อมยิ้มริมกรีน

สู้ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน

สู้ๆ พ่อแม่ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน

เข้าเดือนมีนาคม เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กๆ ช่วงนี้จะมีตารางการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนเพียบเลยใช่ไหมครับ

สมัยเมื่อยี่สิบปีก่อน การแข่งขันกอล์ฟเยาวชน มีอยู่สององค์กรกอล์ฟที่จัดการแข่งขัน คือของ ชมรมส่งเสริมนักกอล์ฟเยาวชนที่ดำเนินการโดย “ป้าอ้อย” รศ.อิราวัณณ์ ผานิตวงศ์ กับสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย ต่างมีระบบเก็บคะแนน ได้สิทธิ์ไปแข่งรายการต่างประเทศ (แต่เป้าหมายใหญ่เลยสมัยนั้นคือ จูเนียร์ เวิลด์ที่สรัฐอเมริกา) ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชนก็ส่งลูกเล่นทั้งสององค์กรแหละ จึงมีโปรแกรมแข่งเยอะเจริงๆ สมัยนั้นยังไม่เข้ารูปเข้ารอยแบบทุกวันนี้ ที่อยู่กอล์ฟเยาวชนในร่มของสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย ( “ป้าอ้อย”ก็ยังทำอยู่ สบายกว่าสมัยโน้น เพราะ “ผูก”กับทรู ที่เป็นสปอนเซอร์ใหญ่  แถมยังมีสนามกอล์ฟของตัวเองที่ลาดกระบัง รองรับด้วย)

ผมก็เป็นผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน ที่ต้องทำหน้าที่กระเตงส่งลูกลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ดังที่เคยเล่า ลูกสาวผมไม่ได้เก่งถึงระดับหัวกะทิ ตีตั้งแต่ยังเป็นเด็กไฟลต์ซี( ตอนนั้นเจออารี นารี วงศ์ลือเกียรติ ก็มือหงิก ปอดไปหมดแล้ว) จนโตเป็นสาวไฟลต์เอ (เป็นเพื่อนเกลอกับ หมู อรนรินทร์ สัตยาบรรพต, ต๊อบ ฐิติยา พฤกษถาพร) เป็นไก่รองบ่อนตลอด ไม่เคยชนะสักรายการ

กีฬาทุกประเภทแหละครับ ลูกเป็นนักกีฬาลงหยาดเหงื่อไหลรินในสนามแข่ง ข้างๆสนามก็เหงื่อของพ่อแม่สะสมถมลงไปไม่ต่าง

พ่อแม่ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน ต้องจัดอยู่ในประเภท ทุ่มเทสุดๆ ทั้งกายและใจ เพื่อลูก เลยละครับ

ทั้งปี เป็นหลายปี เป็นสิบปี (ถ้าลูกเล่นตั้งแต่ลูกเจี๊ยบ) มีกิจกรรมเพื่อลูกเล่นกอล์ฟ พาลูกไปสนามไดรฟ พบโปรจับวง ทุกเมื่อเชื่อวัน มีตางแข่งขันสนามใด ก็กระเตงพาลูกไปแข่ง ถ้าเป็นสนามปริมณฑลขาน กรุงเทพฯ ไปกลับได้ ก็ออกแต่ตีสี่ตีห้า ขับรถไป ให้ลูกนอนอีกนิดในรถ ไปถึงสนามเช้าๆ วอร์มสักหน่อย เล่นเลย ถ้าเป็นสนามต่างจังหวัด แข่งสองวันก็มีค้าง หาโรงแรมที่พักนอน

ลูกเล่นในสนาม ก็เดินกางร่ม ตามดูลูกข้างสนาม จดความผิดพลาด (สมัยนี้ใช้ถ่ายคลิปได้แล้ว เพื่อเอามาบอกโปร)

บ่อยครั้งที่ไปสนามต่างจังหวัด เพราะสนามเหล่านั้น คิดราคาพิเศษ “ตีตั๋วเด็ก” ให้กับกอล์ฟเยาวชน ทุ่นค่าใช้จ่ายผู้จัด(ป้าอ้อย)ทุ่นเงินผู้ปกครองได้หน่อย จะไกลแค่ไหน ทุรกันดารปานใด ก็ถ่อไปกัน นานๆครั้งจะลงแข่งสนามดีๆ ที่เมตตาเด็ก ปิดสนามให้เล่น เช่น ที่สปริงฟิลด์ หัวหิน, สนามโรสการ์เดน สามพราน

สนามต่างจังหวัดแถบ นครนายก ราชบุรี เมืองกาญจน์ เพชรบุรี บางทีก็ไปไกลถึงระยอง รองรับการแข่งขันกอล์ฟเยาวชน พ่อแม่ก็กระเตงพาลูกไป บางครอบครัว ลูกติดบ้าน ต้องขับกลับบ้านตอนค่ำแล้วเช้ามืดไปใหม่ พ่อแม่ต้องขับรถไปกลับวันละเป็นหลายร้อยกิโลเมตร แล้วช่วงปิดเทอมใหญ่ เป็นฤดูกาลแข่งขัน ตารางแข่งแน่นเอี้ยด แทบทุกสัปดาห์ คิดดูว่า การกระเตงพาลูกแข่งกอล์ฟเยาวชนนั้น หนักหน่วงเพียงใด

แล้วสนามต่างจังหวัด หน้าร้อน..มันร้อนตับแตกจริงๆ

ผมจำได้ สนามกอล์ฟที่นครนายก ลักษณะเป็นแอ่ง รอบๆเป็นเขา อากาศในแอ่งจึงนิ่ง ลมไม่พัดระบายความร้อน มันคือเตาอบยักษ์ดีๆนี่เอง ออกนอกเงาร่ม แดดเปรี้ยงมันแทงยิบๆเชียวแหละ เรายังเดินตามในร่มบ้าง แต่เด็กๆมันเดินฝ่าแดดเปรี้ยงๆเล่นกันวันละ18หลุม มันโหดจริงๆ

หรือสนามกอล์ฟที่เมืองกาญจน์..แดดเต้นยิบๆข้างหน้า หน้าร้อนยังมีผลคลีที่เขาเผาไร่อ้อยก่อนตัดมาด้วย ทั้งร้อนทั้งคันคะเยอ..เด็กๆมันก็เล่นของมันได้

แค็ดดี้คนหนึ่งที่สนามราชบุรี  ที่ถือถุงให้ลูกผมเสมอ บอกผมว่า..น้องเขาตีดีนะคะ แต่เวลาร้อน น้องเขาชอบงี่เง่า..

ลูกสาวผมตอนเด็กๆ เสียสกอร์บนกรีนมากกว่าใคร พัตต์แบบสวนสนามบ่อยๆ ได้ความว่า มันร้อน แดดเผาบ่าเผาหูวุบๆ อยากให้จบไปเร็วๆ เขี่ยๆมั่วๆ จะลงจากกรีนเร็วๆ มันขาดสมาธิที่จะบรรจงพัตต์

แล้วแข่งกอล์ฟเยาวชนที่ไหนล่ะ จะเย็นๆดี สนามดีๆ แฟร์เวยนุ่ม มีแต่สนามแข็งกระโด๊งโป๊กเป๊กแหละ แถมร้อน ถึงร้อนตับแตก ลูกสาวผมถึงตีแค่ไหนก็ได้แค่นั้น ชนะเป็นกับเขาที่ไหน

ตอนโน้น ก็ไม่เข้าใจ ฉิวแค้ดดีมาว่าลูก โมโหลูกที่มีจุดอ่อนที่แก้ไม่หาย แต่ภายหลังหัวเราะกันทุกครั้ง เมื่อเอาเรื่องเก่ามาเล่ากัน เพราะอาการ ..ร้อนมากแล้วงี่เง่า ไม่เอาดีบนกรีน.. ผมเองก็เป็น สงสัยมันจะอยู่ในยีนส์ (ถึงเดี๋ยวนี้ ลูกสาวผมอายุสามสิบแล้ว เล่นกอล์ฟเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานบริษัท มันก็ยังงี่เง่าบนกรีนเหมือนเดิม..เมื่อร้อนจัด..555)

ความทุ่มเทมากๆของผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชนอีกประการคือ..การใช้เงินส่งลูกเล่นกอล์ฟ ยังกับเอาธนบัตรปูให้ลูกเดินก็ไม่ปาน

หากมีอันจะกิน เป็นเศรษฐีมีธุรกิจร้อยล้านพันล้านก็ไม่เป็นไร แต่พ่อแม่ผู้ปกครองชนชั้นกลาง ฐานะปานกลาง หรือจะอัพเปอร์คลาสมาสักหน่อย ก็หนักถึงหนักมากนะครับ บางคนต้องประหยัดส่วนหนึ่ง เพื่อให้ลูกได้เล่นกอล์ฟ บางครอบครัวใช้การลงแรงตัวเอง serve ลูกทุกอย่างเป็นการลดต้นทุน

ผมเองก็เถอะ เพราะมีลูกสาวคนเดียว จึงพอจะ(บังคับ)ให้มันมาเล่นกอล์ฟเยาวชน ถ้ามีลูกหลายคน หมูกลมไม่ได้เล่นหรอก..กอล์ฟน่ะ  ผมไม่มีปัญญาหรอกครับ (แม้ยังพอจะได้ทุ่นไปบ้าง ด้วยอาชีพ ทำให้ได้”ของฟรี”บ้าง เช่นคูปองค่าฟีสนามให้ลูกออกรอบ ค่าโปรผมก็ไม่เสีย เพราะ โปร สิทธิศักดิ์ นันทเทอม ให้สกอลาร์ชิพลูกผม เป็นลูกศิษย์คนเดียวที่โปรนิดสอนให้ฟรี) ขนาดนั้นก็เห็นว่า ภรรยาหืดขึ้นคอปานใด กับการนับเงิน คำนวณเงินจ่ายเงินเป็นระวิงแค่ไหน เพื่อลูกเล่นกอล์ฟ

สมัยก่อนน่ะ ต่างจังหวัดยังรูดการ์ดปรื๊ดๆไม่กว้างไกลแบบยุคนี้ ต้องใช้เงินสด ขนาดลูกคนเดียว ผมยังต้องเบิกเงินสดเป็นหมื่น แทบทุกสัปดาห์ (ยังมีเงินสำรองอีกหมื่นต่างหากซุกไว้ที่เก๊ะรถกรณีฉุกเฉิน) เวลาลูกไปแข่งสนามต่างจังหวัด ด้วยมีรายจ่ายสารพัด น้ำมันรถก็ยังถูกกว่านี้ สมัยนี้คงเป็นสามสี่เท่าของเมื่อยี่สิบปีก่อนละมั๊ง วลีที่ว่า เอาเงินปูให้ลูกเล่นกอล์ฟก็ไม่ผิดหรอก

เชื่อว่าผู้ปกครองนักกอล์ฟหลายคนรู้ซึ้งถึงประสบการณ์นี้ ยิ่งมีลูกหลายคน ส่งเป็นนักกอล์ฟเยาวชนหมดทุกคน โอ้โฮ ทุ่มเทหัวใจสุด
ทำมาหากินตัวเป็นเกลียว ก็เทลงให้ลูกหมด ยอดคุณพ่อยอดคุณแม่จริงๆ

พ่อแม่ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชน ย่อมหวังความสำเร็จของลูก ทุ่มเทขนาดนี้ ลูกต้องเก่งที่สุด ต้องชนะ ต้องสะสมแต้มไปแข่งต่างประเทศ (พ่อแม่เหนื่อยสาหัสเป็นสองเท่า แต่ชื่นใจ)ต่อไปเทิร์นโปร พ่อแม่ก็สบายละ..นั่นคือเป้าหมายและความฝัน

แต่ความจริงก็คือ..พ่อแทบมักเป็นโรคหัวใจ เพราะเกมกอล์ฟของลูก ดีใจกับช็อตเด็ดของลูก เครียดโมโหกับลูกพลาดง่ายๆถึงลูกงี่เง่าของลูก โวยวายอยู่กับตัวเอง งอนลูกมั่งละ ผมเคยเห็นพ่อบางคน ต้องแอบตามพุ่มไม้ ไปทีละพุ่ม ดูเกมของลูก เพราะลูกห้ามเดินตามดูให้เห็น เพราะพ่อดูแล้วเครียด มีผลต่อเกม พ่อบางคน ต้องไกลรัศมีสายตาลูก แต่ตัวเองใช้กล้องส่องทางไกลดู แล้วก็ออกงิ้วโวยงาย พร้อมพากษ์ด้วยลั่นๆ  เช่น..เฮ้ยๆ ใช้เหล็กวางซิ่ อย่าสู้ โอ้ยๆ มันชักหัวไม้แล้ว..อาการต่อมาคือ ถอดหมวกขว้างกับพื้น เพราะช็อตนั้น ลูกตีตกน้ำ

ตอนนั้นไม่ขำหรอก แต่ตอนนี้ ผู้ปกครองนักกอล์ฟเยาวชนอ่านตรงนี้ คงอมยิ้มขำ..ของจริงทั้งนั้น

ความฝันกับความจริง ต่างกัน แต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าผิดหวัง สมหวัง ทุกอย่างล้วนเป็นรางวัลของชีวิต ยามเมื่อคิดย้อนหลัง..แล้วหัวเราะ พ่อแม่คนไหน ทำได้อย่างกู

บางทีผมอาจหัวเราะได้ เพราะวันเวลาผ่านมานับยี่สิบปีแล้ว แต่พ่อแม่นักกอล์ฟเยาวชนในปัจจุบัน อาจยังหัวเราะไม่ออกก็เถอะ

เป็นกำลังใจให้ครับ กับบรรดาพ่อแม่นักกอล์ฟเยาวชนทั้งหลาย สู้ๆ

ก้าวเดินริมสนาม ร้อนตับแตกไปกับลูกได้แล้ว ในฤดูกาลแข่งกอล์ฟเยาวชนช่วงปิดเทอมใหญ่นี้

ตัดคอลัมน์ตรงนี้ใส่กระเป๋ากอล์ฟลูกไว้ เวลาเครียดก็หยิบมาอ่าน จะได้อมยิ้มริมกรีน และไม่ซีเรียสกับลูกมากนัก

ยอดชาย ขันธะชวนะ