“..อยากให้ชีวิตมีความสุข อย่าไปเครียด..” ธงชัย ชาสวัสดิ์
ธงชัย ชาสวัสดิ์
อธิบดี กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
“อยากให้ชีวิตมีความสุข… อย่าไปเครียด”
ผมเป็นลูกชาวสวนยางจังหวัดสุราษฎร์ฯ บ้านอยู่ห่างจากอำเภอบ้านนาสารแค่ 6 กม. แต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เรียนโรงเรียนประชาบาลตั้งแต่ยังไม่มีอาคารต้องอาศัยเรียนอยู่ในวัด ครึ่งปีจึงได้มีอาคารเรียนใหม่ ช่วงเช้าเรียนหนังสือ ช่วงบ่ายทำกิจกรรมพัฒนาโรงเรียน
เด็กๆ ทุกคนในบ้านต้องหัดทำงาน เริ่มจากการเข้าครัว ตั้งแต่อายุราว 6 ขวบ เรียนชั้น ป.3 หัดหุงหาอาหารเบื้องต้น เพื่อเตรียมให้กับคนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก พอร่างกายโตขึ้น ถึงจะได้เข้าไปทำงานในสวนยาง ช่วยกรีดยาง เก็บน้ำยาง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของครอบครัว
ที่บ้านเริ่มให้ทุกคนทำงานตามหลักสุขศึกษา เด็กๆ ต้องถูกบังคับนอนให้เพียงพอวันละ 8-9 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าจะตื่นตี 4 ก็ต้องเข้านอนตั้งแต่ 1 ทุ่ม ใครนอนไม่หลับพักผ่อนไม่พอจะง่วง ผมจึงติดนิสัยต้องนอนให้เพียงพอมาตลอด จึงทำให้เป็นคนหลับเร็วมาก หัวถึงหมอนเป็นหลับ ตอนตื่นก็ลุกได้เร็วไม่งัวเงีย ทำให้มีผลดีต่อสุขภาพร่างกายและสมองมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อนอนพอแล้วก็ต้องกินให้สมบูรณ์อย่างเหมาะสม ที่บ้านนั้นเวลาถูกสั่งให้ไปทำงาน ถ้าใครบ่นว่าหิวจะให้หยุดงานไปกินทันที กินอิ่มแล้วมาทำต่อ จะได้ไม่มีข้ออ้างเรื่องหิว แต่จะมาอ้างว่าเหนื่อยไม่ได้ และนี่ยังเป็นวัฏจักรที่ทำเพื่อดูแลตัวเองมาตลอด
พออายุเกิน 10 ขวบ ตื่นเช้าขึ้นได้อีก ลุกกันตั้งแต่ตี 4 สามารถเข้าสวนไปช่วยกรีดยางได้ ทำงานจนถึงหกโมงครึ่ง ปล่อยให้ผู้ใหญ่ทำต่อ เด็กๆ รีบกลับมาบ้านเตรียมตัวไปโรงเรียน ตกเย็นมาก็เล่นกันตามประสาเด็กสวน ไม่มีของเล่นอะไรมาก มีแบดมินตัน บอลรูหนู หรือใช้ยางมาทำเป็นลูกโป่งเป่าลมให้พองเป็นทรงกลมๆ แล้วหาเศษยางเส้นๆ มาพันให้เป็นลูกฟุตบอลสามารถกระเด้งกระดอนได้ไว้เตะเล่นกันเองกับเพื่อนๆ
ที่บ้านไม่เคยถามเรื่องการเรียนเลย ว่าทำการบ้านเสร็จรึยัง หรือการเรียนเป็นยังไง ทุกคนจัดการเอาเอง มีเงื่อนไขเพียงข้อเดียวก็คือ ขอแค่เรียนให้ครบ จบตามเวลากำหนดทุกระดับชั้น ข้อดีก็คือ ไม่ถูกบังคับเรื่องเรียนเลย ใครจะเรียนคือต้องการที่จะเรียนจริงๆ ไม่ได้เกิดจากการบังคับ ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบอิทธิพลของสังคม มีอิสระทางความคิด
ผลการเรียนของผมค่อนข้างดี ผ่านเกณฑ์ที่จะคัดเลือกไปเรียนในสายวิทย์ฯ ได้ แต่ผมก็ไม่เลือก เพราะเรียนสายศิลป์ฯ มากกว่า พ่อแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่เคยถามด้วยซ้ำ คนที่ถามกลับเป็น เพื่อน ครู ที่สงสัยว่า ทำไมไม่เรียนวิทย์ฯ ซึ่งผมก็ประเมินตัวเองว่า เราน่าจะถนัดในสายศิลป์ฯ แล้วก็เป็นการเลือกที่ถูกทางจริงๆ
แถวต่างจังหวัดไม่มีอะไรให้เลือกเรียนมากนัก พอจบ ม.ศ.3 ครั้งแรกจะไปเรียนวิทยาลัยเกษตร เพราะตอนอยู่ ม.ศ.3 ก็เคยเป็นประธานชุมนุมการเกษตร แต่พ่อแม่เห็นว่าเด็กที่ไปเรียนมักจะดื้อจะเกเร อยากให้ไปเรียนหลักสูตรสามัญดีกว่า คือท่านคัดค้านเพราะสถานที่ ไม่ได้เกี่ยวกับหลักการวิชาการ กลัวว่าลูกไปเรียนแล้วจะเกิดปัญหา ส่วนสายช่างกลก็ไม่ถนัดอยู่แล้ว เลยต้องเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
ผมเลือกมาสอบเรียนต่อที่วัดบวรฯ เพราะเชื่อมั่นว่าจะสอบได้ ไม่อยากเสียเวลาไปสอบหลายที่ เข้ามาก็อยู่กับญาติบ้าง ได้รับความอนุเคราะห์จากพระให้อยู่ที่วัดบวรฯ ด้วย จากเด็กบ้านนอกพอมาอยู่กรุงเทพฯ ก็มีความเสี่ยงในการจะเลือกทางเดิน แต่การได้อยู่กับพระ มีระเบียบวินัย ได้รับการอบรม และยังมีความรู้สึกว่าต้องไม่ทำให้พระที่ดูแลเราอยู่ลำบากใจ ชีวิตจึงสามารถอยู่ในลู่ในทางที่ดีได้
ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ผมเคยคิดอยากเป็นอยากเป็นนายอำเภอ เพราะมีความฝังใจว่า เมื่อสมัยเป็นเด็กไปติดต่อราชการแล้วไม่ได้รับความสะดวก ต้องไปเสียเวลารอนาน หรือโดนเรียกร้องเพื่อจะให้ได้รับความสะดวก ตอนเป็นเด็กได้เงินไปโรงเรียนวันละ 3-5 บาท เวลาไปคัดสำเนาถูกเรียกเงินทีละ 20 บาท แล้วก็ยังทำให้ผิดอีก หรือเห็นบางคนที่ทำงานไม่เต็มกำลัง ไม่ใส่ใจในหน้าที่ ซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกินเลย และในยุคนั้น เขตที่เราอยู่ยังเป็นพื้นที่สีแดงอีก พอมีประกาศกฎอัยการศึก มีการควบคุมเรื่องข้าว บ้านเราคนอยู่เยอะ กินอาทิตย์ละกระสอบ แต่ข้าวเป็นยุทธปัจจัย บังคับให้ซื้อได้ทีละครึ่งกระสอบ เราก็ต้องไปซื้อสองรอบ แล้วก็ต้องถูกถามจากเจ้าหน้าที่ว่าทำไมซื้อบ่อย โดยไม่ได้ดูว่าบ้านเรามีคนอยู่แค่ไหน เวลาตรวจตราก็มีท่าทางไม่สุภาพ จนเราเห็นวิธีปฏิบัติแล้วไม่สบายใจ ฝังใจว่าทำไมราชการต้องเป็นแบบนี้กันด้วย ถ้าในอนาคตเราได้เป็นนายอำเภอ แล้วมาแก้ไขปัญหาแบบนี้ให้ประชาชนได้คงดีไม่น้อย
เมื่อมีคนมาอยู่รวมกันเยอะๆ สิ่งที่ประทับใจอย่างหนึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปก็คือ เรื่องของ “ตระกร้ากับข้าว” ว่าไปแล้วก็เหมือนกับเรื่องการเมืองในครอบครัว ในบ้านมีคนอยู่เกือบยี่สิบคน แล้วก็มีหลายระดับชั้นอยู่รวมกัน พ่อแม่ญาติพี่น้อง คนงาน ในตระกร้ากับข้าวใบเดียว ต้องบรรลุถึงความต้องการของทุกคนให้ได้ คนซื้อกับข้าวต้องมีการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยมมาก
เช่น ถ้าจะซื้อปู ก็ไม่อาจจะซื้อให้ครบทุกคนได้ เพราะมันแพง ก็ต้องหาอะไรใส่เพิ่มไปอีกเพื่อให้ทุกคนได้กินกันอย่างถ้วนหน้า คนละนิดละหน่อยก็ยังดี ถ้าพ่ออยากกินอะไรเป็นพิเศษ แม่ก็อยากจะเอาใจ แต่จะทำยังไงคนอื่นถึงจะไม่รู้สึกอึดอัด แล้วที่บ้านมีเชื้อจีน การที่ต้องการให้ลูกคนนั้นคนนี้ได้กินของดีๆ เป็นพิเศษบ้าง จะจัดการอย่างไรให้ลูกคนนั้นได้กิน ขณะที่คนอื่นๆ ก็ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกทอดทิ้ง หรือมีความลำเอียง จนทำให้พี่น้องไม่รักกัน ซึ่งเป็นเรื่องยากมากๆ ของแม่บ้านที่จะดูแลทุกคนให้ได้รับความพึงพอใจเช่นเดียวกัน
ครอบครัวเรามีพี่น้อง 8 คน ผมเป็นคนที่ 2 ก็ไม่เคยทะเลาะกันเลย เคยมีบางครั้งที่รู้สึกว่าเราได้รับอะไรที่พิเศษเกินกว่าคนอื่นๆ ก็จะไม่สบายใจ พอโตขึ้นก็ไปบอกกับแม่ว่า ต้องให้ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะลูกสาวที่ต้องดูแล แล้วก็เป็นเรื่องแปลกที่พี่น้องทุกคนพร้อมใจประกาศกันเลยว่า จะไม่เอาอะไรของพ่อแม่เลย นั่นคือแรงจูงใจอย่างหนึ่งของทุกคนที่ต้องการจะไปสร้างฐานะกันเอง
ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เดิมตั้งใจเลือกรัฐศาสตร์ที่จุฬาฯ เป็นอันดับแรก พอดีญาติมาทักว่าเมื่อเรียนสายศิลป์ฯ น่าจะลองเลือกคณะอักษรฯ ดูบ้าง ซึ่งตอนเรียนผมก็ไม่เคยไปกวดวิชาที่ไหน อาศัยตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ เพราะรู้ว่าข้อสอบทั้งหมดต้องนำไปจากตำราเรียนเท่านั้น จะออกนอกเหนือกว่านี้ไปไม่ได้ แล้วผมก็อ่านหนังสือแค่วันละ 1 ชั่วโมง แต่ใช้เวลารวมกันถึงวันละ 3 ชั่วโมงถึงจะครบชั่วโมงอ่านหนังสือ พออ่านไปพักไปจนเริ่มรู้สึกว่าจะรับไม่ไหว ก็ไปหาอย่างอื่นทำก่อน จนพร้อมแล้วค่อยกลับมาอ่านต่อครั้งละราว 20 นาที เตรียมตัวอย่างนี้อยู่ 2 ปี ก่อนสอบ
ผมสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ ได้ ครั้งแรกก็รู้สึกว่าไม่อยากเรียน ไปขอแลกกับเพื่อนที่สอบได้คณะรัฐศาสตร์ แล้วเขาอยากเรียนอักษรฯ แต่มหาวิทยาลัยไม่ยอม ถ้าอยากจะเลือกคณะอะไรก็ต้องสอบใหม่ ซึ่งผมติดขัดตรงที่ทางบ้านกำหนดว่าต้องเรียนให้จบภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงต้องเรียนไปตามที่สอบเข้ามาได้ ทั้งคณะฯ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำให้ได้รู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนผู้หญิง ซึ่งก็ดูแลเอาใจใส่พวกเราซึ่งเป็นผู้ชายที่มีจำนวนน้อยกว่าได้เป็นอย่างดี ผมเลือกเอกภาษาสเปน โทภาษาจีน แล้ววันๆ อยู่ในคณะก็ไม่ค่อยได้เข้าเรียนเล่นแต่กีฬา เย็น เตะตระกร้อ กลางวัน ตีปิงปอง เล่นจนกระทั่งได้เป็นคู่ซ้อมของนักกีฬามหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นที่มาของการเล่นกอล์ฟในภายหลัง
ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 4 ได้ทุนไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียจนถึงระดับปริญญาเอก ผมก็สอบถามว่าได้ทุนแล้วจะต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ ต้องกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ แต่ ณ ตอนนั้นผมไม่อยากเป็นข้าราชการจึงไม่รับทุน
พอเริ่มทำงานจริงๆ ตลอด 19 ปีผมได้ใช้ภาษาจีนเป็นหลัก เริ่มจากไปทำงานกับบริษัทเอกชนที่ฮ่องกง เพราะไม่อยากรับราชการ พอผมไปเรียนต่อที่ประเทศจีน ได้พบกับข้าราชการไทยที่ไปประจำสถานทูต ณ กรุงปักกิ่ง ก็เกิดความประทับใจในภาพลักษณ์ของข้าราชการยุคใหม่ ที่มีพร้อมทั้งบุคลิกภาพที่ดี กริยามารยาทเรียบร้อย มีความรู้ความสามารถ ไม่เหมือนกับสมัยที่เราเคยเจอยังเด็กๆ
พอได้พูดคุยกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ท่านได้ทักว่า ลักษณะท่าทางอย่างผมนี้ น่าจะไปอยู่กระทรวงต่างประเทศ ตอนนั้นผมตอบท่านไปว่า ผมทำไม่ได้หรอก ไม่ชอบราชการ ผมรำคาญ แต่ท่านก็ยังยืนยันว่า ผมน่าจะทำได้ ให้ลองไปคิดดูละกัน จนเชื่อแรงสนับสนุนจากท่าน และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพลักษณ์ของข้าราชการก็ได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมากอีกด้วย
ก่อนหน้านั้นเมื่อจบใหม่ๆ ผมมีความคิดที่จะไปอยู่ที่อเมริกาใต้ เพราะได้เรียนภาษาสเปนมามากกว่าภาษาจีนเป็นเท่าตัว อยากไปตั้งหลักปักฐาน ทำไร่กาแฟ เพราะศึกษาแล้วมีโอกาสที่จะไปได้ แต่เมื่อระดมทุนแล้วไม่เพียงพอที่จะไปลงทุน เลยต้องล้มความคิดนี้ไป ไปสมัครงานโรงแรม เขาก็ไม่รับ ตอนนั้นพูดได้ทั้ง สเปน จีน และมาลายู
ชีวิตการทำงาน 28 ปีในกระทรวงการต่างประเทศ ในต่างประเทศของผม อยู่ในเวียดนาม 2 ปี จีนอีก 10 ปี ไม่เคยไปประจำสถานทูตไทยที่อื่นเลย ทำให้กลายเป็น ไชน่าแมน ไปโดยปริยาย ตำแหน่งสุดท้ายที่จีนคือเป็นกงสุลใหญ่ที่เมืองเฉิงตู มลฑลเสฉวน แล้วจึงกลับมาทำงานด้านบริหารเป็น ผู้อำนวยการสำนักจัดหาและบริหารทรัพย์สิน, รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และ ปัจจุบันเป็นอธิบดีกรมการกงสุลมาได้ 2 ปี 8 เดือนแล้ว
งานของกรมการกงสุล เป็นงานของกระทรวงต่างประเทศ ที่มีความเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เพราะเป็นงานบริการประชาชน การบริหารงานที่นี่ก่อนหน้านี้ได้มีการวางพื้นฐานที่ดีมาแล้ว โดยตั้งแต่เมื่อปี 2548 มีการปรับเปลี่ยนการบริหารการให้บริการหนังสือเดินทางใหม่ที่ทุกคนพอใจและยินดี ซึ่งได้รับรางวัลบริการประชาชนดีเด่นทุกปี และเราก็มาเสริมว่า ทำอย่างไรถึงจะบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพราะพื้นที่เรามีขนาดจำกัด แต่ต้องดูแลผู้คนจำนวนมาก ทำอย่างไรถึงจะไม่ให้คนที่มาใช้บริการเดือดร้อน ดังนั้นนโยบายของเราคือลดเวลาของคนที่มาอยู่ที่นี่ให้ได้มากที่สุด ทำให้คนมาที่นี่น้อยที่สุด จึงมีการเปิดให้บริการพาสปอร์ตตามจุดต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อลดจำนวนคนที่จะมาที่นี่ และลดระยะเวลาในการเดินทางของคนต่างจังหวัด ไม่ต้องเข้ามากรุงเทพฯ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปแล้วด้วยดี มีศูนย์ถึง 14 แห่งทั่วประเทศ โดยมีหลักการว่า เดินทางไม่เกิน 200 กิโลเมตร ก็จะเจอจุดให้บริการหนังสือเดินทาง
เรายังมีการกำหนดให้ว่าเมื่อเข้าไปในช่องบริการแล้ว ต้องใช้เวลาไม่เกิน 20 นาที ซึ่งตอนนี้ก็ลดลงเหลือ 15 นาทีแล้ว และถ้ามีการลงทะเบียนล่วงหน้าผ่าน www.passport.in.th มาก่อนก็จะลดลงเหลือเพียง 7 นาทีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการใช้ระบบส่งเล่มทางไปรณีย์ให้มากขึ้นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว……..
คนไทยยังตีค่าหนังสือเดินทางว่าเป็นเรื่องสำคัญพิเศษกันอยู่ จริงๆ แล้ว บริการพาสปอร์ตเป็นงานเอกสาร ไม่เหมือนโรงพยาบาล คนมักจะชอบมาตอนเช้าเพราะคิดว่าสายแล้วจะทำไม่ได้ พาสปอร์ตไม่มีการหมด เรามีกำลังการผลิตเฉลี่ยราวแปดพันเล่มต่อวัน แต่ถ้ามาหมื่นสองก็ยังสบายอยู่ ตามสถิติก็ไม่เคยสูงเกินไปกว่านี้ แนะนำได้เลยว่าให้มาราวบ่ายสองครึ่ง จะใช้เวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ แล้วรอรับไปรณีย์ที่บ้านไม่ต้องมารับเองให้ยุ่งยากเสียเวลา และยังจะมีบริการแปลเอกสาร สัญชาติ นิติกร โดยใช้ไปรณีย์เป็นจุดให้บริการ ผู้ที่ต้องการรับรองเอกสารเพียงแค่ไปที่ไปรณีย์แล้วรอที่บ้าน จะใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน โดยเอกสารมีความถูกต้องทุกประการ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่เสียเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมไปกับกำลังจะเปิด คอล เซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง คอยให้ความช่วยเหลือจากทั่วโลก ในราวเดือนกรกฎาคม 2558 ก็จะเริ่มให้บริการ
ผมไม่ซีเรียสกับการดูแลสุขภาพมากนัก แต่ก็คอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ ผมมีกางเกงอยู่ตัวหนึ่งไว้คอยตรวจสอบว่าสุขภาพเป็นอย่างไร ถ้าช่วงไหนเริ่มคับก็จะลด แต่ถ้าช่วงไหนหลวมก็จะเพิ่ม เรื่องอาการการกินก็ยึดถือแบบอย่างจากญี่ปุ่น คือกินอะไรก็ต้องกินของดั้งเดิมให้อร่อย ไม่กินของปรับแต่งให้ผิดเพี้ยนไปจากตำรับดั้งเดิม เช่น เสือร้องไห้ก็ต้องติดมัน ข้าวขาหมูก็ไม่ใช่กินแต่เนื้อแดง แต่ก็ต้องรู้ว่าจะกินปริมาณแค่ไหนถึงจะเหมาะสม ไม่ให้มากจนเกินไป แล้วผมก็มีความยืดหยุ่นในเรื่องการกินค่อนข้างมาก บางวันกินมื้อเดียวก็อยู่ได้
เมื่อสมัยเรียนผมเล่นกีฬาเยอะมาก แต่พอเข้าทำงานที่กระทรวงต่างประเทศ ก็หยุดเล่นกีฬาทุกอย่างไปเลย โดยเฉพาะปิงปองที่ถนัดเป็นพิเศษ จนกระทั่งไปประจำการที่สถานทูต ฮานอย ประเทศเวียดนาม แล้วมีการแข่งขันกีฬาอาเซี่ยน ผมก็ไปฟื้นกีฬาปิงปองเพื่อไปแข่งกับเขา ก็ยังตีได้อยู่ ในที่สุดก็ได้แชมป์ แต่ปวดเมื่อยจนเจ็บไปทั้งตัว แล้วผมก็ได้เจอลูงมนูญ เจ้าหน้าที่อาวุโสที่สถานทูตซึ่งดูแลด้านการสื่อสาร ท่านเป็นคนเล่นกอล์ฟ พอเห็นว่าผมตีปิงปองแม่น เลยชักชวนให้มาเล่นกอล์ฟ บอกว่าผมน่าจะเอาดีทางกอล์ฟได้ไม่ยาก แล้วกอล์ฟก็ยังมีประโยชน์กับผมซึ่งอายุยังน้อย ทำงานทางด้านการทูต แล้วเป็นกีฬาที่คนอื่นไม่รำคาญอีกด้วย เพราะไม่มีคู่ต่อสู้ เราตีของเราไปคนเดียว ผมจึงไปซื้อไม้กอล์ฟมาหัด โดยมีลุงมนูญช่วยแนะนำวิธีตีให้ แต่พอเริ่มหัด ผมก็ต้องย้ายไปประเทศจีน ต้องหอบหิ้งถุงกอล์ฟไปฝึกหัดต่อที่ปักกิ่ง จนได้ออกรอบครั้งแรกที่ สนาม เป่ยจิงอินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟคลับ จำแม่นเลยว่าสกอร์วันนั้นออกมาที่ 144
ผมเริ่มออกรอบในเดือนเมษายน พอถึงเดือนตุลาคม สกอร์ก็ลดลงเหลือ 90 จากที่เคยเป็นลูกไล่ตอนแรกๆ ก็สามารถจะเอาคืนได้บ้าง พอขึ้นปีที่สองแต้มต่อก็เหลือราวๆ 15 แล้วช่วงที่อายุ 34 เล่นกอล์ฟกันวันละ 54 หลุม ออกรอบกับเพื่อนชาวสิงคโปร์ เดินกันตั้งแต่เช้ายันเย็น สมัยก่อนคนเล่นกอล์ฟยังน้อย สนามโล่ง เดินสบายทั้งวัน
การได้เดินกรีดยางในสวนมาตั้งแต่เด็กก็มีผลดีกับกอล์ฟ เดินทำงานในสวนยังไกลกว่านี้อีกมาก ทุกวันพอเดินกรีดยางเสร็จ ก็ต้องเดินไปโรงเรียน เป็นแบบนี้ทุกวันจนชิน ทำให้เวลาเล่นกอล์ฟเรื่องเดินไม่เป็นอุปสรรคเลย และอาจจะเป็นเพราะทั้งประสบการณ์ เทคโนโลยี ทำให้คะแนนตอนนี้ดีกว่าสมัยเมื่อก่อนซะอีก ผมถนัดในเรื่องลูกสั้นข้างกรีน ค่อนข้างไว้ใจได้
คนเราต้องพูดความจริง อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ ก็ต้องบอกกล่าวกัน ความเครียด เกิดจากการไม่พูดความจริง บางครั้งสั่งงานไป ทำไม่ได้แล้วไม่พูด ก็จะกลายเป็นความเครียด แต่ทั้งนี้ เราต้องพยายามให้ถึงที่สุดก่อน ถึงจะทราบว่าทำได้หรือไม่อย่างไร แล้วก็อธิบายกันไปตามข้อเท็จจริง
ก่อนที่จะให้ใครไว้ใจเรา เราก็ต้องไว้ใจเขาก่อน ผมจะเชื่อทุกคำบอกเล่า ไม่ต้องมาคอยระแวง ถ้าตั้งเป้าอะไรแล้วก็ต้องทำให้เต็มที่ เมื่อทำไม่ได้ ก็อย่าไปคิดอะไรมาก เพราะปัจจัยของความสำเร็จนั้นไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว แล้วต่อจะให้หงุดหงิดยังไง ผมก็ยังกินได้ นอนหลับ… ถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุข อย่าไปเครียดครับ