Interview

ขนิษฐา นภาวรกุล

ขนิษฐา นภาวรกุล
Jo House Co., Ltd.

“สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อน ๆ เรียกว่า ยัยเปรี้ยวหวาน ค่ะ” คุณแฟร์รี่ (ขนิษฐา นภาวรกุล) เริ่มเล่าเรื่องราวย้อนวันวานพร้อมกับอมยิ้มไปด้วย “เพราะเราจะแต่งเปรี้ยวก็ได้ แต่งหวานก็ได้”

“ตอนเรียนที่หาดใหญ่ (ม.สงขลานครินทร์) เพื่อน ๆ จะรู้กันว่า กลับบ้านที่กรุงเทพฯ ทีไร กลับไปต้องมีผมทรงใหม่ให้เห็นแน่นอน” เพราะคุณแฟร์รี่ เคยไม่ได้กลับบ้าน แล้วไปร้านตัดผมกับเพื่อน ปรากฏว่า ได้ทรงผมที่เสียความมั่นใจกันทั้งคู่ “เรียกว่าเป็นยุคมืดของเราเลย” เธอเล่าปนเสียงหัวเรา “หลังจากนั้น มีโอกาสกลับกรุงเทพฯ เมื่อไหร่ ต้องตัดผมให้ได้ ถือว่าเป็นธุระสำคัญเลย บางครั้งอยากตัดผมสั้น ช่างก็จะซักถามว่าเอาจริงรึเปล่า ทำไมถึงตัด อกหักมั้ย… จริง ๆ ไม่มีอะไร แค่เราเป็นคนผมยาวเร็ว ตัดสั้น ๆ แป๊ปเดียวก็เหมือนเดิมแล้ว”

คุณแฟร์รี่ ตัวจริงนั้น ดูเรียบร้อย เรียนเก่ง “แต่ก็ไม่ใช่แบบเด็กเรียนหน้าห้อง เหมือนชอบขบถเล็ก ๆ ไม่ขยันดูหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำ แต่ตั้งใจเรียนในห้องเรียนมาก กฎของโรงเรียนมีข้อห้ามอะไร ก็มักจะแอบทำ นิสัยไม่ได้เปรี้ยว ไม่ได้ซ่าส์ แต่ชอบแต่งตัว แต่นิสัยไม่ได้แรงเหมือนการแต่งตัว มีความรักสวยรักงาม แต่งชุดนักเรียนก็มีความเป็นจิ๊กกี๋ แต่เราเป็นเด็กเรียน แค่ชอบแต่งตัว”

“พี่น้องเป็นผู้ชายหมด เลยไม่ได้เล่นตุ๊กตา เล่นอะไรแบบผู้ชาย เคยปีนสังกะสีตามพี่ ๆ จนถูกบาดแขน แต่ก็ไม่ใช่สายกีฬา ชอบฟังเพลง ดูคอนเสิร์ต ละครเวที เต้นรำ เคยเล่นลีลาศบ้าง แต่ไม่จริงจัง โบว์ลิ่ง ก็เล่นบ้าง มักจะได้ถ้วยรางวัลถ้าไปเล่นแทนตามงานแข่งขันการกุศล” นี่คือตัวต้นของเธอ

ช่วงวัยเด็ก คุณแฟร์รี่ บ้านอยู่ลาดพร้าว แต่ไปเรียนที่สีลม “คุณพ่อสอนที่กรุงเทพคริสเตียน ลูกชายเรียนที่นี่กันหมดทั้ง 3 คน ส่วนเราเป็นผู้หญิงคนเดียว ก็เรียนโรงเรียนผดุงดรุณี ฝั่งตรงข้าม เป็น มศ. 5 รุ่นสุดท้าย ปัจจุบันไม่มีแล้ว (เปลี่ยนเป็นโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์) ศิษย์เก่าที่นี่จึงกลายเป็น Limited Edition เพื่อนที่เรียนกันตั้งแต่อนุบาล ปัจจุบันก็ยังคบกันอยู่ เป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่มาก”

“ที่โรงเรียน ปลูกฝังพวกเราเยอะมาก ทั้งระเบียบ ภาษา วิชาการ ตอนเรียนไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองได้รับสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้ตัว ซึมซับทุกวัน แต่พอออกไปถึงเข้าใจว่า โรงเรียนสอนให้เราเยอะจริง ๆ อย่างทุกวันจันทร์ ท่องศัพท์เต็มหน้ากระดาน ใครจำไม่ได้ต้องถูกทำโทษ พวกเราโดนกันทุกคน ทำให้จำได้ติดตัวมาถึงทุกวันนี้ เป็นตำนาน ที่พวกเราศิษย์เก่าทุกคนจดจำได้ เป็นสังคมที่เจอกันแล้วยกมือไหว้รุ่นพี่ มีความผูกพันกัน ดีใจที่เรียนจบจากที่นี่ค่ะ”

เอ็นทรานซ์ สมัยก่อนเป็นเรื่องใหญ่มาก คุณแฟร์รี่ เรียนสายวิทย์ แต่ตอนสอบกลับเลือกสายศิลป์ “อยากเรียนเชิงสถาปัตย์ แต่ไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน เลยเลือกคณะที่คิดว่าเหมาะกับตัวเอง สอบเสร็จ มาไล่คะแนนด้วยตัวเอง ก็คาดว่าจะติดที่ มอ. ซึ่งเลือกเป็นอันดับ 3 เพราะไม่อยากเลือกเผื่อ สอบได้แล้วไม่ไปเรียน มันเป็นการจำกัดความต้องการของบางคนที่เขาต้องการเรียน เราไม่อยากแค่สอบติด ไม่ต้องการกันที่คนอื่น” ในที่สุดเธอก็สอบได้ที่ คณะวิทยาการจัดการ สาขาบริหารธุรกิจ บัญชี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ตามคาดหวังไว้ “อยากไปหาประสบการณ์ อยากเปลี่ยนบรรยากาศ โชคดีที่ทางบ้านให้ไป”

“มหาวิทยาลัยสอนเราเยอะ ต้องปรับตัว ดูแลตัวเอง อาหารการกิน บริหารการเงิน ค่าใช้จ่าย บริหารเวลา การเรียน และยังเป็นคนชอบทำกิจกรรม ได้ออกค่ายฯ ได้เห็นอะไรแปลก ๆ พยายามเข้าร่วมกิจกรรม ใช้เวลาให้คุ้มค่าตลอด 4 ปี, เป็นกรรมการหอพักนักศึกษาหญิง ชมรมโรตาแรคท์ เริ่มจากเป็นสมาชิก จนถึงสมัครเลือกตั้ง ได้เป็นนายกสโมสรฯ ตอนปีก่อนจบ และสิ่งสำคัญก็คือเรื่องความผูกพัน เพราะเราต้องอยู่ด้วยกันตลอด เรียนด้วยกัน ทานข้าวด้วยกัน ใช้ชีวิตกับเพื่อนอย่างเหนียวแน่น กลุ่มที่สนิทมีอยู่ 8 คน ไปจากกรุงเทพฯ 4 อยู่ที่หาดใหญ่อีก 4” นี่คือชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยของคุณแฟร์รี่ ก่อนจะเริ่มทำงาน

“เรียนจบ อยากที่ทำงานโรงแรมที่ชะอำ แต่พอไปสัมภาษณ์แล้วผู้บริหารชอบ เลยให้เปลี่ยนมาเป็นเลขาฯ ทำอยู่พัก รู้สึกว่างานไม่ตอบโจทย์ และเป็นจังหวะที่ธนาคารเรียกตัว จากที่เคยสมัครไว้เมื่อตอนปี 3 เพราะได้ฝึกงาน กับโครงการธนาคารคู่บ้านคู่เมือง (SIP) มีการคัดเลือกนักศึกษาทุกสาขาวิชา ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ตัวเองก็ได้รับคัดเลือกเข้าไปเป็นรุ่น 5 จากการเป็นนักกิจกรรม ที่มีบทบาทจากสถาบันต่าง ๆ ให้มาอบรมร่วมกันพอเรียนจบมาก็สมัครงานกับธนาคารไว้ก่อนแล้ว”

คุณแฟร์รี่เริ่มงานที่สาขาสีลม ในส่วน อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต ดูแลเอกสาร “ทำแค่เฉพาะส่วน ไม่ได้ทำทุกอย่าง รู้สึกว่าไม่เหมาะกับเรา พอทำงานของตัวเองเสร็จแล้วก็ขอไปช่วยพี่ ๆ สาขาใหญ่มีกิจกรรม ก็เข้าไปมีส่วนร่วม ทำอีกสักพักก็อยากจะย้ายไปอีกหน่วย เช่น การเปิด LC น่าจะมีอะไรให้เรียนรู้ โดยเฉพาะด้านธุรกรรมต่างประเทศ ไม่ใช่แค่เอกสารเก็บเงิน ไปขอปรับงานกับผู้ใหญ่ แต่ก็ยังไม่อนุมัติ พอดีเจอรุ่นพี่ ชวนไปทำงานสำนักงานใหญ่ เป็นหน่วยงานพิเศษ ต้องทดสอบทักษะทางด้านภาษาก่อน ซึ่งเราก็ผ่าน แต่พอกลับมาบอกสาขา ตอนแรกก็ยังไม่ยอมให้ย้าย แต่เราก็พยายามขอจนได้ และต่อมาธนาคารก็ออกกฎว่า ถ้ามาอยู่ไม่ถึงสองปีห้ามย้าย” เธอเล่าถึงวีรกรรมในการย้ายงาน จนธนาคารต้องออกกฎตามหลัง พร้อมรอยยิ้ม

คุณแฟร์รี่ ทำงานธนาคารในยุคกำลังจะเริ่ม BIBF (Bangkok International Banking Facility) ทำธุรกรรมในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งมีดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำมาทำธุรกรรมในการให้กู้อีกทีหนึ่ง โดยลูกค้า ต้องเป็นรายใหญ่เท่านั้น ทำหน้าที่ดูแลในเรื่องสัญญาเงินกู้สกุลต่างประเทศ เป็นภาษากฎหมายที่เป็นภาษาอังกฤษล้วน ๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้จบนิติฯ แต่ก็อาศัยความพยายามจนกลายเป็นผู้ชำนาญการ แม้กระทั่งช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็ยังต้องอยู่ช่วยงานจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

ระหว่างนั้น คุณแฟร์รี่ ก็ได้ไปเรียนต่อปริญญาโท วารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ทั้ง ๆ ที่งานก็กำลังหนัก แถมยังมีลูกคนแรกในท้องอีกด้วย “เป็นสาขาที่อยากเรียนมาตั้งแต่ช่วงปริญญาตรี เป็นสิ่งที่คาใจอยู่ ก็อยากเติมเต็ม อยากเรียนรู้เองค่ะ” ช่วงนั้นกระแสเรื่องการสื่อสาร กำลังมาแรง เธอมองว่าเรื่อง โกลบอลไลเซชั่น มีอนาคตแน่นอน เป็นการเรียนแนวบริหาร ไม่ได้ลงปฏิบัติข้อมูลเหมือนปริญญาตรี เมื่อจบมาแล้วก็ยังคงลุยงานต่อ… “ถ้าคิดจะเปลี่ยนสายงาน คงต้องไปเริ่มนับ 1 ใหม่ เลยตัดสินใจอยู่ในสายอาชีพเดิม ถึงไม่ได้นำมาใช้โดยตรง แต่ก็ได้นำมาประยุกต์ปรับใช้ในงาน การวางแผนการสื่อสาร ทำให้ทำงานกับทุกระดับที่ต้องสื่อสารกันทั้งบนจนถึงล่าง ซึ่งมีมิติต่างกันได้อย่างราบรื่นค่ะ”

หลังจากเป็นสาวแบงค์อยู่สิบกว่าปี จนรู้สึกว่าอิ่มตัวในงาน และยังมีครอบครัวที่ต้องกลับไปช่วยเหลืออีก เธอจึงต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ… “ดั้งเดิมเลย ครอบครัวทำงานด้านสิ่งพิมพ์ ผลิตไดอารี่ เสนองานลูกค้าเป็นของขวัญปีใหม่ เป็นสินค้าพรีเมี่ยม เสนอลูกค้าเจ้าเดิม ๆ ก็ต้องหาความแปลกใหม่ จนได้นำกระเป๋ามาเป็นตัวเลือกเพิ่ม ทำให้สามารถสั่งสินค้าได้หลากหลายขึ้น”

จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่… “รับงานกระเป๋ามา จะถึงกำหนดส่งให้ลูกค้าอยู่แล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ยอมทำ เราต้องแก้ปัญหาด้วยการลงไปจนถึงต้นตอ ตามช่างมา ยกจักร หาอุปกรณ์ต่าง ๆ ลงมือเอง ทำจนสำเร็จ หลังจากนั้นก็เริ่มบุกงานกระเป๋ามากขึ้น จนค่อย ๆ ขยายมากลายเป็นงานหลัก ส่วนสิ่งพิมพ์ก็ลดลงไป โดย Jo House เริ่มธุรกิจตามที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2535 มีทั้งกระเป๋าและของพรีเมี่ยมอื่น ๆ”

“เมื่อทำสินค้าออกมาขายตลาดขายส่ง เราก็ไปเปิดร้านขายกระเป๋าที่สวนจตุจักร เดิมมีลูกค้าสั่งกระเป๋าเปล่า ๆ จากเรา แล้วไปตกแต่งเอง เราก็มองเห็นช่องทางตลาดขายส่งนี้ ผลิตและพัฒนาแบบไปเรื่อย ๆ ขายดีมาก ๆ ขายแค่วันเสาร์ตอนเช้า ไปเปิดร้านตี 4 มีคนมารอแล้ว พอเปิดประตูร้านปุ๊ป คนกรูเข้ามา ของที่เราเรียงไว้กระจัดกระจายหมด จนเราต้องแจกถุงให้คนละใบ ให้เลือกหยิบใส่ถุงเขียนชื่อไว้ แล้วค่อยกลับมารับของจ่ายเงิน เพราะเราคิดเงินให้ตอนนั้นไม่ทัน”

ช่วงเศรษฐกิจดี ฐานการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเฟื่องฟูมาก “พอเกิดวิกฤติช่วงต้มยำกุ้ง 2540 เห็นได้ชัดว่า วันดีคืนดีถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่ยกเลิกคำสั่ง ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น ทั้งโรงงาน คนงาน ถูกลอยแพกันเยอะมาก เพราะเราไม่เคยทำการตลาดกันมาก่อน ทำแต่งานที่ผลิตตามออร์เดอร์ พอเห็นภาพนั้นแล้วเรารู้สึกกลัวทันทีเลย เพราะบริษัทใหญ่ ๆ เขาสนใจแต่เรื่องต้นทุน ที่ไหนถูกกว่าก็ไปที่นั่น เราก็ต้องมาคอยลุ้นว่า เมื่อไหร่เขาจะสั่ง แต่ถ้าเราทำแบรนด์สินค้าเอง เป็นเป็นผู้กำหนดเอง แบบนี้ดูจะมั่นคงมีอนาคตมากกว่า ที่คือที่มาว่า ทำไมเราจึงต้องสร้างแบรนด์”

“เราทำได้สารพัด มัวแต่ไปทำงานตามคำสั่ง จนออกจากวงการตลาด ก็เลยต้องมาลองผิดลองถูก ทำสินค้ากลุ่มเด็ก, แฟชั่น, ใช้งาน ลองทำหมดทุกอย่าง ใช้ชื่อต่างกันไป พอผ่านไปสักสองปี ก็มาคุยกันว่า จะทำอันไหนต่อ ก็จะทำให้แบรนด์นั้นแข็งแรง ก็มาสรุปที่ Big Foot ด้วยศักยภาพของงานที่เราทำได้ และเทรนด์ของแฟชั่น ที่เราเลือกแบบไม่ล้าสมัย ใช้ได้ตลอด ไม่เป็นไปตามกระแส เพราะสินค้าตามแฟชั่นเราก็ไม่ถนัด และยังเสี่ยงกับการแบกรับภาระสต็อกอีกด้วย เรายึดแบบคลาสสิค ดูมีสไตล์ดีกว่า โดย Big Foot มีที่มาจากคุณสามี นึกถึงรอยเท้าไดโนเสาร์ แนวผจญภัย มีความน่ารัก มีเรื่องราวที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาได้เรื่อย ๆ”

“เราพยายามหาคาแรคเตอร์ให้สินค้า แรก ๆ มองเป็นผู้ชาย ลุย ๆ หน่อย ชอบใช้ใบใหญ่ ๆ มีลูกเล่นเยอะ ๆ แต่กลายเป็นว่า ลูกค้าผู้หญิงบางกลุ่มก็ชอบ เราก็ผลิตขนาดเล็ก ๆ ดูบ้าง ตามด้วยออกแบบให้มีสีสัน จนกลายเป็นว่า ตอนหลังลูกค้าผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงซื้อง่าย ซื้อบ่อย ผู้ชาย ซื้อที ใช้จนลืม รู้สึกดีที่ลูกค้าชอบสินค้าเรา บางคนใช้กันทั้งบ้าน ซื้อไปสะสมเคยมีลูกค้าแซวว่า ทำทน ๆ แบบนี้ แล้วเมื่อไหร่จะได้ซื้อใบใหม่” คุณแฟร์รี่เล่าด้วยความภาคภูมิใจ

“พอจับจุดคาแร็กเตอร์ของสินค้าได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างที่ตลาดต้องการ แค่ดูจากสถิติการจำหน่าย แล้วผลิตตามนั้น แต่ยังต้องมีสินค้าเด่น ๆ ที่ออกมาเรียกแขก ให้สร้างสีสันบ้างเป็นระยะ ๆ เราส่งออกสินค้าไปยังแถบประเทศอาเชี่ยน โซนยุโรปก็มีบ้าง แต่จะเป็น ODM (Original Design Manufactuere) ที่เราออกแบบเอง หรือทำงานร่วมกัน เราผลิตให้ เขาอาจจะไปติดแบรนด์เอง ไม่ได้เป็น OEM (Original Equipment Manufacturer) ที่ผลิตตามแบบของเขา เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ค่อนข้างเยอะ บางครั้งเราก็ทำให้จุดอ่อน เป็นจุดแข็ง สินค้าบางชุด ใช้วัตถุดิบที่มีจำกัด หาได้ยาก เราไม่สามารถจะรับออร์เดอร์ครั้งละเยอะ ๆ ได้ เนื่องจากควบคุมการผลิตวัตถุดิบไม่ได้ ทั้งในเรื่องของฤดูกาล กำลังคนในการผลิต เราจึงต้องทำแบบจำนวนจำกัดค่ะ”

คุณแฟร์รี่ ยังเล่าให้ฟังถึงการรวมกลุ่ม Bangkok Hub กับเพื่อน ๆ ในแวดวงการผลิตสินค้าประเภทใช้ฝีมือมากกว่าเครื่องจักร “ถึงแม้จะเปิดมาได้ระยะนึงแล้ว แต่เราก็ยังเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีคาแรกเตอร์ มีความถนัดพิเศษเฉพาะของแต่ละคน ถ้าเราตัวเล็ก ๆ แล้วเดินไปคนเดียว เสียงมันก็ไม่ดัง แต่ถ้าเราเกาะมือกันไป ช่วยกันส่งเสียง เราก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น การที่เรามีมือมากกว่าสองมือ ก็จะสร้างอะไรได้สมบูรณ์มากขึ้น ถึงแม้เราจะรวมตัวกัน แต่ก็ยังมีเอกลักษณ์ตัวตนของเราอยู่ เรามาหาจุดร่วมที่อยู่ด้วยกันได้ ส่งเสริมกันได้”

ก่อนจะจบบทสนทนา เราได้ถามถึง ความสุขในแบบของเธอ… “พยายามทำอะไรแล้วคิดบวกค่ะ มีความสุขกับการได้ช่วยเหลือคน ชอบทำทาน บริจาคให้โรงเรียน แม้กระทั่งงานบางชนิดที่เราสามารถแบ่งปัน แจกจ่ายงานให้กับชุมชนได้ เราก็สนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้เสริม เราพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน”

“เมื่อก่อน อยู่กรุงเทพฯ เราไม่เคยไปห้างฯ คนเดียว แต่ช่วงที่เคยคุมเด็กไปเข้าค่าย YMCA ที่อเมริกา ได้ไปอาศัยอยู่กับครอบครัวที่นั่น เวลาเขาพาเด็กไปเที่ยห้างฯ พอไปถึง เขาก็ปล่อยให้ทุกคนแยกย้ายกันไปทำธุระอย่างอิสระ แค่นัดเวลากลับมาเจอกัน พอเห็นแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตแบบนี้ก็ง่ายดีเหมือนกัน เรารู้ว่าตัวเองชอบแบบไหน แต่ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะชอบเหมือนกันรึเปล่า เป็นคนไม่ชอบรอ ทำคนเดียวไปเลยก็สะดวกดี ดูหนังคนเดียว ดูคอนเสิร์ตคนเดียว ละครเวที อะไรที่ทำเองได้ จะไปคนเดียว มาตอนหลังก็มีลูกไปเป็นเพื่อนบ้าง”

“ถ้ามีเวลาจริง ๆ จะชอบไปอยู่ในที่ที่ไม่ต้องเร่งรีบ ที่ไหนก็ได้ แล้วปล่อยวางไปเลย ชอบลองของใหม่ บรรยากาศใหม่ ๆ นั่งฟังเสียงธรรมชาติเพลิน ๆ ยังคิดอยู่ว่า อยากจะอัดเสียงแห่งความสุขแบบนี้มาให้ทุกคนได้ฟังกันค่ะ”