ความเสี่ยง โควิด ยก2 จะมาไหม
ประเทศไทยเราประสบความสำเร็จ “เก่งที่สุดในโลก” ในการป้องกันภาวะแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จากนโยบายของรัฐบาลลุงตู่ ที่ยึดมั่นในหลักการ ชีวิตประชากรมาก่อนเศรษฐกิจ ยกให้องค์กรสาธารณสุขเป็นพระเอก เรื่องอื่นถอยฉากออกไปก่อน ค่อยว่ากันทีหลัง
ไม่มีที่ไหนในโลก ที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน “ออกสตางค์”ทุกบาททุกสตางค์ ไปกับการปกป้องประชากร
ระบบ quarantine กักตัว14วัน ดูแลอย่างดี ฟรีกับผู้คนที่เข้ามาในแผ่นดิน ในประเทศ คนติดเชื้อ ป่วยก็รักษาฟรี รัฐบาลใช้พรบ.ฉุกเฉิน ให้อำนาจกับ ศบค. มท. ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2020 ทำงานได้อย่างเต็มที่ ทุ่มงบทุ่มสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขมหาศาล
ส่วนหนึ่งที่บ้านเราดีกว่าประเทศอื่น คือ ประชากรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี อยู่บ้านช่วยชาติ รู้อะไรควร ไม่ควรในภาวะเช่นนี้
ความสำเร็จของรัฐบาลงลุงตู่ในการนี้ ก็ “ทุ่ม”สุดหน้าตัก ทั้งงบประมาณ ทั้งบุคคลากรและนโยบายที่เฉียบขาดตลอด
ทำให้มี “จุดอ่อน”กระการหนึ่งคือ..ถ้าหาก ไวรัสโควิด-19 มันกลับมาขึ้นเวทีชก ยกที่2 เกิดการแพร่ระบาดอีก รัฐบาลไทยเรายังจะมี “พลัง” สู้ต่อต้านมันได้ขนาดไหน
มีผู้รู้หลายคนวิเคราะห์ว่า..รัฐบาลใช้สรรพพลังแทบทั้งหมดไปหมดแล้ว ทั้งเงินทั้งบุคลากร กับการปกป้องในยกแรก จึงจะไม่มีศักยภาพ ประสิทธิภาพเท่ากับที่เคยทำได้
ไม่ใช่หย่อนยาน แต่ พลังมันเหือด เคยชกสู้มัน 100% ยก2 จะเหลือถึง 65% ไหม?
ศบค. ประกาศชัดเจนมาก่อนหน้านี้นะครับว่า รัฐไม่จ่ายให้ในระบบ quarantine กักตัว14วัน กับผู้ที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว นับแต่นี้ต้องจ่ายเอง ต่อไป ทุกคนที่เข้าหรือออกประเทศ ต้องมีใบตรวจโรคและ ประกันโควิด-19 (เพื่อมีเงินรักษา ไม่ใช่รัฐจ่ายให้) คนติดเชื้อ คนป่วย ก็ย่อมต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาตัวเองบ้างแล้ว
เพราะเงินงบประมาณกับการนี้ ใช้ไปมากมามหาศาล ไม่เหลือพอที่จะเป็นบริการสาธารณะแบบเดิมแล้ว
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ “คนทำงาน” ทุกหน่วยงานสาธารณสุข การปกครองกระทรวงมหาดไทย ทำงานหนักมาตลอดในครึ่งปีที่ผ่านมา มีขีดจำกัดในพลังทำงาน ถ้ามียก2 ย่อมถดถอย ล้า และสู้ไม่ไหว
ขณะที่ กำลังกังวลกับ คำถาม ไวรัสโควิด-19 มันจะเข้ามาเมืองไทย เป็น ยก2 ไหม?
“ตัวอย่าง” ในประเทศจีน ที่เป็นประเทศที่มี มีนโยบายเข้มงวดสุดๆแล้ว ก็ยังมีการอุบัติแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 กลางกรุงปักกิ่ง
ซ้ำหลายประเทศ มีสถิติ ไวรัสโควิด-19 ฟู ขึ้นมาอีก
มันมาอย่างไร อุบัติอีกคำรบสอง ตัวไวรัสเองมันจะ mutation แปลงพันธุกรรมร้ายแรงกว่าเดิมหรือไม่
ล้วนเป็นคำถามที่น่าพรั่นพรึงทั้งสิ้น
ทุกอย่างดูจะเป็นรอยโหว่ เพราะ ผนังกำแพงที่สู้มาตลอด ย่อมมีรอยปรุแล้ว ถ้าพัง ก็จะพังภินท์ดั่ง เขื่อนแตก รุนแรง เอาไม่อยู่ ยิ่งกว่า ยกแรกที่ สร้างทำนบกั้นมันไว้
จึงมี แพทย์ นักวิชาการ หลายคนเตือน หากไวรัสโควิด-19มารอบ2 จะเป็นภาวะ เขื่อนแตก อย่า “การ์ดตก” เด็ดขาด
รัฐบาลลุงตู่ ศบค. ตระหนักในเรื่องนี้ดี
แต่จะยึดโยบาย “ปิดประตู” ก่อกำแพงให้หนา ปิดฝาดานไปเลย ไม่ให้ใคร imported เป็นพาหะนำเข้าไวรัส กิจกรรมสังคมในประเทศ ก็ยัง “ฟรีซ”คงเดิม ไม่ให้โอกาสการต่อเชื่อมแพร่กระจายเชื้อไวรัสอุบัติขึ้นให้ได้
ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน
วิถีของการอยู่ร่วมในสังคมโลกสากล ที่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อในธุรกิจ บ่มรักษาเศรษฐกิจการค้า จึงไม่อาจถึงขั้น ปิดพรหมแดนได้ ทั้งประชากรในประเทศ มีวิถีเป็นสัตว์สังคม ที่มีกิจกรรมเชื่อมต่ออะไรมากมาย ทำงาน ค้าขาย ทำมาหากิน เรียนหนังสือ สนุกบันเทิง ฯลฯ สารพัดในชีวิตจมคลั่กสังคมมนุษย์.
จะกักกูอะไรหนักหนา คนนะ ไม่ใช่สัตว์จะได้ จับใส่กรง อ้างกลัวโควิดระบาด
เข้มงวดมาก เพื่อการหนึ่ง อาจฉิบหายบานปลายในอีกหลายการ..ไม่ต่างกัน การอุดปากกาต้มน้ำร้อน ไม่ระบายไอน้ำ ก็ระเบิด
ไม่ว่าจะวิตก การกลับมายก2ของไวรัสโควิด แค่ไหน รัฐบาลก็ต้อง “เปิดแง้มประตู หน้าต่าง” บ้างแหละครับ
นั่นคือ การผ่อนคลายกฎกติกาเข้มงวดต่างๆ ไปเรื่อยๆ ให้เกิดสภาพ ภาวะปรกติ
ผับ บาร์ โรงนวด ธุรกิจบันเทิงเปิดได้แล้ว โรงเรียนเปิดได้แล้ว คือ สัญญาณผ่อนปรนกันแทบเต็มที่ ประชาชนสามารถทำอะไรได้ตามปรกติที่เคยปฏิบัติ ในยุค new normal
การต่อสู้กับ ไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล นับแต่นี้ ประชาชนออกมาอยากทำอะไรทำ ตามสิทธิเสรีภาพ
รัฐบาลไม่ตั้งตนเป็นกำแพงกั้นอันตรายข้างหน้าแล้ว
แต่จะ”ถอยฉาก” อยู่ในหลืบ ตาจ้องเขม็ง ระแวดระวังภัย แบบ รถป่อเต็กตึ้ง ร่วมกตัญญูกู้ภัย พร้อมทะยานออกไปในวินาทีที่มีสัญญาณเกิดภัย
โรงเรียนก็เปิดแล้วนะครับ..
ใครที่มีลูกในวัยลูกเจี๊ยบ หรือเด็กมัธยมปลายก็เถอะ อาจหนักใจ ประสาทกินบ้างว่า..ลูกจะติดไวรัสโควิด-19 ในวิถีประจำวันหรือเปล่า
เด็กเล็ก ไม่มีวุฒิภาวะควบคุมตัวเอง ยามเขาสนุก เริงร่า หัวร่อ กอดใครก็ได้ในโรงเรียน ไม่ว่าเพื่อน หรือครูพี่เลี้ยง ที่เดินทางมาจากไหน บังเอิญเป็นพาหะไวรัสหรือเปล่า?..ไม่มีใครตอบได้
เช่นเดียวกับเด็กมัธยม เดินทางมาโรงเรียนด้วยระบบขนส่งมวลชน หรือบ้านรวย มีรถส่วนตัวมาส่ง ยามรวมหมู่เพื่อน ย่อมลืมตัว พูดคุย เฮฮา กินข้าวโรงอาหาร เตะบอลเล่นกัน ก็ตอบไม่ได้ว่า มีโอกาสติดเชื้อไวรัสจากใครได้บ้าง..มันไม่ต่างกับ ติดเชื้อหวัดแหละ คนหนึ่งจามทีเดียว โดนไปอีกยี่สิบคนในห้องเดียวกัน
เด็กกลับไปบ้าน บ้านที่มีปู่ย่าตายายรักหลาน กอดรัดหอมเอ็นดู คนแก่ ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดไวรัสโควิดจากเด็กเล็ก..ถึงตายได้
แล้วบรรดาบุคลากรทางการศึกษา ครู พนักงานโรงเรียนอีกล่ะ?
เดินทางมาจากสารทิศใดเพื่อรวมตัวควบแน่นใมสถานที่เดียว สถานที่หนึ่ง
นี่เพียง สังคมๆหนึ่ง ยังไม่นับในมหภาค ที่มนุษย์เดินทางหมุนเวียน เบียดเสียดแบบเดิมๆ
อาการ “การ์ดตก” ก็มีอีกเยอะเห็นๆตามที่สาธารณะ ไม่ใส่หน้ากากมาสก์กันแล้ว อ้างอึดอัด สิ้นเปลือง
กลัวห่าอะไรกับโควิด มันหมดจากประเทศไทยไปแล้ว
มันแค่ภาพหลอก เขียนเสือให้วัวกลัวของรัฐบาล ที่ต้องการรั้งพรบ.ฉุกเฉิน ริดรอนเสรีภาพประชาชนไว้เท่านั้น
เหล่านี้ ล้วนเป็น “ความเสี่ยง” ในชีวิตประจำวัน ที่เราเดินออกจากบ้าน มาใช้ชีวิตตามปรกติในสังคมทั้งสิ้น
ในความเสี่ยงนั้น เราเอง ฐานะประชากรชาวบ้าน ต้องยึดคติ อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ดูแลตัวเองให้ดีครับ
ใช้สามัญสำนึกตัวเอง เป็นโล่ป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัว อย่าไปพลาดติดเชื้อโควิด ถ้ามันจะมารอบ2
ไม่ใช่หวังพึ่งรัฐบาล ออกกฎกติกาใดๆ มาบังคับ แล้วก็ปฏิบัติตามด้วยความคับแค้น
คุณจะเป็นใครดี?..ระหว่างเด็กโง่ๆที่ดิ้นๆ แหกปากร้องเวลาพ่อแม่ฉุดกระชากลากถูบังคับ เพราะรถมันจะมาทับ
กับ เด็กที่ลุกเดินไปได้ด้วยตัวเองได้ ด้วยฉลาดพอ ..รู้อะไรคือความปลอดภัย
ยอดทอง