คอลัมน์ในอดีต

พระราชธิดาองค์น้อย

พระราชธิดาองค์น้อย

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงเป็นพระปิยมเหสีที่เบิกบานพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อยมา จนเมื่อปี พ.ศ.2421 พระชนมายุของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประมาณ พระชันษาได้ 17 ปี 9 เดือนพระองค์ก็ได้ประสูติพระราชธิดาองค์แรก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโสมนัสยินดีเป็นยิ่งนัก ซึ่งมีเหตุการณ์ก่อนที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี จะทรงประสูติพระราชธิดา ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน

ดังจะเห็นได้ว่าจากหลายตอนที่ปรากฏในจดหมายเหตุรายวันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระเมตตาและทรงห่วงใยในพระปิยมเหสียิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เพิ่มความห่วงใย ดังจะเห็นว่าในวันที่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์กราบทูลไปช่วยงานพระศพพระเชษฐาขณะกำลังทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงบันทึกไว้ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันมีมากมายอาทิเช่น

วันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตอนหนึ่งว่า
“…แล้วพระราชทานหนังสือสำคัญ สั่งเงินให้เจ้าหมื่นสรรเพ็ชรซ่อมแซมตำหนักพระองค์เจ้าหญิงสุนันทาฯ ๑๐๐ ชั่ง…”

ในจดหมายเหตุฯ ลงวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ความตอนหนึ่งว่า
“…วันนี้ไม่มีราชการอะไร เสด็จลงตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทอดพระเนตรงานกรมหมื่นนเรศ พระองค์เจ้าเทวัญพระนายสรรเพ็ชรภักดี ตามเสด็จ…”

จดหมายเหตุฯลงวันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ยังเป็นนพศก ๑๒๓๙
“…บ่ายเสด็จลงตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทาฯทอดพระเนตรงานแก้เฉลียงหลังเก่ามีฝา…”
“…วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำเดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ เวลา ๔ ทุ่มพระองค์เจ้าหญิงสุนันทาประชวรพระครรภ์ เสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักจันทร์ รุ่งยังไม่ประสูติ”
“…วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ประทับอยู่ที่พระตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทาฯ ได้เข้าที่เมื่อจวนรุ่งจนเช้า ๕ โมง
“…เวลา ๕ ทุ่ม ๑๑ นาทีกับ ๒๕ วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ ๑๕ นาที จึงออก เราอยู่ที่ซึ่งสมเด็จกรมพระๆ กับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนพระกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้นมีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ ๓ กระเบียดนิ้ว เมื่อเรากลับออกมากลับสมเด็จกรมพระนั้นฝนตก เวลา ๗ ทุ่ม ๔๕ นิมิตถึงบ้าน…”

๖. มีพระราชหัตถ์ถึงเสด็จที่วัด ขอรับประทานดวงพระชันษา(วันนี้เป็นวันจตุสได้ด้วย)แล้วเสด็จขึ้นเข้าที่บรรทมที่นั่ง…”

หมายเหตุ บุคคลในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน
สมเด็จกรมพระ หมายถึง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์
เรา หมายถึงผู้ที่ทรงโปรดให้ทำการบันทึกพระราชกิจรายวันฉบับนี้ เชื่อกันว่า “สมเด็จกรมพระสมมตอมรพันธ์”
เสด็จที่วัด หมายถึง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรสวิริยาลงกรณ์

เหตุการณ์หลังจากพระองค์เจ้าหญิงสุนันทาประสูติพระราชธิดาแล้วก็มีปรากฏในจดหมายเหตุราชกิจรายวันฉบับถัดมา ดังต่อไปนี้
“ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
“…เวลาค่ำเราไปอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระถวายโปรแกรมเฉลิมพระชนม์พรรษาให้ท่านหมาย กับทูลให้ท่านกะเจ้านายและตำรวจตรวจตราถวายข้าวถังวัดพระเชตุพน
“ วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
“…๔. ค่ำวันนี้ เราไปเฝ้าสมเด็จกรมพระ ทรงด้วยเรื่องพระลักขณาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่ และเรื่องกรมมเหศวรและครั้งพระนั่งเกล้าฯ ทูลกระหม่อมสวรรคตยืดยาวมาก…”

วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
“๑. กรมหมื่นนเรศวรเฝ้าทูลด้วยสมเด็จกรมพระรับสั่งว่า พระลักขณาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงที่ประสูติใหม่นั้น เดิมวันประสูติท่านคิดว่าสถิตย์ราษีมิน แต่ครั้นไปสอบมหานาทีดูว่าสถิตย์อยู่ราษีเมษ กับนาฬิกาถวายมานั้นเป็นมินเต็มหว่างลักขณา ต้องใช้เป็นเอปริลไตน์ว่าท่านจดหมายมาที่ท่านเทวัญนั้นความสั้นนัก ไม่ใคร่จะเข้าใจ ครั้นทำสอบเข้าก็ยังตกอยู่ในราษีมิน ประการหนึ่งเป็นที่สงสัยที่เวลาเป็น ๑๗ นิมิตน้อยเข้าแล้ว ทำไมจึงเลื่อนไปราษีเมษ กับเวลาที่ใช้แต่ก่อนนี้ก็ใช้มินไตม์ทั้งนั้นถ้าแก้แล้วดวงเก่าๆ ก็ต้องแก้หมด กับไม่อยากจะแก้แล้ว จะเป็นเหตุต่อไปรับสั่งกรมหมื่นนเรศวรไปถามสมเด็จ ให้ท่านตรวจไล่เลียงดูเสียให้แน่…”

“ วันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
“…๔. สมเด็จกรมพระยาจดหมายถวายว่าด้วยพระลักขณาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงประสูติใหม่นั้น ท่านได้หาหลวงโลกทีป ขุนเทพพยากรณ์มาคำนวณตามมหานาทีถูกต้องกันพระลักขณาสถิตย์ราษีเมษเสวย ณ วางค์ ๒ ที่ ๔ ตรียางค์ ๑ ทรงพระเจริญพระชนมายุ
จึงโปรดเกล้าให้เรานำลายพระราชหัตถ์ไปถวายเสด็จที่วัด ท่านจะตัดสินอย่างไร…”

“ วันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐

“๑. เช้า ๔ โมง กรมหมื่นนเรศไปเฝ้าเสด็จที่วัด ท่านรับสั่งว่า ท่านทำตำราหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ท่านทำตามอันโตนาที ถ้าทำตามมหานาทีแล้วก็ต้องผิด ท่านทำถวายมาแต่ก่อนๆ ก็อันโตนาทีทั้งนั้น ถึงถวายฤกษ์ ก็ได้ถวายด้วยอันโตนาที ถึงดวงเก่าๆ สอบดูเขาก็ลงด้วยอันโตนาทีทั้งนั้น ผิดอยู่ ๒ ดวง คือ หม่อมไกรษรทำดูอยู่ราษีตุล แต่เจ้าของว่าอยู่ราษีพิจิก อีกดวงหนึ่งเจ้าพระยาภูธราภัยทำดูอยู่ราษีพฤษภ เจ้าของว่าอยู่ราษีเมษ ถึงตำราทูลกระหม่อมท่านก็ทรงอย่างนี้ ท่านได้ลงดวงองค์จิตรเจริญไปครั้งหนึ่ง ผิดเพราะทรงจดเวลามาไม่ทรงเข้าพระทัยถนัด กลางวันเป็นกลางคืน กริ้วท่านทรงจดตำราประทานมาก็ถูกกัน ก็ครั้งนี้แล้วแต่จะโปรดอย่างไหน ท่านตัดสินไม่ได้ ครั้นกรมหมื่นนเรศมาถวาย ก็ทรงว่าเมื่อว่าถูกทั้งสองอย่าง คนละตำราก็ต้องใช้ทั้งสองอย่าง จึงทรงลงพระราชหัตถ์ในลายพระหัตถ์สมเด็จว่าเป็นตำรามหานาทีของสมเด็จกรมพระทรง

“๒. เราถวายสายนาฬิกาเพ็ชร์ทรงซื้อราคา ๑๕ ชั่ง พระราชทานพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก ๒ วง ที่ราคาวงละ ๑๙ ชั่ง รวม ๓๘ ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม

“๓. เวลาสมโภช ๓ วัน…”
เนื่องแต่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์นี้ มีพระตำหนิเด่นชัด คือมีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนก จึงพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์ เพ็ชรรัตน์โสภางค์นัศนิยลักษณอรรควรราชกุมารี”  ทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ ๒๑ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์แรกที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

ถึงแม้ว่าจะทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ ๒๑ แล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ทรงโปรดปรานพระราชธิดาพระองค์นี้ยิ่งนัก ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า “อรรควรราชกุมารี”

สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ทรงดำรงอยู่เป็นที่เบิกบานพระราชฤทัยแก่พระราชบิดาและพระราชมารดาเพียงปีเศษๆ ก็ได้เกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจ นำมาซึ่งความเศร้าโศกพระราชฤทัยแก่พระราชบิดาเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ทรงสิ้นพระชนม์ชีพพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระราชมารดา และพระราชโอรสในพระครรภ์ 5 เดือน เนื่องจากเกิดอุปัทวเหตุเรือพระประเทียบล่มกลางลำน้ำเจ้าพระยา ที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

จากดวงดาวแห่งความศรัทธา
    กำเนิดเจ้ามาด้วย “ความรักยิ่งใหญ่”
    เจ้าคือ แก้วตา ดวงใจ
    สายใย ลูกโซ่ แห่งชีวิต
    ผ่านลมฝน ผ่านร้อน ผ่านหนาว
    ใต้ร่มเงาบ้านเราเคยพักพิง
    ลูกเอย เราเคยพร้อมทุกสิ่ง
    บางสิ่งหายไปจากใจ
    แม่เจ้าเหมือนแก้วตา
     แม่ลา  ลูกลา พ่อไป…
     ลูกรักจงอย่าได้หวั่นเกรง
     เพลงที่แม่เคยกล่อม
     จากนี้พ่อจะร้องเอง
     ใครจะมาข่มเหงไม่มีวัน
     หลับเถิดหนา แก้วตา ดวงใจ
     หลับให้สบาย ไม่นานคงพบกัน
     จากไกล ไม่ใช่ชั่วนิรันดร์
     สักวันพ่อจะตามไปคุ้มครอง

มณีจันทร์ฉาย