Interview

ผศ.ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท

ผศ.ศุภวัฒน์ วัฒนภิโกวิท
ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา วังท่าพระ
อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
มหาวิทยาลัยศิลปากร
“พอดี ๆ เดินสายกลาง”

ชอบศิลปะ : เด็ก ๆ จะไม่รู้ตัวเองว่าเก่งหรือไม่เก่ง รู้แค่ว่าชอบ เวลาส่งงานให้ครู เพื่อน ๆ ก็จะอยากดูงานของเรา ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกว่าเพราะอะไร การ์ตูนที่ชอบเขียนก็พวก ดราก้อนบอล โดยเฉพาะตัวเอก ซุนหงอคง กับตัวร้าย เบจิต้า ผมเขียนจนจำได้โดยไม่ต้องดูแบบ เพื่อน ๆ ก็ชอบขอให้เขียนให้ดู หรือไม่ก็ลอกแบบจากตามถุงขนมทั่วไป พอดีที่บ้านผมขายของเล่น จะมีการ์ตูนแพ็คเกจต่าง ๆ ก็เอามาเป็นแบบ พยายามเขียนให้เหมือนที่สุด โดยไม่ได้เรียน ไม่มีใครแนะนำ ยามว่างก็เขียนรูป แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่า นี่คือความชอบ ชั่วโมงเรียนศิลปะ จะเป็นสิ่งที่ผมชอบที่สุด วิชาที่เกี่ยวกับศิลปะผมเลือกลงเรียนทั้งหมดเลย

เริ่มมีเป้าหมาย : เริ่มหันมาทำงานศิลปะจริงจัง เมื่อโรงเรียน (ราชวินิต บางแก้ว) จัดให้มีการประกวดวาดรูปว่าความฝันของตัวเองคืออะไร ผมวาดรูปตัวเองว่าอยากทำงานศิลปะ แต่ยังไม่ได้วาดว่าตัวเองเป็นศิลปิน แค่รู้สึกว่าคงจะได้อยู่กับความสุข งานศิลปะคงจะเป็นอนาคตที่สบายของเรา ตอบโจทย์ เริ่มรู้แนวทางของตัวเอง แต่ยังไม่ชัดเจนนัก ผมยังเล่นกีฬา ยังทำกิจกรรมอื่น ๆ อีก ขณะที่บางกลุ่ม เขามุ่งมั่น เลิกเรียนก็เข้าห้องศิลปะหัดวาดรูปเลย

ช่างศิลป : วันหนึ่งคุณพ่อถามว่า สนใจเรียนที่ช่างศิลปมั้ย? (วิทยาลัยช่างศิลป ลาดกระบัง) ยิ่งช่วงนั้นมีข่าวเรื่องทะเลาะวิวาท คุณพ่อก็เป็นห่วง เพราะเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ เลยตัดสินใจเลือกไปเรียนช่างศิลป โดยต้องตั้งใจเรียนให้จบ ม.3 แบบไม่ติดอะไรเลยก่อนให้ได้ ผมต้องติวอยู่พักใหญ่ ทั้งเรื่องทักษะ การวาด บ้านอยู่บางนา ไปติวที่หัวตะเข้ ไปเช้าเย็นกลับทุกเสาร์อาทิตย์ เป็นการติวจริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกในชีวิต ตอนนั้นมุ่งไปช่างศิลปอย่างเดียวเลย ขนาดเขียนเฟรนด์ชิพให้เพื่อนแล้วว่าคงไม่ได้เจอกันแล้ว เขียนเป็นรูปตัวเองเป็นตัวการ์ตูนเด็กขาสั้นตัวผอม ๆ ร้องไห้คิดถึงเพื่อน

ดินแดนแห่งความสุข : เพราะเหมือนไม่ได้มาเรียน แต่มาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ตื่นตั้งแต่เช้ามืด นั่งรถ 3 ต่อ เพื่อน ๆ จะรู้กันว่าผมทำงานช้ามาก บ้ารายละเอียด เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง จึงพยายามทำงานให้หนักกว่าเพื่อน กลับดึกทุกวัน แล้วยังต้องทำการบ้านอีก เวลาที่ใช้ในการเดินทางแต่ละวัน 4-6 ชั่วโมง จนขึ้นปีสองต้องขอไปอยู่หอ ผลการเรียนที่เคยอยู่สองกลาง ๆ ก็กลายเป็นสามกว่า ๆ ช่วงปลาย ๆ ปวช. ปี 3 ผมเตรียมตัวเพื่อเอ็นทรานซ์เข้า จิตรกรรม ม.ศิลปากร มีการจับกลุ่มซ้อมกับเพื่อน ๆ เพื่อฝึกตามโจทย์ที่ทราบมา สุ่มหัวข้อวาด จับเวลา ก็มีคิดไว้เหมือนกันว่า ถ้าสอบไม่ติด จะทำอะไรบ้าง คิดแม้กระทั่งว่าจะฝึกฝีมือเอง แต่คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเข้าเรียนในสถาบัน คือการฝึกระเบียบวินัย มีเงื่อนไข หากเราอยู่คนเดียว จิตใจจะเข้มแข็งพอที่จะตั้งใจทำงานได้แค่ไหน

เป้าหมายต่อไป : คือการเรียนจิตรกรรม ศิลปากร พวกเรายกโขยงกันไปสอบ ใช้สนามสอบที่วัดราชบพิตร ตอนสอบก็คิดว่าทำได้ดีตามที่ตั้งใจไว้ แต่จะได้หรือไม่ได้ก็ต้องลุ้นอีกที ตลอดเวลามีแอบมีแผนสำรองในใจ ไปสอบ ปวส. ที่ช่างศิลป ไว้ด้วย ตอนประกาศผลเพื่อนโทรมาบอกว่าสอบติดกิจกรรม ผมเฮลั่นบ้านเลย จนคนอื่นหันมามองว่าเกิดอะไรขึ้น สำหรับเด็กที่ไม่เคยเรียนศิลปะโดยตรงที่สอบเข้ามาเรียนด้วยกัน ในช่วงต้นมีความแตกต่างบ้างในเรื่องทักษะพื้นฐาน แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ก็ย้อนกลับไปกับคำพูดที่ว่า ศิลปะต้องขยัน แล้วเด็กสายสามัญ พัฒนาการเร็วมาก แค่เทอมเดียวก็ทันกันแล้ว ไม่เกี่ยวกับว่าใครเรียนอะไรมา ขึ้นอยู่กับคุณเต็มที่ให้กับสิ่งที่ทำหรือเปล่า ตั้งใจขนาดไหน ทำให้หลาย ๆ คนใช้เวลาแค่เทอมเดียว แซงเราที่เรียนมาตลอดสามปีได้ ซึ่งนั่นคือแรงบันดาลใจให้กับผมว่า จะอยู่นิ่งไม่ได้ แต่ไม่คิดจะแข่งกับเขานะ

เด็กเกเร : ตอนเรียนระดับปริญญาตรี ผมเป็นเด็กเกเรคนนึง แต่ไม่ใช่ลักษณะตีรันฟันแทง คือเรามุ่งมั่นแต่ในสิ่งที่อยากจะทำกับตัวงานของเรา พวกกิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยแทบจะไม่รู้จักเลย มีบ้างก็พวกงานรับน้องของคณะตัวเอง ส่วนพวกกิจกรรมหลักยังไม่จริงจังเลย ในการเรียนระดับปริญญาตรี วิธีการคิดเราซับซ้อนขึ้น มีเพื่อนเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตเรามากขึ้น ชีวิตเราก็จะหลากหลาย พอตอนหลังเมื่อเราเริ่มสลับบทบาทตัวเอง จากผู้เรียนเป็นผู้สอน ก็มีภวังค์เสียดายว่า ถ้าตอนเรียนตั้งใจเรียนมากกว่านี้ บางอย่างที่เราขาดไป น่าจะเติมเต็มได้

เรียน ป.โท : ช่วงใกล้จบ อาจารย์ที่ปรึกษาเคยถามว่าหลังจากนี้จะทำอะไร ครั้งแรกก็ไม่คิดจะเรียนต่อ อยากเป็นศิลปิน แต่ท่านแนะนำให้เรียนต่อ เพราะผลงานของผมกำลังต่อเนื่อง ผมก็ชั่งใจอยู่ เพราะเกรดค่อนข้างดี สามารถใช้ผลงานเพื่อเรียนต่อได้เลย แต่ถ้าพักไป จะต้องทำผลงานขึ้นมาใหม่เพื่อสอบเรียนต่อ ซึ่งหลาย ๆ คนที่คิดแบบนี้ก็หายไปเลย ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีวินัยพอหรือเปล่า จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทจิตรกรรม ตอนปีแรกผมใช้คอนเซ็ปต์ต่อเนื่องจาก ป.ตรี แต่พอไปสักพักรู้สึกว่า มันแห้ง มันแล้ง รู้สึกไม่มีอินเนอร์ที่จะเขียนแล้ว สำหรับคนทำงานศิลปะ นี่คือสัญญาณสำคัญว่าถ้าไม่มีความรู้สึกกับสิ่งที่เขียน ไม่มีแรงบันดาลใจ งานจะทำได้ไม่ดี ซึ่งงานจาก ป.ตรี ก็ถึงจุดพีคไปแล้ว ถ้าจะเขียนอีกมันคือการฝืนตัวเอง เราหลอกตัวเองไม่ได้ ผมเรียนแบบลุ่ม ๆ ดอน ๆ ช่วงปิดเทอมเคยคิดอยากจะดรอปเพราะไม่มีไอเดีย อยากออกไปหาไฟ หาแหล่งข้อมูล ระหว่างนั้นทั้งเพื่อนและที่บ้าน ก็ให้กำลังใจ ให้เราทบทวนตัวเอง ผมก็ไปทำงานไปอยู่กับทีมพี่ที่เป็นเทคนิคเชี่ยน ในด้านเซ็ตติ้งงานศิลปะ ทำให้ผมได้มีโอกาสเจอศิลปินเก่ง ๆ หลายท่าน ได้ฟังทัศนะคติของเขา ได้เห็นผลงาน ได้เห็นวิธีคิด ทำให้ผมมีไฟลุกขึ้นมาอีกครั้ง จนไม่ต้องดรอปเรียน ด้วยการเปลี่ยนวิธีทำงาน เปลี่ยนเทคนิค รูปแบบ เนื้อหา คอนเซ็ปต์ ผมเหนื่อยหน่อย เพราะเพื่อน ๆ เขาได้มาตั้งแต่ปี 1 แล้ว แต่ผมมาเปลี่ยนตอนปี 2 เทอม 1 ทำให้ตอนที่จะประเมินเพื่อให้ทำวิทยานิพนธ์ได้ ถึงกับใจเต้น ว่าจะได้ไปต่อหรือเปล่า ถ้าไม่ เวลาเรียนก็จะช้าออกไปอีก ในที่สุดอาจารย์ก็อนุญาตให้ทำต่อได้ และเรียนจบตามแผนที่วางไว้

ศิลปะทำได้ทุกอย่าง : เป็นคำพูดยอดฮิตในยุคนั้น ที่ฟังแล้วออกจะโอเว่อร์ แต่จริง ๆ ถ้าเรียนศิลปะแล้วตั้งใจจริงจัง ต้องมีระเบียบวินัยมาก การทำงานแต่ละชิ้นมีขั้นตอนซับซ้อน ตั้งแต่กระบวนการคิด การไปเจอแรงบันดาลใจ การหาข้อมูล กว่าจะแปลงเป็นผลลัพธ์ ผ่านการสเก็ตหลายรอบ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ก็ต้องมีตั้งแต่ ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง จนถึงขั้นผลสัมฤทธิ์ พวกเราก็มีเช่นกัน แต่โดยทั่วโดยคนมักจะเข้าใจคนทำงานศิลปะไม่ดีพอนัก มักจะมองว่า เป็นพวกบ้า ๆ บอ ๆ เพ้อเจ้อ การที่เรามีวิทยานิพนธ์ เป็นการป้องกันการครหาด้วยว่า เราไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทุกอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ

ศิลปะนิสัย : ศิลปินในเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จสูง ผมท้าให้ไปดูได้เลยว่า ตารางชีวิตของเขาเต็มแน่นตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ทุกอย่างเป็นไปเพื่องานศิลปะ เพียงแต่คนอาจจะมองแค่บางมุมว่า พวกนี้เรียนไม่เก่ง หัวไม่ดี ถึงมาเรียนศิลปะ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่ งานแต่ละงาน ทุกศาสตร์มีความยากในตัวของมันเอง

ผลงาน : ป.ตรี ผมทำเรื่องการเปลี่ยนแปลงของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สภาวะที่ไม่แน่นอน โดยใช้ภาพของธรรมชาติมาเป็นเครื่องมือเปรียบเทียบ เป็นหลักธรรมะ ส่วนคอนเซปต์ที่เปลี่ยนในช่วง ป.โท ผมอ้างอิงเนื้อหาทางพุทธศาสนาของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) เรียกว่า มายาคติ ตัวอย่างผลงานเช่น รูปของพระพุทธรูปที่ถูกปิดทองจนเต็มล้น ผมทำหลายเวอร์ชั่น ถ่ายต้นแบบมาจากพระปฐมเจดีย์ เนื้อหาการเปรียบเทียบคือ เมื่อมีความศรัทธา ผู้คนก็จะพากันไปปิดทอง จนมองไม่เห็นพระพักต์ อุปมาอุปไมย คือ เรามีความเชื่อที่มากจนเกินไป จนละเลยแก่นแท้ โดยการใช้รูปเป็นสื่อสัญลักษณ์ แล้วผมก็ยังทำผลงานในชุดนี้ต่อเนื่องมาอีก แต่เริ่มใส่ความซับซ้อนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งความเป็นแอบสแตรคและเรียลลิสติก

รักอิสระ : ก่อนหน้านั้น คิดว่าผมคงเป็นมนุษย์ออฟฟิศไม่ได้ ชีวิตมีอะไรสนุกมากกว่านั้น ออกมาทำงานฟรีแลนซ์ดีกว่า ท้าทายดี ผมชอบเดินทาง เคยอยากเป็นช่างภาพหนังสือ อ.ส.ท. จะได้เที่ยว แต่เอาเข้าจริง ชีวิตมันเปลี่ยน กลายเป็นว่าทำงานหนักกว่ามนุษย์ออฟฟิศอีก เข้างานก่อนแปดโมง เลิกก็ช้า เพราะต้องมีการเตรียมการสอน แต่เราก็ทำได้ เป็นเรื่องประหลาดใจของตัวเองเหมือนกัน

อาจารย์มหาวิทยาลัย : ตอนใกล้จบ ป.โท มีโอกาสได้ไปช่วยงานอาจารย์ทำงานโครงการ แล้วรู้สึกว่า เมื่อตัวเองไม่เก่ง ต้องยอมเหนื่อยมากกว่าคนอื่น การที่เราได้ไปเห็นงานของอาจารย์ ทำให้ได้มีประสบการณ์ ได้เห็นบทบาทของครูผู้ให้ วิธีคิดของครูบาอาจารย์ ท่านคิดเยอะ เพราะมีความรับผิดชอบ เราน่าจะเอาประสบการณ์ที่ได้รับมานี้ ไปให้กับคนอื่นด้วยเช่นกัน แล้วจังหวะนั้นพอดีที่คณะจิตรกรรม มีอัตราว่าง ผมก็สอบเข้าทำงานที่นี่ ช่วงปรับตัวผมสอนจนหมดแรงแทบทุกวัน ประสบการณ์ด้านการสอนเรายังไม่เยอะ เพราะไม่ได้แค่สอนทักษะ แต่สอนกระบวนการคิดด้วย เมื่อเด็กแต่ละคนเอางานมาให้วิจารณ์ เราต้องปรับสมองอยู่ตลอดเวลา ยิ่งตอนเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ มีความคาดหวังสูง เข้มงวด ตั้งใจถ่ายทอด อยากให้เด็กได้รับเต็มที่ เมื่อมองย้อนไป ตอนทำงานใหม่ ๆ ผมน่าจะดุพอสมควร แต่ตอนนี้รีเล็กซ์มากขึ้นแล้ว

ผู้ใหญ่ให้โอกาส : ท่านคณบดี (อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ) ให้โอกาสผมเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ ปีแรกผมทำงานแบบลูกทุ่ง จะเรียกว่าบริหารยังไม่ได้เลย พยายามเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา งานประจำอย่างหนึ่งคือ การเปิดรับผลงาน เพื่อปีถัดไปจะได้จัดตารางแสดงทั้งปี พอทำเรื่องนี้ได้แล้ว ก็ไปสร้างคอนเทนต์อื่น ๆ ให้หอศิลป์ ปีแรกอาจจะลุ่ม ๆ ดอน ๆ บ้าง พอปีที่สองก็เริ่มมีโครงการ PSA Art Project โดยเลือกให้อาจารย์แต่ละภาควิชาส่งตัวแทนเด็ก มาจัดแสดงผลงาน และอีกผลงานที่เป็นความภาคภูมิใจ คือ ประติมากรรมรูปเหมือน อาจารย์ศิลป์ พีระศรี 123 ปี (โดย อ.กิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา) เพื่อจัดตั้งเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาคณะจิตรกรรม ผมได้กัลยาณมิตรที่ดี เสียสละเวลามาช่วยมาปั้นให้ จนได้เงินก้อนแรกเพื่อจัดตั้งกองทุนให้เด็ก ทุนก้อนนี้ก็ยังอยู่ และถ้ามีโครงการอะไร ก็จะนำรายได้มาสมทบทุนนี้

งานบริหาร : ท่านคณบดี เสนอให้ผมเป็นผู้ช่วยอธิการบดี แล้วท่านก็ให้โอกาสอีก แต่ผมเป็นคนที่มีความเครียดกับการทำงานค่อนข้างเยอะ เพราะต้องแบกรับอะไรหลาย ๆ อย่าง จนเมื่อจะรับหน้าที่ เงื่อนไขอย่างหนึ่งของแฟนผมที่ขอไว้คือ ห้ามกลับไปเครียดเหมือนตอนเป็นผู้อำนวยการหอศิลป์ ผมก็รับปากว่า จะปรับตัว ไม่เป็นอย่างนั้นอีก

เรียนรู้จากคนเก่ง : ผมได้เจอกับอาจารย์ ผู้บริหารเก่ง ๆ ได้เรียนรู้วิธีคิดของคนที่มาอยู่จุดนี้ได้ ว่าเขาจัดการอย่างไร ซึ่งผู้บริหารรอบตัวผม ถ้าเกิดปัญหา จะไม่คิดถอยหลังเลย หาทางแก้ไขตลอดเวลา หาทางออกให้ดีที่สุด ผมก็ได้เรียนรู้วิธีคิดจากท่านเหล่านี้ แล้วเอามาปรับประยุกต์ใช้กับตัวเอง ผมไม่ได้เรียนบริหารอะไรมาเลย แต่ใช้วิธีครูพักลักจำ ณ ปัจจุบัน ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เสมอ โชคดีที่รอบตัวมีคนเก่งอยู่เยอะ ทุกคุณเป็นครูของผม และการทำงานศิลปะเป็นกระบวนการอยู่แล้ว ผมก็นำมาประยุกต์ในการรับมือกับปัญหา การเข้าประชุมมีประโยชน์ เมื่อเราเข้าไปฟังจะได้เรียนรู้ไปด้วย

กองกิจการนักศึกษา : เป็นงานด้านบริหารส่วนที่ผมดูแลและให้ความสำคัญที่สุดคือ สวัสดิภาพ สวัสดิการของนักศึกษา การสนับสนุนเด็กให้ได้เยอะที่สุดที่เราจะพยายามทำได้ ปัญหาที่เราเจอส่วนใหญ่หลัก ๆ จะเป็นเรื่องการศึกษา สิทธิต่าง ๆ การเรียกร้องในสิ่งที่เขาควรจะได้ และเป็นปากเสียงให้มหาวิทยาลัย แตกต่างกันไปที่รายละเอียดปลีกย่อย การร้องเรียนเหล่านี้ ผมมองว่าเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ผู้บริหารมองเห็นข้อบกพร่อง และเก็บข้อมูลที่เด็กให้มา เพื่อเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ บางเรื่องอาจจะไม่เห็นผลทันทีทันใด ซึ่งเด็กมักจะไม่เข้าใจอยู่แล้ว แต่เราทำงานอยู่ในระบบ เข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจ

ความเครียด : ทั้งหมดเริ่มจากตัวเรา ถ้าเราตึงอยู่แล้ว ทุกอย่างจะตึงตามไปหมด ช่วงแรก ๆ ได้เรียนรู้จากเสียงคนรอบข้าง ในความไม่น่ารักของผม จากการคาดหวังเกินไป มุ่งมั่นกับผลงานเกินไป จนคนรอบข้างไม่มีความสุข พอมีประสบการณ์มากขึ้น ได้มาทบทวนตัวเอง ลดความตึงลง ปล่อยให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น พยายามมองทุกอย่างให้เป็นแง่บวก แต่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ได้มองว่าโลกสวย ซึ่งมันแตกต่างกัน แล้วดูว่าเพราะอะไรเขาถึงทำแบบนั้น คิดแบบใจเขาใจเรา เขาอาจมีภาวะบางอย่าง จนเป็นเหตุให้ไม่น่ารัก แต่ถ้าเราเริ่มด้วยความผ่อนคลาย ทุกอย่างก็จะผ่อนคลายไปกับเรา ผมเปรียบเทียบดูว่า ช่วงหลัง ๆ สอนแบบรีเล็กซ์ มีอารมณ์ขัน เด็กอาจจะสนุก รู้สึกโอเครกว่า กล้าเข้าหาเรา ทำให้เรียนรู้ได้มากกว่า

เดินสายกลาง : การทำงานศิลปะมีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ ถ้าคุณตั้งใจมาก คาดหวังมาก งานจะออกมาแข็ง ไม่ธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ไม่ตั้งใจเลย ต้องพอดี ๆ เดินสายกลาง เหมือนจับนกในอุ้งมือ ต้องให้อยู่ในมือเราได้โดยเขาไม่ทุกข์ อบอุ่น อยากอยู่ในมือเรา มีความสุขร่วมกันไปกับเรา ไม่หนีไปไหน สิ่งนี้แหล่ะที่ผมได้จากงานศิลปะ และมาประยุกต์กับงานและชีวิตของเรา ทุกการเรียนรู้อยากให้เป็นไปอย่างธรรมชาติครับ