนั้น  แต่คงเกรงใจ

“อยากฟังธรรมต่อเจ้าค่ะหลวงตา”

ราชาวดีรีบชิงตอบก่อนยาย พระนิรันตระยิ้มอ่อนโยน

“งั้นเดี๋ยวขอหลวงตาล้างไม้ล้างมือก่อนแล้วมาสนทนาธรรมด้วยกันเลย”

“ขอบคุณเจ้าค่ะพระคุณเจ้า”

ราชาวดียิ้มอย่างอิ่มสุข นึกกำหนดในใจว่าวันนี้เราจะต้องถามหลวงตาหลายๆเรื่องที่เราอยากรู้

“พร้อมแล้วล่ะโยม ยายเอมอยากสนทนาธรรมต่อจากครั้งนั้นใช่ไหม?”

“ใช่เจ้าค่ะ อิฉันอยากรู้ว่า การแผ่เมตตาข้อแรกที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้าปลอดภัยจากทุกข์ภัยทั้ง

ภายในและภายนอก”

“ดีมาก ถ้าไม่เข้าใจจงถามจะได้ไม่เข้าใจอะไรผิดๆ”

“อันว่าทุกข์ภายในนั้น ก็คือความทุกข์ที่เราก่อให้เกิดขึ้นแก่ตนเองจากความกลัว ความวิตกกังวล รวมทั้งความโกรธ และความใจร้อนไม่อดทน

……….ทุกข์ภายนอก หมายถึง ภยันตรายที่เกิดขึ้นทางร่างกาย หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก ดังนั้นประโยคแรกจึงมีความหมายว่า ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นอิสระจากความทุกข์ทางใจและทุกข์ทางกาย ไม่ใช่คำแปลจากภาษีบาลี”

“เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ”

ราชาวดีที่นั่งอยู่ใกล้ยายเอมพยักหน้าเหมือนดังว่าเข้าใจเช่นกัน  แล้วสองยายหลานก็ก้มลงกราบ

พระนิรันตระ บรรยายต่อ…

“จะเห็นว่าที่อาตมาให้คำเจริญเมตตาง่ายๆทั้งสี่เมื่อคราวก่อน เมตตาดังกล่าวเป็นความ

ปรารถนาแห่งชีวิต ซึ่งครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้าน และเริ่มจากการแผ่เมตตาให้ตัวเราก่อนเสมอ บางคนอาจมองอย่างผิดๆว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการเห็นแก่ตัว อย่างไรก็ตามความคิดเช่นนั้นเพียงไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของเมตตา………….

……….หากเราไม่มีเมตตาในหัวใจของเราอย่างแท้จริงแล้ว หรือหากเมตตาของเรายังไม่มีมากพอ และเราพยายามที่จะแผ่เมตตาออกไปก็จะไม่ได้ผลดี หรือไม่มีประสิทธิผลมากนักนะโยม”

มณีจันทร์ฉาย