ทักษะของการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม
Pyramid ของทักษะทางด้านจิตวิทยาการกีฬา
ในการเล่นกอล์ฟ ตอนที่ 4
ทักษะของการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม
นอกจากทักษะการสร้างและรักษาการมีทัศนคติในทางบวกในการเล่นกีฬา และทักษะของการที่ความสามารถในการรักษาแรงจูงใจในการเล่นกีฬาที่ผ่านมาแล้ว ในฉบับนี้เรามาต่อกันด้วย ทักษะของการกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสม เป็นจริง ก่อนที่จะสรุปในทักษะพื้นฐานด้วยทักษะทางจิตวิทยาสุดท้าย คือ ทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจและจัดการกับสังคมได้ดีในฉบับหน้า
วิธีการหนึ่งที่เราสามารถต่อจากการมีทักษะในการรักษาแรงจูงใจ คือการมีทักษะในการกำหนดเป้าหมายในการเล่นกีฬาของเรา มีการกล่าวว่าคนเราจะไม่หยุดทำอะไร หากยังทำสิ่งนั้นไม่สำเร็จ
แน่นอนถ้ามนุษย์เรามีธรรมชาติลักษณะแบบนี้ และการที่นักกีฬามีความจำเป็นที่ต้องมีทักษะกีฬา มีกายที่ดีและจิตใจที่เข้มแข็งที่เกิดจากการฝึกซ้อมอย่างหนักและต่อเนื่อง การกำหนดเป้าหมายในการเล่นกีฬาทุกครั้งจึงเป็นทักษะที่ควรสร้างให้มีติดตัวและเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวนักกีฬาตลอดไป จนเป็นอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามนอกจากในเชิงปริมาณแล้ว การกำหนดเป้าหมายก็ต้องมีในเชิงคุณภาพด้วย ในอันดับต่อไป เรามาทราบกันว่าการกำหนดเป้าหมายเขามีหลักการอย่างไรในเชิงคุณภาพ
หลักการในเชิงคุณภาพของการกำหนดเป้าหมาย ที่ช่วยให้นักกีฬาจำได้ขึ้นในภาษาอังกฤษ เขาใช้คำย่อว่า SMART ที่มาจากคำเต็มๆคือ S = Specific M = Measurable A = Authority R = Recognition และ T = Time การกำหนดเป้าหมายในการเล่นกีฬาให้มีคุณภาพทุกครั้ง ถ้าเราสามารถทำตามหลักการนี้ เราจะสามารถเล่นกีฬาประสบความสำเร็จแน่นอน
S = Specific (ความเฉพาะเจาะจงในการกำหนดเป้าหมาย) หากเรากำหนดเป้าหมายกว้างๆ หรือเกือบจะไม่มีเป้าหมายเลยนั้น ความตั้งใจ หรือมีสมาธิในกิจกรรมก็จะมีไม่มากเพียงพอที่จะเล่นให้มีประสิทธิภาพได้ นักกีฬาหรือโค้ชต้องมีความชัดเจนว่าเราจะทำอะไร จะสวิง จะมองลูก จะปักหมุด ฯลฯ การกำหนดกว้างๆว่าจะตีให้ดี จะเล่นตามที่ซ้อมมา จะช่วยได้ไม่มากเมื่อเทียบกับเรากำหนดให้เฉพาะ ชัดเจนหรือเจาะจงสิ่งที่จะทำ
M = Measurable (เป้าหมายที่สามารถวัดหรือประเมินได้) เมื่อกำหนดชัดเจนแล้วว่าจะทำอะไร ให้มั่นใจว่าสิ่งนั้นเราสามารถนับได้หรือวัดได้ เช่น จำนวนครั้ง ระยะ เหตุผลคือเพื่อให้เกิดสมาธิในตัวเองและเพิ่มความมุ่งมั่นที่จะงานให้เสร็จลุล่วง
A = Authority (การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รับผิดชอบ) การที่นักกีฬามีส่วนร่วมในการฝึกหรือทำกิจกรรมอะไรก็ตาม นั่นสะท้อนให้เห็นถึงการมีความรับผิดชอบเข้าไปร่วมด้วย และเมื่อมีความรับผิดชอบในการทำสิ่งใด ความมุ่งมั่น ตั้งใจให้บรรลุเป้าหมายก็จะเกิดขึ้น
R = Recognition (การยอมรับ ขวัญกำลังใจ) ถึงแม้ว่านักกีฬาจะพยายามทำตามที่ได้กำหนดไว้แต่ต้น แต่ความมุ่งมั่นทุ่มเทจะง่ายขึ้นและอยู่จนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หากระหว่างทางนักกีฬาได้รับการยอมรับและได้รับขวัญกำลังใจ ยินดีในการทำสิ่งดีๆเป็นระยะๆ ซึ่งการแสดงการยอมรับ แสดงความยินดีนี้สามารถทำได้ทั้งที่เป็นคำพูดหรือเป็นท่าทาง
T = Time (เวลา) การกำนดเป้าหมายที่จะมีผลต่อการจูงใจและสมาธิที่ดี เป้าหมายนั้นต้องถูกกำหนดเวลาไว้ด้วย ถ้านักกีฬาหรือโค้ชไม่บอกว่าจะต้องดำเนินการนานแค่ไหน หรือหมดเวลาเมื่อไหร่ ระดับของสมาธิและคุณภาพของสิ่งที่ทำก็จะลดลง นักกีฬาที่ทราบระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะวางแผนที่สามารถทำให้เสร็จในกรอบเวลาที่กำหนด มีความตั้งใจ
หลักการโดยรวมของการกำหนดเป้าหมายทางการกีฬา ตามแนวทางของ SMART เพื่อเป็นการให้เกิดทักษะทางด้านจิตใจในการเล่นกีฬาที่ดี นอกจากประเด็นทั้ง 5 แล้ว เป้าหมายที่กำหนดต้องมีความท้าทาย (ไม่ง่ายหรือยากเกินไป) และเป็นเป้าหมายในทางที่ดี ในทางบวก
ฉบับหน้า เรามารับทราบทักษะระดับพื้นฐานขั้นต่อไป การมีทักษะของทักษะในการอยู่ร่วม เข้าใจและจัดการกับสังคมได้ดี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่นักกีฬาควรมีเช่นเดียวกับทักษะทางจิตวิทยาอื่นๆ
ดูแลสุขภาพกันทุกคนครับ การ์ดไม่ตกจากภายใน (ดูแลสุขภาพกายและใจด้วยการทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนเพียงพอ) จะเป็นการตั้งการ์ดที่สำคญพอๆกับการตั้งการ์ดจากภายนอก (การสวมหน้ากากอนามัย การตรวจอุณหภูมิตัวเองเป็นระยะๆ การล้างมือสม่ำเสมอ และเว้นระยะตามาตรการ) ทำทั้ง 2 อย่างนี้แล้วเชื้อไวรัสเข้ามาทำร้ายเรายากครับ
ผศ. ดร. นฤพนธ์ วงศ์จตุรภัทร
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยบูรพา
นายกสมาคมจิตวิทยาการกีฬาประยุกต์แห่งประเทศไทย