พระญาติร่วมอุทร
พระญาติร่วมอุทร
พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม แต่เป็นลำดับพระองค์ที่ 3 ด้วยเพราะเจ้าจอมมารดาเปี่ยมประสูติพระโอรสก่อนแล้ว 2 พระองค์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์จึงมีพระเชษฐา พระอนุชา และพระขนิษฐา ร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน 5 พระองค์ ปรากฏพระนามตามลำดับต่อไปนี้
พระองค์ที่ 1 พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรไชย
ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2399 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง สิ้นพระชนม์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2416 พระชันษาเพียง 18 ปีเท่านั้น ทรงได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี ถ้าจะนับตามลำดับบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาทุกพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรไชยเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระบรมราชชนก
พระองค์ที่ 2 พระองค์เจ้าชายเทวัญอุไทยวงศ์
ประสูติเมื่อวันเสาร์ 27 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2401 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ทรงกรมเป็น “กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ” สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา 66 ปี ในรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นต้นราชสกุล “เทวกุล ณ อยุธยา” กรมพระยาเทววงศ์วโรปการเคยเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงเป็นราชทูตพิเศษเสด็จทวีปยุโรป ทรงเป็นมหาอำมาตย์นายก และเป็นสภานายกแห่งสภาการคลังอีกด้วย นับว่าช่วยราชกิจทั้งในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นับเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 42 ในพระบาทสมเด็จพระบรมราชชนก
พระองค์ที่ 3 พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์
ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2403 ตรงกับแรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก เสด็จทิวงคตเมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พุทธศักราช 2423 ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 ปีมะโรง พระชันษาเพียง 19ปี 6 เดือน 22 วัน นับเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระบรมราชชนก
พระองค์ที่ 4 พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา
ประสูติเมื่อวันที่ 10 กันยายน พุทธศักราช 2405 ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ สวรรคตเมื่อวันที่ 17 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช 2498 รวมพระชนมายุยืนนานถึง 93 พรรษา
พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ทรงเป็นพระมาตุจฉาในรัชกาลที่ 6 ได้เลื่อนพระยศเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 เป็นพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ในรัชกาลที่ 8 ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เรียกให้เข้าใจในภาษาชาวบ้านก็เรียกได้ว่า พระองค์ทรงเป็น “สมเด็จย่า” ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันนี้ด้วย นอกจากนี้ยังทรงเป็นสภานายิกาแห่งสภากาชาดสยาม นับเป็นลำดับที่ 60 ในบรรดาพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ที่ 5 พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี
ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2406 ตรงกับวันแรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีกุน สวรรคตเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2462 พระชนมายุ 57 พรรษา
พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี ประสูติพระราชโอรสซึ่งได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี จึงได้เลื่อนพระยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้า พระอัครราชเทวี ต่อมาได้เจริญพระยศเป็นพระบรมราชินีนาถ ด้วยเพราะทรงสำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จยุโรป
สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นพระราชชนนีของรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ในรัชกาลที่ 6 นั้น ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง
นับเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 66 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ที่ 6 พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณ
ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม พุทธศักราช 2408 ตรงกับวันขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2474 ที่เมืองปีนัง รวมพระชันษา 70 ปี ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 75 ในพระบรมราชชนก
พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณทรงสำเร็จการศึกษาจากอังกฤษ ได้รับสถาปนาเป็นกรมหมื่นสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ทรงดำรงพระยศเป็นนายพลตรี ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ทรงเป็นอธิบดีศาลฎีกา ทรงเป็นราชทูตพิเศษเสด็จยุโรป ได้เลื่อนเป็นกรมหลวงในรัชกาลที่ 6 ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้สถาปนาเป็นสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา”
ในบรรดาพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์พระนามเรียงลำดับไว้เป็นโคลงสี่สุภาพครบทั้ง 84 พระองค์
และสำหรับบทโคลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่ทรงพระราชนิพนธ์พระนามพระเชษฐา พระอนุชา พระเชษฐภคินี และพระขนิษฐาทุกพระองค์ของพระองค์นั้น จะขออัญเชิญมา ณ โอกาสนี้แต่เพียงบางส่วนที่มีพระนามเกี่ยวกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระญาติพี่น้องทั้ง 5 เท่านั้น ปรากฏดังต่อไปนี้
“สมเด็จเจ้าฟ้าที่ สี่มี นามเฮย
จาตุรนต์รัศมี เกียรติก้อง
ที่ยี่สิบเก้าศรี สุริยราช วงศ์แฮ
องค์อุณากรรณพร้อง เพราะด้วยแถลงหาญ
********************
“มณฑานพรัตน์สิ้น ชนม์ปลง
กาพยกนกรัตน์ยง ฤทธิกล้า
เทวัญอุไทยวงศ์ เชลงอักษรแฮ
ราชบุตรพระเจ้าหล้า เดชล้ำรณไชย
***********************
“สวัสดิประวัติเรื้อง วิทยา
องค์หนึ่งสุนันทา แน่งน้อย
อีกจันทรทัตจุธา ธารต่อ กันเอย
สุขุมาลมีสร้อย อีกไซร้มารศรี”
***********************
“พระองค์หญิงสว่างสร้อย วัฒนา หนึ่งเฮย
โสณบัณฑิตย์ปรา กฏแท้
จิตรเจริญรสวรา ดิเรกราช วงศ์แฮ
องค์หนึ่งวัฒนาแล้ เลิศล้ำสำอาง
**********************
“หนึ่งนางกฤษณแก้ว กัญจนา กรเอย
อีกบุษปัณณา เลิศเลื้อง
วิไลยลักษณเสาวภา ภักตรผ่อง ศรีแฮ
แนวนับแขไขเรื้อง ศิริพ่างจันทรา”
**********************
“จรูญฤทธิเดชม้วย ชีพชนม์
เสาวภาคพรรณพิมล แช่มช้อย
ประดิษฐาสวัสดิโสภณ พูนเพิ่ม
หนึ่งอีกไชยันต์น้อย นุชท้ายกุมาร”
***********************
มณี จันทร์ฉาย