จิตวิทยาการกีฬา

จิตวิทยาการกีฬา ของผู้ปกครองนักกอล์ฟ (1)

จิตวิทยาการกีฬา ของผู้ปกครองนักกอล์ฟ (1)

ใน 9 เดือนที่ผ่านมา เราคุยกันถึงเรื่อง Pyramid ของทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาที่เราควรทราบและนำไปใช้ให้เหมาะสมเพื่อเพิ่มศักยภาพการเล่นกอล์ฟให้ดีขึ้น ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร การรับทราบหลักการดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มความพร้อมด้านจิตใจได้มากขึ้น

ครั้งนี้ผมขอคุยกับท่านในส่วนเฉพาะของผู้ปกครองนักกีฬากอล์ฟว่าควรจะเป็นหรือทำอย่างไรที่จะทำให้นักกีฬาของท่านเล่นกอล์ฟได้ดีอย่างมีความสุข

  1. ท่านรู้ไหมว่าบทบาทหลักของผู้ปกครองนักกีฬากอล์ฟ คือ เป็นผู้สร้างแรงจูงใจ ผู้ให้ขวัญและ

กำลังใจ และผู้สนับสนุนนักกีฬา ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทุกท่านจะต้องเข้าใจ เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำผิดบทบาทของการเป็นผู้ปกครองและนำไปสู่โอกาสของการบรรลุเป้าหมายที่น้อยลง ยกเว้นว่าท่านเป็นทั้งผู้ปกครองและโค้ช บทบาทก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก็อาจจะทำให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ผู้ปกครองมีอิทธิพลต่อแรงจูงใจหรือความอยากที่จะเล่นและฝึกซ้อมกีฬา บรรยากาศที่ดี ที่เป็น

บวกจากผู้ปกครองมีผลต่อความต่อเนื่องและความทุ่มเทที่นักกีฬามีต่อกีฬาชนิดนั้น การพูดดี มีเหตุผล การมุ่งความสำคัญในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ เช่น การมองลูกกอล์ฟ การมี Routine ในการเล่นที่สม่ำเสมอ การมุ่งที่วิธีการที่ทำให้สามารถประสบความสำเร็จได้บ่อยขึ้น ไม่ใช่แค่ผลการแข่งขันเป็นสำคัญ

               ในขณะที่การให้ขวัญและกำลังใจนักกีฬาของเราโดยปราศจากเงื่อนไข ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อนักกีฬาอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นรองหรือย่ำแย่ ช่วงเวลาเช่นนี้ สิ่งที่นักกีฬาต้องการคือ การได้รับขวัญและกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งผู้ปกครองก็สามารถให้ได้ไม่ยาก ซึ่งสามารถทำได้โดยการพูด สายตา ท่าทางต่างๆ เช่น การสัมผัส การกอด ฯลฯ

               ประเด็นสุดท้ายคือการสนับสนุนเกื้อกูลให้นักกีฬาสามารถฝึกซ้อมและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้ปกครองจัดการให้นักกีฬาทุกอย่าง การเตรียมอุปกรณ์ การใส่รองเท้า การเตรียมเสื้อผ้า อาหารและน้ำดื่ม ที่นักกีฬาสามารถทำได้ ให้นักกีฬาดำเนินการเอง สำหรับนักกีฬาที่ยังเด็กมากๆ อาจจะทำให้ดู สอน ก่อนที่เขาจะดำเนินการได้ด้วยตัวเอง

  • มีเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายนี้ควรเกิดจากการพูดคุยและตกลงร่วมกันระหว่างนักกีฬากับ

ผู้ปกครอง การมีเป้าหมายที่ไม่ตรงกัน คนละระดับ เช่น ผู้ปกครองต้องการให้เป็นระดับโลก แต่ลูกนักกีฬาต้องการเป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติ เป้าหมายที่ต่างกันนี้ ส่งผลต่อความคาดหวัง วาจา อาการท่าทางต่างๆที่ต่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุดได้ ที่จริงเป้าหมายขยับได้ตลอดเวลา เพราะเป้าหมายที่ดี ควรเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย มีความเป็นไปได้ และเป็นเป้าหมายในทางบวก เช่น เป้าหมายที่จะเป็นนักกีฬาที่เป็นนักกีฬาตัวแทนทีมชาติตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายว่าต้องตี 3 ถาดใน เวลา 60 นาที หรือเป้าหมายว่าต้องอบอุ่นร่างกายไม่น้อยกว่า 15 นาทีก่อนฝึกซ้อมหรือแข่งขัน

  • การสร้างสังคมนักกีฬาที่ดี สังเกตไหมครับว่าบรรยากาศที่ดีจะเกิดขึ้นง่ายมากในช่วงแรกๆของ

การฝึกซ้อมและแข่งขัน แต่เมื่อต้องแข่งขัน มีการเปรียบเทียบระหว่างนักกีฬาในกลุ่มหรือต่างกลุ่ม บรรยากาศของความสุข ความสนุกและความเป็นเพื่อนจะค่อยๆลดลง เพราะเป้าหมายเพื่อเปรียบเทียบ เพื่อชัยชนะ ชื่อเสียง เกียรติยศ และหากการแพ้ชนะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราต้องการ ทำให้บรรยากาศของความเป็นเพื่อนและสังคมก็มักจะเปลี่ยนไป บางคนอาจจะมีการทักทายน้องลง ช่วยเหลือกันน้อยลง หากเราเปลี่ยนการเปรียบเทียบใครเก่งกว่าใคร ใครชนะใคร ให้น้อยลง บรรยากาศในทางลบก็จะมีลดลงด้วย

  • สร้างบรรยากาศที่มุ่งเน้นการเรียนรู้และพัฒนาการ ถ้าเรามีแนวคิดแบบนี้ คำว่าแพ้จึงไม่

ปรากฏหรือเป็นความรู้สึกจากการแข่งขันเลย เพราะทุกอย่างที่ซ้อม ทุกอย่างที่ทำ และผลการแข่งขัน ถือว่าเป็นการเรียนรู้ทั้งสิ้น คนที่เรียนรู้มากกว่าก็สามารถทำอะไรได้มากและประสบความสำเร็จสูงกว่า

  • ความอดทน ในการเป็นผู้ปกครองนักกีฬา การเห็นการเล่นที่ขึ้นๆลงๆ เห็นอาการหงุดหงิดของ

นักกีฬา เห็นการพัตต์ลูกที่ผิดไปจากเดิม เห็นนักกีฬามีพัฒนาการที่ช้ากว่านักกีฬาคนอื่นๆ หากเราไม่อดทนหรือทนไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้ ท่านอาจจะแสดงอาการในทางลบที่ทำให้เกิดบรรยากาศในทางลบได้ นักกีฬาอาจจะสับสนและไม่ยอมรับผู้ปกครองในประเด็นที่มักพูดว่านักกีฬาต้องอดทน เพราะถ้านักกีฬาต้องอดทน ผู้ปกครองและโค้ชก็ต้องอดทนด้วย

  • การรักษาอาการ การควบคุมอารมณ์ในระหว่างนักกีฬาฝึกซ้อมและแข่งขัน อาการที่สะท้อน

อารมณ์ของผู้ปกครอง เช่น การเปล่งเสียงเสียดาย การส่ายหน้า ก้มหน้า หรือการเดินหนีเมื่อนักกีฬาเล่นได้ไม่ดีตามที่ตั้งใจ สายตาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องควบคุมให้เหมาะสม มีหลายครั้งที่ผู้ปกครองต้องใส่แว่นตากันแดดเพื่อบดบังสายตาที่ไม่พอใจ สายตาที่กดดัน อยากให้นักกีฬาควบคุมอารมณ์ได้ดี ผู้ปกครองก็ต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองเช่นกัน

  • การลดความกดดันในการเล่น โดยการตั้งเป้าหมายที่ผลการแข่งขันเป็นสำคัญ ทำไมเป้าหมาย

ผลการแข่งขันจึงไม่ใช่เป้าหมายที่เหมาะสม โดยเฉพาะนักกีฬาใหม่ อายุน้อย เพราะเป้าหมายผลการแข่งขันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าเป้าหมายที่วิธีการ กระบวนการ ในช่วงที่นักกีฬาใหม่ยังไม่มีความพร้อมทางกาย ทักาะและจิตใจ ผลการเล่นจึงแตกต่างกัน ความสม่ำเสมอไม่มาก จะเห็นว่าในหลายๆครั้งเราเล่นดีมาก แต่ก็ยังไม่ชนะการแข่งขัน ขณะที่บางครั้งเล่นได้ไม่พิเศษจากปกติแต่ชนะการแข่งขัน เหตุผลก็เพราะในการแข่งขันที่มีคู่แข่งขันด้วย แม้เราเล่นได้ดี แต่คู่แข่งขันเล่นได้ดีกว่าเราก็แพ้ได้ ดังนั้นไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร หากเราสามารถเรียนรู้ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว

สุดท้ายคือ การเป็นผู้ปกครองนักกีฬาเพื่อการแข่งขันเป็นเรื่องที่สนุก ท้าทายและเป็นเรื่องที่ดีทั้งกับ

ตัวนักกีฬา ส่งผลดีต่อกาย ใจและสังคม แต่ความยาก ความอดทน การมุ่งมั่นทุ่มเท ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามาเป็นผู้ปกครองที่มีจิตวิทยาที่ดีกับนักกีฬาและตัวเองดีไหมครับ

ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย