กราบหลวงพ่อพระใส วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย
หากได้มีโอกาสเดินทางไปยัง หนองคาย จังหวัดที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนพญานาค สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่พลาดเลยก็คือ การเข้าไปกราบสักการะ หลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีตำนานผูกพันกับทั้งชาวไทย และชาวลาวในประวัติศาสตร์ เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวหนองคาย และผู้คนลุ่มน้ำโขง
หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุก หน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงฆ์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ ๔ คืบ ๑ นิ้ว ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือประวัติพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งพิมพ์แจกในงานทอดกฐินพระราชทาน พ.ศ. 2468 ว่า หลวงพ่อพระใส หล่อขึ้นในสมัยล้านช้าง โดยมีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาว่า พระธิดา 3 องค์ แห่งกษัตริย์ล้านช้างเป็นผู้สร้าง บางตำนานก็ว่า พระราชธิดาของพระไชยเชษฐาธิราช ได้หล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ มีขนาดลดหลั่นกันตามลำดับ และขนานนามพระพุทธรูปตามนามของตนเองไว้ด้วยว่า พระเสริมประจำพี่ใหญ่ พระสุกประจำคนกลาง พระใสประจำน้องสุดท้อง
เดิมทีนั้นหลวงพ่อพระใสประดิษฐานอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ พ.ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรีได้อัญเชิญไปไว้ที่เมืองเวียงคำ และถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์อีก ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใส ลงมาด้วย โดยอัญเชิญมาจากภูเขาควายขึ้นประดิษฐานบนแพไม้ไผ่ที่ผูกติดกันอย่างมั่นคง ล่องมาตามลำน้ำงึม เมื่อล่องมาถึงบริเวณบ้านเวินแท่นในขณะนั้น เกิดอัศจรรย์มีพายุพัดแรงจัดแท่นของพระสุกได้เกิดแหกแพจมลงไปในน้ำ บริเวณนั้นจึงถูกเรียกว่า “เวินแท่น” มาจนถึงปัจจุบัน
ถึงกระนั้นขบวนแพก็ยังล่องมาตามลำดับจนถึงน้ำโขง (ปากน้ำงึม) เฉียงกับบ้านหนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ได้เกิดพายุใหญ่ เสียงฟ้าคำรามคะนองร้องลั่นอีกครั้ง ในที่สุดพระสุกได้แหกแพจมลงไปในน้ำ ซึ่งอาการวิปริตต่างๆ ก็ได้หายไปเป็นอัศจรรย์ยิ่ง บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่า “เวินสุก” และพระสุกก็จมอยู่ในน้ำตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังเหลือแต่พระเสริม พระใส ที่ได้นำขึ้นมาถึงเมืองหนองคาย
เมื่อท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) ได้สร้างเมืองหนองคายขึ้นที่บ้านไผ่ ในปี พ.ศ. 2372 มีการอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญของเวียงจันทน์ที่ยึดมาได้คราวปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์มาไว้ที่วัดหอก่อง (ปัจจุบันคือวัดประดิษฐ์ธรรมคุณ) หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณวัดหอก่องจนเกิดเป็นรอยแยกขนาดใหญ่ ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของชาวเมืองว่า วัดหอก่องเป็นวัดเล็กไม่เหมาะสมที่จะนำพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ทรงสร้างมาประดิษฐานไว้ พระปทุมเทวาภิบาล เจ้าเมืองและกรมการเมืองหนองคาย ได้ปรึกษาชาวเมืองและขุนนางข้าราชการเป็นที่ตกลงแล้วว่า จะต้องหาสถานที่เพื่อสร้างเป็นวัดใหญ่ เพื่อประดิษฐาน พระเสริม ให้สมกับฐานะ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวก็คือ วัดผีผิว หรือ วัดโพธิ์ชัย ในปัจจุบัน
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะได้พระพุทธรูปขนาดใหญ่เพื่อมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดบวรสถานมงคลหรือวัดพระแก้ววังหน้าที่ทรงให้สร้างขึ้นที่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล และได้ทรงทราบว่ามีพระพุทธรูปล้านช้างที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงมีพระรับสั่งให้อัญเชิญมาตั้งแต่ครั้งสงครามปราบกบฎเวียงจันทน์ แต่ยังคงค้างอยู่ที่เมืองหนองคาย ในปี พ.ศ. 2399 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ขุนวรราชธานี และเจ้าเหม็น (โอรสเจ้าอนุวงศ์) เป็นข้าหลวงขึ้นมาอัญเชิญพระเสริมจากเมืองหนองคายไปกรุงเทพฯ ดังปรากฏในพงศาวดารย่อฯ
ครั้งนั้นขุนวรธานีจะอัญเชิญพระใสไปพร้อมกับพระเสริมด้วย แต่พอมาถึงวัดโพธื์ชัย หลวงพ่อพระใสได้แสดงปาฏิหาริย์ โดยพราหมณ์ผู้อัญเชิญนั้นไม่สามารถขับเกวียนนำพระใสไปได้ แม้จะใช้กำลังคนหรืออ้อนวอนอย่างไรก็ตาม จนในที่สุดเกวียนได้หักลง เมื่อหาเกวียนใหม่มาแทนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้อีก จึงปรึกษาตกลงกันว่าให้อัญเชิญพระใสมาไว้ที่วัดโพธิ์ชัยแทนพระเสริม ดังนั้นหลวงพ่อพระใสจึงประดิษฐานที่วัดโพธิ์ชัยจนถึงปัจจุบัน ความอัศจรรย์ของหลวงพ่อพระใสนี้ ชาวพื้นถิ่นจึงได้พากันขนานนามหลวงพ่อพระใสว่า หลวงพ่อเกวียนหัก อีกชื่อหนึ่งด้วย ส่วนพระเสริม ปัจจุบัน ประดิษฐาน ณ วัดปทุมวนาราม
หลังจากแวะสักการะ หลวงพ่อพระใส ที่วัดโพธิ์ชัยแล้ว ก็ต้องไม่พลาดที่จะมาเดินเลือกซื้อสินค้านานาชนิด ที่ตลาดท่าเสด็จ และชมวิวพระอาทิตย์ตกริมแม่น้ำโขง
ตลาดท่าเสด็จ เดิมชื่อ ตลาดอินโดจีน เพราะเป็นศูนย์รวมสินค้าจากประเทศในแถบอินโดจีน นอกจากนั้นก่อนที่จะมีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย– ลาว ท่าเรือของตลาดเคยถูกใช้เป็นจุดผ่านแดนถาวร จึงมีเรือข้ามฟากสัญจรไปมาระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขงอย่างคึกคัก คนท้องถิ่นจึงนิยมเรียกชื่อตลาดแห่งนี้ในอีกชื่อหนึ่งว่า ตลาดท่าเรือ ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมเยียนราษฎรผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดหนองคายและได้เสด็จฯ ขึ้นจากเรือพระที่นั่ง ณ ท่าเรือของตลาดแห่งนี้ ภายหลัง “ตลาดท่าเรือ” จึงได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น ตลาดท่าเสด็จ และเรียกติดปากกันมาจนปัจจุบัน
และในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ.2563 การแข่งขันกอล์ฟรายการ Chang Amateurs Championship 2020 จะไปทำการแข่งขันรอบคัดเลือกที่ 3 กันที่สนาม วิคตอรี่ปาร์ค กอล์ฟ แอนด์ คันททรี่ คลับ จ.หนองคาย และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ก่อนที่จะช่วงชิงชัยชนะ ทั้งจากการแข่งขันและวัดดวงจับฉลากรางวัลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนักกอล์ฟเจ้าบ้านหรือที่เดินทางมาจากต่างถิ่น ก็อย่าลืมแวะไปขอพรจาก หลวงพ่อพระใส กันก่อนนะครับ