Interview

“..กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ..” ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน

ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน
ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
“กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ”

จุดเริ่มต้นของผมคือครูพลศึกษา จบ ปกศ.สูง ที่วิทยาลัยพลศึกษา ชลบุรี จบปริญญาตรี ที่ มศว.พลศึกษา จบปริญญาโท คณะพลศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2532 และปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม รัฐประศาสนศาสตร์ เรื่องบริหารนโยบายสาธารณะ เมื่อปี 2555

ช่วงที่เล่นเยอะๆ ไม่ได้ค่อยมีโอกาสเรียนก็มีปรัชญาของตัวเองว่า ตอนเรียนไม่ต้องเอาเกียรตินิยม แต่ตอนทำงานต้องได้เกียรตินิยม ซึ่งจะสวนทางกับคนอื่นๆ ที่ต้องการเรียนให้ดีก่อนไปทำงาน แต่ขณะที่เรายังชอบเล่น ก็ขอเล่นให้ได้เกียรตินิยม เรื่องเรียนก็ค่อยๆ ประคองไป

จากครูพลศึกษาสอนฟุตบอลโดยตรง เล่นในสโมสรราชประชา เป็นนักกีฬาทีมชาติ ประสบการณ์เหล่านี้ได้ถูกนำมาหล่อหลอมรวมกันเพื่อหาคำตอบว่า ทำอย่างไรถึงจะสอนฟุตบอลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในเมืองไทยครูกับโค้ชเหมือนกับเป็นคนๆ เดียวกัน กลางวันสอนหนังสือ หลังเลิกเรียนถึงได้ซ้อม สอนอยู่ที่วิทยาลัยพลศึกษากระบี่ สี่ปี ย้ายมาอยู่วิทยาลัยพลศึกษากรุงเทพ ทั้งสอนทั้งโค้ช ผลงานสำคัญคือคุมทีมฟุตบอลได้แชมป์หลายรายการ จนเมื่อสมาคมฟุตบอล ดึงตัวเข้าไปเป็นสตาฟ เริ่มคุมทีมเยาวชนฟุตบอลทีมชาติ และได้คุมทีมเยาวชนของสโมสรราชประชา หน้าที่หลักคือครูและโค้ช ยังไม่เคยได้มองการทำงานในมุมด้านบริหารเลย จนกระทั่งมาทำทีมให้กับสโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย ได้แชมป์เอเชี่ยนแชมเปี้ยนคัพสองสมัย (ปัจจุบันคือ เอเอฟซี แชมเปี้ยนลีค) และได้แชมป์แอฟโร่เอเชี่ยนคัพ เป็นรายการชิงแชมป์ระหว่างสโมสรของเอเชียกับอาฟริกาอีกหนึ่งสมัย จนได้รับรางวัลโค้ชยอดเยี่ยมเอเชียเมื่อปี 2537 จากผลงานในระดับสโมสร นับเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตการเป็นโค้ช ส่วนในระดับชาติก็มีเช่น ชุดเยาวชนโลกอายุ 17 ปี ที่อียิปต์, ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, ทีมชาติชุดใหญ่ ฯลฯ รวมถึงทีมฟุตบอลหญิง ชุดชิงแชมป์โลกล่าสุดที่แคนาดา อีกด้วย

ผู้บริหารเคยได้มาคุยถึงงานแล้วสอบถามว่าอิ่มตัวรึยังที่จะทำอาชีพครูอาจารย์หรือโค้ช เตรียมตัวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้ไหม เมื่อรับปากกับท่านแล้ว งานเดิมที่ทำก็ต้องเบาลงไป จุดแรกที่เปลี่ยนแปลงคือ ขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา ได้ทำงานอบรมโค้ชทั่วประเทศ โดยเฉพาะฟุตบอล โค้ชที่จบหลักสูตรประกาศนียบัตรการฝึกสอนของ เอเอฟซี ทุกระดับ ทั้งของสมาคมฯ กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมแล้วทั่วประเทศน่าจะมีราว 5-6 พันคน ช่วยกันดูแลทีมฟุตบอลในแต่ละลีค และยังได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้การอบรมของสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย, สมาคมฟุตบอล, กระทรวงฯ ในนามของกรมพลศึกษาอีกด้วย

หลังจากนั้นได้ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อดูแลบริหารจัดการให้นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ ทั้งเรื่องของโภชนาการ ฟิตเนส แบบทดสอบต่างๆ จิตวิทยา ไบโอแมคคานิค ฯลฯ จุดประสงค์โดยรวมก็คือ ทำอย่างไรให้คนนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา ไปดูแลรักษาสุขภาพตัวเอง ขณะที่นักกีฬาก็สามารถนำไปพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองให้สูงยิ่งๆ ขึ้น เพื่อความเป็นเลิศกับอาชีพในอนาคต จนกระทั่งได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมพลศึกษา ซึ่งเป็นการดูแลงานกรมฯ ทั้งระบบ และปัจจุบันก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ชีวิตของผมจะอยู่กับฟุตบอลมาโดยตลอด ได้มีโอกาสรู้จักกับกอล์ฟครั้งแรกเมื่อมีกีฬากระทรวงฯ ตอนนั้นกรมพลศึกษายังอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ แล้วกรมพลจะต้องส่งทีมกอล์ฟเข้าร่วมแข่งขัน แต่ปรากฏว่าทั้งกรมฯ มีอธิบดีกับรองฯ แค่สองคนที่เล่นกอล์ฟ คนอื่นไม่มีใครเล่นเป็นเลย ท่านรองฯ ทรงสวัสดิ์ ไวชมภู ก็ให้ความกรุณาสอนกอล์ฟกับพวกเราเป็นรุ่นแรก ตอนนั้นก็มีผม ซึ่งเป็นนักฟุตบอล, อาจารย์กระแสร์ แสนวิเศษ นักเทนนิส และ อาจารย์วีระ กัจฉปคีรินทร์ นักฮ้อคกี้ จะได้มีคนเล่นกอล์ฟครบก๊วน เพื่อส่งทีมเข้าร่วมกีฬากระทรวงฯ ซ้อมกันได้สัปดาห์เดียวก็เข้าแข่งเลย ผลการแข่งขันก็เป็นไปตามคาด แต่ละคนทำคะแนนได้เกินร้อย แล้วยังเป็นกรมเดียวที่เกี่ยวข้องกับกีฬาโดยตรง แต่เล่นกอล์ฟได้อันดับสุดท้าย

ท่านรองฯ ก็ปลอบใจว่า ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในกีฬานี้แล้ว แต่พวกเรากลับมีความรู้สึกว่า กรมพลศึกษามีหน้าที่ดูแลกีฬาของประเทศชาติ ทั้งพื้นฐานและมวลชน เราคงปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว รู้สึกว่าเราเกี่ยวข้องกับกีฬา มีทักษะในเชิงกีฬาอื่นๆ แต่ยังเล่นกอล์ฟไม่เป็น จึงเกิดความมุมานะฝึกซ้อม ซึ่งก่อนหน้านี้พวกเราไม่รู้จักกับกอล์ฟกันเลย อาจจะเป็นเพราะเคยมีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักเกี่ยวกับกอล์ฟ มองว่าเป็นกีฬาศักดินา เป็นของเจ้านาย เป็นเรื่องของคนรวย แล้วยังใช้เวลาเยอะ และยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าจะเล่นไหว แต่นั่นคือความคิดเห็นก่อนที่จะได้รู้จักกับกอล์ฟจริงจัง ซึ่งเมื่อเข้าไปสัมผัสก็พบว่ามีข้อดีมากมาย มุมมองที่เคยติดลบก็กลายเป็นบวกในทันที

กอล์ฟ เมื่อใครได้เล่นจริงจังก็จะติดได้ง่ายๆ เหมือนกับยาเสพติด แต่เป็นยาดี ยิ่งช่วงที่เพิ่งเริ่มใหม่ๆ มีเวลาเมื่อไหร่จะต้องไปหัดไปซ้อมไปออกรอบ วันหยุดเล่นกันตั้งแต่ฟ้าเริ่มสว่างจนมืดมองลูกไม่เห็น หลงเสน่ห์ในความท้าทาย ข้องใจกับคำถามว่า “ทำไม” โดยเฉพาะทำไมเราเอาชนะตัวเองไม่ได้สักที แล้วก็ต้องคอยหาคำตอบมาตอบตัวเองอยู่เรื่อยๆ ตอนเล่นใหม่ๆ ส่วนหนึ่งที่โทษเป็นประจำก็คือ อุปกรณ์ อะไรที่เขาว่าดีก็คอยเปลี่ยนตาม แต่ไม่เคยเปลี่ยน “วง” ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความยั่งยืนทางทักษะ จนต้องใช้วิธี แบ็คทูเบสิค เริ่มจากพื้นฐานให้ถูกต้องก่อน ยิ่งเราเป็นคนพละศึกษา วงต้องสวยถูกต้องไว้ก่อน ทิศทางกับระยะเอาไว้ทีหลัง

จากก๊วนแรกในพละศึกษา ก็เริ่มสอนกันต่อแบบปากต่อปาก พอดีอยู่ที่กรมฯ ท่านรองฯ ทรงสวัสดิ์ ได้ริเริ่มการอบรมกอล์ฟสี่ภาค โดยมีโปรกอล์ฟชาวต่างประเทศเป็นผู้ให้การอบรมกับครูพลศึกษา ขณะนั้นวิทยาลัยพลศึกษามีอยู่ 17 แห่ง ทุกคนต้องเริ่มเรียนกันแล้ว เพราะกอล์ฟเป็นกีฬาที่ไม่เคยถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรวิชาพลศึกษามาก่อน หลังจากนั้นก็เริ่มขยายวงกว้าง ไปสู่มหาวิทยาลัย สู่บุคลากรที่จบทางด้านนี้โดยตรง โดยทิศทางของทัศนคติที่ได้ตอบแบบสอบถามก็คล้ายคลึงกัน โดยก่อนจะรู้จักกอล์ฟ มักมองกอล์ฟในแง่ลบ แต่เมื่อเริ่มเล่นแล้วทัศนคติก็เปลี่ยนไปในทางบวกทันที ทำให้กอล์ฟในแวดวงชาวพลศึกษามีหนทางที่แจ่มใส ทุกฝ่ายให้การสนับสนุน กรมพลศึกษาเองก็มีการจัดการแข่งขัน คัดเลือกนักเรียนให้เป็นตัวแทนไปชิงแชมป์ระดับนานาชาติ ค่ายกีฬาฤดูร้อนของกรมฯ ก็มีการสอนกอล์ฟให้กับเยาวชนโดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย วงการกอล์ฟในปัจจุบันจึงไม่ได้อยู่ที่กลุ่มคนเพียงกลุ่มเล็กๆ อีกต่อไปแล้ว แต่กำลังก้าวเข้าสู่การเป็นกีฬาของมหาชน เพราะมีทางเลือกต่างๆ ที่เหมาะสมไว้รองรับ ทั้งอุปกรณ์ก็หลากหลาย สนาม ก็ไม่ได้แพงเหมือนในอดีต ทำให้กอล์ฟเป็นกีฬาที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยมีโอกาสจับต้องได้ง่ายขึ้น

บางฤดูจะมีนักกอล์ฟต่างชาติเข้ามาปักหลักฝึกฝนกันในบ้านเราเยอะมาก ทำให้อุตสาหกรรมกอล์ฟในประเทศค่อนข้างจะไปได้ไกล มีการเรียนการสอนเรื่องในเรื่องที่เกี่ยวข้องกอล์ฟทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท มีการสอบโปรทิชชิ่ง ทัวร์ริ่ง ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล การก่อสร้างสนามกอล์ฟซึ่งปัจจุบันเรามีบริษัทก่อสร้างที่ได้มาตรฐานสากลไม่แพ้ต่างชาติ อุปกรณ์กอล์ฟบางสิ่งบางอย่างก็ผลิตจากบ้านเราด้วยเช่นกัน การแข่งขันใหญ่ๆ ระดับสากลก็จัดขึ้นหลายรายการ โดยภาพรวม ณ วันนี้เรามีอุตสาหกรรมกอล์ฟขนาดใหญ่และสำคัญอยู่ในประเทศเรียบร้อยแล้ว

ในส่วนของหนังสือพิมพ์กอล์ฟไทม์นั้น ได้ถือกำเนิดมาจากคุณระวิ โหลทอง ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยมี “ยอดทอง” คุณยอดชาย ขันธชวนะ เป็นบรรณาธิการ และ “ย.โย่ง” คุณเอกชัย นพจินดา ผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้ร่วมบริหาร และเมื่อผมได้พูดคุยกับพี่ๆ ที่นี่ จึงชักชวนคุณแจ๋ว (สุชาภา ผลชีวิน) ให้ไปช่วยดูเรื่องการตลาดของสยามกีฬา รวมทั้ง กอล์ฟไทม์ โดยเริ่มจากการนำแฟชั่นเข้ามาสู่กีฬากอล์ฟ ซึ่งประสบผลสำเร็จด้วยดี

คุณระวิ มีแนวคิดที่จะนำสยามกีฬาเข้าตลาดหลักทรัพย์ในราวปี 2538 เลยมีการปรึกษาร่วมกันว่า น่าจะนำ กอล์ฟไทม์ แยกออกมาเพื่อความคล่องตัวในการบริหาร และเมื่อมีแนวคิดตรงกัน บริษัทกอล์ฟไทม์ จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้การให้คำปรึกษาของคุณระวิ โดยมีคุณยอดชาย, คุณเอกชัย, คุณสุชาภา และอีกหลายๆ ท่านร่วมกันบริหาร ร่วมกันทำงานตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน จนเมื่อพี่โย่ง เอกชัย ได้เสียชีวิตลง จึงได้มีการคืนหุ้น และพี่ยอดชาย ก็ต้องทำงานที่สยามกีฬา เราจึงเดินหน้าต่อ โดยยังมีพี่ๆ เหล่านี้คอยให้คำปรึกษา ไม่ได้ทิ้งเราไปไหน เพียงแต่ว่าเมื่อถึงเวลาที่เราโตขึ้น แข็งแกร่งขึ้น เราก็ต้องเดินได้ด้วยตัวของเราเอง โดยปรัชญาสำคัญที่สุดในการดำเนินงานของเราก็คือ “นำธุรกิจมาช่วยกีฬา” อย่าพยายามนำกีฬาไปทำธุรกิจ

ปณิธานนี้ได้นำมาใช้กับการบริหารมาโดยตลอด ถ้าได้สิ่งใดมา ก็จะนำสิ่งนั้นมาส่งต่อให้กับสมาชิกของเราอยู่เสมอ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีต กอล์ฟไทม์ได้จัดการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นรายการใหญ่ๆ มีรางวัลสูงค่ามากมายแต่ราคาค่าสมัครน้อยมาก พานักกอล์ฟที่ชนะหรือโชคดีไปออกรอบท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นการคืนกำไรให้กับท่านสมาชิก หลากหลายรายการ โดยมีผู้เห็นความตั้งใจจริงของเรา สปอนเซอร์ต่างๆ ก็ให้การสนับสนุนด้วยดีตลอดมา และอยู่ร่วมกันมาต่อเนื่องยาวนาน จนเรียกกันติดปากว่าพวกเราคือ “ครอบครัวกอล์ฟไทม์”

ตลอดระยะเวลา 24 ปี ต้องขอขอบคุณสปอนเซอร์ และผู้ให้การสนับสนุนทุกๆ ท่าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม, ท่านสมาชิก ที่เล็งเห็นถึงศักยภาพในการนำเสนอข่าวสารในแวดวงกอล์ฟ การจัดการแข่งขัน ตลอดจนถึงพนักงานเจ้าหน้าที่ของเราทุกคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้ชื่อของ กอล์ฟไทม์ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ว่าเราคือหนังสือพิมพ์กอล์ฟรายปักษ์ฉบับเดียวในประเทศไทย ถึงแม้บางช่วงจะต้องเผชิญกับวิกฤติปัญหาในหลากหลายรูปแบบ พวกเราก็ช่วยกันฟันฝ่ามาได้โดยตลอด และยังมุ่งมั่นต่อไปเพื่อรังสรรค์ผลงานที่ดีมีคุณภาพให้ต่อเนื่องไปในอนาคตอีกด้วย ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้ กอล์ฟไทม์ มีวันนี้ได้

เป้าหมายหลักต่อไปในอนาคตของผมคือจะทำอย่างไรให้วงการกีฬาพัฒนา โดยเฉพาะฟุตบอลซึ่งคือเอกลักษณ์สำคัญของตัวเรา และหาวิธีนำธุรกิจไปช่วยกีฬา ตำแหน่งหน้าที่ในอนาคตหลังเกษียณก็ขึ้นอยู่กับการได้รับมอบหมาย แต่ก็ยังอยากอยู่ในตำแหน่งตรงกลาง เปิดโรงเรียนสอน พัฒนาขีดความสามารถของผู้ฝึกสอน ซึ่งบ้านเรายังขาดอยู่อีกมาก จะเห็นได้จากกีฬาบางชนิดที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับโค้ชโดยตรงเลย บางท่านเป็นชาวต่างชาติ ถ้าวันไหนเขาไม่อยู่ดูแล กีฬาประเภทนั้นก็จะเกิดปัญหา หากเรามีโค้ชเก่งๆ ทุกชนิดกีฬา นักกีฬาเก่งๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง อย่างฟุตบอลตอนนี้ไม่น่าเป็นห่วง เรามีบุคลากรค่อนข้างเยอะ อยู่ที่การนำประสบการณ์ความรู้ความสามารถไปใช้ ใครที่โดดเด่น มีผลงานชัดเจน สมาคมต่างๆ ก็จะดึงตัวเข้ามาช่วยงาน

ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด เราต้องมุ่งพัฒนาโค้ชเป็นอันดับแรก เพราะ โค้ชดี นักกีฬาดี แล้วถึงจะเป็นเรื่องของ ผู้ตัดสิน การจัดการแข่งขัน การบริหารจัดการ ทุกอย่างมุ่งไปที่ความเป็นเลิศทางอาชีพได้อย่างเต็มตัว อยากเชิญชวนให้ทุกคนเห็นความสำคัญของกีฬา เพราะปัจจุบันกีฬาอาชีพสามารถสร้างรายได้ให้อย่างมหาศาล เช่น กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล วอลเลย์บอล ฯลฯ

กีฬา สอนให้รู้จัก แพ้ ชนะ ให้อภัย และขอโทษ ถ้าคนไม่เคยรู้จักกับคำว่าแพ้เลย นี่คือเรื่องใหญ่ เพราะในชีวิตจริงของคนเรานั้น มักจะแพ้มากกว่าชนะ ถ้าเราไม่เคยแพ้ ไม่เคยให้อภัย ไม่รู้จักขอโทษ นั่นคือสิ่งที่อันตรายที่สุดของมนุษย์เลย คำว่ากีฬานั้นเหมารวมได้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่เฉพาะนักกีฬา คนออกกำลังกาย คนชม คนเชียร์ ก็ได้ประโยชน์จากการหล่อหลอมด้วยกีฬาเช่นเดียวกัน ทุกคนจะถูกสร้างให้รู้จักกับ ความเคารพใน กฎ กติกา รักษามารยาท จริธรรม และยังรู้จัก แพ้ ชนะ การให้อภัยและขอโทษ เมื่อคนถูกพัฒนาให้ดี เชื่อว่าจะสร้างชาติได้

ผมโชคดีที่บ้านอยู่ใกล้วัด ตอนเด็กเป็นโรคหืดหอบ ต้องฉีดยาทุกอาทิตย์ คุณพ่อคุณแม่เลยถวายให้หลวงพ่อผิว เจ้าอาวาสวัดศรีมหาราชา ยกให้เป็นลูกท่านเพื่อไม่ให้ตาย พออยู่วัดได้ออกกำลังกายร่ายกายก็แข็งแรงขึ้น แล้วยังได้เห็นสัจธรรมของชีวิต ในวัดมีการสร้างนรก สวรรค์ แยกให้เห็นว่าใครทำดีทำชั่วจะได้ผลอย่างไร นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังจากวัดให้รู้สึกว่าเราต้องทำความดี ไม่ทำความชั่ว

พอเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็ไปอยู่วัดระฆัง, วัดดีดวด ก็ยังคุ้นเคยมีความผูกพันอยู่กับวัด หลังจากทำงานแล้วเมื่อมีเวลาไปว่างก็จะหาโอกาสไปนมัสการเกจิอาจารย์ต่างๆ ที่ทราบว่าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นอริยสงฆ์ ที่น่าเคารพเลื่อมใส ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2541 เคยได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณ ตอนนั้นติดหนังสือพิมพ์กอล์ฟไทม์เข้าไปด้วย ท่านก็เขกหัว และเซ็นต์ชื่อใส่หนังสือพิมพ์ให้เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วผมยังได้เห็นปรัชญาในการสอนธรรมของท่าน ไม่ว่าใครจะบริจาคเท่าไหร่ ท่านก็จะคืนกลับมาให้ไว้ทำทุนเสมอ เหมือนกับที่เราได้ยินเสมอว่า “กูให้มึง”    และยังมีความตั้งใจว่าจะจัดบูชาพระพุทธรูป เกจิอาจารย์ ประจำแต่ละจังหวัดให้ครบทั้งประเทศ และเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูรพกษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณ สถาบันพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ความเครียดขณะทำฟุตบอลมีสูงมาก เมื่อเข้าห้องพระทำสมาธิ สวดมนต์ภาวนา ก็ช่วยให้จิตใจสงบลงได้ และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป

ทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดในโลกใบนี้คือ มนุษย์ ก่อนจะพัฒนาอย่างอื่น ต้องพัฒนาคนก่อนเป็นอันดับแรก ตึกที่สร้างผิด เรายังทุบทิ้งได้ สร้างใหม่ได้ แต่ถ้าคนถูกสร้างมาผิดๆ ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นมาเราจะทำยังไง คนไม่เหมือนกับสิ่งปลูกสร้าง แล้วยิ่งถ้าคนที่ถูกสร้างมาผิดๆ ไปสร้างเครือข่ายที่ผิดๆ ต่อไปอีก ปัญหาก็ยิ่งจะเกิดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ทุกฝ่ายจึงต้องให้ความสำคัญเรื่องของกีฬา

จากพระราชดำรัสของในหลวง “กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ” วันนี้เราเห็นได้ชัดเจนว่า กีฬา ช่วยสร้างคนจริงๆ สร้างให้รู้จักวินัย รู้จักระเบียบ กฎ กติกา มารยาท สอนให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ด้วยความเรียบร้อย ผิดเมื่อไหร่ มีการตักเตือน มีทั้งใบเหลือ ใบแดง ตรงกับคำที่ว่า “เป็นนักกีฬา ต้องเคารพกฎกติกา เป็นปวงประชา ต้องเคารพกฎหมาย” ถ้าคนเราไม่เคยรู้จักเคารพ กฎ กติกา มาก่อน แล้วอยู่ๆ จะให้มาเคารพกฎหมายเลย คงเป็นเรื่องยาก นั่นคือการหล่อหลอมคนให้อยู่ร่วมกันได้ด้วย กฎ กติกา ของกีฬาครับ