Just Say Know

ไซลาซีน ยาอันตรายไม่มีสี ไม่มีกลิ่น

ถ้าคุณเคยไปวิ่งตามสวนสาธารณะ การวางขวดน้ำดื่มไว้ตามเก้าอี้ม้าหินหรือขอบกระถางดอกไม้ในสวน เมื่อวนมาครบรอบก็ดื่มแก้กระหาย ขวดของใครวางตรงไหนจำกันได้ไม่ยุ่งกัน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่หลังจากนี้คงต้องมี นิวนอร์มอล เรื่องน้ำดื่มสำหรับนักวิ่งกันแล้ว เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์เตือนเพื่อนนักวิ่งที่ชอบวางขวดน้ำดื่มไว้ในสวนแล้วไปวิ่งว่า ตนเองก็วางขวดไว้เหมือนเช่นเคย แต่กลับถูกวางยาในขวดน้ำดื่ม ซึ่งหลังจากมีการแชร์ออกไป หลายคนยังสงสัยว่าเป็นเรื่องแต่ง เพราะใครๆ ก็ทำกัน ถึงขั้นเกิดเป็นดราม่าย่อยๆ ในกลุ่มของนักวิ่งเลยทีเดียว

จนกระทั่งเรื่องไปถึง อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับตัวอย่างน้ำดื่มเจ้าปัญหาขวดดังกล่าวมาตรวจสอบ และได้เปิดเผยผลการตรวจสอบผ่านเฟซบุ๊กว่า พบสารไซลาซีน (Xylazine) ซึ่งยาสลบที่ใช้ในสัตว์ ปนอยู่ในตัวอย่างน้ำขวดดังกล่าว

สำหรับ ไซลาซีน (Xylazine) นั้น เป็นยาสลบที่ใช้กับสัตว์ เช่น ม้า วัว กวาง รวมทั้งสัตว์ทดลองต่างๆ โดยออกฤทธิ์ทั้งที่ระบบประสาทส่วนกลางและทั่วร่างกาย มีฤทธิ์ทำให้ง่วงไปจนถึงสลบ มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อและยังมีฤทธิ์แก้ปวดอีกด้วย ฤทธิ์ของยาส่วนใหญ่จะเป็นฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางและผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ในส่วนของการออกฤทธิ์ที่มีต่อระบบประสาทส่วนกลางนั้น จะทำให้อยู่ในภาวะสะลึมสะลือหรือสภาวะหลับขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับ และยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อคลายตัวจนเกิดเป็นภาวะกล้ามเนื้อเปลี้ยได้ รวมทั้งอัตราการหายใจก็ลดลงด้วย ทางด้านผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดนั้น ในช่วงแรกมักทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูง แต่หลังจากนั้นความดันโลหิตจะลดต่ำลงและอยู่นานตลอดระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์รวมทั้งอาจมีผลกดการทำงานของหัวใจและทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะด้วย

ปกติยานี้จะใช้สำหรับฉีดเพื่อทำให้สัตว์สงบลงหรือใช้ในการผ่าตัด ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในคน แต่จากรายงานที่มีการได้รับยาโดยบังเอิญหรืออุบัติเหตุพบว่า ทุกๆ คนที่ได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกายจะมีอาการง่วงซึม หายใจช้า ชีพจรเต้นช้า ความดันต่ำ ม่านตาเล็ก หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด ผลตรวจเลือดมักจะพบว่ามีภาวะเลือดเป็นกรดนั่นเอง ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ จะเริ่มในเวลาไม่กี่นาทีถึง 3-4 ชั่วโมง ในคนไข้บางคนอาจจะนานถึง 8 ชั่วโมงได้ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่าหากนำสารดังกล่าวมาใช้กับคน นอกจากจะทำให้เกิดอาการ หัวใจเต้นช้า เต้นผิดจังหวะ ความดันต่ำ น้ำตาลในเลือดสูง ปัสสาวะมาก ปากแห้ง แล้ว ทั้งยังส่งผลต่อระบบ ทางเดินหายใจและระบบเลือดอีกด้วย

และด้วยความที่ ยานี้มีลักษณะเป็นน้ำใสหรือเป็นผงสำหรับผสมฉีด เมื่อใส่ลงไปในเครื่องดื่มแล้วจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสี ความขุ่น และกลิ่น นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ผู้ที่ได้รับยานี้เข้าไปจะมีอาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ

ในส่วนของภาครัฐ คงต้องกำชับผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้มีการควบคุมการจำหน่ายและการมีไว้ในครอบครองของยาเหล่านี้อย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น

ดังนั้นเพื่อเป็นการระมัดระวังตัวเอง ที่อาจจะโดนวางยาไซลาซีนจากมิจฉาชีพ ไม่เฉพาะเวลาไปวิ่งออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดๆ ก็ตาม ทั้งในศูนย์อาหาร หรือร้านอาหารที่มีคนพลุกพล่าน อาหาร-เครื่องดื่ม ไม่ควรห่างสายตา รวมถึงไม่ควรรับอาหารหรือเครื่องดื่มจากคนแปลกหน้าด้วย

ที่มา : บทความเผยแพร่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดย รศ.ดร.ภญ.จุฑามณี  สุทธิสีสังข์ ภาควิชาเภสัชวิทยา

และ สาระสุขภาพยาน่ารู้ โดยเภสัชกรอุทัย