ทักษะการจัดการกับความเครียดทางการกีฬา
Pyramid ของทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬา
ในการเล่นกอล์ฟ
ทักษะการจัดการกับความเครียดทางการกีฬา
ในที่สุดเราก็มาถึงระดับสูงสุดของทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬา ระดับที่ประกอบด้วย ๓ ประเด็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การจัดการกับความเครียด ตามด้วยการจัดการกับอารมณ์ของนักกีฬา และเรื่องของการรวบรวมสมาธิในการเล่นกีฬา
วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับประเด็นแรกของทักษะทางจิตวิทยาการกีฬา ระดับที่ 3 เรื่องของการบริหารจัดการกับความเครียด เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความเครียดเกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดกับนักกีฬาและคนที่เกี่ยวข้องทุกคน และโดยทั่วไปความเครียดจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่มีผลต่อการเล่นกีฬาในทางลบมากกว่าบวก
แม้ว่าความเครียดจากการเล่นกีฬาจะมีผลในทางลบเป็นส่วนใหญ่ แต่ความเครียดก็เป็นลักษณะทางด้านจิตวิทยาที่ส่งผลต่อการเล่นกีฬาและต้องยอมรับว่าหากเราควบคุมความเครียดได้ดีหรือเหมาะสม ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่กับเราได้และช่วยเพิ่มความสามารถในการฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาได้อย่างดี ดังนั้นเราควรที่จะยอมรับว่าความเครียดเป็นส่วนหนึ่งกีฬา ที่เราต้องรู้จักจัดการให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการเข้าใจที่ถูกต้อง
อะไรคือความเครียดในการเล่นกีฬา มีที่มาที่ไปอย่างไร
ความเครียดในการเล่นกีฬาหมายถึง ความรู้สึกอันเกิดจากความไม่สมดุลย์ระหว่างความสามารถที่มีของนักกีฬากับการเล่นกีฬาที่กำลังดำเนินการอยู่ หากสิ่งที่ต้องทำ ต้องแสดงความสามารถมีน้อยกว่าและหากทำได้ไม่ดีจะส่งผลในทางลบต่อการเล่นกีฬานั้น ดังนั้นการปรับเป้าหมายของการเล่นกีฬาจึงต้องถูกนำมาช่วยให้เกิดความสมดุลย์ในการเล่นกีฬามากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีการปรับแล้วความสมดุลย์ของสิ่งที่ต้องทำและความสามารถที่ต้องทำไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ความเครียดที่คอยกระตุ้นเราให้ทำกิจกรรมก็จะมีผลในทางบวกและเอื้อต่อการเล่นของนักกีฬามากขึ้นได้
ส่วนใหญ่ความเครียดจะเกิดกับนักกีฬาที่มีความต้องการชัยชนะหรือกลัวสิ่งที่ไม่ดีจะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นของอนาคตเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทราบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง หรือไม่ แม้ว่าหลายครั้งโอกาสจะเกิดขึ้นมีมากก็ตาม แต่เมื่อเราไม่สามารถควบคุมหรือคาดเดาได้ 100% เราคงต้องกลับมายึดในสิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ในการเล่นกีฬาของเราคือ การอยู่กับปัจจุบัน แม้ว่าเหตุการณ์ปัจจุบันเคยเป็นอนาคตและเป็นอดีตก็ตาม แต่เนื่องจากปัจจุบันมีผลต่อการเล่นมากที่สุด ควบคุมได้แน่นอนที่สุด เราจึงควรให้ความ สำคัญกับปัจจุบันให้มากที่สุด อีกนัยหนึ่งคือเราควรอยู่ที่กระบวนการ (ซึ่งเป็นเรื่องปัจจุบัน) มากกว่าผล (อนาคต)
หลักการที่กล่าวมาจะมีผลต่อการเล่นกีฬา ถ้าเราสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมแล้ว ผลการเล่นก็จะออกมาดี อีกนัยหนึ่ง การมีความเครียดในระดับที่เหมาะสมจะทำให้เราไม่ประมารท เตรียมตัวและระวังตัวมากขึ้น ดังนั้นความเครียดจึงไม่ได้หมายถึงผลกระทบในทางลบอย่างเดียว โดยปกติ อะไรก็ตามเมื่อไม่เหมาะสมแล้ว ผลมักจะออกมาไม่ดี ไม่ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้เสมอ
นักกีฬาพึงเข้าใจให้ถูกต้องว่าความเครียด ความวิตกกังวลเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นกีฬา คนที่มีทักษะทางจิตใจที่ดี มีความสามารถบริหารจัดการจิตใจตัวเองได้ ก็หมายถึงคนที่บริหารจัดการความเครียดและการเล่นกีฬาของเราได้ดีด้วย การคิดอย่างเป็นเหตุผล ความรู้สึกดีๆในการเล่นกีฬา การรู้จักการควบคุมการหายใจยาวๆและต่อเนื่อง รวมทั้งการให้กำลังใจตัวเอง ก็มีส่วนช่วยทำให้นักกีฬาสามารถบริหารจัดการความเครียดของจิตใจได้
ทักษะต่างๆเหล่านี้จะเกิดในเวลาที่ต้องการและเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่านักกีฬามีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ เช่นเดียวกับทักษะกีฬาและสมรรถภาพทางกายหรือไม่
คนที่คิดบวกในการเล่นกีฬา หมายถึงคนที่สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีได้ สามารถแก้ปัญหาได้ดี ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่มองว่าไม่มีปัญหา นักกีฬาจึงควรที่จะต้องเข้าใจประเด็นของการจัดการกับความเครียดทางการกีฬาว่ามีตลอดเวลา แต่เราจะเข้าใจและจัดการได้ดีขนาดไหน ไม่ใช่การเลี่ยงปัญหา
เราจัดการกับความเครียดได้อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือยัง
อีกครั้ง โควิด 1๙ กำลังขยับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยเรา เราจึงควรดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและเป็นเหตุเป็นผลอีกครั้ง การ์ดไม่ตกจากภายใน (ดูแลสุขภาพกายและใจด้วยการทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนเพียงพอ) จะเป็นการตั้งการ์ดที่สำคัญพอๆกับการตั้งการ์ดจากภายนอก (การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจอุณหภูมิตัวเองเป็นระยะๆ การล้างมือสม่ำเสมอ และเว้นระยะห่างตามมาตรการ) ทำทั้ง 2 อย่างนี้แล้วเชื้อไวรัสเข้ามาทำร้ายเรายากครับ
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย