อมยิ้มริมกรีน

ปรัชญาสร้างคุณภาพชีวิต…จากหม้อจับฉ่าย

ผมก็เช่นเดียวกับ คนทั่วไปในยุคนี้ ที่ จอสมาร์ทโฟน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตื่นมาต้องเสพมัน

ผมไม่ตาม สตาร์อินแกรมใคร อ่านเฟซบุ๊ก แต่ไม่เล่นเฟซบุ๊ก เพราะเห็นมาเยอะแล้ว เพื่อนคบกันมาแต่หัวเท่ากำปั้น เลิกคบกันตอนแก่เพราะ วิวาทะทัศนะไม่ตรงกันในเรื่องการเมือง ด่ากันเฟซบุ๊กกัน  เคยถามเพื่อนทั้งสองฟาก.. เวลามึงตาย นักการเมืองที่มึงยืนข้าง มันมางานสวดเผาศพมึงเปล่าวะ..แต่เพื่อนน่ะ ไปนะมึง

แค่ อ่านline กลุ่ม เยอะกลุ่ม ข่าวสารต่างๆใน time line /line today ก็เพียงพอต่อการเสพในต่อวันแล้ว เพราะมีให้ครบ ไม่ว่าเรื่องใด

เจอบทความดีๆ ก็เซฟเอาไว้ เอามา “ต่อยอด” เขียนต่อ ตามประสา

ท่านๆ อาจจะอ่านกันแล้ว จากการแชร์ในสื่อโซเชียลก็ได้

ซึ่ง มันจะเป็น การ รีเวิร์ส  เอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เพราะโลกยุคนี้ พื้นที่สื่อโซเชียล กว้างไกลมหึมา พื้นที่สื่อสิ่งตีพิมพ์ เหลือกระจิ๊ดกำลังจะฝ่อไปตามกาลเวลา

ก็ถือซะว่า เป็นหน้าที่การทำงานของ คนเขียนหนังสือ โลกเก่า ก็แล้วกันนะครับ..คือ เห็นอะไรดี ก็เอามาถ่ายทอดกัน

คนจีน มีองค์ประกอบชีวิตมากมาย ทั้งจากจารีตประเพณีสืบทอด มีความขยัน หมั่นเพียรในการทำมาหากินและการใช้ชีวิต มีปรัชญาในการดำรงชีวิตต่างๆ ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน   

มีข้อเขียนไม่น้อย ที่คนเขียน มีตัวละครดำเนินเรื่องเล่า ไม่ก๋งก็เตี่ย  เมื่อสักสี่สิบปีก่อน “อยู่กับก๋ง” เขียนโดย หยก บูรพา เล่าเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม อ่านแล้วกำซาบ

ที่ยกมานี้ มาจาก /เพจ รอยทางของเตี่ย/ ไม่ทราบชื่อคนเขียน  แต่อ่านก็เพลินดีครับ…

เตี่ยกับอาหมวย เดินจากตลาดมาถึงบ้าน ก็พอดีฝนเทลงมา

 สองพ่อลูกหันมายิ้มด้วยกันเหมือนกับจะบอกว่า เรารอดแล้ว..รอดจากเปียกฝน

   อาหมายหิ้วตะกร้าตรงเข้าครัว จัดการล้างผักให้เตี่ย โดยเตี่ยเป็นผู้กำกับ

 ..ผักมีดินติดอยู่ ต้องล้างผ่าน้ำก่อน แล้วค่อยลงแช่น้ำผสมด่างทับทิมนะ..

..ค่ะ เตี่ย เตี่ยบอกทุกครั้ง อั๊วจำได้..

เอาน่ะ เตี่ยยังคงอยู่ เตือน ลื้อก็รับฟังเอาไว้ วันหนึ่งข้างหน้า เสียงของเตี่ยก็ไม่มีแล้ว

อาหมวยหยุดมือ มองหน้าเตี่ย..เตี่ย พูดแบบนี้อีกแล้ว อั๊วไม่ชอบฟัง

ฃเตี่ย ไม่ตอบอะไร  อมยิ้ม มือยังคงล้างซี่โครงหมู ผ่านน้ำ

..ซี่โครงหมูนี่นะ ต้องล้างผ่านน้ำ เอามือถูให้ทั่วๆ เอาสิ่งสกปรก คราบเลือดออก แล้วค่อยซับให้แห้ง แบบนี้..ฃเตี่ยวางซี่โครงหมูลงบนเขียง ที่มีผ้าขาวบางสะอาดวางบนหน้าเขียง จับชายผ้าทั้งซ้ายขวา ขึ้นมาซับน้ำออกจากซี่โครงหมูจนหมาด จากนั้นดึงผ้าออก แล้วจึงสับให้ซี่โครงหมูเป็นท่อนสั้นๆ พอดีคำ

..ทำไมต้องซับด้วยผ้าให้แห้งคะ ประเดี๋ยวก็ลงหม้อ ยังไงก็เปียกอยู่ดี … อาหมวยถามด้วยความสงสัย

..ถ้าเปียก เวลาสับ น้ำก็จะกระเซ็น ไปเปรอะเปื้อน เสื้อผ้ายังไงล่ะ.. เตี่ยตอบ

เตี่ยหยิบซี่โครงหมูที่สับแล้ว ใส่ลงหม้อทีละชิ้นๆ ปากก็พูดว่า

..ปัญหาแต่ละอย่าง มันมีวิธีการแก้ไขที่ไม่เหมือนกัน แต่ความรุนแรงของปัญหา จะเบาบางลง หากเราใช้วิธีที่นุ่มนวล ก็เหมือนกับ การที่เราเอาผ้าซับน้ำก่อน ต่อให้ปังตอจะสับแรงแค่ไหน น้ำและเลือดจากซี่โครงหมู ก็ไม่กระเซ็นมาโดนเรา จริงไหม…

อาหมวยยิ้ม พยักหน้า ในครั้งกระโน้น ยิ้มเพราะไม่เข้าใจ จึงยิ้มไปอย่างนั้น

หากเมื่อวันเวลาผันผ่าน นึกถึงคำเตี่ยทีไร ก็ยิ้มกับตัวเอง

ยิ้มให้ในความคิดแยบยลของเตี่ย ที่สั่งสอนปรัชญาแห่งชีวิต ผ่านการทำอาหาร

เตี่ยหยิบผักแต่ละชนิด ออกมาจากกะละมังน้ำผสมด่างทับทิมแช่ผัก เอาขึ้นจากน้ำ ล้างน้ำสะอาดอย่างเบามือ ทีละชนิด ก่อนวางลงตะกร้าให้สะเด็ดน้ำ

ต่อจากนั้น เตี่ยบรรจงหั่นผักแต่ละชนิด ที่ต้องใช้คำว่าบรรจง เพราะเตี่ยตั้งใจลงคมมีดหั่นอย่างบรรจงจริงๆ

การทำอาหาร ของเตี่ย ดูเนิบๆ นิ่มนวล ดูไปก็เหมือนเตี่ยทำงานศิลปะมากกว่าทำกับข้าว อาจเป็นนิสัยของเตี่ยด้วย

..ใส่ซี่โครงหมูลงไปแล้ว เติมน้ำครึ่งหม้อ  แล้วยกไปตั้งเตาให้เตี่ยที..

อาหมวยทำตามที่เตี่ยสั่ง

..ตั้งไฟแรงก่อน ให้น้ำเดือดเลยนะ พอเดือดแล้วเบาไฟลง พอปุดๆ ช้อนฟองออกทิ้ง ให้น้ำใสๆ เอาฝามาปิดโดยแง้มไว้หน่อย ให้ความร้อนอวลในหม้อ เคี่ยวเรื่อยๆ ความหวานจะออกมาจากซี่โครงหมู

..บางสิ่งบางอย่าง ต้องรอเวลา อย่ารีบร้อน มันถึงจะหอมหวาน..เตี่ยพูดเบาๆ ดั่งราวรำพึง ขณะที่มือก็ยังหั่นผักไปเรื่อยๆ

เวลาผ่านไป ผักทั้งหมด เรียงหมดจรดตามสัดส่วนของมัน หัวไชเท้าหั่นหนา แยกออกมาจากตะกร้า

..เอาหัวไชเท้าลงไปก่อน เนื้อไชเท้าแน่น หั่นหนา สุกช้า ไชเท้าทำให้น้ำแกงหวาน ตัวมันเองยิ่งเปื่อย ยิ่งอร่อย..

..ค่ะ เตี่ย..

อาหมวยไม่ได้เทไชเท้าอย่างบรรจงลงหม้อ แต่ลงไปพรวดเดียวทั้งหมด ทำให้น้ำแกงกระเซ็นโดนแขนหลายที่ รีบวักน้ำเย็นลูบแขน คลายร้อน

เตี่ยยืนมอง ยิ้ม แล้วพูดเนิบๆ..เพิ่งสอนไปหยกๆ ว่า ความรุนแรงมักก่อปัญหา สร้างความเดือนร้อนตามมา ถ้าระวังแต่แรก ก็ไม่โดนน้ำร้อนลวก จริงไหม…

อาหมวยพยักหน้า ทั้งที่งอหยิกเหยเก

เตี่ยยกกระทะมาตั้ง บนหัวเตาอีกเตา ตักน้ำมันหมูใส่ พอร้อน ก็ลงกระเทียบสับ

มือขยุ้มก้านผักคะน้าและกวางตุ้ง ที่หั่นแยกออกจากใบมาก่อนหน้า ใส่ฉ่าลงไป พรางสอนว่า..ก้านผัดแข็งกว่าใบ ต้องลงน้ำมันให้นิ่มก่อน ส่วนใบไว้ลงทีหลัง แป๊บเดียวก็สลด..

..ส่วนกะหล่ำปลีหัว ต้องหั่นสี่ ลงตรงกลางแม่นๆ ให้ติดใจผัก ใบจะได้ไม่หลุดแยก เอาลงมาทอดนาบกับกระทะ ให้เหลืองเกือบเกรียมทั้งขอบ รสชาติจะดีมากๆ ไม่เหม็นเขียว ต่างกับที่จะหั่นลงไปต้มเฉยๆเยอะ ส่วนขึ้นฉ่าย เอาไว้ทีหลังสุด แต่ผัดสะดุ้งไฟพอแล้ว เพราะบางนิดเดียว..เตี่ยใช้มือทำไปตามขั้นตอน ปากก็พูดสอนไป

.. เตี่ยต้มจับฉ่าย ทำไมต้องแยกโน่นนี่นั่นคะ เดี๋ยวก็ลงไปตุ๋นเปื่อยให้หมอเดียวกัน..อาหมวยถามด้วยความสงสัย

..ใช่..จะหั่นรวบๆ แล้วใส่พร้อมกัน มันก็ได้ เป็นวิธีการทำของคนชุ่ยๆ มันมักง่ายไง ลื้ออยากเป็นคนมักง่ายหรือไม่..

อาหมวยส่ายหน้า คำว่าชุ่ย หรือ มักง่าย เป็นคำด่าที่รุนแรง ไม่ใช่แต่เฉพาะหมายถึงการทำอะไรลวกๆเป็นนิสัย แต่หมายถึง คนที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอน หรือ คนที่ไม่รับฟังคำสั่งสอน

ยามเมื่อเติบโต ทำงานเป็นนายคน  มีลูกน้อง ใครโดนอาหมายตำหนิ เป็นคนมักง่าย นี่ถือว่า ใช้ไม่ได้แล้ว

ผ่านไปหนึ่งชั่วโมง ต้มจับฉ่าย เริ่มส่งกระไอกลิ่นหอม

..เตี่ย กินได้หรือยังคะ อั๊วอยากกินแล้ว..อาหมวยเรียกร้อง

..กินน่ะ กินได้ แต่ยังไม่อร่อย ยังไม่ถึงเวลาของมัน อดทนไหม ถ้าอดทน ก็จะได้กินของอร่อยแน่  ..เตี่ยว่า

อาหมวยอดทน ใครจะไม่อยากกินของอร่อย

เวลาผ่านไปบ่ายคล้อย ตอนนี้จับฉ่ายของเตี่ย มาถึงจุดแห่งความอร่อยแล้ว

เตี่ยเพียง ปรุงรสด้วยดอกเกลือ ไม่มาก เพื่อขับรสความเป็นจับฉ่ายออกมา

การให้เวลากับการเคี่ยวตุ๋น ทำให้ความหวานของผักแต่ละชนิดเผยตัวออกมา รสหมูจากกระดูกซี่โครงหมูถูกรีดออกมาละมุนในน้ำแกง ผักทุกชนิดเปื่อยอ่อนนุ่ม หัวไชเท้าเปื่อยจนใส ดูดรสอร่อยเข้าไปในชิ้น แทบละลาย ละมุนลิ้น อย่างนี่กระมังที่เรียกว่า.. ทั้งรสทั้งเนื้อผักจับฉ่าย นวลลิ้น

เตี่ยนั่งลง ตรงกันข้ามอาหมวย…อร่อยไหม อาหมวย..

อาหมวยเงยหน้าจากชามข้าว ใช้ตะเกียบคีบกระหล่ำสีใสสวย ลงใส่ในชามข้าวของเตี่ย

..ที่สุดเลยค่ะ เตี่ย ผักทุกอย่างอร่อยจริงๆ หวานนุ่มนวลเท่ากันหมดเลย..

เตี่ย เคี้ยวกะหล่ำชิ้นนั้นจนหมด จึงวางตะเกียบ

..การทำอาหาร ก็เหมือนการใช้ชีวิต ในแต่ละช่วงวัย ทำหน้าที่ตามวัย ไม่ก้าวข้าม ไม่ต้องรีบโต

ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเรียนรู้ จากการดู การฟัง การพินิจด้วยเหตุด้วยผล ไปตามจังหวะของชีวิต ไม่ก้าวกระโดด

การเติบโตตามวัย รับผิดชอบในหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด..ก็ดีที่สุดแล้ว

นั่นทำให้ รู้จักคิด รู้จักลำดับความสำคัญ อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง เป็นการสร้างวินัยในการเดินทางชีวิต

อะไรก็ตาม ที่อยู่ถูกที่ถูกเวลา สิ่งนั้นจะสมบูรณ์ งดงามเสมอ

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรฝึกให้ลูก คือ ระเบียบ วินัย ความอดทน ต้องปลูกฝังกันให้เป็นนิสัย

เพราะนั่นเป็นยาขนานเอก ที่จะปกป้องลูก ไม่ให้เป็นคน มักง่าย โกรธง่าย พลาดพลั้งง่าย ในเส้นทางของชีวิต

                                                       / เพจ รอยทางของเตี่ย

ผมชอบเรื่องสั้นเรื่องนี้ ตรงที่  สอนปรัชญา ให้พ่อแม่ สอนลูกหลานว่า..ชีวิตต้องเดินไปอย่างสุขุมคัมภีรภาพ อย่างรู้ตน อย่างรู้ก้าว โดยเอาการต้มจับฉ่าย ดำเนินเรื่องทีละขั้นตอนให้เห็นภาพและปรัชญานี้

แต่วิถีนี้ก็เป็น เรื่องราวที่มาจากโลกเก่า คนรุ่นเก่า

ลูกหลานยุคนี้ มันไม่เชื่อบุพการี แต่เชื่อ “คนอื่น”  ปลุกระดมสนิทใจ พากันออกไปแสดงพลัง..ต่อต้านเผด็จการ ไม่อดทนอีกแล้ว ทุกอย่างต้องจบที่รุ่นเรา..ออกรวมกลุ่ม เดินขบวน ด้วยที่ สุดฮึกเหิม .. ชูสามนิ้ว

สมัยรุ่นปู่รุ่นพ่อ ชูสามนิ้ว คือ สัญลักษณ์ “คำสาบาน”ของลูกเสือ on my honour  I promise that

สมัยนี้ ชูสามนิ้ว คือ เลียนแบบ ภาพยนตร์ The Hunger Games  เป็นสัญลักษณ์แห่ง การต่อต้าน เป็นขบถต่อกฎ ท้ายทายอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการ

เป็นความเท่ เป็นเทรนด์ วัยรุ่นยุคนี้ ต้องหัวก้าวหน้า มีความคิดทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตย

เชื่อ ไอดอล ผู้นำ ชูสามนิ้ว ชวนปฏิวัติประชาธิปไตย  มากกว่าฟังพ่อแม่

สอนลูกหลาน   มันจะด่าซ้ำ คนแก่พูดมาก เบื่อ เลอะเทอะ

ปล่อยมันให้เห็นขี้ดีกว่าไส้ไปสักพัก..บทเรียนใคร ก็ต้องใครเจอจึงสำเหนียก

แต่อย่างน้อย อ่านข้อเขียนวันนี้ ใครที่ต้มจับฉ่าย ไม่เคยอร่อย ก็ได้ วิชาการต้มจับฉ่ายให้อร่อย

ทำตามเตี่ย ในท้องเรื่อง..อร่อยแน่นอนครับ (ลองตุ๋น หัวไชเท้า ใสเปื่อย รสกลมกล่อมซะปานนั้น)

ยอดทอง