กินเจวิถีใหม่ อิ่มบุญ อิ่มใจ ไตไม่พัง
กินเจวิถีใหม่ อิ่มบุญ อิ่มใจ ไตไม่พัง
ในช่วงนี้ของทุกปี เป็นช่วง “เทศกาลกินเจ” เทศกาลแห่งการสร้างบุญสร้างกุศล ด้วยการถือศีล ละเว้นการเบียดเบียน ด้วยการงดรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หันมาทานเฉพาะผัก โปรตีนจากพืช และแป้งเท่านั้น ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นอาหารที่เหมาะกับสุขภาพดี แต่การปรุงอาหารเจในปัจจุบัน โดยเฉพาะตามร้านค้าต่างๆ มักจะมีรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง ซึ่งหากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป จะทำให้ไตทำงานหนัก และเป็นโรคไตในที่สุด ดังนั้นเพื่อให้ได้ทั้งบุญและมีสุขภาพที่ดีตลอดเทศกาล ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกหาอาหารในช่วงเทศกาลนี้มากขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ให้ข้อมูลว่า คนไทยได้รับโซเดียม เฉลี่ยสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน เกินจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ 1-2 เท่า! นำไปสู่แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่มโรค NCDs เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไต ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ในเทศกาลกินเจมีอาหารที่มีโซเดียมสูงหลายอย่าง เช่น ผักดอง กานาฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานาน คุณค่าทางอาหารจะลดลง นอกจากนี้ยังพบอาหารปรุงสำเร็จและอาหารแปรรูป ที่มักจะเติมความเค็ม เพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงกับการปรุงจากเนื้อสัตว์จริง การกินเค็มมาก เสี่ยงต่อภาวะความดันเลือดสูง ที่น่าห่วงอีกอย่างก็คือ พฤติกรรมติดเค็มตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้พบผู้ป่วยโรคไตอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ซึ่งประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม แนะนำเคล็ดลับพักไต ด้วยการ เลือก/เลี่ยง ลดเค็ม ในทุกเมนูเจดังนี้
เลือกทำกับข้าวเอง ปรุงแต่พอดี ลดหวานมันลดเค็มเพื่อสุขภาพ แต่ถ้าจะซื้ออาหารสำเร็จ ควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกน้ำแกง น้ำซุป หรือเลี่ยงการเอาน้ำแกงมาราดข้าว เพราะโซเดียมมักมีอยู่ในนั้น, เลือกกินผักและผลไม้ ซึ่งผักชนิดต่างๆ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีประโยชน์ต่อในร่างกาย ควรกินผักให้ได้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สำหรับผลไม้ก็ควรเลือกที่ไม่หวานมาก เพราะปกติในเทศกาลกินเจ อาหารจะมีแป้งปนอยู่ด้วยมาก ซึ่งแป้งส่วนเกินจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล เราก็จะได้น้ำตาลเยอะตามไปด้วย
เลือกกินถั่วและธัญพืช บางครั้งกินเจแล้วรู้สึกหิวบ่อย ให้เน้น ถั่ว ธัญพืช หรือเต้าหู้ แทนพวกเนื้อเทียม เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่า ซึ่งในระยะยาวจะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้, เลือกสั่งอาหาร ลดหวานมันเค็ม โดยบอกแม่ครัวหรือแม่ค้า ให้ลดเครื่องปรุงต่างๆ ถ้ารู้สึกจืด ค่อยเติมด้วยตัวเอง เพราะเราจะรู้ว่ารสชาติแค่ไหนพอเหมาะ
เลี่ยงการปรุงเพิ่ม พยายามใส่เครื่องปรุงให้น้อย ใส่ซอสต่างๆ เท่าที่จำเป็น ให้พอมีรสชาติ, เลี่ยงเนื้อเทียมจากแป้ง เพราะจะมีการใส่โซเดียมปรุงรสเค็ม ให้ใกล้เคียงกับของจริง ดังนั้นกินได้แต่นานๆ ครั้ง ไม่ควรกินบ่อย, เลี่ยงขนมขบเคี้ยว การกินขนมขบเคี้ยวแก้หิว ยิ่งทำให้ได้รับความเค็ม เพราะในขนมเหล่านี้ จะมีโซเดียมผสมอยู่มาก, เลี่ยงของทอดและน้ำอัดลม เพราะน้ำมันจากของทอดจะทำให้ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์เพิ่มขึ้น ส่งผลเสียต่อร่างกาย เช่น ไขมันเกาะผนังหลอดเลือด เลือดไม่พอเลี้ยงหัวใจและสมอง รวมไปถึงไขมันเกาะตับ หรือที่เรียกว่าไขมันพอกตับ ขณะที่น้ำตาลในน้ำอัดลม ก็จะรวมกับน้ำตาลที่มาจากแป้ง กลายเป็นร่างกายได้รับน้ำตาลเกินความจำเป็นไป
กินเจปีนี้นอกจากถือศีลละเว้นการกินเนื้อสัตว์แล้ว ควรกินอาหารที่ไม่เค็มจนเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดีตลอดช่วงเทศกาลกินเจ
(ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ)