Just Say Know

15 มิ.ย. วันไข้เลือดออกอาเซียน

15 มิ.ย. วันไข้เลือดออกอาเซียน

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง โควิด-19 จะยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต้องไม่ละเลยกับโรคประจำถิ่นอย่าง ไข้เลือดออก ที่มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตเช่นกัน ซึ่งตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย 16,924 ราย เสียชีวิตแล้วถึง 11 ราย

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ ของภูมิภาคอาเซียนหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอากาศร้อนชื้น ที่เหมาะกับการขยายพันธุ์ของ ยุงลายพาหะนำเชื้อไวรัสหลายชนิด รวมถึงไวรัสเดงกี่ ต้นเหตุของโรคไข้เลือดออก ที่สร้างความเสียหายด้านสุขภาพ และคร่าชีวิตประชากรในภูมิภาคนี้มาแล้วมากมาย ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 22 เมื่อปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ.2010) ณ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา ได้มีข้อตกลงร่วมกัน ให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) เพื่อแลกเปลี่ยนวิชาการ ประสบการณ์ สร้างความร่วมมือการป้องกันควบคุมโรคของเครือข่ายระดับภูมิภาค ระดับชาติ และภาคประชาสังคม โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพหลัก ในการประชุมและรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ในนามกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับปี 2020 นี้ เว้นปีประเทศเจ้าภาพเนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 โดยยังคงใช้แนวคิดเดิมของปีที่ผ่านมา “End Dengue: Starts with me”  หรือ “หยุดไข้เลือดออก : เริ่มต้นที่ตัวเรา” และให้จัดกิจกรรมตามบริบทของแต่ละประเทศเพราะมีปัญหาที่แตกต่างกัน

จากข้อมูลการระบาดขององค์การอนามัยโลก Dengue Situation Update Number 594 (21 May 2020) พบว่า การระบาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกตะวันตก ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีเพียงประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วร้อยละ 5.6 และร้อยละ 23 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศจีนมีรายงานจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 65

Mosquito macro photography

สำหรับประเทศไทย จากรายงานสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 16,924 ราย (อัตราป่วย 25.53 ต่อแสนประชากร) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,539 ราย น้อยกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน มียอดผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 11 ราย  กลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กนักเรียนอายุ 5-14 ปี โดยมีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตจะเกิดจากการมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิต โรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งการได้รับยา Ibuprofen/ยาฉีดแก้ปวด

นอกจากนี้ ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในปี 2563 พบว่า มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงในทุกสถานที่ ทั้งชุมชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล และมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำขังตามภาชนะต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่อยู่ในช่วงปิดภาคเรียนมายาวนาน และเนื่องจาก 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในกลุ่มเด็ก อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สพฐ. จึงรณรงค์ให้ ครู เจ้าหน้าที่ของโรงเรียน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ร่วมทำความสะอาดโรงเรียนหรือสถานศึกษา สำรวจและกำจัดภาชนะเสี่ยงและแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน พร้อมปฏิบัติตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”

ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำใช้ปิดฝาให้มิดชิด คว่ำภาชนะที่น้ำขัง ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก, โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

มาถึงตรงนี้ น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่หนักสุดของปี ทั้ง โควิด-19, ไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาล, ไข้เลือดออก หมัดหนักๆ กันทั้งนั้น ต้องตั้งการ์ดเอาไว้ให้มั่นๆ

No mosquito while girl sleeping illustration