Interview

ธีรศักดิ์ ศรีสำราญ

ธีรศักดิ์ ศรีสำราญ
Executive Director
บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)
“ผมมีความสุข เมื่อคนรอบข้างตัวผมมีความสุข”

ได้ดีเพราะคุณแม่สนับสนุนให้เรียน : ผมมีพี่น้อง 6 คนและเป็นลูกคนสุดท้อง คุณแม่ผมไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสือเยอะ ท่านเป็นครูสอนภาษาจีนและรักการเรียนรู้มาก พยายามส่งให้ลูก ๆ ทุกคนเรียนให้สูงที่สุด ตอนเด็ก ๆ ผมเรียนที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ถือว่าอยู่ในกลุ่มเด็กเรียน แต่ก็ไม่ได้ขยันอะไรมาก ชอบทำตามเพื่อน ๆ เรียนพิเศษก็เรียน เล่นกีฬาก็เล่น กิจกรรมทั้งดีทั้งดื้อทำหมด คุณแม่สนับสนุนผมทุกครั้งและไม่เคยปฏิเสธผมเลยถ้าเกี่ยวกับการเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ได้ดีเพราะคนรอบตัว: ผมเองเป็นคนเฉย ๆ ยังไงก็ได้ สบาย ๆ โชคดีได้เพื่อนดี อยู่ในกลุ่มดี ขนาดตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อนยังไปกรอกใบสมัครให้ ผมมีหน้าที่ไปสอบอย่างเดียว จนสอบเทียบได้ ไม่ต้องเรียน ม.6 ตอนเรียนมัธยมก็ยังไม่รู้ชัด ๆ ว่าอยากจะเป็นอะไร คิดแค่ว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้คนรอบตัวโอเคร ครอบครัวสบาย ยุคก่อนปี 40 วิศวกร น่าจะดูเท่ กำลังบูม ดูน่าสนใจ พื้นฐานก็ชอบคำนวณ ชอบวิชาทางนี้อยู่แล้ว ส่วนหมอผมไม่ค่อยสนใจ เพราะเห็นคุณน้าเป็นหมอ ดูแล้วงานค่อนข้างเครียด ดึก ๆ ยังโดนตามตัวเลย

เรียนธรรมศาสตร์ : ตอนสอบก็ไม่ได้เตรียมตัวมาก เพื่อนไปติวก็ไปกับเขา จนมาติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (SIIT) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางบ้านสนับสนุนให้เรียนภาคภาษาอังกฤษ เพราะน่าจะดูมีอนาคตมากกว่า แต่ผมไม่เก่งภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าจะไปรอดมั้ย เพราะเท่าที่รู้ มีนักเรียนเข้าร่วมสี่ร้อย แต่จบแค่ร้อยนิด ๆ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเรียน

วิศวโยธา : สมัยนั้นวิศวโยธากำลังบูม คนเก่ง ๆ ก็เลือกเรียนกันหมดเลย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนทุนทั้งนั้น เวลาตัดเกรด ก็ต้องไปสู้กับคนเก่ง เราก็ต้องค่อย ๆ ขยับขึ้นมา เริ่มฟังภาษาอังกฤษได้มากขึ้น ส่วนเด็กที่มาจากเรียนอินเตอร์อยู่แล้วเขาฟังกันสบาย แต่วิชาคำนวณสำหรับเราไม่มีปัญหา ก็เลยเรียนแบบบาลานซ์กันไป

เตรียมเรียนต่อ : ช่วงปี 3 – 4 ผมทำรายงานเหมือนวิทยานิพนธ์เพื่อจบ ทำร่วมกับเพื่อนและรุ่นพี่ปริญญาโท เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบโครงสร้างให้ออกมาคุ้มค่าที่สุด เหมือนกับความคิดของคน ต้องอ่านตำราว่าสมองทำงานยังไง แล้วเลียนแบบ ตอนนั้นคอมพิวเตอร์ยังมีขนาดเท่าห้องย่อม ๆ และยังต้องรอคิวกันนาน พอได้ใช้ก็ปล่อยให้ประมวลผลไปอีกเป็นเดือน กว่าจะได้ผลลัพธ์ จากงานชิ้นนี้ อาจารย์ก็ชวนเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยฯ แต่ผมเป็นวิศวกรที่กลัวแดด กลัวร้อน ตอนฝึกงานกับรถไฟฟ้า เคยเดินตรวจงานกับเพื่อนรักตั้งแต่อ่อนนุช มาถึงอนุสาวรีย์ แล้วเดินต่อไปจตุจักร เดินกันทั้งวัน ถึงสนุกแต่ก็อยากมีวิธีที่เข้ากับตัวเองกว่านี้, ตอนเรียนจบ ก็ยังรู้สึกเรื่อย ๆ เฉย ๆ เหมือนเดิม ความที่เคยไปอเมริกา ก็อยากไปเรียนต่อที่โน่น จบปุ๊ปก็เลยไป แอลเอ เรียนภาษาก่อน ระหว่างรอรับปริญญา เพื่อจะสมัครเข้าเรียนต่อปริญญาโท

แผนเปลี่ยน : ผมบินกลับมาเพื่อรับปริญญา พอดีช่วงนั้นแม่สมัครเรียนโหราศาสตร์ไว้ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ท่านชอบศึกษา วันแรกแม่ไปสาย ต้องนั่งหลังห้อง, เจ้านายคนแรกในชีวิตผม เพิ่งกลับจากอเมริกา เป็นดอกเตอร์หนุ่ม พี่สาวเขาสมัครเรียนไว้เหมือนกัน แต่ไม่ว่างมา เลยให้น้องชายมาเรียนแทน มาสายเหมือนกัน เลยได้นั่งหลังห้องกับแม่ แล้วได้คุยกัน จนรู้ว่าผมเพิ่งเรียนจบจะไปเรียนต่อ จึงเอ่ยปากว่า ทำไมไม่ให้ทำงานก่อนสักพักแล้วค่อยไปเรียน แม่กับเขาคุยกันถูกคอ วันรุ่งขึ้นให้ผมไปสมัครงานด้วย ทำระหว่างรอไปเรียนก็ให้มาทำงานก่อน ทำไปทำมา สนุกกับงานตามประสาเด็กจบใหม่ พออีก 2 ปีก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ โดยพี่ที่เป็นเจ้านาย ช่วยเขียนจดหมายรับรอง ทำให้มีคนช่วยดูแลและได้ทุนเรียนอีกด้วย

บริหารธุรกิจ : ไปเรียนที่ IIT (Illinois Institute of Technology) เมืองชิคาโก้ มลรัฐอิลินอยส์ ไปถึงก็เกิดเหตุการณ์ 911 พอดี ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้สึกว่ามีผลกระทบเท่าไรนัก แต่คนทางเมืองไทยโทรไปสอบถามด้วยความเป็นห่วงกันตลอด ผมเลือกเรียนสาขานี้เพราะได้มุมมองที่เปลี่ยนไปจากเจ้านาย เพราะสุดท้ายปัญหามันไม่ได้ไปจบที่ด้านเทคนิค แต่ไปจบทางด้านการเงิน ด้านการบริหาร การตัดสินใจ อย่างเช่น ปัญหาด้านเทคนิค คล้ายกับ 1+1=2 เป็นเรื่องที่มีคนทำได้กันเยอะแยะ แต่งานด้านบริหาร 1+1 เท่ากับเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะมีทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ผมเป็นวิศวกรไม่เคยเรียนบัญชี ก็ต้องปรับตัวกันนิดนึง ไม่เคยลงรายการ เครดิต เดบิต ต้องไปเรียนพื้นฐานเพื่อให้เข้าใจก่อน แต่เรียนแล้วสนุก เพราะเป็นการทำงานกลุ่มมากกว่า มีทฤษฎีบ้างนิดหน่อย แต่ก็จริงอย่างที่เจ้านายว่าไว้ ถ้าไม่มีพื้นฐานในการทำงานไปเลย เราจะถกเถียงปัญหาสู้ฝรั่งไม่ได้ เป็นเรื่องประสบการณ์ล้วน ๆ

ทำงานเลี้ยงตัวเอง : ตอนไปเรียนพยายามจะรบกวนทางบ้านให้น้อยที่สุด นอกจากได้ทุนเรียนแล้ว ก็ยังได้ทำงาน เป็นผู้ช่วย ทำวิจัย (RA) ของอาจารย์ โดยทั่วไปหน้าที่นี้จะต้องทำงานสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ท่านเป็นนักวิจัย ให้เราไปหาข้อมูลมา เพื่อนำไปใช้ในงานวิจัยได้ อาจารย์บอกผมว่า ทำยังไงก็ได้ ขอให้มีงานส่ง ผมก็จะจัดเวลาทั้งวัน นั่งค้นข้อมูลไปเรื่อย ๆ ในห้องสมุด จนรู้จักกับบรรณารักษ์ เวลาไปก็มีขนมติดไม้ติดมือไปฝากกัน จนสนิทกันดี สมัยนั้นอินเตอร์เนทยังไม่รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ การค้นหาหนังสือเล่มที่เราต้องการว่าอยู่ที่ไหนต้องใช้ระบบห้องสมุดระหว่างมหาวิทยาลัย จากตอนเริ่มที่เคยใช้เวลา 20 ชั่วโมง หลัง ๆ ลดเหลือแค่ 2 ชั่วโมงก็เสร็จ ทำให้มีเวลาว่างเหลือไปทำงานอื่นได้อีก

อยากรู้ธุรกิจไหน ต้องเข้าไปทำงาน : ผู้จัดการร้าน เคยถามผมว่า จบปริญญาโท แล้วมาทำอะไรแบบนี้ ผมก็ตอบว่า มันเป็นรายได้พิเศษ และอยากฝึกทักษะ อยากมีร้าน อยากรู้ระบบว่าทำยังไง ตั้งแต่หลังบ้านจนถึงหน้าบ้าน
เคยมีบางสิ่งที่รู้สึกสงสัยว่า ทำไมฝรั่งถึงเก่งและทำงานมีระบบกว่าคนไทย ซึ่งก็ได้คำตอบด้วยตัวเอง อย่างแค่ผมไปเป็นพนักงานกดเครื่องขายเบอร์เกอร์ ดูเผิน ๆ เหมือนไม่มีอะไร น่าจะเป็นงานง่าย ๆ แต่จริง ๆ มีรายละเอียดเยอะมาก, 7 วันแรกเขาไม่ให้เราทำงานเองเลย ต้องมีผู้ช่วยคอยประกบสอนงานตลอด สอนจนกว่าเราจะทำงานเองได้ แล้วระหว่างคนขายด้วยกัน ก็ต้องแข่งขันกันทำยอดขาย เช่นถ้าใครสามารถทำให้ลูกค้าซื้อแบบขนาดใหญ่ (Up Size) ได้มากกว่า จะมีรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ ผมได้รางวัลเป็นเบอร์เกอร์ ได้ขนมกลับไปฝากบ้านแฟนทุกวัน จนหลานบอกเบื่อ (หัวเราะ)

อยากเริ่มธุรกิจ : ตอนนั้นคิดอยู่แล้วว่า ถ้าจะอยู่ต่อต้องมีธุรกิจเป็นของเราเอง คงไม่ไปทำงานในบริษัท เริ่มคิดจริงจังว่าอยากเปิดร้าน เคยคิดว่าจะหาเครื่องดื่มอะไรแปลก ๆ จากบ้านเรา ที่บ้านเขาในสมัยนั้นยังไม่มีไปขาย เพราะผมไปสังเกตว่า ฝรั่งชอบอะไรแปลก ๆ ที่เขาไม่เคยเห็น ซึ่งของบ้านเรามีเยอะมาก เช่น ชาชัก ที่ต้องมีกรรมวิธีการชง เหมือนการแสดงโชว์ ดูแล้วคงน่าสนใจ แต่ในที่สุดแผนทั้งหมดก็ต้องเปลี่ยน เพราะบ้านแฟนจะปรับปรุงโรงงานครั้งใหญ่ เลยต้องกลับมาช่วย และอีกเหตุผลคือคุณพ่อคุณแม่ของผมและของแฟนอายุก็เริ่มมากขึ้น ไม่อยากให้ท่านต้องลำบากบินไปบินมาเพื่อเยี่ยมเรา จึงตัดสินใจกลับ

บ้านเราดีกว่า : ที่นั่นดูเผิน ๆ เหมือนจะดีทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพความเป็นอยู่ของชีวิต ทำงานน้อยกว่า แต่ได้เยอะกว่า การเดินทางสะดวก วางแผนการทำงานได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดตรงที่ ห้ามป่วย ห้ามเจ็บ เพราะระบบการดูแลรักษา การพยาบาล ไม่เหมือนกับบ้านเราที่พอมีปัญหาอะไรก็เข้าไปรักษาได้เลย แต่ที่โน่นยุ่งยากกว่ามาก ต้องโอนย้ายกันหลายรอบ แล้วยังต้องมีหมอประจำ บางครั้งต้องรอนานมากกว่าจะได้รักษา จนรู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่น่ากังวลใจเหมือนกัน ยิ่งถ้าเริ่มสูงอายุ เรายิ่งจะคุมการเจ็บไข้ได้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้ จนได้ข้อสรุปว่าบ้านเราดีกว่าเยอะ ช่วงแรกกลับมาก็ช่วยงานบ้านแฟนเป็นหลัก เป็นเหมือนผู้จัดการฝ่ายการตลาด วิ่งออกหาลูกค้า ทำการตลาด จนได้ราวปีกว่า ๆ ก็มาปรึกษากันว่า เราน่าจะแยกกันโตดีกว่า เพราะแฟนน่าจะทำได้ โดยผมคอยช่วยอยู่ข้างนอก

ทำงานเลขา : เป็นงานที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าตัวเองจะได้ทำ แล้วจะทำได้ด้วย โชคดีที่เจ้านายเป็นผู้ใหญ่ ที่ให้โอกาสกับผม แต่แรก ๆ ก็กดดันจนร้องไห้ เพราะเราเป็นเด็กแต่ต้องทำงานกับผู้ใหญ่ ต้องเรียนรู้งานอยู่ระยะหนึ่ง เคยโดนตำหนิจนท้อ อยากจะลาออก ก็ต้องค่อย ๆ ปรับตัว เหมือนกับเรากำลังถูกทดสอบด้วยบทเรียนต่าง ๆ จนคิดว่าท่านคงให้ความไว้วางใจเราแล้ว ถึงให้ทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัว ตอนหลังท่านให้ทำแทนเกือบทุกอย่าง

บทเรียนสำคัญ : การทำงานเลขา เหมือนกับใครก็ไม่รู้ ส่งให้ผมไปเรียนอะไรก็ไม่รู้ ที่ไม่รู้จะได้ใช้เมื่อไหร่ แต่พอออกมาทำงานจริง ๆ กลายเป็นว่า พวกที่ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ กลายเป็นสิ่งที่เราได้ใช้ การเข้าหาผู้ใหญ่ การดูแลคน ผมคุยได้ตั้งแต่ขอทานจนถึงรัฐมนตรี รู้ว่าอะไรเป็นยังไง เชื่อมเรื่องราวได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีในตำรา ในหนังสือเล่มไหนก็ไม่มี เรียนบริหารมาก็ไม่เคยมีสอนว่าต้องทำแบบไหน ทั้งหมดนี้มาจากประสบการณ์ล้วน ๆ

เพื่อน นำมาซึ่งความสำเร็จ : เจ้านายสอนผมว่า คนเราถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จ ต้องมีอยู่สามคำ นั่นคือ 1. เพื่อน 2. ก็เพื่อน และ 3. ก็ยังเป็นเพื่อน เพราะคำนี้จะทำให้เรื่องทุกเรื่อง จากยากเป็นง่าย จากไม่ได้เป็นได้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องจริงตามที่ท่านสอนไว้ แล้วผมก็จดจำคำสอนนี้จนขึ้นใจมาตลอด

เปลี่ยนงานอีกครั้ง : ชีวิตผมค่อย ๆ โตขึ้นตามจังหวะ เหมือนมีใครคอยช่วยจัดฉาก ผมเชื่อว่า ผมไม่ได้เป็นคนเก่งอะไร แต่มีบางอย่างมาคอยสนับสนุน ตัวช่วยและคนที่ใช่มักจะมาในช่วงเวลาที่เหมาะ และในจังหวะที่ใช่ลงตัวพอดี จากงานเลขา ก็ได้มีโอกาสมาทำงานเป็นที่ปรึกษาทางด้าน งานวิศวกรรมและการบริหารโครงการ ตามที่ได้เรียนมา ที่บริษัททีมฯ และผู้ใหญ่ที่บริษัท ทีมฯ ให้โอกาส และคอยสนับสนุน หน้าที่ของเราคือ เป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการใหญ่ ๆ ดูความคุ้มทุน ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของความเหมาะสม เพื่อเสนอให้กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่นการย้ายโรงงานขนาดใหญ่จากในตัวเมืองออกไปนอกเมือง จะทำอย่างไรให้มีปัญหาน้อยที่สุด ทั้งกับการผลิต สิ่งแวดล้อม งบประมาณ ฯลฯ

เก่งงาน ต้องเก่งจัดการด้วย : พอเจ้านายให้โอกาส ผมก็สนุกกับงาน ทำไปเรื่อย ๆ จากเป็นผู้ประสานงานโครงการ, ผู้จัดการโครงการ, ผู้อำนวยการโครงการ, และมาสู่เป็น กรรมบริหาร … เจ้านายบอกว่า นอกจากเก่งงานแล้วยังต้องเก่งคน เก่งการจัดการด้วย ทำงานมาสักระยะ จนผมสร้างน้อง ๆ ให้มาทำงานแทนได้ เจ้านายก็ให้โอกาสขยับขึ้นไปทำงานใหญ่ขึ้น ตอนนี้ดูแลงานก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยภาพรวมแล้วผมโชคดี ที่มีคนให้โอกาสเป็นช่วง ๆ แล้วเราก็เข้าไปจังหวะนั้นพอดีแล้วทำได้ ทำให้เติบโตเป็นลำดับขึ้นไป

ความภาคภูมิใจ : กลุ่มคนที่ทำงานลักษณะนี้ เมื่อได้เห็นผลงานที่ตัวเองออกแบบ ได้สร้าง หรือมีส่วนร่วม จะรู้สึกภาคภูมิใจ โดยเฉพาะเมื่อได้พูดคุยกันถึงผลงานที่ผ่านมาอดีต จะทำให้เกิดความสนุกกับเนื้องาน อยากทำงาน และอยากสร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อไปเรื่อยๆ ความตั้งใจนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำโดยไม่มีใครต้องมาบังคับ กฎ ระเบียบ วินัย เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ขับเคลื่อนผลงาน เพราะคำว่าความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในใจเสมอ กฎ ระเบียบ วินัย ก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แล้วยังเป็นการบังคับกันด้วย, ผมคิดว่าเมื่อคนเรามีความสนุกกับการทำงาน เขาจะมีความรับผิดชอบกับงานด้วยตัวเอง เราแทบไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับเขาเลย เขาจะทำทุกอย่างได้เอง เราในฐานะรุ่นพี่เพียงแค่ประคองให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล หลีกเลี่ยงการลงโทษ เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์กล้าทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เราก็ต้องดูแล สนับสนุนให้เต็มที่ หน้าที่ของเราคือ ต้องทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ มีส่วนร่วมในโอกาสที่ได้มา และเมื่องานเสร็จ เขาจะมีความภาคภูมิใจในผลงานที่เขาได้คิดและลงมือทำมาด้วยตัวเขาเอง อย่างเช่นถ้าเป็นสิ่งก่อสร้าง เมื่อเขาเห็นทีไร ก็จะระลึกถึงอยู่เสมอว่าตัวเองเคยมีส่วนร่วมในความสำเร็จ เอาไว้เล่าให้ลูก ๆ ฟังได้ว่าพ่อเคยสร้างสิ่งนี้มา

อยากช่วยอยู่เบื้องหลัง : ถึงแม้หน้าที่ความรับผิดชอบจะมากขึ้น แต่ผมก็ไม่อยากมีตำแหน่งสูง ๆ อะไรเลย ยังรู้สึกสนุกกับงาน มีอะไรให้คิดตลอด ขอเจ้านายไม่รับตำแหน่ง ขออยู่ข้างล่าง คอยทำงานสนับสนุน ใครจะให้ทำอะไรขอให้บอก ยินดีช่วยเหลือเต็มที่ เพราะถ้าจะขึ้น ต้องขึ้นไปด้วยกัน ไปพร้อม ๆ กัน ยิ่งถ้าขึ้นไปคนเดียว แล้วต้องไปนั่งเครียด ผมไม่สนุกกับอะไรแบบนั้นแน่นอน ขออยู่เฮฮากับคนรอบข้างดีกว่า

ที่พึ่งทางใจ : ผมโตขึ้นมากับบ้านที่ชอบทำบุญ คุณแม่มักจะพาขึ้นรถตู้ไปงานกฐิน ทำบุญ โตกับมาหลวงพ่อ ไปไหนมาไหนกับวัดจนเป็นเรื่องปกติ ไปต่างประเทศกับคณะแสวงบุญก็นอนที่วัด ทำให้คุ้นเคยเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนไม่ได้ปฏิบัติอะไรเยอะแยะ แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งขึ้นไปปฏิบัติธรรมที่เชียงใหม่กับภรรยา แล้วรู้สึกว่า พระท่านให้มุมมองในการสอน ให้แง่คิดดี จนรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมไม่ได้ยาก เป็นการนั่งสบาย ๆ ทำตัวให้ผ่อนคลาย เหมือนกับได้เอาขยะออกจากหัว ได้ทำวันละนิดหน่อยก็รู้สึกสบายใจ ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่นการรักษาศีล ทำบุญ ทำทาน อ่านหนังสือธรรมะ ก็ทำเรื่อย ๆ อยู่บ้างแล้ว ยิ่งเวลาที่รู้สึกเครียด หรือมีความกดดันมาก ๆ ก็จะเข้าห้องพระ หลับตานั่งสมาธิ แค่สักครู่เดียวทุกอย่างก็ดีขึ้นแล้ว

กิจกรรมยามว่าง : ครอบครัวเราชอบทำอยู่ 2 อย่าง คือไปวัดที่ไหนก็ได้ ที่รู้สึกว่าสะดวก สะอาด มีระเบียบ ยิ่งไม่มีหมายิ่งดี ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า หมากับวัด อาจจะเป็นของคู่กัน (หัวเราะ) เพราะเคยนั่งสมาธิที่วัดแล้วลืมตามาเจอหมา จนรู้สึกกลัว เลยคิดว่าถ้าไม่มีจะดีกว่า เพราะถ้าร่างกายยังไม่สบาย รู้สึกกังวล จะให้ไปนั่งสมาธิก็ได้แค่แป๊ปเดียว ส่วนอีกเรื่องที่ชอบทำคือ พากันไปหาของกินอร่อย ๆ

เป้าหมายชีวิต : เวลาที่ถูกถามว่าเป้าหมายชีวิตคืออะไร ผมไม่เคยตอบได้ชัดเจนเลย แต่ถ้าเป็นการกระทำแล้ว ผมมีความสุข เมื่อคนรอบข้างตัวผมมีความสุข อย่างตอนเด็ก ๆ คุณแม่ พี่ ๆ อยากให้เรียนได้รางวัล ผมก็ตั้งใจเรียน เขาอยากเห็นเราเป็นคนแบบไหน ก็ทำแบบนั้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่สมควรทำอยู่แล้ว ฉะนั้น ผมพร้อมจะทำอะไรก็ได้ เพื่อให้คนรอบตัว เพื่อคนที่เรารักมีความสุข ขอให้เอ่ยมา ผมทำให้ทันที แค่เห็นรอยยิ้มของเขา ผมก็มีความสุขแล้ว ผมว่าเนี่ยแหละ ความสุขในสไตล์ ของผม ธีรศักดิ์ ศรีสำราญ ครับ.