คอลัมน์ในอดีต

ตอนที่ 8 ความรัก คือ สายรุ้ง

ยายพริ้มนั่งตำหมากอยู่บนชานบ้านเรือนไทยหลังเก่า บรรยากาศดูเงียบเหงากว่าทุกวัน เพราะเจ้าพบกับเจ้าแพกลับไปแล้วตั้งแต่กลางวัน หญิงชราเพ่งมองไปบนฟากฟ้าไกล ทำไมวันนี้แสงพระอาทิตย์ที่ส่องมายังพื้นโลกดูร่มเย็น ไม่ร้อนแรงอย่างทุกวันที่ผ่านมา แสงของพระอาทิตย์ดูคล้ายแสงของพระจันทร์ที่ส่องลงมาในยามค่ำคืน…

หญิงชรายังคงนั่งอยู่ที่เดิมค่อยๆบรรจงเอาหมากที่ตำแล้วเข้าปากเคี้ยวอย่างช้าๆตายังคง

จับจ้องอยู่บนฟากฟ้า พระจันทร์มาแล้ว ขณะที่พระอาทิตย์ยังคงส่องแสงสีนวลไม่ยอมลับขอบฟ้า หญิงชรา…นิ่งคิด

“พระอาทิตย์ พระจันทร์ แสงนั้นแตกต่าง แต่วันนี้ช่างแปลกเสียเหลือเกิน พระอาทิตย์เย็น

พระจันทร์เย็น มันมีอะไรบางอย่างกำลังจะบอกกับมวลมนุษย์แน่แท้…เมฆค่อยๆกระจายวงกว้างบดบัง…ฝนเริ่มโปรยปราย  เสียงจิ้งหรีดเรไรส่งเสียงร้องกันระงม ค่ำคืนนี้ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันไหว้พระจันทร์ หรือชาวอีสานเรียก พระเพ็ง พระจันทร์เต็มดวง จะเห็นอะไรไหมหนอในคืนนี้…เมื่อพระพิรุณโปรยปรายมาอย่างนี้ พระอาทิตย์ลับไปแล้ว พระจันทร์ที่พึ่งโผล่ขึ้นมาส่องแสงเย็นอ่อนหวานก็มามีสายฝนบางเบาเป็นสายโปรยปรายบังแสงเอาไว้ เป็นนัยอะไรบางอย่าง”

หญิงชรายังคงเตรียม ผลหมากรากไม้ ขนมไหว้พระจันทร์ ทั้งที่พระจันทร์ถูกบดบังจาก

ก้อนเมฆ ด้วยประเพณีที่สืบทอดกันมาของชาวจีนสมัยโบราณ การไหว้พระจันทร์ในคืนเดือนเพ็ญจึงยังคงเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันเรื่อยมา

การไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด ชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีนจึงไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านไปไกลคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองพระจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดี ส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รักผ่านพระจันทร์ หญิงชราก็เช่นกัน กำหนดจิตบอกผ่านความรักไปยังทุกคนที่คงเหลือแค่ความคิดถึง…เท่านั้น

ใกล้จะสองยามแล้ว เมฆเริ่มกระจายเป็นแผ่นจางๆ ฝนโปรยปรายลงมาประดุจน้ำทิพย์ก็

ค่อยๆจางหาย พระจันทร์กำลังคืบคลานออกจากเงาเมฆ ส่องแสงประกายสว่างสุกใสเต็มดวง เป็นอัศจรรย์ยิ่ง ยามค่ำคืนที่ฝนโปรยปรายในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ หญิงชราบรรจงปูผ้าขาวที่ชานหน้าบ้านเรือนไทยหลังเก่าแล้ววางเครื่องสักการะพระเพ็งพร้อมสรรพ หญิงชราจุดธูปเทียนบูชาแล้วกล่าวคำอธิษฐานสั้นๆว่า ข้าพเจ้าขอสักการบูชาพระเพ็ง ขอให้พระเพ็งส่องสว่างกลางใจข้าพเจ้าเป็นนิรันดร์ ทันใดนั้น เสียงฟ้าคะนองร้องกึกก้องสนั่นหวั่นไหว  แสงแปลบปลาบท่ามกลางพระจันทร์ส่องเต็มดวง และแล้วเพียงในเวลาไม่กี่วินาที พระจันทร์ดวงงามก็คืบคลานเข้าไปซ่อนในกลีบเมฆดังเดิม ฝนเริ่มโปรยปรายจากสายบางเบาจนกลายเป็นเส้นทึบหนา และกระหน่ำตกอย่างไม่ลืมหูลืมตาลงมาทั่วฟ้าในเวลาสองยามของคืนเดือนเพ็ญ

ฤดูฝนปีนี้ดูท่าทีจะยังตกไปตลอดทั้งที่ใกล้ออกพรรษาแล้ว ได้เวลาเหล่าพญานาค

ทั้งหลายจะออกมาฉลองชัยส่งแสงบั้งไฟถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปีนี้น้ำมากกว่าทุกปี ริมแม่น้ำโขงเต็มเปี่ยมแทบจะล้นตลิ่ง บ้านเรือนที่อยู่ใกล้ริมน้ำก็เตรียมขนข้าวของขึ้นที่สูง โชคดีที่บ้านเรือนไทยของหญิงชราอยู่ห่างจากริมแม่น้ำโขงกว่าบ้านหลังอื่นและยกเรือนขึ้นสูง น้ำมากแค่ไหนก็ท่วมไม่ถึง ฝนยังไม่หยุดตก ล่วงเวลาสองยามไปแล้ว หญิงชราค่อยๆล้มตัวลงนอน แต่ภายในจิตใต้สำนึกยังคงได้ยินเสียงฟ้าร้องคะนองกึกก้องอยู่ไม่ขาดสาย ท่านปู่พญานาคราช-ท่านย่าพญานาคี ท่านคงรับรู้ในการปฏิบัติของหญิงชรา ด้วยวัยและสังขารอันร่วงโรยใกล้ฝั่ง หญิงชราจึงใช้วิธีการนอนสมาธิกำหนดจิตทันทีไปที่พระธาตุพนม  ซึ่งเป็นเสมือนเมืองของพญานาคในภพมนุษย์ที่เหล่าพญานาคจะขึ้นมากราบสักการบูชา

หญิงชราหลับไปในที่สุด สายฝนก็ยังคงความชุ่มฉ่ำจนย่ำรุ่งของวันใหม่

……………………………………………….

พระอาทิตย์แย้มยิ้มส่องแสงผ่านละอองน้ำฝนในอากาศที่ยังคงมีฝนโปรยปรายเบาบาง

คล้ายฝนโบกขรพรรษ ซึ่งเป็นฝนสีแดง ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกจึงจะเปียก หากมิได้ปรารถนาแม้แต่เม็ดหนึ่งก็มิได้เปียก เมื่อถูกกายแล้วจะหล่นสู่พื้นดินเสมือนหยาดน้ำที่ตกลงสู่ใบบัวแล้วกลิ้งตกลงไปฉันนั้น ในยามรุ่งของเช้าวันใหม่ ทำให้เกิดสายรุ้งสองสายโค้งเข้าหากันส่งประกาย ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง รับกับขอบฟ้า

แสงพระจันทร์ยังคงส่องแสงสีนวลจางๆ ช่างงดงามเสียเหลือเกิน หญิงชรารำพึง “พระ

อาทิตย์พระจันทร์เป็นดวงเดียวกัน” ฉับพลันสายรุ้งสองสายก็เกี่ยวก้อยรัศมีรวมตัวโค้งข้ามขอบฟ้าเป็นวงกลมเหมือนคันธนูที่โก่งเต็มที่ เลียบริมฝั่งโขง

เจ้าพบ เจ้าแพ ที่กุลีกุจอเก็บดอกบัวเพื่อให้หญิงชราใส่บาตรหลวงตา ถึงกับตะลึงในความงดงามของสายรุ้ง ส่งเสียงร้องเรียกหญิงชรามาแต่ไกล

“ยายจ๋าๆดูนั่นซิ ในชีวิตหนูไม่เคยเห็นเลยสวยจริงๆจ้ะยาย ยายเล่าเรื่องสายรุ้งให้หนูฟัง

หน่อยซิจ๊ะ”

 เจ้าแพทำหน้าฉอเลาะประจบหญิงชรา…พบก็พยักหน้าตาม

“ใช่ๆจ้ะยาย  อยากรู้  อยากรู้จริงๆ”

หญิงชรายิ้มตอบอ่อนโยนด้วยสายตาที่มีความรักความเมตตาให้กับเด็กทั้งสอง

“ได้ลูก  ไปตักบาตรหลวงตากันก่อน เสียงไม้พายกระทบน้ำดังมา เรือหลวงตาใกล้จะถึง

ตลิ่งหน้าบ้านเราแล้วลูก”

เจ้าแพจูงมือหญิงชราเช่นเคย ซึ่งมืออีกข้างของหญิงชราถือไม้เท้าเพื่อพยุงตัวเอง เจ้าพบมี

หน้าที่ถือผลหมากรากไม้อาหารที่เตรียมใส่บาตรหลวงตา หลังจากใส่บาตรหลวงตาๆก็ให้พรและกรวดน้ำ

หลวงตาก็เอ่ยขึ้นมาว่า

 “เจ้าพบ เจ้าแพเห็นรุ้งกินน้ำแต่เช้าคงตื่นเต้นกันใช่มั้ยลูก”

“ใช่ครับหลวงตา”

“ใช่ค่ะหลวงตา”

“กว่าจะมาเป็นสายรุ้งทั้ง ๗ สี ต้องรวมตัวรวมพลัง จึงจะปรากฏสีอันงดงามบนท้องฟ้า ก็เหมือนการรวมความรักความสามัคคี เมื่อรวมกันก็จะเกิดพลังอันยิ่งใหญ่เป็นพลังปาฏิหาริย์ เหมือนพบ แพ และยายพริ้มก็เหมือนกันเป็นดังสายเปีย ๓ เส้นมารวมกันเหนียวแน่น จึงได้ตักบาตรหลวงตาทุกวันเพราะความรักความสามัคคี ขาดคนใดคนหนึ่งก็ไม่เหนียวแน่น เพราะฉะนั้นกว่าจะมาเป็นสายรุ้งให้ลูกๆดูธรรมชาติก็เกิดการรวมตัวรวมพลัง บ้านเราเรียก รุ้งกินน้ำไงลูก วันนี้หลวงตาให้ธรรมะกันแค่นี้นะ พบ แพ พอเข้าใจไหม”

“เข้าใจเจ้าค่ะ ต้องให้รักกัน สามัคคีกันใช่รึเปล่าคะหลวงตา”

“ใช่ลูก ความรัก ความสามัคคี ทำให้ทุกอย่างสำเร็จโดยง่ายลูก”

“แล้วรุ้งเกิดขึ้นยังไงครับหลวงตา”

หลวงตายิ้มพลางตอบ

“เรื่องนี้พบไปถามครูที่โรงเรียนนะ หลวงตาต้องไปรับบาตรต่อเดี๋ยวจะสาย”

“สาธุ สาธุ”

……………………………………………..

เช้าวันนี้ที่โรงเรียนประชาบาลใกล้หมู่บ้าน เด็กนักเรียนทุกคนทั้งห้องต่างสนใจเรื่องรุ้งกินน้ำกันใหญ่ พอครูเข้าห้องเรียนส่งเสียงถามกันเจี๊ยวจ๊าว

ครูจั่น จึงอธิบายให้นักเรียนทั้งชั้นฟังว่า  …………..    

“รุ้งกินน้ำเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากฝนตก โดยเกิดขึ้นจาก

แสงแดดส่องผ่านละอองน้ำในอากาศทำให้แสงสีต่างๆปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า แสงที่เกิดเป็นรุ้งนั้นคือสีขาว และเกิดการหักเหจนเกิดเป็นแถบสี ๗ แถบ  โดยสีม่วงจะมีการหักเหมากที่สุด สีแดงจะหักเหน้อยที่สุด ทั้งหมดมี ๗ สี ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ”

พบกับแพซึ่งหลวงตาอนุญาตให้มาเรียนต่อตั้งใจฟังและเก็บคำถามกลับมาถามยายพริ้ม

ด้วยความสงสัย

ยายพริ้ม นั่งเคี้ยวหมากอยู่ชานบ้าน พบกับแพซึ่งกลับมาจากโรงเรียนยังไม่ทันอาบน้ำ รีบแวะมาถามความในใจที่สงสัยมาตั้งแต่เช้า

“ยายจ๋าๆ ครูอธิบายเรื่องรุ้งแล้ว ไม่เห็นเหมือนหลวงตาบอกเลย”

หญิงชราหัวเราะด้วยความเอ็นดู

“พบเอ๊ย หลวงตาท่านเปรียบเทียบให้ฟัง ส่วนครูเขาสอนตามหลักการของทาง

วิทยาศาสตร์ ส่วนความเชื่อตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายเราเปรียบสายรุ้งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ คนโบราณจึงเชื่อว่า สายรุ้งกับพญานาคเป็นสิ่งเดียวกัน โดยข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลกขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงสูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นสายฝนที่มีลำตัวของนาคเสมือนท่อส่งน้ำอย่างที่ยายเคยเล่าให้ฟังแล้วไง ถ้าพบกับแพอยากรู้เรื่องของรุ้งทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องไปถามคุณครู ให้คุณครูอธิบาย ยายก็รู้มาเท่านี้แหละลูก”

………………………………….

เช้าวันรุ่งขึ้นพบกับแพรีบไปหาหญิงชราแต่เช้าตรู่เพื่อใส่บาตรหลวงตา แล้วรีบไปโรงเรียนด้วยความอยากรู้เรื่องรุ้งกินน้ำตามประสาเด็กๆ เมื่อถึงโรงเรียน เจ้าพบก็ถามครูจั่นทันที

“คุณครูครับผมอยากรู้เรื่องรุ้งกินน้ำอย่างละเอียดครับ ครูเล่าให้ฟังอีกได้ไหมครับ”

นักเรียนทั้งห้องต่างก็สนับสนุนพบ เพราะเช้าตรู่วันวานรุ้งกินน้ำที่ปรากฏบนท้องฟ้าริม

ฝั่งโขงทำให้ทุกคนสนใจความอัศจรรย์ตามธรรมชาติที่เห็นได้ด้วยสายตา

ครูจั่น…

 “ได้ซิ อย่างนี้นะ…เมื่อแสงอาทิตย์ส่องกระทบกับผิวของหยดน้ำ และเกิดการหักเหอีก

ครั้งแล้วจึงสะท้อนออก เกิดเป็นรุ้งกินน้ำตัวที่ ๑ หรือรุ้งปฐมภูมิ เป็นรุ้งกินน้ำโค้งที่ชัดที่สุดที่เราเห็นกันเป็นประจำ มีแสงสีแดงอยู่นอกสุดและสีม่วงอยู่ในสุด รุ้งปฐมภูมิเกิดจากการที่แสงหักเห ๒ ครั้งและสะท้อน ๒ ครั้ง และสะท้อน ๑ ครั้ง แต่หากแสงมีการหักเห ๒ ครั้งและสะท้อน ๒ ครั้ง จะเกิดเป็นรุ้งกินน้ำตัวที่ ๒  หรือรุ้งทุติยภูมิ ซึ่งมีสีจางกว่า และจะปรากฏอยู่เหนือหรือด้านนอกของรุ้งปฐมภูมิ และมีการสะท้อนถึง ๒ ครั้ง แม้ว่าในธรรมชาติจะสามารถเห็นรุ้งกินน้ำได้อย่างมากเพียง ๒ ตัวเท่านั้น แต่ทางทฤษฎีแล้ว แสงสามารถสะท้อนในหยดน้ำได้มากกว่า ๒ ครั้ง จึงสามารถเกิดรุ้งตัวที่ ๓, ๔ และ ๕ ไปได้เรื่อยๆ ในทุกๆครั้งที่แสงจำนวนหนึ่งหักเหออกมาจากหยดน้ำ แล้วทำให้เกิดรุ้งกินน้ำตัวต่อๆไปมีความเข้มน้อยลง และเห็นได้ยากขึ้น หลายคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ดูลึกลับในสมัยก่อน ตอบได้ด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สมัยนี้ เช่น ทำไมจึงไม่มีใครเห็นรุ้งกินน้ำตัวเดียวกันในเวลาเดียวกันได้ ถึงแม้ว่าจะยืนเคียงกันอยู่ก็ตามเหตุผลก็เพราะรุ้งมีลักษณะเป็นรังสีที่กระจายออกมาจากเม็ดละอองฝนในอากาศและมีส่วนโค้งเป็นวงกลม จุดศูนย์กลางแห่งความโค้งของรุ้งต่างจุดกัน รุ้งที่เห็นจึงไม่ใช่รุ้งตัวเดียวกัน หรือเหตุใดรุ้งที่อยู่ใกล้พื้นดิน จึงเห็นชัดเจนกว่ารุ้งกินน้ำตัวเดียวกันที่อยู่สูงขึ้นไป ก็เนื่องจากรูปร่างของหยดน้ำใกล้พื้นดินมีรูปร่างทรงกลมกว่า ทำให้การหักเหและสะท้อนเกิดขึ้นได้ดีกว่า นอกจากนั้นรุ้งจะต้องเกิดในท้องฟ้าด้านที่อยู่ตรงข้ามกันกับดวงอาทิตย์ในตอนเช้า หรือตอนเย็นเสมอ และต้องเป็นขณะที่ท้องฟ้าส่วนนั้นมีเม็ดละอองไอน้ำอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นทุกครั้งหลังฝนตก หากแต่เกิดทุกครั้งที่มีสภาวะอากาศที่เหมาะสม คือมีละอองฝนและมีแสงแดด เราจึงอาจเห็นรุ้งอย่างเดียวกันนี้ได้จากฟองไอน้ำของน้ำตก จากฟองไอน้ำที่เราพ่นออกมาจากปากและแท้จริงแล้ว รุ้งเกิดเป็นวงกลมแต่ที่เราเห็นรุ้งเพียงส่วนหนึ่งเพราะขอบโลกบังแสงอาทิตย์ไว้ เราสามารถมองเห็นแบบเต็มวงได้หากมองจากเครื่องบินที่บินอยู่เหนือกลุ่มละอองน้ำ หรือยืนอยู่บนยอดเขาแล้วมองลงไปหุบเขาที่มีละอองน้ำ

นักเรียนทุกคนต้องเข้าใจด้วยนะว่า ความเชื่อความศรัทธาทุกอย่างต้องสอดคล้องกันไม่ขัดแย้งดังพระพุทธศาสนาสอนธรรมะ ธรรมะก็คือธรรมชาตินั่นเองพิสูจน์ได้จ้ะ”

มณีจันทร์ฉาย