Interview

ขนิษฐา อัครนิธิกุล

ขนิษฐา อัครนิธิกุล
บ้านขนิษฐา

“ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดร้านอาหารเลยค่ะ” คุณขนิษฐา อัครนิธิกุล แห่ง บ้านขนิษฐา แอนด์ แกลอรี่ ร้านอาหารไทยมาตราฐานระดับสากล เอ่ยถึงเรื่องราว ณ จุดเริ่มต้น เพราะธุรกิจดั้งเดิมของคุณขนิษฐา คือ การตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นผ้าไหมไทย ส่งออก ภายใต้ชื่อ “Khanitha” ช่วงเติบโตสูงสุด เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีช่างเย็บ มีจักรฯ หลายร้อยคัน

เมื่อย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มของเส้นทางธุรกิจด้านเสื้อผ้า คุณขนิษฐา ได้เล่าถึงความเป็นมา ที่มีเรื่องราวไม่ต่างจากนิยายสนุก น่าติดตาม แต่นี่คือเรื่องจริง “เราเป็นชาวบ้านธรรมดาเลยค่ะ เริ่มธุรกิจจากศูนย์” ก่อนเริ่มเปิดร้าน คุณขนิษฐาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ส่วนสามีเป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย “สามีเงินเดือนน้อย มีลูกสามคน เราก็ต้องช่วยกัน” เธอบอกถึงเหตุผล

“ตอนท้องลูกคนโต อยู่บ้านเฉย ๆ ก็ไปเรียนตัดเย็บเสื้อผ้ากับเพื่อน แล้วมารับตัดเย็บให้เพื่อน ๆ คนใกล้ชิด รับงานเล็ก ๆ น้อย ๆ นี่คือจุดที่คิดว่าน่าจะทำเป็นอาชีพได้ เลยเปิดร้านแรกที่โรงแรมอินทรา เริ่มจากมีจักรเย็บผ้าแค่ 2 คัน รับตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วไป”

แต่กลายเป็นว่า ธุรกิจก้าวกระโดดแบบไม่ทันตั้งตัว “ลูกค้าเริ่มเยอะ จนรับงานไม่ไหวค่ะ ตอนนั้นทำเอง ตัดตอนกลางคืนเตรียมไว้ให้ช่างเย็บตอนเช้า เหนื่อยมากจนคิดว่าไม่ได้การล่ะ ต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ลูกค้าซื้อได้เลย เพราะถ้าลูกค้ามาขอร้องให้ตัดแบบเร่งด่วนอยู่ตลอดเวลา เราจะทำไม่ทัน แทบไม่ได้นอน ต้องอยู่จนดึกดื่นทุกคืน”

จากความเชี่ยวชาญทางด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าแบบผลิตตามสั่ง ที่มักจะเป็นงานเร่งด่วน คุณขนิษฐา ก็ปรับตัว เริ่มคิดเป็นการตัดเย็บผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป แนวใส่เล่น ใส่ออกงาน ชุดค็อกเทล แฟชั่นสมัยนิยม โดยเป็นของผู้หญิงล้วน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นลูกเรือชาวฝรั่งเศส ที่มาพักประจำอยู่ที่โรงแรมอินทรา แรก ๆ เป็นการขายปลีกหน้าร้าน ขยายจนมี 7-8 สาขา ลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ร้านอยู่ตามโรงแรม 5 ดาว, อาเขตใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งที่นิวยอร์ค ต่อมาก็มีลูกค้าซื้อไปขายต่างประเทศ ขายไปทั่วยุโรป ธุรกิจของ Khanitha จึงได้ขยายจากร้านเล็ก ๆ ที่มีจักรฯ แค่ 2 คัน จนกลายเป็นโรงงานใหญ่ มีช่าง มีจักรฯ ถึงสี่ร้อยกว่าคัน “เรามีทีมออกแบบเอง ตั้งแต่ลายผ้า พิมพ์เป็นของเราเองโดยเฉพาะค่ะ” นี่คือจุดเด่นของแบรนด์ จนทำให้ได้รับความนิยม มีชื่อเสียงอย่างเป็นอย่างยิ่งในยุคนั้น

แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจนได้… เมื่อเกิดวิกฤติสงครามซัดดัม ทั้งโลกปั่นป่วน จากนั้นมา เศรษฐกิจเริ่มตกต่ำ ผู้คนเริ่มงดใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือย ผู้หญิงก็เริ่มแต่งตัวน้อยลง “ก่อนหน้านี้ เวลามีงานเลี้ยง ผู้หญิงที่ทำงานจะต้องกลับมาบ้านก่อน เพื่อเปลี่ยนชุดหรูหรา ชุดสวย ๆ เพื่อไปงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องเป็น ผ้าไหม ทำให้ยอดขายของเราเยอะมาก แต่พอหลังเกิดวิกฤติ ผู้หญิงก็จะไปงานเลี้ยงจากที่ทำงาน ชุดไหนชุดนั้นเลย ไม่กลับมาเปลี่ยนเหมือนสมัยก่อน”

พอเริ่มทำร้านอาหารด้วย คุณขนิษฐา ก็รู้สึกว่าทำสองทางไม่ไหวแล้ว ประกอบกับธุรกิจเสื้อผ้าก็ประสบปัญหาจนในที่สุดต้องเลือกที่จะปิดไปในที่สุด “ทำธุรกิจเสื้อผ้าอยู่ประมาณ 35 ปี ก่อนจะเลิกค่ะ” แต่การยุติธุรกิจหนึ่ง กลับทำให้อีกธุรกิจหนึ่งได้เติบโตขึ้นมาทดแทนอย่างลงตัว และยังทำให้คุณขนิษฐา หลุดพ้นจากความเครียดที่สะสมมานาน…

“ตอนเลิกทำเสื้อผ้า ดีใจมากเลยค่ะ เพราะเหนื่อยมามาก ที่ผ่านมาต้องทำงานแข่งกับเวลา การออกแบบต้องล่วงหน้าเป็นปี ต้องรู้เทรนด์ว่าปีหน้าจะนิยมแบบไหน ทั้งแบบ ทั้งสี หน้าตาลายผ้า ต้องออกไปหาตลาดไปดูเองที่ยุโรป กลับมาสั่งทอผ้าเตรียมผลิต การส่งสินค้าต้องตรงเวลา ต้องส่งลงเรือ ขึ้นเครื่อง มีความกดดันมาก”

“ก็ไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นเจ้าของร้านอาหาร แต่ว่า ตอนเด็ก ๆ เป็นคนทำอาหาร เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ที่ จังหวัดราชบุรี ทำเป็นตั้งแต่ปอกมะพร้าว ขูด คั้นกะทิ ตำน้ำพริก ทำให้แม่กับน้อง ๆ แม่เป็นคนทำอาหารเก่ง ทำขนมเก่ง เรียนรู้มาจากแม่”

จุดเริ่มของการคิดทำร้านอาหารนั้น จริง ๆ เกิดขึ้นเพราะ…

“เราทำธุรกิจผ้าไหม มีลูกค้ามาจากต่างประเทศ เราก็ต้องเป็นเจ้าของบ้านที่ดี พาเขาไปเลี้ยงรับรอง เขาก็อยากทานอาหารไทย แล้วร้านอาหารไทยดี ๆ ไม่ค่อยมี ต้องไปตามโรงแรม แต่ก็ยังไม่ถูกปาก เวลาพาเขาไปทาน เราถึงกับต้องกินข้าวไปก่อนเลย คิดในใจว่า สักวันจะทำร้านอาหารไทย เพื่อเติมช่องว่างนี้ ทำให้คนไทยสามารถพาต่างชาติไปเลี้ยงรับรอง ในร้านอาหารที่ตอบโจทย์ว่า เราต้องการอะไร ลูกค้าต้องการอะไร” ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ได้รับคำเอ่ยชมจากลูกค้ามากมายว่า ที่นี่คือร้านอาหารไทย ที่เป็นตัวแทน เป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยได้เลย

“เศรษฐกิจจะตกต่ำยังไง คนก็ต้องกิน” เมื่อความคิดตกตะกอนแบบนี้ บ้านขนิษฐา ร้านแรกก็เปิดที่ สุขุมวิท ซอย 23 (ประสานมิตร) ก่อนจะขยายไปจนมี 5 สาขา และยังมีร้านอาหารยุโรป Moon Glass, ร้านขนม, เรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงจะมีร้านอาหารจานด่วนในอีกเร็ว ๆ นี้

“เมนูก็อาหารพื้นบ้านเลยค่ะ น้ำพริกกะปิ ปลาทูทอด แกง เป็นเมนูที่คนไทยทานกันปกติ ตอนเริ่มเปิด เมื่อปี 1993 เมนูเป็นอาหารชาวบ้าน ต่อมาก็พัฒนาเป็นอาหารวิจิตร เริ่มค้นคว้าอาหารโบราณของไทย มาเริ่มทำ เช่น แกงสิงหล หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ เป็นปีกไก่ยัดไส้ด้วยหมู เอามาใส่เครื่องแกงคล้าย ๆ มัสมั่น แต่เข้มข้น หอมเครื่องเทศมากกว่า รสชาติอร่อยเข้มข้นถูกปากคนไทย ซึ่งต้นตำรับมาจากศรีลังกา ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ขายดีติดอันดับ หรือ แกงเหงาหงอด แกงนพเก้า บางเมนูก็คิดขึ้นมาเอง ที่อื่นไม่มี เช่น แกงสังข์ทอง”

“เราไม่เอาใจรสชาติแบบชาวต่างชาติ แต่เราเอารสที่เรากิน เป็นอาหารรสชาติกลาง ๆ ไม่จี๊ดจ๊าด ตอนเด็ก ๆ เคยทานยังไง ก็ทำอย่างนั้น เราเป็นคนราชบุรี ไม่ทานรสจัด เป็นรสชาติอาหารภาคกลาง ที่ใคร ๆ ก็ทานได้ง่ายค่ะ” คุณขนิษฐา เน้นย้ำในเรื่องรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของร้าน

เมื่อย้อนกลับมาคุยในเรื่องของกิจกรรม ความดื้อ ความซน ความเป็นนักกีฬาในตัว…

“เป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ เดินไปโรงเรียน บ้านอยู่ริมแม่น้ำ พายเรือ โดดน้ำได้ ว่ายน้ำเก่ง ไม่ได้เป็นคุณหนู ชอบกีฬา ชอบกระโดดโลดเต้น ไม่เป็นผู้หญิงมาก เคยได้เล่นกีฬาบ้าง แต่ก็น้อยมาก มาเล่นกีฬาอีกทีก็เทนนิสเมื่ออายุสามสิบกว่า เพราะตอนทำงานเสื้อผ้า ไม่มีเวลาส่วนตัวเลย ต้องทำงานตลอด ทำงานหนักมาก ไม่เคยได้หยุด จะไปส่งลูกเองยังไม่ได้ แต่พอมาทำร้านอาหาร เริ่มมีเวลาเป็นของตัวเอง ได้เล่นกอล์ฟ ไปต่างประเทศบ้าง มีเวลาให้กับครอบครัวเยอะขึ้น เล่นเทนนิส เริ่มตอนลูกอายุราวสองขวบ ลากไม้เทนนิสไปเล่นด้วยกัน เป็นกิจกรรมของครอบครัว เล่นด้วยกันทั้งบ้าน”

จนมาถึงกีฬากอล์ฟ… “สามีชวนเล่นกอล์ฟ ครั้งแรกก็ปฏิเสธ คิดว่าเป็นกีฬาของผู้ใหญ่ คิดว่าสี่สิบเมื่อไหร่ค่อยเล่น แล้วพออายุถึงก็เริ่มหัดจริง ๆ พอเล่นแล้วก็สนุก อยากให้ทุกคนได้เล่น สนุกตอนที่ตีไกลมาก ไกลกว่าผู้ชายอีก ความรู้สึกมันดีมากค่ะ สะใจ เล่นช่วงวันหยุด เพราะยังต้องทำงาน มีซ้อมบ้าง แต่ไม่คิดเอาจริงเอาจัง เอาแค่เวลาไปออกรอบแล้วเล่นได้ ไม่ขายหน้าคนอื่น ได้ออกกำลังกาย พบปะสังสรรค์”

เมื่อทำงานหนัก ก็ต้องพักบ้าง…

“พอมาทำร้านอาหาร เราไม่ต้องไปอยู่ใต้อาณัติใคร ทำมากเราก็ได้มาก ทำให้มีชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ได้ดูแลตัวเอง จากการทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง เหนื่อยมาทั้งวัน กลับบ้านได้เดินออกกำลังกาย ว่ายน้ำ เข้ายิมเล่นเวท ทุกวัน เป็นการผ่อนคลาย ตื่นตอนเช้าก็สวดมนต์ นั่งทำสมาธิ เดินสมาธิ ฝึกสติให้รู้ตัวตลอด ตอนทำเสื้อผ้า อายุยังน้อย ประสบการณ์น้อย ยังทำงานด้วยอารมณ์มากกว่าสติ ทุกวันนี้เย็นลงเยอะค่ะ”

และเมื่อถามถึงเคล็ดลับในการดูแลลูกน้อง ที่สังเกตว่า ส่วนใหญ่อยู่ด้วยกันมายาวนานโดยมิได้หนีหายไปไหน…

“ดุเขาก็ไม่โกรธ เพราะเราไม่ได้ดุแบบเอาเป็นเอาตาย หรือพูดจาหยาบคาย บางทีดุเขา เขากลับยิ้ม เราก็หายโกรธแล้ว เราดุแบบเอ็นดู” คุณขนิษฐา เล่าพร้อมกับหัวเราะ “ที่เขาอยู่กับเราได้นาน คงเป็นเพราะ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ว่าจะกับใคร ก็ให้ปฏิบัติกับคนอื่น เหมือนกับปฏิบัติกับตัวเอง ไม่ชอบยังไง ก็อย่าไปทำอย่างนั้น และต้องมีเมตตา ให้อภัยกัน”

ส่วนเคล็ด (ไม่) ลับ ในการดูแลตัวเองนั้น คุณขนิษฐา ได้ฝากไว้ก่อนจบบทสนทนาว่า…

“เรามีความสุขกับการเป็นผู้ให้ มากกว่าการเป็นผู้รับ เพราะให้แล้วมีความสุข เป็นคนทำบุญบ่อย ส่วนเรื่องการปฏิบัตินั้น เราเรียนทฤษฎีมาแล้ว เรายึดเหนี่ยวคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงไม่ไปวัด ก็ปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านได้ค่ะ”