จิตวิทยาการกีฬา

ความรู้สึกกับการเล่นกีฬา

จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬากอล์ฟ
ความรู้สึกกับการเล่นกีฬา

เมื่อความคิดของนักกีฬามีความเหมาะสม เป็นเหตุเป็นผลแล้ว สิ่งสำคัญต่อไปทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการเล่น ไม่ว่าจะเป็นช่วงฝึกซ้อมหรือแข่งขัน คือ ความรู้สึกของนักกีฬาต่อการเล่นกีฬาของเรา แน่นอนว่าความรู้สึกที่มีต่อการฝึกซ้อมและแข่งขันมีทั้งที่ดีและไม่ดี ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ลักษณะนี้ส่งผลต่อการเล่นแตกต่างกัน

นักกีฬามีความรู้สึกที่ดี ไม่ดี มักจะมาจากผลแพ้ชนะของการเล่น และเมื่อมีเป้าหมายว่าความสำเร็จคือผลแพ้ชนะ นักกีฬาก็จะยิ่งมีความรู้สึกดีและไม่ดีสลับกันไป เพราะผลการแข่งขันจะออกมาใน 2 ลักษณะเสมอ ยกเว้นเสมอกัน แล้วเราจะทำอย่างไรที่ความรู้สึกจะออกมาในทางที่ดีมากกว่านี้ คำตอบคือ ถ้าเราตั้งเป้าหมายของความสำเร็จไว้ที่การเรียนรู้ ไม่ใช่แพ้ชนะ เป็นหลัก

เป้าหมายของการเรียนรู้จะส่งผลต่อความรู้สึกที่ดีตลอดเวลา ไม่ว่านักกีฬาจะแพ้หรือชนะการแข่งขัน ดังนั้นนักกีฬา ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้ฝึกสอนกีฬาจึงควรตั้งเป้าหมายในการฝึกซ้อมและแข่งขันที่การเรียนรู้มากกว่าการแพ้ชนะ โดยเฉพาะในช่วงแรกๆของการเล่นกีฬาที่นักกีฬาต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการเล่นกีฬาเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเป้าหมายการเล่นกีฬาจะขยับเป็นการแข่งขัน แพ้/ชนะมากขึ้น เมื่อพัฒนาการของเรานิ่งแล้ว เช่น เมื่อเล่นกีฬามา 8 ปี หรือ 10 ปี

ข้อดีของการที่เราตั้งเป้าหมายอย่างเหมาะสมในช่วงการพัฒนาการต่างๆ เพราะเหมือนกับนักกีฬาได้สะสมความรู้สึกดีๆ ไปเรื่อยๆ การสะสมความรู้สึกดีๆจากการตั้งเป้าหมายที่พัฒนาการนี้จะทำให้ลดข้อขัดแย้งระหว่างนักกีฬา ผู้ปกครองและโค้ชด้วย เพราโดยปกติแล้วเมื่อเป้าหมายเป็นแพ้ชนะ และผลการแข่งขันออกมาว่าแพ้ คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะรู้สึกไม่ดี ไม่มากก็น้อย และนำไปสู่วัฐจักรของความรู้สึกไม่ดีที่มากขึ้นเรื่อยๆ นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรเข้าใจกระบวนการของความรู้สึกที่เกิดขึ้น ที่จะส่งผลดีหรือไม่ดี ซึ่งมาจากความเหมาะสมของการตั้งเป้าหมาย

ความรู้สึกที่ดีในการเล่นกีฬายังสามารถเกิดขึ้นจากอะไรได้อีก การได้รับการสนับสนุน การให้กำลังใจ การชื่นชมยินดีในความสำเร็จหรือพัฒนาการต่างๆ อีกครั้งหนึ่งที่สาเหตุของการชื่นชมยินดีก็ยังมากจากการพัฒนาทักษะและการเล่นเช่นเดิม สาเหตุก็เพื่อให้การชื่นชมยินดีเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

การแสดงความชื่นชมยินดีสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

เราสามารถชื่นชมยินดีอย่างต่อเนื่อง แต่หลักการคือ ไม่ให้ตลอดเวลา เพราะการชื่นชมยินดีตลอดเวลาจะทำให้คุณค่าของการชื่นชมลดลง ทางหนึ่งที่จะเลี่ยงการชื่นชมตลอดเวลา คือการชื่นชมในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น การพูดชมโดยตรง ที่เราทำกันอยู่เป็นปกติ การปรบมือ การพยักให้ การยิ้ม และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักกีฬารู้สึกดีต่อการเล่นกีฬาของตัวเอง อย่างไรก็ตามการชื่นชมยินดี ต้องรำลึกไว้เสมอว่าต้องเกิดจากเหตุผลที่ดีและเป็นความจริง

การให้รางวัลเป็นระยะๆเมื่อนักกีฬาทำได้ดี ก็ช่วยทำให้นักกีฬารู้สึกดีได้และถือว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาได้อย่างดีด้วย แต่การให้รางวัลก็ไม่ต้องให้ทุกครั้งและตลอดเวลา นอกจากนี้แล้วการให้รางวัลก็ไม่ควรให้นักกีฬาคุ้นเคยว่าต้องเป็นของขวัญขนาดใหญ่ หรือราคาแพง ความสำคัญอยู่ที่ว่ารางวัลที่ได้รับมีค่า มีความหมายและสะท้อนให้เห็นว่าสมควรได้เพราะ ทำได้ดี ทำได้สำเร็จ เป็นสำคัญ

สุดท้ายก่อนที่เราจะคุยกันถึงเรื่องอารมณ์ในเดือนหน้า ก็ขอให้เราเข้าใจว่าความรู้สึกต่อการเล่นกีฬาเป็นเรื่องสำคัญทางจิตใจที่เราสามารถควบคุมได้หากเราตั้งเป้าหมายการเล่นกีฬาที่พัฒนาการ มีการให้รางวัล การปรบมือ การยิ้มรับ การพยักหน้า เป็นระยะๆ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย