Interview

ดร.ศศีนันท์ แก่นจันทน์หอม

ศศีนันท์ แก่นจันทน์หอม
SK Sport Trading Co., Ltd.

“อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ค่ะ” คุณปุ๊ก (ดร.ศศีนันท์ แก่นจันทน์หอม) หรือที่รู้จักกันดีกับฉายา “มาดามปุ๊ก” สาวเก่งคนแกร่ง ที่โลดแล่นอยู่ในวงการกีฬามายาวนาน ทั้งในฐานะนักกีฬาระดับชาติ และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ บอกถึงตัวตนเมื่อเริ่มบทสนทนา

“เป็นเด็กซน ๆ แก่น ๆ ชอบเล่นไปเรื่อย ปั่นจักรยานเที่ยวเอง ชอบออกกำลัง ไม่อยู่นิ่ง แต่เป็นคนโตช้า มีความเป็นเด็กเยอะ กว่าจะเป็นสาวก็ช้ากว่าเพื่อน ๆ ราว ม.5 โน่น” คุณปุ๊ก เล่าพร้อมอมยิ้ม

คุณปุ๊ก เป็นนักกีฬาสารพัดชนิดตั้งแต่เด็ก วิ่งแข่งระยะสั้นในรุ่นจิ๋ว ได้เหรียญตลอด จนเรียน ม.1 เส้นทางนักกีฬาทีมชาติจึงได้เริ่มขึ้น ณ โรงเรียนนารีรัตน์ จังหวัดแพร่ เมื่อโค้ช (อ.จิรภา สุวรรษา) เปิดรับสมัครว่าใครอยากจะเล่นยิมนาสติก ให้มาสมัคร “ตอนพี่สาวเรียน ม.1 เขาเล่นก่อน และเป็นทีมชาติด้วย ส่วนเราก็แอบดู อยากเล่นบ้าง พอเราขึ้น ม.1 สรีระได้ ตัวเล็ก ๆ แกร็น ๆ แต่ดูแข็งแรง จากนั้นก็เล่นมาตลอด”

ทั้ง ๆ ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ ต้องซ้อมกันแบบตามสภาพ ใช้แค่เบาะกาบมะพร้าว ตีลังกาทีฝุ่นคลุ้ง คานทรงตัวก็ไปตัดต้นไม้มาเหลาใช้แทนของจริง ใครไม่มีโอกาสขึ้นไปซ้อมข้างบน ก็ตีเส้นที่พื้นข้างล่างเล่นกันไป เวลามาแข่ง ต้องนั่งรถไฟชั้น 3 ปูหนังสือพิมพ์นั่ง ๆ นอน ๆ จนถึงหัวลำโพง

ถึงแม้จะขาดแคลนไปทุกสิ่ง ก็ใช่ว่าจะเป็นรอง… “บาร์ต่างระดับไม่เคยได้ฝึก ครั้งแรกที่แข่ง มาลุยหน้างาน เราไม่เคยเล่นมาก่อน แอบดูคนอื่นว่าเขาทำกันยังไง หัดกันเดี๋ยวนั้น ซ้อมตอนเช้า จนมือเป็นแผลเหวอะไปหมด โค้ชคอยเซฟให้ เบาะที่เคยใช้ซ้อม เป็นแค่ไส้กาบมะพร้าว พอมาเจอแบบมาตรฐาน แรงดีดมันเยอะมาก ตอนแรกคุมร่างกายกันไม่ได้ ลงมาล้มหมด ต้องปรับตัวกันเดี๋ยวนั้น ต้องทำให้ได้ จนกลายเป็นตีลังกาหลังได้สมบูรณ์ เพราะเราโดดได้สูงกว่าที่ซ้อม แล้ววันนั้นก็ได้รางวัล เป็นราชินีเหรียญทอง แชมป์กรมพลศึกษา” คุณปุ๊กเล่าด้วยความภาคภูมิใจ เพราะทุกครั้งที่มาแข่ง ประสบความสำเร็จตลอด ทีมชาติในยุคนั้น 7 คน มาจาก โรงเรียนนารีรัตน์ จ.แพร่ ถึง 5 คนด้วยกัน แน่นอนว่าเธอคือ 1 ในนั้น “ต้องขอบคุณยิมนาสติก ทำให้มีวินัยมาจนถึงทุกวันนี้”

คุณปุ๊ก ติดทีมชาตินักเรียนอาเซี่ยน จนถึงชั้น ม.6 ก็ติดซีเกมส์ที่กรุงเทพฯ “คัดตัวติดแล้ว แต่ต้องเลือกระหว่างเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ หรือเข้าค่ายเก็บตัวทีมชาติ ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกเอ็นทร้านซ์ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีใครดูแลนักกีฬาเหมือนตอนนี้เลย ตอนนั้นโดนต่อว่ามาก ๆ เพราะโค้ชได้วางตัวไว้หมดแล้ว พอเราออกก็ทีมก็ป่วน ทำใจลำบากมาก” แล้วเธอก็อำลาทีมชาติตั้งแต่ครั้งนั้น

“ใจจริงอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ชอบเที่ยว จะได้ออกไปดูแลคนที่อยู่ห่างไกล อย่างเช่น ชาวเขา ตอนเอ็นฯ ก็ไปแบบงั้น ๆ เพราะมีความเครียดจากเรื่องยิมนาสติก สุดท้ายสอบติด พลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชีวิตเหมือนดวงพามา เราติดโควต้าหลายแห่ง ไปมอบตัวที่วิทยาพลศึกษาเชียงใหม่เรียบร้อยแล้ว เพราะโค้ชของเราไปอยู่ที่นั่น แต่คืนนั้นพอผลเอ็นทร้านซ์ประกาศ วันรุ่งขึ้นนั่งรถทัวร์จากแพร่ เข้ากรุงเทพฯ คนเดียวเลย และประทับใจมากกับชีวิตใน ม.เกษตรฯ จนปริญญาทั้งสามใบ ตรี โท เอก จบที่นี่ทั้งหมด”

คุณปุ๊กบอกว่า ม.เกษตรฯ ทำให้เธอต่อสู้ชีวิต ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์เลวร้ายได้ดี ถึงแม้จะล้มกี่ครั้ง ก็ยังลุกได้เสมอ ผ่านการประชุมเชียร์ รับน้อง จากเด็กที่ไม่ถึงกับคุณหนู แต่ก็ไม่เคยทำอะไรหนัก ๆ มาที่นี่ รุ่นพี่สั่งอะไรต้องทำได้หมด แม้กระทั่งลงปลักควาย ร้องไห้ตลอดสามเดือน แต่ก็สู้กับเพื่อนไม่มีถอย ได้ออกค่าย ฝึกตัวเองให้อดทน “เข็ดตั้งแต่ค่ายแรก จะไม่ไปอีกแล้ว แต่พอขึ้นปีสอง เปิดรับสมัครหัวหน้าทีม ก็ไป ปีต่อมาก็ไปอีก สรุปว่าไปค่ายตลอด” เธอเล่าแบบหัวเราะร่วน…

“ตอนเข้าเรียนก็รู้จักว่าเราเป็นทีมชาติยิมฯ มีการแย่งตัวเอาไปเล่นกีฬาอื่น ซอร์ฟบอล กรีฑา ฯลฯ ทุกอย่างผ่านการทดสอบหมด แต่เป็นคนไม่ชอบวิ่ง จนมาถูกใจฮ็อคกี้ เล่นแล้วสนุก ตอนนั้นรุ่นพี่ที่เป็นประตูทีมชาติใกล้จบ ทีมขาดตัวพอดี เลยไปฝึก เราน่าจะเป็นประตูคนแรกที่ไม่ล้มตอนรับลูก ใช้วิธีแยกขา บิดตัว แล้วลุกขึ้นมาทัน ทำให้มือยังป้องกันลูกได้อีก อาศัยความยืดหยุ่นจากยิมนาสติก เคยแข่งกับทีมแข็งกว่า ถูกพับสนามบุก แต่เชฟไว้ได้หมด แมทช์นั้นเลยแจ้งเกิด พอไปคัดตัว ก็ติดทีมชาติตั้งแต่ปี 1 ได้เล่นซีเกมส์ 2 ครั้ง”

ระหว่างนั้น คุณปุ๊ก เล่นกระโดดน้ำด้วย พัฒนาไปจนถึงติดทีมชาติ แต่ต้องเลือกว่าจะเล่นฮ็อคกี้หรือกระโดดน้ำ “ซ้อมฮ็อคกี้ตีห้า เสร็จเจ็ดโมงกว่า นั่งรถเมล์ไปซ้อมกระโดดน้ำตอนบ่ายสอง ที่ กกท. เสร็จแล้วต้องกลับมาซ้อมฮ็อคกี้อีก ทำแบบนี้อยู่เดือนกว่า จนต้องเลือก ใจอยากเล่นกระโดดน้ำ เพราะเราเป็นนักยิมฯ แต่การฝึกมันยากมาก หนักมาก เทียบแล้ว ฮ็อคกี้ สะดวกกว่า พอปีสี่ ต้องฝึกสอนก็ลำบากอีก เช้าซ้อมเสร็จแล้วต้องไปฝึกสอน เย็นกลับมาซ้อมอีก จนไปแข่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าทำได้ยังไง”

เล่นกีฬาก็หนักแล้ว…

“เป็นคนสุดโต่งเหมือนกัน ตอนเรียนคิดไว้แล้วว่า จะต้องเรียนให้เก่ง ใครจะมาดูถูกพลศึกษาไม่ได้ว่าเป็นนักกีฬาแล้วจะเรียนไม่เก่ง บอกเลยว่า เดี๋ยวจะทำให้ดู แล้วก็เรียนจนจบภายในเวลาสามปีครึ่ง ด้วยเกรด 3.55 แต่ไม่ได้รับเกียรตินิยม เพราะไม่จบสี่ปีตามข้อกำหนด ถ้าอยากได้ต้องไปลงเรียนให้ครบ คิดแล้วไม่เอาดีกว่า อยากทำงาน”

พอจบได้งานเป็นนักข่าวหญิงของ นสพ.วัฏจักร และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นนิสิตดีเด่นและนักกีฬายอดเยี่ยมของ ม.เกษตรฯ เพราะสถานภาพยังเป็นนิสิตอยู่ จึงได้เล่นกีฬามหาวิทยาลัยขณะที่ทำงานไปด้วย ต้องต่อรองกับเจ้านายขอไปแข่ง “ตอนนั้นถูกถามว่า แล้วถ้าให้ไปแข่ง จะทำประโยชน์อะไรให้กองบรรณาธิการ ท่าทางคือไม่อยากให้เราไป ก็ตอบไปว่า ก็จะได้ข่าววงในที่คนอื่นคงทำไม่ได้” เธอจึงได้ไฟเขียว

ชีวิตคุณปุ๊กต้องเลือกอีก ระหว่างไปเป็นครูที่กำแพงเพชร สอบบรรจุได้จนไปรายตัวกับผู้ว่าฯ เรียบร้อย แต่ไม่ไปทำงาน เพราะสอบติดปริญญาโทที่ ม.เกษตรฯ สาขาเดิม “รู้สึกผิดมาก ๆ กับเหตุการณ์นี้” คุณปุ๊กเล่าว่า ลำบากใจอยู่พักใหญ่ เพราะทำให้ราชการเสียหาย

ระหว่างเรียนโทได้ครึ่งทาง โรงเรียนกีฬา สุพรรณบุรี เปิดรับสมัครโค้ชยิมฯ ก็ไปสอบบรรจุได้ทำงานที่นั่นควบคู่ไปด้วย “ไปขอผอ. ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย  ทุกวันพฤหัสจะต้องไป-กลับสุพรรณด้วยรถทัวร์เที่ยวสุดท้ายซึ่งแน่นมาก ไม่เคยได้นั่ง ยืนไปตลอดเส้นทาง จนเรียนจบด้วยความยากลำบาก อุปสรรคเยอะ แต่ก็ทำทีมยิมฯ จนได้เหรียญ ทำงานหนักได้รับคำชมจากผู้ใหญ่ แต่กลับไม่มีผลงาน ถึงภูมิใจแต่ก็ไปต่อไม่ไหวแล้ว ขอลาออก แต่ผู้ใหญ่ไม่อนุมัติ เรียกไปคุยด้วย จนเธอยืนกรานว่า “ถ้าไม่เซ็นให้ ก็จะหนีราชการ” เพราะอยู่ต่อไม่ไหวแล้วจริง ๆ “ตอนออกร้องไห้เลย ผูกพันกับเด็ก ๆ มาก ติดต่อกันจนถึงทุกวันนี้”

จากกีฬา คุณปุ๊ก ข้ามไปอยู่โรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งไม่น่าจะไปด้วยกันได้…

“ถ้าทำผิดอะไร รบกวนบอกด้วยนะคะ ปุ๊กรับได้ทุกสถานการณ์” เธอมารู้ภายหลังว่า ได้งานเพราะประโยคนี้…ทำหน้าที่ฝ่ายจัดซื้อต่างประเทศ ควบคู่ไปกับฝ่ายบุคคล

“พลศึกษาทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นข้อสอบ” เสียงหัวเราะของคุณปุ๊กดังอย่างแจ่มใส “แต่เดินไปไหน พนักงานแผนกอื่นก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เลยเสนอให้จัดกีฬาสีระหว่างแผนก เพราะเราถนัดเรื่องนี้อยู่แล้ว เล่นกีฬาง่าย ๆ กันในโรงงาน พนักงานชอบใจ ทุกอย่างก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ในโรงงานดีขึ้น”

“พอฝ่ายจัดซื้อขาดคน เห็นว่าเราจบวิชาโทภาษาอังกฤษมาด้วย เลยให้ลองเขียนแฟกซ์ไปต่างประเทศ ดูแบบแล้วหัดเขียนตาม รู้สึกว่าทำได้ ไม่ยาก จนขึ้นเป็นผู้ช่วยฝ่ายจัดซื้อต่างประเทศ หัวหน้าเห็นแวว ก็ส่งมาเรียนหลักสูตรชิปปิ้ง”

ระหว่างทำงาน คุณปุ๊กก็ยังเป็นผู้ตัดสินยิมนาสติกของสมาคมฯ โดยทำหนังสือขอตัวกับบริษัทให้ไปช่วยงาน “เจ้าของให้ไป แต่หัวหน้าไม่ให้ไป ตอนนั้นเราก็ยังเด็ก ไม่รู้ว่าจะจัดการชีวิตอย่างไร พอถูกตำหนิ เกิดความสับสน รู้สึกไม่สบายใจ จึงขอลาออก”

ชีวิตหักเหอีกครั้ง เมื่อได้เข้าไปทำงานกับบริษัทอุปกรณ์กีฬารายใหญ่ของประเทศ จนทำให้เธอได้ก้าวเข้าสู่วงการสินค้ากีฬา จากลูกจ้างกินเงินเดือน ก้าวขยับไปตามจังหวะธุรกิจ จนมีประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต พออายุ 29 จึงได้เริ่มเปิดบริษัทของตัวเอง โดยเน้นการนำเข้าสินค้า เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่า แต่คุณภาพก็สูงตามไปด้วย…

และเมื่อมีโอกาส คุณปุ๊กจึงเรียนต่อปริญญาเอกที่ ม.เกษตรศาสตร์ ในคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาการจัดการกีฬา โดยทำหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ เรื่อง “เกณฑ์การตัดสินใจคัดเลือกผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศของผู้ผลิตสินค้าวิทยาศาสตร์การกีฬา”

ใครอยากจะเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศ สามารถนำดุษฎีนิพนธ์ไปอ่าน แล้วนำข้อมูลไปใช้ได้เลย ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน ถึงจะได้รับเลือก โดยไม่ต้องเสียเวลาไปลองผิดลองถูกเอง

“เราเป็นคนธรรมดา แต่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ระดับโลกหลายยี่ห้อ เช่น อุปกรณ์ยิมนาสติก SPIETH และ Janssen – Fritsen ของเนเธอร์แลนด์ ตอนนี้ได้รวมเป็นของเยอรมัน ซึ่งก็เป็นพี่น้องกัน ส่วนเครื่องวิเคราะห์เกมส์การแข่งขัน SportsCode ของออสเตรเลีย แต่ตอนนี้เป็นของอเมริกาไปแล้ว เครื่องทดสอบสมรรถภาพทางกายด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นของเกาหลี ที่เลือกเกาหลีก็เพราะค่ามาตรฐานเป็นเอเชียใกล้เคียงกัน ทุกอย่างที่นำเข้า คัดเลือกมาเฉพาะสินค้าคุณภาพ แม้ว่าเราสู้ไม่ได้เรื่องราคา แต่สู้ด้วยคุณภาพ”

“การเรียนจบปริญญาเอก ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ เราเองก็อยากสอน เคยเป็นอาจารย์พิเศษที่ ม.เกษตร กำแพงแสน สอนเทคโนโลยีทางการกีฬา หยุดสอนไปเพราะมีลูก แต่ด้วยความเป็นนักวิชาการ เป็นครูมาก่อน รู้สึกอยากสอน อยากให้ สิ่งที่เราเจอมา ทั้งชีวิต การงาน อยากแบ่งปันประสบการณ์ให้คนอื่นได้รับรู้บ้าง อยากให้คนที่คิดว่า ฉันไม่มีอะไรเลย ชีวิตนี้จะทำยังไง ซึ่งเราทำให้ดูแล้ว ว่าเป็นไปได้ นักกีฬาก็มีความสามารถทางด้านอื่นได้ด้วย มันอยู่ที่คน ถ้าต้องไปซ้อม แล้วทิ้งการเรียน ไม่ทำอย่างอื่นเลย แบบนี้ก็ไม่ใช่ แต่ทุกอย่างไม่ได้มาง่าย ๆ ขึ้นอยู่ว่าคุณจะทำหรือเปล่า”

ถึงจะเล่นกีฬาจนมีทักษะระดับทีมชาติ แต่กว่าจะได้รู้จักกอล์ฟก็นานพอสมควร…

“เจ้านายมาเปิดแบรนด์กีฬากอล์ฟ ตอนนั้นช่วยทำการตลาดบ้าง จนได้เริ่มฝึกเล่นกอล์ฟตั้งแต่ตอนนั้น ด้วยความเป็นนักฮ็อคกี้ และมีพื้นฐานยิมฯ อยู่ด้วย แข็งแรง อาศัยตีทุกวันก็เก่งไปเอง ถ้าเล่นกอล์ฟชอบเดิน ได้ออกกำลัง ไปแข่งทีไรมักจะได้แชมป์ตีไกลตลอด ช่วงที่เล่นบ่อย ๆ ตี 36-37 ไม่เกิน 40 แต่เล่นดีแค่ไหนก็ไม่เคยคิดเทิร์นโปร เพราะคิดว่าเราไม่เก่งพอ จำกติกาไม่ค่อยได้ เน้นสนุกสนาน ชอบกอล์ฟมากจนซื้อบ้านในสนามกอล์ฟ คิดว่าจะตีกอล์ฟทุกวัน จนมามีลูกคนที่สอง แล้วเกิดวิกฤติอีก ก็หยุดหมดเลย เว้นไปพักใหญ่ พอทุกอย่างคลี่คลาย ก็หันมาออกกำลังกาย ทั้งต่อยมวย โยคะ จักรยาน วิ่ง ขี่ม้า และกอล์ฟ เล่นแทบทุกอย่าง ยกเว้นกีฬาใช้เท้าเล่นไม่เก่ง ไม่ถนัด”

เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการทำชีวิตให้มีความสุข… “คำสอนพระพุทธเจ้า ดีที่สุดค่ะ อาศัยฟังพุทธวจน เป็นคำสั่งสอนจากพระโอษฐ์ แล้วจับใจความมาใช้ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ศีล 5 ต้องมีเสมอ ช่วยใครได้เป็นช่วย ยินดีด้วยกับคนอื่น ที่ประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะทำได้ต้องฝึกอยู่นานเหมือนกัน เมื่อก่อนตอนมีปัญหาเลยกลายเป็นคนคิดลบ ทำให้ชีวิตเครียด คิดยังไงก็แล้ว ไม่จบสักที เพราะเคยถูกเอาเปรียบมาก่อน จนรู้สึกระแวง ทำให้ชีวิตต้องปิดประตูไม่คบใคร ไม่เข้าสังคม แต่เดี๋ยวนี้ สบายมากค่ะ ถือหลักว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เดี๋ยวมันก็ดีเอง”

“เมื่อก่อนไม่เข้าใจคำว่า “ปล่อยวาง” แต่หลังจากชีวิตได้เจออะไรมาเยอะ ก็ยิ่งเข้าใจเยอะ เราไม่ได้สุขทั้งวัน ไม่ได้ทุกข์ทั้งวัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เดี๋ยวมันก็ผ่านไปตามหลักไตรลักษณ์ ยิ่งช่วงวิกฤติ ถ้าคิดแบบนี้ไม่ได้ อาจจะเป็นบ้าไปเลย ชีวิตต้องอยู่ได้ ลูกเราต้องรอด พ่อแม่ต้องสุขสบาย ที่ผ่านมาได้ก็เพราะกำลังใจจากลูก ๆ และ พ่อแม่ เดี๋ยวนี้เย็นลงมาก เย็นลงจนบางทีตัวเองก็ยังไม่อยากจะเชื่อ เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนคงบู๊สุดฤทธิ์ อาจเป็นเพราะผ่านเรื่องหนัก ๆ มาเยอะแล้ว แต่ทุกครั้งที่กำลังจะแย่ ก็รอดมาได้เสมอ”

“ถ้าถามว่าตอนนี้อยากทำอะไรบ้าง คิดเหมือนกันว่า อยากไปอยู่วัดปฏิบัติธรรม แต่ถ้าตอนนี้ยังทำไม่ได้ ก็ขอไหว้พระสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม มีความสุขแบบไม่ยึดติด ออกกำลังกายบ้าง เล่นกอล์ฟบ้าง แค่นี้ก็มีความสุขตามสไตล์เราแล้วค่ะ”