What Ever

เที่ยวพิพิธภัณฑ์ หนังใหญ่ วัดขนอน

วันนี้ ในสภาวะที่สถานการณ์ โควิด-19 ของบ้านเรา เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การท่องเที่ยวนับเป็นฟันเพืองสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของบ้านเราให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง หลังจากพาไปเที่ยวชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติปางสีดากันแล้วเมื่อคราวก่อน มาครั้งนี้จะเปลี่ยนทิศ หันไปชมเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมกันบ้าง โดยจะพาไปที่พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่ง หนังใหญ่ วัดขนอน เป็นหนึ่งในของขึ้นชื่อ ที่อยู่ในคำขวัญของจังหวัดราชบุรีอีกด้วย

หนังใหญ่เป็นมหรสพที่แพร่หลายของคนไทยอีกอย่างหนึ่งที่มีมาช้านาน ซึ่งจะเป็นการเชิดตัวหนัง ที่ทำจากแผ่นหนังวัวฉลุผูกทาบไว้ด้วยไม้ ให้เงาของตัวหนังที่เกิดจากไต้และก่อไฟไว้ด้านหลังตกทาบลงบนจอผ้าขาว และคนเชิดก็เชิดต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรี และบทพากย์ บทเจรจาด้วย

และด้วยความที่ หนังใหญ่ เป็นการแสดงที่รวมศิลปะที่ทรงคุณค่าหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น ด้านศิลปะการออกแบบลวดลายไทยเชิงจิตรกรรม ที่มีความวิจิตรบรรจง ผสมกับสีมือช่างแกะสลักที่ประณีต เมื่อแสดงก็จะมีการนำศิลปะทางนาฏศิลป์ การละคร ที่เคลื่อนไหวอย่างได้อารมณ์ตามเนื้อเรื่อง ประกอบกับบทพากย์ บทเจรจา บทขับร้อง ดนตรีปี่พาทย์ ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราว และให้อรรถรสทางศิลปะแก่ผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์ หนังใหญ่ จึงนับได้ว่าเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทยที่ทรงคุณค่าอีกชิ้นหนึ่ง   

มหรสพที่เก่าแก่ของไทยชนิดนี้ กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่หลักฐานการแสดงหนังใหญ่เริ่มมีให้เห็นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) นับเป็นมหรสพที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของคนไทย ส่วนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏหลักฐานในการแสดงหนังใหญ่ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ว่าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา เพื่อใช้แสดงเพิ่มขึ้นจากเรื่องรามเกียรติ์ สมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีหลักฐานการสร้างตัวหนังใหญ่ และบทวรรณคดีที่ใช้ในเรื่องรามเกียรติ์ ใช้แสดงหนังใหญ่ชุดพระนครไหว ซึ่งต่อมาได้มีการนำมาเก็บไว้ ณ โรงละครแห่งชาติหลังเก่า แต่ถูกไฟไหม้เกือบหมด สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พบการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง คือหนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี

Jpeg

หนังใหญ่ วัดขนอน ได้มีการสร้างขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งผู้ที่ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังก็คือ หลวงปู่กล่อม หรือ พระครูศรัทธาสุนทร (เกิดปี พ.ศ. 2391 มรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. 2485 รวมอายุได้ 95 ปี) ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวนครูอั๋ง, ช่างจาด, ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง โดยตัวหนังชุดแรกที่สร้าง ก็คือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนังถึง 313 ตัว

ตัวหนังใหญ่ จะถูกแบ่งตามลักษณะท่าทาง บทบาท การกระทำ ซึ่งมีอยู่หลักๆ 7 ชนิดด้วยกัน ได้แก่

1.หนังเจ้า หรือ หนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครู มี 3 ตัว คือ พระฤๅษี, พระอิศวร หรือ พระนารายณ์ เรียกว่า พระแผลง เพราะเป็นภาพในท่า แผลงศร

2.หนังเฝ้า หรือหนังไหว้ เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว พนมมือใช้แสดงตอนเข้าเฝ้า

3.หนังคเนจร หรือหนังเดิน เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าเดิน

4.หนังง่า เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าต่อสู้เหาะแผลงศร

5.เมือง เป็นหนังภาพเดี่ยวหรือหลายภาพอยู่ในหนังผืนเดียวกัน โดยมีปราสาท ราชวัง วิมาน พลับพลา ศาลา ตามเนื้อเรื่อง อยู่ในหนังผืนนั้น เรียกหนังพลับพลา หนังปราสาทพูด หนังปราสาทโลม

6.หนังจับ หรือหนังรบ เป็นหนังที่มีภาพตัวละคร ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ในหนังผืนเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นภาพตัวละครในการต่อสู้

7.หนังเบ็ดเตล็ด เป็นหนังลักษณะอื่น ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวมา แยกได้ดังนี้ หนังเดี่ยว เป็นภาพหนัง 2 ตัว ตัวหนึ่งพ่ายแพ้การต่อสู้และถูกจับมัด, หนังเขน เป็นหนังที่เป็นไพร่พลของกองทัพ และหนังเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ที่มีรูปร่างแปลกออกไป

สำหรับกรรมวิธีการสร้างตัวหนังนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทั้งลวดลายอันอ่อนช้อยและสีสันที่ปรากฏอยู่บนตัวหนังใหญ่ แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ไทยอันทรงคุณค่า การสร้างตัวหนังโดยทั่วไปจะใช้หนังโค เมื่อฟอกแล้วจะอ่อนม้วนไปมาได้สะดวก ง่ายต่อการฉลุลวดลายต่างๆ และเมื่อแห้งแล้วจะไม่ย่น มีวิธีการฟอกแตกต่างกันไปบ้าง การเขียนลาย แต่เดิมต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญสูง ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้สามารถสร้างงานได้ง่ายขึ้น แล้วนำไปแกะสลักลาย การลงสี การเคลือบ เพื่อให้คงทน แต่ที่พิเศษก็คือ การสร้างตัวหนังเจ้า ซึ่งจะต้องใช้หนังพิเศษและพิธีกรรมเฉพาะ โดย พระฤๅษี จะใช้หนังเสือหรือหนังหมี (ของวัดขนอนใช้หนังเสือ) ส่วนรูปพระแผลง จะใช้หนังโคที่ตายทั้งตั้งท้องหรือถูกเสือกัดตายหรือถูกฟ้าผ่าตาย โดยผู้สร้างจะต้องนุ่งขาว ห่มขาว ถือศีลแปด เขียนและลงสีให้เสร็จในวันเดียว มีการถวายเครื่องสังเวยบูชาครูด้วย

และด้วยความพิเศษต่างๆ เหล่านี้ ในปี 2550 คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของยูเนสโกจึงประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลการขึ้นทะเบียนทางยูเนสโก ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ACCU (Asia – Pacific Cultural Centre for UNESCO) โดยยูเนสโกประกาศให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลก ที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intangible Cultural Heritage : ICH) อีกด้วย

วัดขนอนได้กลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ และเรียนรู้ฝึกฝนศิลปะการทำตัวหนัง การเชิดหนัง การบรรเลงปี่พาทย์ประกอบการแสดงหนัง รวมถึงมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ ที่เก็บรักษาตัวหนังเก่าแก่ล้ำค่าเอาไว้ ให้เข้าชมกันด้วย และเป็นเพียงวัดเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนัง มีคณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมภ์ของวัดสืบทอดมาจนทุกวันนี้

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนนั้น เปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยเปิดให้บริการ ทุกวันจันทร์-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00น.-17.00น. แต่ถ้าหากต้องการชมการแสดงหนังใหญ่ด้วย ก็ต้องไปให้ตรงรอบเวลาการแสดง ซึ่งจะมีเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์วันละ 1 รอบเท่านั้น โดยในวันเสาร์จะทำการแสดงเวลา 10.00 น. และวันอาทิตย์ทำการแสดงเวลา 11.00 น.

ไม่ว่าจะเป็นวัดหยุดสั้นหรือหยุดยาวที่กำลังจะมาถึง หากไม่มีโปรแกรมไปไหน ขอเชิญชวนแวะไปไหว้พระ พร้อมเยี่ยมชม หนังใหญ่ ที่ วัดขนอน กัน อยู่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ขับรถราวๆ ชั่วโมงก็ถึงแล้ว