เป็นพ่อแม่ลำบาก..ก็อย่ามีลูกเลย
ทัศนคติของคนไทย นับแต่บรรพบุรุษ เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องสร้างครอบครัว
คนแก่คนเฒ่า มันจะเปรียบ คนที่เมื่อถึงวัยอันควรแต่งงาน แต่ไม่แต่ง..ผู้ชายก็ว่า พวกลอยชาย ทำตัวเป็นพ่อพวงมาลัย ไม่รู้จักลงหลักปักฐาน
ถ้าเป็นผู้หญิงก็..ระวังเถอะ จะขึ้นคาน หาผัวไม่ได้
พอแต่งงานต้องมีลูก เป็นโซ่ทองคล้องใจ คนเป็นปู่ย่า คาดคั้น อยากอุ้มหลาน สถาบันครอบครัวจะได้ครบ
พ่อแม่ลูก พ่อแม่ฟูมฟักเลี้ยงลูกด้วยความรัก ด้วยเป็นทายาทหน่อเนื้อสืบสกุล และคาดหวังว่า ยามแก่เฒ่าจะมีลูกมีความกตัญญูคอยเลี้ยงดู
..นี่น่าจะเป็น “สูตรสำเร็จ” ในความหวังปรารถนาที่ส่งทอดกันมาในทุกรุ่นเจนเนอเรชั่น
แต่โลกนี้ ไม่ได้มีแต่มุมบวก เส้นทางแห่งความสมหวัง..ชีวิตจริง มีปัจจัยมากมาย ที่ทำให้ชีวิตผิดหวัง เป็นมุมลบ
ไอ้มุมลบนี่แหละ มันดันเป็นรูปธรรม ประสบจริงเจอจริง ในช่วงเวลาต่างๆของชีวิตเสียด้วย
พ่อแม่เยอะเลย ที่มีลูก เชื่อว่า “เป็นการลงทุน” ที่ เมื่อยามแก่เฒ่า ตัวเองจะได้นั่งบนบ่า ให้ลูกแบกรับด้วยยันต์อันศักดิ์สิทธิ์..พระคุณพ่อแม่ แผ่ไพศาลต้องกตัญญู
เรื่องจริงในอดีต ประเทศจีนยากจนข้นแค้นสาหัส พ่อแม่ต้องขายลูกกิน เรื่องจริงใกล้ตัวบ้านเราก็เห็นๆ ..ลูกสาวมาทำงานบริการ ตรากตรำชีวิตขายนาผืนน้อย เพื่อส่งเงินให้พ่อแม่ มีบ้านมีนาผืนใหญ่ เป็นหน้าเป็นตาในสังคมตำบล
ชีวิตจริง ลูกเลวก็มาก ทำเรื่องสารพัดที่ทำให้ พ่อแม่เดือดร้อน เป็นทุกข์ ..ลูกอกตัญญู บาปหนา
ก็มียันต์อีกชิ้นที่ “ขู่”ไว้ ลูกที่ทำกรรมกับพ่อแม่อย่างไร มันต้องเจอเป็นสิบเท่าที่ลูกมันจะทำกับมัน ไม่ทันชาตินี้ก็ชาติหน้า
โอมาร์ คัยยัม นักปรัชญาชาวเลบานอน เขียนใน คัมคีร์รุไบยาต ว่า..ลูกมาจากเรา แต่ไม่ใช่ของเรา..
เป็นปรัชญาที่ สั้นๆ แต่ชัดเจนที่สุด ..มาจากเราที่เป็นพ่อแม่ ในวัยเด็กของเขา ยังเป็นของเรา แต่พอโตขึ้น เขาก็ไม่ใช่ของเรา ชีวิตเขาเป็นของเขาเอง
ในสังคมตะวันตก ชัดเจนมาก ในช่วงยุค60-70 คนหนุ่มสาวยุคนั้น ประการแสวงหาความเป็น free man เสรีชนแห่งตนว่า .. ลูกคือผลผลิตจากความกระสันทางกามของพ่อแม่ อันเป็นกลไกสืบพันธ์ทางธรรมชาติ เพียงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางอารมณ์ ความสุข ความรักในช่วงหนึ่งของชีวิต
ดังนั้น ความกตัญญูไม่ใช่ประเด็น ไม่มี ก็ไม่ผิด สามารถเดินออกมาจากชีวิตกันและกันได้ ผูกพันเพียงสายเลือดที่รู้จักกันดีเท่านั้น
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้จาก ประสบการณ์ความเป็นพ่อของพระองค์เอง ทรงตั้งชื่อพระโอรสว่า..ราหูล ..ห่วง
ห่วงแห่งความห่วงสารพัด ทั้งห่วงรัก ห่วงปรารถนา ห่วงกรรม ห่วงทุกข์ ที่คล้องผูกคอพ่อแม่ นับแต่วันที่มีลูก
คนเราส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยนำปรัชญาแห่งความเป็นจริง สองพันห้าร้อยกว่าปีของพระพุทธเจ้า มาสร้างปัญญา เนื่องจาก “พลังขับ”สัญชาตญาณธรรมชาติ สัตว์โลกต้องสืบพันธุ์ นั้นรุนแรงกว่า
เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว คุณมีไชย วีระไวทยะ ทำแคมเปญ..ลูกมากจะยากจน
ครั้งกระโน้น ประเทศไทยมีประชากร 25 ล้านคน ถึงวันนี้ ปาเข้าไป 66 ล้านคน ..แผ่นดินเท่าเดิม..แต่คนงอกยุ่บ
กลายเป็นว่า กลุ่มคนที่เข้าใจปรัญชา..ลูกคือห่วง ของพระพุทธเจ้า /ลูกมากจะยากจนของ คุณมีไชย กลับเป็น กลุ่มคนที่ educated มีความรู้ มีทัศนะมองโลกเลยยาวออกไป ไม่คิดมีลูก สถานะครอบครัว คือ ผัวเมีย คู่ชีวิตร่วมประสบการณ์รสนิยมเดียวกัน เพื่อเป็นเพื่อนกันไปจนตาย..ไม่จำเป็นต้องมีโซ่ทองคล่องใจ หรือ ห่วงผูกคอ คือ..ลูก
มีลูก ก็ต้องทุ่มทุกอย่างให้ลูก จนมันโต เราแก่เฒ่า ดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่ ผิดหวังก็ทุกข์แล้ว
ถือว่าเป็นการลงทุนที่ขาดทุนทั้งชีวิต แล้วจะทำไมต้องเอาตัวไปเสี่ยงกับขาดทุนล่ะวะ
ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะ ทุกข์แห่งการมีห่วง มีมากขึ้นทุกที ในวิถีโลกใบใหม่ที่ต้องเผชิญหน้า
คนเป็นพ่อแม่มากมายหลายล้าน รำพันร่ำไห้ ข้างหน้าก็อ้างว้างเหลือเกิน
ตกงาน จะเอาเงินที่ไหนให้ลูกเรียน /ลูกมันเห็นเพื่อน เด็กแว๊น เด็กพี้ยา/ เป็นทาสเกม โซเชียล ดีกว่าพ่อแม่ ฯลฯ สารพัดมากมายที่เป็น ทุกข์ห่วงผูกคอพ่อแม่ ที่ยากจนลง
ยิ่งวันนี้ พรุ่งนี้ ลูกวัยรุ่น วัยเรียน ตั้งแต่เด็กประถมปลาย มัธยมต้น ยันนักศึกษา ที่ยังไม่จบ หางานทำทำไม่ได้สักบาท คิดว่า การออกมารวมพลัง แสดงการต่อต้านรัฐบาล ขับไล่รัฐบาลเผด็จการ ต้องจบในยุคนี้ ..คือ หน้าที่อันใหญ่หลวงของตน ไม่ทำไม่ได้แล้ว..อายเพื่อน
เชื่อ “คนอื่น”ที่เป็นไอดอล มากกว่า เชื่อพ่อแม่ ที่เห็นตัวอย่าง..ลูกสร้างความฉิบหายมาเยือนได้ ดังเหตุ เกาะฮ่องกงพินาศ
บางที วันนี้ พ่อแม่จะนึกเสียใจ ที่ไม่ศรัทธาในคำตรัสของพระพุทธเจ้า
หรือ คนรุ่นใหม่ ต้องคิด ไม่มีลูก เสียนับแต่วันนี้ ไปเลย ทำหมันถาวร สถาบันครอบครัวไม่จำเป็นแล้วกับโลกยุคใหม่
จะได้ไม่มี โซ่ห่วงอะไร มารัดคอ ให้ช้ำชอกใจ
จะไม่ต้องกลัว”รับกรรม” ที่ทำกับพ่อแม่ไว้เป็นสิบเท่า ไงล่ะ
ยอดทอง