What Ever

วิกฤตวัยกลางคน กับ เศรษฐกิจพอเพียง

หลายคนคงเคยรู้สึกถึงความอยากเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต อยากเปลี่ยนแปลงในทุกๆเรื่อง รู้เบื่อกับสิ่งที่ทำอยู่ไม่ว่าจะเป็นการงาน การใช้ชีวิตประจำวัน รู้สึกหมดไฟในการทำงาน แม้จะมีเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ดีเพียงใด ซึ่งนั่นอาจเป็นอาการของ “วิกฤตวัยกลางคน”

มันเป็นเรื่องของสภาพจิตใจล้วนๆเมื่อมาถึงช่วงวัยระหว่าง 35-50 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยกลางคน หลายคนเรียนจบเมื่ออายุได้ 20 กว่าๆ ก็ก้มหน้าก้มตาทำงานมาจนวัยล่วงเลย ตื่นเช้ามาในอีกวันพบว่าตัวเองวัยล่วงเลยจนถึงหลัก 4 เป็นที่เรียบร้อย แต่ชิวิตก็ยังคงเหมือนเดิมในทุกๆวัน ทำให้เกิดความคิดในการเปรียบเทียบ ประเมิน ทบทวนในชีวิตที่ผ่านมาอย่างจริงจังในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านการงาน ชีวิตคู่ ความสุขในชีวิต หรือเรื่องอื่นๆ

วิกฤตวัยกลางคน หรือ ช่วงเปลี่ยนผ่านวัยกลางคน ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “midlife crisis” หลายคนมักนึกถึงการที่ผู้ใหญ่วัยกลางคนเกิดลุกมาทำอะไรแบบไม่คาดฝัน เช่น หย่าร้าง มีกิ๊ก ลาออกจากงาน ประจำไปเปิดร้านกาแฟ ทำไร่ทำสวน หรือเอาเงินเก็บทั้งหมดไปซื้อมอเตอร์ไซด์คันใหญ่ขี่เที่ยวไปทั่ว

สิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ วิกฤตวัยกลางคนนั้นไม่ใช่โรค และไม่ใช่ความผิดปกติ  แต่เป็นสิ่งปกติที่พบได้ในคนวัยนี้ แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาการระดับที่ควรจะเรียกว่า “วิกฤต” บางครั้งก็จะใช้คำว่า “ช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยกลางคน” มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่อาจทำอะไรหุนหันพลันแล่นจนสร้างปัญหาให้กับชีวิตหรือเกิดโรคซึมเศร้า

สิ่งที่ควรสังเกตตัวเองคือ คุณจะมีความคิดที่สับสนกับชีวิต รู้สึกไม่พอใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ชีวิตคู่ ที่อยู่อาศัย หรือสุขภาพ และตามมาด้วยความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงในด้านของอารมณ์ คือ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย หรือซึมเศร้า โดยในคนที่เป็นมากมักจะแสดงออกให้เห็นชัด ผ่านการกระทำที่รุนแรง และกะทันหัน เช่น ไม่มีความสุขกับการทำงานประจำที่รับเงินเดือนเรือนหมื่นเรือนแสน ว่าแล้วก็ลาออกจากงานประจำมาเปิดร้านกาแฟ หรือทำสวนทำไร หรือ คิดว่าคู่ชีวิตของตอนนี้ไม่มีความสุขแล้วก็ขอหย่า เป็นต้น

เมื่อเข้าใจแล้วว่าวิกฤตวัยกลางคนคืออะไรกันแล้ว คราวนี้มาดูแนวทางป้องกันหรือต้องทำอย่างไรไม่ให้มันกลายเป็น “วิกฤตในชีวิต” เราไปจริงๆ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ปรึกษาผู้อื่นเสมอในเรื่องที่สำคัญ เพราะการที่เราอยากจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องผิด อาจเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่ที่ทำให้เกิดปัญหาคือการตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต เช่น หย่า ลาออกจากงานประจำ ใช้เงินจำนวนมาก การปรึกษาคนสนิท จะช่วยให้เรามองเห็นว่า สิ่งที่เราจะทำมันสมเหตุสมผลแค่ไหน เพื่อที่จะลดโอกาสที่จะตัดสินใจผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด

การออกกำลังกายก็เป็นอีกทางที่จะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล อีกทั้งยังทำให้สุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเป็นโรคซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี ยิ่งวัยนี้เป็นวัยที่ ตามธรรมชาติสุขภาพจะเริ่มเสื่อมลง และเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย การออกกำลังกายจึงเป็นเรื่องสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก

หากิจกรรมทำทดแทน เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่เราเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่ทำงานยกตัวอย่างเช่น ปกติเราดูแลลูกอยู่ตลอด แต่ลูกไปเรียนต่อในที่ไกลๆ ดังนั้น จึงต้องหากิจกรรมอื่นทำทดแทนงานเดิม เพื่อไม่ให้เบื่อและเศร้า โดยกิจกรรมนั้นอาจจะเป็นการออกกำลังกาย การไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง การเข้าร่วมชมรมต่างๆ หรือทำงานการกุศล เป็นต้น

วิกฤตวัยกลางคน หรือการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยกลางคน เป็นภาวะปกติที่พบได้ในคนวัยผู้ใหญ่ทั่วไป การเข้าใจถึงสภาวะนี้และวิธีปฏิบัติตัวจะช่วยให้ “วิกฤตวัยกลางคน” ไม่กลายเป็น “วิกฤต” จริงๆ และทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขสืบเนื่องต่อไป

ด้วยเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นที่นิยมกันมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีคนลาออกจากการทำงานประจำกันมากโข เพื่อที่จะนำพาตัวเองออกจากเมืองใหญ่ มุ่งหน้าสู่อาชีพเกษตรกรรมแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสแก่ชาวไทยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา และถูกพูดถึงอย่างชัดเจนในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและทุกประเทศในโลกใบนี้ โดยมีการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่ยึดหลักทางสายกลาง ที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนในทุกระดับให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง

รวมไปถึง “ทฤษฎีใหม่” เป็นแนวทางหรือหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบาก ให้สามารถผ่านช่วงวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก

อัตราส่วนการจัดสรรที่ดินแบบทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำหริ เศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ การแบ่งที่ดินเป็น 4 ส่วนพื้นที่ประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้สม่ำเสมอตลอดปี พื้นที่ประมาณ 30 % ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี อีก 30 % ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ อย่างผสมผสานกัน และหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทาง

นี่เป็นแบบอย่างที่คนส่วนใหญ่นำมาเป็นต้นแบบ และปรับใช้นการเริ่มต้นชีวิตเกษตรกร แต่บอกเลยว่าไม่ง่าน คนที่ทำได้สำเร็จมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ โด่งดังในโซเชียลให้เราได้เห็น และมีความอยากที่จะออกมาเผชิญโลกกว้างแบบนั้นบ้าง แต่ส่วนมากกว่าคนที่สำเร็จก็คือคนที่ต้องม้วนเสื่อหันหน้ากลับมาหางานในเมืองกันอีกรอบ ส่วนนี้มีจำนวนที่มากกว่ากลุ่มที่สำเร็จหลายเท่านัก แค่ไม่เป็นข่าวให้เราได้รับรู้กัน

แต่หลายคนก็มาสะท้อนมุมมองไว้ในหลายๆข้อด้วยกันว่าหากไม่ใช่ไม่พร้อมอย่าถึงขั้นต้องลาออกจากงานประจำเลย สรุปได้ใจความสำคัญของการจะเผชิญโลกเกษตรกร สำคัญที่สุดคือเรื่องของที่ดิน และเงินทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด เงินทุนสำรองเป็นเรื่องสำคัญมากๆ การทำการเกษตรเราไม่สามารถมีรายรับที่แน่นอนเหมือนตอนเป็นพนักงานประจำที่เราสามารถวางแผนการเงินทุกอย่างได้ รายจ่ายก็เช่นกัน

ภาระหนี้สินก็เป็นอีกส่วนที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก หากยังมีหนี้สินก้อนใหญ่อยู่ก็ยังไม่ควรที่จะเบนเข็มในช่วงนั้นควรยืดระยะเวลาออกไปก่อน เก็บสะสมเงินทุนและประสบการณ์ไปเรื่อยๆน่าจะดีที่สุด

จิตใจที่รักในการทำการเกษตร มีวินัย ความอดทน ระเบียบวินัยสูง ที่สำคัญร่างกายต้องพร้อม สามารถสู้งานหนักได้ ใครคิดว่าจะมาทำหลังเกษียณอายุแล้วนี่เลิกพูดได้เลย ยิ่งอายุมากร่างกายยิ่งถดถอย ออกไปอยู่ไกลแหล่งชุมชนและ สถานพยาบาลไม่คุ้มค่าด้วยประการทั้งปวง

ความรู้เรื่องของการเกษตรเป็นสิ่งสำคัญมากคนที่สำเร็จและทำมาแล้ว คือเรียนรู้อยู่ก่อนตอนเป็นพนักงานประจำ ด้วยการอบรม ศึกษาหาข้อมูลสิ่งที่อยากทำ ลงมือทำในสิ่งเหล่านั้นมาแล้วในช่วงวันหยุด

เป็นมนุษย์สังคม งงใช่มั้ยครับออกจากเมืองไปทำเกษตรทำไมต้องเป็นมนุษย์สังคม ก็ตอนขายไงครับต้องรวมกลุ่ม มีสังคมในกลุ่มเกษตรกรด้วยกัน อีกทั้งยังต้องเปิดโลกรับรู้ความเคลื่อนไหวเทคโนโลยีใหม่ๆที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง สำคัญสุดความคิดต้องหลักแหลม ปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้เกิดประโยชน์ ความคิดสร้างสรรต้องมา การตลาดต้องเป็นต้องแต่ขายตามตลาดไปจนออนไลน์ขายทั่วประเทศ ปิดท้ายด้วยการเป็นนักวางแผน มีแผนการในทุกระยะ ทำบัญชีรายงานอย่างครบถ้วนด้วยความมีระเบียบวินัย ซึ่งนี่คือความสุขสำหรับคนที่รักที่ชอบในวิถีชนบท แต่จะกี่คนที่ทำได้สำเร็จ