จิตวิทยาการกีฬา

จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬากอล์ฟ

จิตวิทยาการกีฬาของนักกีฬากอล์ฟ

จากการรับทราบหลักการของการเป็นผู้ปกครองนักกีฬาเพื่อการแข่งขันที่จะทำให้การเล่นกีฬาของนักกีฬาเรามีความสนุก และท้าทายในฉบับที่แล้ว ในฉบับนี้เรามามองในมุมของนักกีฬาเองบ้างครับว่า ในฐานะนักกีฬาเราควรจะมีความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ในการเล่นกีฬาอย่างไรถึงจะทำให้บรรลุเป้าหมาย

ความคิด ที่เกี่ยวข้องที่มีผลทั้งบวกและลบในการเล่นกีฬาได้นั้นควรจะเป็นอย่างไร

ความคิดที่เป็นเหตุผลที่สามารถอธิบายด้วยหลักการ เป็นความคิดในทางที่ดีกับตัวเอง กับผู้ฝึกสอน ผู้ปกครอง เพื่อนๆและทีมงาน ขณะเดียวกันความคิดก็มีผลทั้งในทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับว่านักกีฬาคิดอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬามีความคิดว่าสนามนี้เล่นได้ไม่ดี คราวที่แล้วแพ้ คราวนี้ก็คงจะแพ้และผลงานออกมาไม่ดีเช่นเดิม ความคิดนี้นอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว ยังจะมีผลในทางลบกับการเล่นด้วย ความคิดที่เป็นเหตุผลที่จะทำให้นักกีฬาอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้ได้ดีขึ้น สบายใจขึ้นและไม่ทำให้ความมั่นใจลดลงคือ นักกีฬาลองคิดถึงเหตุผลของการเล่นสนามนี้ครั้งที่ผ่านมา กับการเล่นครั้งนี้ว่ามีอะไรเหมือนกันบ้าง และอะไรที่ไม่เหมือนกันบ้าง

ที่เหมือนกันน่าจะเป็นสนาม จำนวนหลุม Club house ไม้กอล์ฟ ถุงกอล์ฟ และลูกกอล์ฟ ขณะที่ไม่เหมือนจากครั้งที่แล้วมีอะไรบ้าง แน่นอนเรื่องของเวลา บรรยากาศ อุณหภูมิ จุดวาง tee จุดที่ลูกตกจากการตีแต่ละครั้ง อาหารที่กินก่อนหรือระหว่างการแข่งขัน ระยะเวลาของการนอนพักผ่อนก่อนเล่น จะเห็นได้ว่าในสนามแข่งขันเดียวกัน มีทั้งความเหมือนและความต่างของสภาพแวดล้อม จากสภาพการณ์แบบนี้แล้ว ความคิดที่ว่าถ้าเราเคยแพ้ที่สนามนี้แล้ว เราจะแพ้อีกในครั้งนี้ หรือแม้กระทั่งความคิดที่ว่าเราเคยชนะใสนามนี้แล้ว เราก็จะชนะในสนามนี้อีก ขณะที่เราจะเห็นว่าผลการเล่นแต่ละครั้งไม่เหมือนกันเลย จากเหตุผลเหล่านี้จึงสรุปได้ไหมว่าความคิดนี้เป็นเหตุผลหรือเปล่า และจะส่งผลอย่างไรต่อการเล่น จะเห็นได้อีกมุมหนึ่งว่าความคิดต่อการเล่นกอล์ฟของเราอยู่ที่ผลการแข่งขันเป็นสำคัญ มุ่งในสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ผลคือนักกีฬาไม่สามารถเล่นได้เต็มศักยภาพ

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความคิดของเราไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ได้คิดแต่ผลการแข่งขัน แต่เป็นการคิดว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการแข่งขัน ต่อการเล่นและควบคุมได้มากที่สุดคือ จุดที่ไม้กอล์ฟสัมผัสลูกกอล์ฟ (Contact point) ซึ่งก็ต้องประกอบด้วยการมีร่างกายที่แข็งแรง การมี Routine ที่ดี/สม่ำเสมอ และสมาธิระหว่างการตีลูก เมื่อนักกีฬาคิดได้แบบนี้แล้ว ก็หมายถึง นักกีฬาควรจะคิดถึงเรื่องว่าเราจะทำอย่างไรให้ทุกครั้งที่ตีลูก จุกสัมผัสลูกถูกต้อง เราสามารถควบคุมลูกกอล์ฟได้ดี ความคิดอย่างเป็นตุผลนี้ จะทำให้ไม่เครียด เพราะนักกีฬาไม่เอาประสบการณ์ในอดีตมาคิดในระหว่างเล่นหรือตีลูกเลย

อีกตัวอย่างของความคิดในการแข่งขันกีฬาคือ นักกีฬากลัวหรือคิดว่าเคยแพ้คนนี้แล้ว ก็คงจะแพ้อีก เหตุผลของการคิดในกรณีนี้ก็มีลักษณะคล้ายๆกับตัวอย่างแรก ถ้าเราคิดอย่างเป็นเหตุผล เราก็จะคิดถึงสถานการณ์ที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นคู่แข่งขันคนเดิม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแพ้อีก นักกีฬาจึงควรทำความเข้าใจความสำคัญของคำว่าปัจจุบันที่เราสามารถควบคุมได้มากที่สุด ขอฝากให้นักกีฬาได้ทำความเข้าใจครับว่าเราควรคิดอย่างมีเหตุมีผล แม้ว่าในสถานการณ์จริงความคิดในส่วนอื่นๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ความคิดที่เกิดจากอดีต หรือการคาดหวังในอนาคต อาจจะปรากฏขึ้นมาเป็นระยะๆก็ตาม เราจึงอาจจะใช้การทบทวนหลักการเหล่านี้สม่ำเสมอด้วยการพูดคุยกับนักจิตวิทยา โค้ช หรือจากข้อความที่เราจดไว้ หรือด้วยการพูดเตือนตัวเอง

ความคิดที่เป็นเหตุผลจึงเป็นประเด็นแรกที่มีความสำคัญต่อการเล่น กอล์ฟและทุกชนิดกีฬา การคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะส่งผลต่อจิตใจของนักกีฬาที่จะทำให้ไม่กลัว ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ไม่ทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่เสียสมาธิ และสุดท้ายคือนักกีฬาเล่นกีฬาอย่างมีความสุขและแสดงความสามารถได้อย่างเต็มความสามารถ ซึ่งน่าจะเป็นหลักการที่สอดคล้องกับปรัชญาโอลิมปิคที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม มากกว่าผลการแข่งขัน แต่ต้องเล่นอย่างเต็มความสามารถ เล่นอย่างสุดฝีมือ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมนักกีฬโอลิมปิคจึงมีผลการแข่งขันที่ยอดเยี่ยม และมีสถิติที่ดีของโลก

ในเดือนนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะเรื่องของความคิดที่ส่งผลต่อการเล่นกีฬา และลักษณะของการคิดที่เป็นตัวอย่างให้ท่านได้เห็น เข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ ในฉบับต่อไป เรามาต่อในส่วนของความรู้สึกและอารมณ์ในการเล่นกอล์ฟว่าเป็นอย่างไร ส่งผลอย่างไร และเราควรจะรู้สึกและควบคุมอารมณ์อย่างไรครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย