ทักษะการจินตภาพทางการกีฬา
Pyramid ของทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬา
ในการเล่นกอล์ฟ ตอนที่ 6
ทักษะการจินตภาพทางการกีฬา
จากที่กล่าวถึงทักษะทางด้านจิตใจของนักกีฬากีฬา ระดับกลาง ทักษะแรก (การพูดกับตัวเอง) ไปแล้วในฉบับที่ผ่านมา ในฉบับนี้ เรามาทราบกันถึงทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬาที่ 2 คือ การจินตภาพ ว่ามีสำคัญแค่ไหน เป็นอย่างไร และทำให้เกิดได้อย่างไร
การจินตภาพ ในการเล่นกีฬาเป็นเทคนิคทางด้านจิตวิทยาการกีฬาที่มีนักวิชาการได้ทำการศึกษา ขณะที่นักกีฬาและโค้ชนำไปใช้มากที่สุด และผลการวิจัยก็ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการจินตภาพกับการเล่นกีฬาอย่างชัดเจน ว่านักกีฬาในระดับสูงใช้เทคนิคนี้ในการเพิ่มประสิทธภาพของการเล่นกีฬาของตัวเองตลอดเวลา
ถ้าดูจากคำที่ใช้กับทักษะนี้ จะเห็นว่าเป็นเรื่องของการเห็นหรือจินตนาการที่เป็นภาพเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง การจินตภาพที่ส่งผลกระทบต่อนักกีฬาหมายถึง การจินตภาพที่ประกอบด้วยการรับรู้ทั้ง 5 ด้านได้แก่ การเห็น การได้ยิน กลิ่น รส และสัมผัส หากนักกีฬาสามารถรับรู้ทั้งการเห็น การได้ยิน กลิ่น รสและสัมผัสในการคิดหรือในใจแล้ว โอกาสของการที่จะเกิดสิ่งนั้นจริงๆก็มีสูงขึ้น หลายคนกล่าวว่าเหมือนวิศวกรได้เห็นพิมพ์เขียวของอาคาร ก่อนที่เขาจะสร้าง ทำให้วิศวกรสามารถสร้างได้ถูกต้อง แข็งแรง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ทำไมทักษะการจินตภาพจึงช่วยเพิ่มความสามาถในการเล่นกีฬาของนักกีฬาได้
ขณะที่นักกีฬากำลังจะเล่นอะไรซักอย่าง สิ่งที่จะทำให้การเล่นนั้นเป็นไปด้วยดี นักกีฬาต้องมีความพร้อมทางกาย มีสมาธิและความมุ่งมั่นที่จะใช้ร่างกายอย่างเหมาะสม สามารถดึงทักษะกีฬามาใช้ และจัดการควบคุมจิตใจให้เหมาะสมได้ เช่น ให้จิตใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่คิดถึงผลการแข่งขัน ไม่คิดถึงอดีตที่ดีหรือไม่ดี ไม่รู้สึกในทางลบต่อตัวเองและสถานการณ์ต่างๆรอบตัวเอง ขณะที่เรากำลังจะเล่นกีฬาถ้าเราสามารถจินตภาพการเล่น รับรู้ถึงสิ่งที่เราอยากจะให้เกิด จิตใจของเราก็จะไม่ได้มุ่งไปที่ผลการแข่งขัน เพราะเราจะใช้เวลากับกระบวนการ สิ่งดีๆ สิ่งที่เป็นบวก นักกีฬาที่เก่งจะใช้การจินตภาพใน 2 ลักษณะคือ จินตภาพในสิ่งที่อยากให้เกิดและเกี่ยวข้องกับวิธีการเล่นเป็นหลัก ขณะที่นักกีฬาเก่งบางคนจะจินตภาพการเล่นที่ดี ที่ประสบผลสำเร็จ การจินตภาพทั้ง 2 ลักษณะนี้จึงช่วยทำให้นักกีฬามีสมาธิ และอยู่กับปัจจุบัน พร้อมไปกับการรู้สึกดีที่เราอยากให้เกิดขึ้นระหว่างการเล่นกีฬา
ทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
การจินตภาพ เป็นทักษะทางจิตวิทยาการกีฬาที่ต้องอาศัยประสบการณ์ที่นักกีฬาได้เคยเห็น เคยได้ยิน เคยสัมผัส หรือเคยได้กลิ่นมาก่อน รวมทั้งการได้ลิ้มรสด้วยในบางครั้ง เช่น เราเล่นกีฬาจนเหงื่อออจำนวนมาก เรารับรู้ถึงการไหลของเหงื่อ กลิ่นและรสชาติเค็มๆที่เราได้ลิ้มลอง
การรับรู้ที่เราคุ้นเคยมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการได้เห็น เราจึงมักเข้าใจว่าการจินตภาพคือการเห็นและใช้คำว่าจินตภาพที่มีความหมายอาจจะดูเอนเอียงไปทางการเห็นเป็นสำคัญ ขณะที่การรับรู้ถึงน้ำหนัก ระยะ ความยาว ความหนัก หรือความเร็วในการสวิงไม้ การรับรู้เหล่านี้ก็ถือได้ว่ามีความสำคัญและเก็บสะสมได้
ถ้าเราต้องการฝึกการจินตภาพให้เกิดขึ้นกับตัวเอง ลองเริ่มจากสิ่งง่ายๆ สิ่งที่คุ้นเคย จากเหตุการณ์ที่เห็นบ่อยๆ เหตุการณ์กลางๆที่ทุกคนก็น่าจะมีประสบการณ์นี้ เช่น ความรู้สึกกระหายน้ำ การได้กลิ่นมะนาว การรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสผิวมะนาว แม้แต่รสชาติของมะนาว การจินตภาพการดื่มน้ำมะนาวที่เย็นๆ หอมกลิ่นมะนาว ความเปรี้ยวและหวานของน้ำตาล อันนี้ถือว่าเป็นเบื้องต้น ในอีกขั้นหนึ่งของการฝึกจินตภาพ ที่เราก็สามารถทำได้และเกี่ยวข้องกับกีฬามากขึ้น คือ การจินตภาพอุปกรณ์กีฬา สนามฝึกซ้อมและแข่งขันกีฬาของเรา การเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านี้ เราจะทำได้ดีเพราะมีความคุ้นเคย เห็นและสัมผัสเกือบทุกวัน เมื่อมีการฝึกบ่อยๆ ต่อเนื่อง จากสิ่งที่เราคุ้นเคย ต่อไปก็สามารถขยับขึ้นไปในทักษะอะไรก็ได้ ในสถานการณ์อะไรก็ได้ ที่ต้องใช้จริงๆในการเล่นกีฬา เช่น ต่อไปเราจินตภาพเห็นการพัตต์ที่ลูกกลิ้งเป็นทางโค้งขึ้นไปเหนือหลุม ก่อนที่จะค่อยๆโค้งตัวกลับเข้าหาหลุม และลงหลุมในที่สุด หรือเราเห็นการตีลูกข้ามต้นไม้ที่ขวางหน้าเราและไปตกบนกรีนและอื่นๆ
เทคนิคการจินตภาพ
แม้การจินตภาพส่วนใหญ่จะเป็นการรับรู้ที่ในทางบวกและทำได้ดี แต่ก็มีนักกีฬาที่มักจะจินตภาพในทางตรงกันข้าม คือเห็นภาพในทางลบ หรือซ้ำๆในสิ่งที่ไม่ดี การจินตภาพจึงควรที่จะต้องฝึกเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการที่จะเห็นภาพดีๆ ภาพและความรู้สึกที่คุ้นเคย ภาพหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกชอบและรู้สึกพอใจ
ในวิธีหนึ่งของการจินตภาพที่นักกีฬา ควรจะฝึกไว้ด้วยคือ การฝึกเห็นการเล่นของตัวเองที่เล่นได้ไม่ดี แต่เราสามารถกลับเข้ามาอยู่ในการเล่นที่ดีได้ ซึ่งถือว่าเป็นการจินตภาพที่เป็นความจำเป็น เป็นสิ่งที่นักกีฬามีความต้องการ เพราะปัญหาของการเล่นกีฬาคือ เมื่อเล่นได้ไม่ดี ผิดหวัง ไม่เป็นไปตามแผนหรือเป้าหมายแล้ว หลายคนไม่สามารถกลับมาเล่นตามปกติได้อีกหรือใช้เวลานานที่จะกลับมาเล่นได้ดั่งเดิม การจินตภาพเห็นตัวเองกลับมาจากการเล่นที่แย่ๆได้ จึงถือว่ามีประโยชน์มาก
สุดท้ายของทักษะทางจิตวิทยาการกีฬา (การจินตภาพ) ในระดับที่ 2 นี้นับว่าเป็นทักษะที่มีความสำคัญและถูกนำมาใช้ในการเพิ่มความสามารถมากที่สุด การใช้เวลาวันละ 5 ถึง 10 นาที ก่อนนอน หลังตื่นนอน หรือระหว่างนั่งรถไปแข่งขันก็สามารถทำได้ สะสมไปเรื่อยๆ สุดท้ายความสามารถในการจินตภาพก็จะมีมากขึ้นและช่วยได้มากขึ้น คนที่เก่งและมีประสบการณ์และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จะมีความสามารถในการจินตภาพที่สำคัญ 2 ประการ คือ ความชัดเจนของการเห็น และระยะเวลาของการเห็น นักกีฬาที่เก่งจะสามารถจินตภาพสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน และเป็นระยะเวลาที่นานและเสมือนจริง
เราควรจะมาฝึกการจินตภาพในการเล่นกีฬากันได้หรือยัง
อีกครั้ง ดูแลสุขภาพกันทุกคนครับ การ์ดไม่ตกจากภายใน (ดูแลสุขภาพกายและใจด้วยการทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนเพียงพอ) จะเป็นการตั้งการ์ดที่สำคญพอๆกับการตั้งการ์ดจากภายนอก (การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจอุณหภูมิตัวเองเป็นระยะๆ การล้างมือสม่ำเสมอ และเว้นระยะห่างตามมาตรการ) ทำทั้ง 2 อย่างนี้แล้วเชื้อไวรัสเข้ามาทำร้ายเรายากครับ
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย