For Golf Trust

ศักยภาพกีฬากอล์ฟของประเทศไทย (2)

ศักยภาพกีฬากอล์ฟของประเทศไทย (2)

สืบเนื่องมาจากฉบับที่แล้ว ได้พูดถึงศักยภาพในแง่ของนักกีฬาอาชีพของไทยที่สร้างรายได้เข้าตัวเองและประเทศชาติ ขนาดมีไม่กี่คนก็สามารถสร้างรายได้ปีหนึ่งๆหลายร้อยล้านบาท

จะมีกีฬาชนิดไหนของประเทศไทยที่สร้างรายได้มากขนาดนี้ มีแต่ใช้เงินสนับสนุนปีหนึ่งๆจำนวนมากแต่ไม่เคยได้รายได้กลับมา ได้เพียงแต่สร้างความสุขให้ชาวประชา และเพียงแค่เป้าหมายให้ได้เหรียญกลับมา ลงทุนกับกีฬาชนิดอื่นๆรวมๆกันปีหนึ่งๆหลายพันล้าน เพื่อการแข่งขันปีหนึ่งๆมีไม่กี่ครั้ง หรือบางชนิด 4 ปีมีครั้ง แต่กีฬากอล์ฟมีแทบจะทุกสัปดาห์ มีคนติดตามการแข่งขันถ่ายทอดทีวีทั่วโลก

ว่าไปแล้วกีฬากอล์ฟก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยผ่านมาทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ในลักษณะเงินอุดหนุนประจำปี และเงินรางวัลในการแข่งขัน ซึ่งปีหนึ่งๆก็จะอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับกีฬาบางประเภท ที่ถือว่าเป็นการสร้างความสุขให้คนทั้งชาติ แต่ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงินเข้าประเทศมีน้อยมาก แต่ผลตอบแทนของกีฬากอล์ฟมันมีเกินที่ลงทุนหลายเท่า ที่พูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายถึงว่าเห็นความสำคัญของกีฬากอล์ฟของตัวเอง แต่ไม่เห็นความสำคัญของกีฬาอย่างอื่น แค่ชี้ให้เห็นเท่านั้นว่ากีฬากอล์ฟมันมีศักยภาพในตัวของมันเอง ภาครัฐไม่ต้องเหนื่อยอะไรมาก เพียงแค่สนับสนุนหาทางที่จะให้นักกีฬาเรามีโอกาสเพิ่มมากขึ้น การสนับสนุนที่ว่าต้องการเพียง 4 ประการ เท่านั้น

ข้อแรก คือ เป็นตัวกลางในการขอความร่วมมือกับสนามกอล์ฟเพื่อให้นักกีฬาในกลุ่มเป้าหมายคือเยาวชนได้เล่นกอล์ฟหรือซ้อมออกรอบในราคาถูก อาจจะแบ่งเป็นระดับต่างๆ กลุ่มที่อยู่ในระดับเกรด เอ เสียแค่ภาษีสนาม ส่วนระดับ บี และซี (เพิ่มเริ่มเล่น) ก็มีราคาถูกลงตามลำดับ

ข้อสอง ได้แก่เพิ่มเงินสำหรับจัดการแข่งขันให้กับเยาวชนเพื่อจัดลำดับฝีมือเป็นค่าสนาม ค่าดำเนินการแข่งขันให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น และเพิ่มเงินรางวัลในทัวร์นาเม้นท์อาชีพทั้งชายและหญิงให้มากกว่าที่เป็นอยู่อีก 3 เท่าตัว เช่น จากเงินรางวัล 2 ล้าน เพิ่มเป็น 6 ล้าน เพื่อให้นักกีฬาสามารถเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้งจะเป็นแรงจูงใจให้นักกีฬาเก่งๆไม่เลิกเล่นกอล์ฟเนื่องจากสามารถเลี้ยงชีพได้ และเมื่อมีนักกีฬาอยู่ในวงจรมากก็ยิ่งทำให้มีโอกาสมีฮีโร่เกิดขึ้นมาก

ข้อสาม พัฒนาศูนย์ฝึกกีฬากอล์ฟสำหรับให้เยาวชนและนักกอล์ฟอาชีพได้เล่นราคาถูกมาก และสามารถลากถุงเล่นเองได้ โดยการสนับสนุนสนามที่มีศักยภาพ ที่ยินดีให้ความร่วมมือ มีผู้ฝึกสอนที่เอาจริงจังในพื้นที่ ตามภาคต่างๆ (ปัจจุบันนี้มันใกล้จะเกิดแล้ว เป็นสนามของการกีฬาแห่งประเทศไทยเองที่มวกเหล็ก แต่ยังไม่สามารถเปิดใช้การได้ เนื่องติดขัดอยู่ที่ปัญหาบางประการ)

และข้อสุดท้าย คือ จัดงบประมาณเพื่อส่งให้นักกีฬาที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายไปเก็บตัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะยาว ในลักษณะการไปเข้าศูนย์ฝึก ด้วยการเช่าบ้านตามรัฐต่างๆที่มีสนามกอล์ฟเหมาะสม จ้างผู้ดูแลเป็นผู้จัดการ มีเบี้ยเลี้ยงให้บ้างแต่ไม่ต้องมาก และเช่ารถไว้ใช้ในระยะยาว ให้นักกีฬาได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม การทานอาหาร การออกฝึกซ้อม และเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งดำเนินการไม่ยาก จัดงบประมาณปีละ 20 ล้าน กับข้อนี้ ทำต่อเนื่องสัก 3 ปีก็จะประเมินได้ว่าสิ่งที่ลงทุนไปคุ้มค่าหรือไม่

ทั้ง 4 ข้อนี้งบประมาณที่จะจัดได้ปีหนึ่งๆน่าจะอยู่ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมาอีก 70 ล้าน ใช้เวลาประเมินผล 5 ปี ถ้าไม่ดีขึ้นก็ตัดออกไป งบที่ลงไปก็เป็นการสนับสนุนของไทยกันเองอยู่แล้ว มีเพียงข้อ 4 ที่จำเป็นต้องลงทุนเสียไปกับต่างประเทศ

แต่ในวิสัยทัศน์ส่วนตัวแล้ว งบประมาณที่ลงไปนี้จะคุ้มค่ากับการลงทุน ประเทศไทยจะมีนักกอล์ฟเก่งๆเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และจะมีนักกอล์ฟอาชีพชายหญิงเข้าไปเล่นในทัวร์นาเม้นท์ล่าเงินรางวัลเข้าประเทศได้ปีหนึ่งเพิ่มขึ้นหลายร้อยล้านหรือเป็นไปได้ที่จะถึงพันล้าน ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ได้ตามมา คือประชาชนคนในชาติมีความสุขกับการมองเห็นลูกหลานไทยโลดแล่นในต่างแดน สัปดาห์หนึ่งจะมีนักกอล์ฟไทยอยู่ในลีดเดอร์บอร์ดของการถ่ายทอดทีวีเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยอย่างดี คนต่างชาติจะหันมาฝึกกอล์ฟ มาตีกอล์ฟที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ผู้สอน สนาม ประเทศชาติมีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด มันสามารถเป็นจริงได้ ไม่ใช่พูดแบบเลื่อนลอย เพราะขนาดที่เมื่อก่อนรัฐไม่เคยลงทุนเลยกับกอล์ฟ แล้วมาลงทุนปีหนึ่งประมาณ 30 ล้าน(สัก 6-7 ปีที่ผ่านมา) เรายังได้ผลงานถึงขนาดนี้ เพราะพ่อแม่และบริษัทเอกชนไม่กี่บริษัทได้ทุ่มเทสนับสนุนกันเอง และถ้ารัฐมาทุ่มเทเพิ่มมากขึ้น ผลงานย่อมจะดีกว่านี้ 1000 % กล้ารับประกันและยืนยัน

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์