ตอนที่ 7 ความรัก คือ สายน้ำ
ยายพริ้ม…เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้พบกับแพฟังต่อว่า
“แม่น้ำโขงโดยเฉพาะรอยต่อพรมแดนไทยกับลาวเราเนี่ยนะลูก จะมีเกาะแก่งคุดคู้มากมาย โดยเฉพาะก่อนช่วงฤดูฝนจะมองเห็น ดอน เป็นเกาะกลางน้ำ เกิดจากทรายและก้อนหินขนาดเล็กมากมายที่แม่น้ำโขงพัดมาทับถม บริเวณดอนมีพืชริมน้ำ โดยมีพืชหลักคือ แขม อ้อ ไคร้ พืชตระกูลเฟิร์น พืชเหล่านี้จมอยู่ใต้น้ำหลายเดือนในช่วงฤดูกาลน้ำขึ้น ซึ่งจมอยู่ในระดับความลึก ๘-๑๐ เมตร พืชที่จมน้ำจะเปื่อยกลายเป็นอาหารของปลา และยังเป็นที่พักอาศัยและวางไข่ของปลาด้วย เมื่อดอนโผล่พ้นน้ำซึ่งเป็นฤดูน้ำลดพืชเหล่านี้จะฟื้นกลับคืนมา บริเวณดอนยังมี หลงน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมเล็กๆกว้างประมาณ ๑-๓ เมตร ลึกไม่เกิน ๑ เมตร เป็นที่วางไข่ของปลาเช่นกัน ยังมี ผา คือแก่งหินที่มีลักษณะเป็นแท่งตั้งอยู่ในแม่น้ำโขง อาจอยู่ใกล้ฝั่งหรือกลางแม่น้ำ ผาบางแห่งประกอบด้วยแก่งหินที่อยู่ใต้น้ำ เช่น ผาหลัก ผาบางแห่งมีสันดอนทรายอยู่รอบๆซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำจึงมีพืชริมน้ำขึ้นอยู่ เช่น ผาฟ้า บริเวณดอนที่อยู่รอบๆมีพืชคือ ต้นไคร้ ต้นไคร้หางนาค ขึ้นอยู่จำนวนมาก ผาในแม่น้ำโขงบริเวณนี้จมอยู่ใต้น้ำฤดูหลาก และโผล่เหนือน้ำฤดูน้ำลดเช่นกัน แก่ง คือชุดกลุ่มหินกลางแม่น้ำโขงที่มีความซับซ้อนและมีร่องน้ำลึกในฤดูน้ำลดแก่งจะโผล่พ้นน้ำ บริเวณซอกหินของแก่งซึ่งมีตะกอนทรายที่น้ำพัดมาทับถมจะมีพืชน้ำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะไคร้ บริเวณที่จมอยู่ใต้น้ำจะเป็นแหล่งกำเนิด ไก ซึ่งเป็นสาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง หาด เกิดบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง แต่ละหาดอาจยาวนับกิโลเมตร บริเวณหาดดังกล่าวนี้นอกจากปกคลุมด้วยทรายแล้วยังมีก้อนหินขนาดเล็กมากมาย ก้อนหินเหล่านี้จะเป็นแหล่งกำเนิดไก เช่นเดียวกับแก่งหินใต้น้ำ หาดทรายยังเป็นที่อาบน้ำ เล่นทราย ของนกอีกด้วย คก คือบริเวณหลุมลึกที่กระแสแม่น้ำโขงไหลวนอยู่ริมฝั่งโค้ง-เว้า คกแต่ละแห่งมีความลึกมาก อาจลึกได้ถึง ๑๐ เมตร คกที่สำคัญ เช่น คกลิง คกปวก และ หลง สองฝั่งแม่น้ำโขงมีพื้นที่คล้ายคกตาม กระแสน้ำนิ่ง หลงมีขนาดกว้างไม่มาก ประมาณ ๕ เมตร บริเวณนี้อุณหภูมิของน้ำจะอุ่น ซึ่งแตกต่างกับแม่น้ำโขงที่น้ำเย็น หลงเป็นแหล่งกำเนิด เตา ซึ่งเป็นตะไคร่น้ำชนิดหนึ่ง คอนผีหลง เป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างบ้านดอนที บ้านผากุบ บ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงราย มีความยาวตามลำน้ำประมาณสิบกิโลเมตร คนลาวเรียกว่า คอนผีหลง เป็นช่องน้ำหรือร่องน้ำที่ผีหลง คือคนตายหรือศพ ชุมชนไทยริมแม่น้ำโขงบางกลุ่มเรียกว่า แสนผี สาเหตุที่เรียกเกาะ แก่งหิน บริเวณนี้ว่าเป็นคอนผีหลงหรือแสนผี เนื่องจากประเพณีของคนลาวบางกลุ่มชนชาติพันทางเหนือขึ้นไปตามแม่น้ำโขง เมื่อมีคนตายในหมู่บ้านมีความเชื่อว่าการส่งศพคนตายมากับแพลอยตามแม่น้ำโขง คนที่ตายก็จะได้ไปสู่สรวงสวรรค์เป็นประเพณีที่คล้ายกับประเพณีลอยศพคนตายในแม่น้ำคงคา ประเทศอินเดีย เมื่อศพลอยพัดหลงเข้ามาถึงบริเวณจุดที่มีแก่งหินสลับซับซ้อน ซึ่งมีมากมายในบริเวณคอนผีหลง แรงปะทะของน้ำโขงกับแก่งหิน ทำให้พลิกคว่ำ ศพคนตายก็ไหลมาติดแก่ง หาด ดอน ตรงวังน้ำวนอยู่ตรงนี้”
“ชาวบ้านผากุบฝั่งไทยเล่าว่า หลายครั้งที่คนหาปลาเห็นแพลอยมากับน้ำ มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่นอนหมอนมุ้งครบถ้วน คนหาปลาบางคนไปเก็บมาใช้บ้างก็มี ไม่ถือว่าเป็นเรื่องลักขโมยแต่อย่างใด ขณะเดียวกันชุมชนชาวไทยริมฝั่งโขงก็มีชื่อเรียกกลุ่มแก่งหินนี้ต่างออกไปโดยเรียกตามความเชื่อ รูปร่าง และลักษณะบางอย่างของ หาด ดอน แก่ง และผาหิน ไม่ได้รวมทั้งกลุ่มเป็นชื่อเดียวกันอย่างที่คนลาวเรียก ดังนั้น คอนผีหลงของลาวจึงประกอบด้วย แก่ง และผาหิน ของไทยมี ดอนทรายกลางลำน้ำโขงมีกลุ่มหินใต้น้ำรายรอบมาก ผิวน้ำจึงไม่ราบเรียบ เป็นคลื่น เรือที่ผ่านช่วงนี้จะเจอกับคลื่นและกระแสน้ำหลาก ดอนร้องไก คือบริเวณหนึ่งร่องน้ำผ่านตรงกลางดอน เป็นถิ่นกำเนิดของไก สาหร่ายน้ำจืด ร้องก็คือร่องน้ำ ผาหลัก แก่งหินที่มีลักษณะคล้ายกับเสาหินปักลงกลางน้ำ ผาฟอง เป็นบริเวณที่มีแก่งหินใต้น้ำจำนวนมาก เมื่อกระแสน้ำไหลผ่านจะเกิดฟองอากาศตลอดเวลา เท่ากับการเติมออกซิเจนในน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงได้ ผาฟ้า เป็นแก่งหินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณคอนผีหลงตรงปลายยอดตั้งตระหง่าน น้ำท่วมไม่ถึง ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของเหล่านางฟ้า หาดฮ้าย ฮ้ายแปลว่าร้านหรืออันตราย เป็นบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยวต้องระมัดระวังในการเดินเรือ ผาช้าง เมื่อมองจากกลางลำน้ำมายังฝั่งไทยจะมองเห็นเป็นแก่งหินรูปร่างคล้ายช้างหันหน้าเข้าหาฝั่ง บรรทุกสัมภาระไว้บนหลัง ผาเสือ มีลักษณะคล้ายเสืออยู่ริมฝั่งตรงข้ามกับผาช้าง ผาช้างและผาเสือเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมชาติที่ช่วยคาดการณ์ว่าเมื่อใดที่ระดับน้ำขึ้นสูงถึงปากช้างคางเสือ ไม่ควรเดินเรือเพราะระดับน้ำที่สูงและเชี่ยวจะเกิดอันตรายถึงชีวิต ผาพระ ตำนานเล่าว่าสมัยโบราณเจ้าลาวองค์หนึ่งจากหลวงพระบางล่องเรือผ่านผานี้ เกิดอุบัติเหตุเรือล่มทำให้ลูกชายเสียชีวิตจึงสลักรูปพระไว้บนหน้าผาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย ปัจจุบันชุมชนสองฝั่งให้ความเคารพ เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนาร่วมกันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผากันตุง มีลักษณะคล้ายแท่นปักธงชัย กันตุงคือคันธง”
“โดยธรรมชาติของแม่น้ำโขง เกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง เป็นแหล่งกำเนิดพรรณพืชที่เป็นอาหารและที่อยู่อาศัยของปลา ชาวประมงหาเหยื่อ ทั้งจากสัตว์น้ำขนาดเล็กตลอดจนถึงพรรณพืช ที่สำคัญแก่งยังเป็นฝายทดน้ำโดยธรรมชาติ ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำ ช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูแล้ง พรรณพืชที่ขึ้นบริเวณแก่งเป็นอาหารของชุมชน บางชนิดเป็นยารักษาโรคได้ และเกาะ แก่ง ดอน ผา หาด คก หลง ยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม จนมีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติเดินทางมาล่องเรือเล็กชมความงดงามของลำน้ำโขง”
“ความเชื่อที่ชุมชนริมฝั่งโขงมีต่อเกาะแก่งหินแม่น้ำโขง ปรากฏออกมาเป็นชื่อเรียกที่ต่างๆกัน ชุมชนสองฝั่งโขงมีความเชื่อว่าบริเวณเกาะแก่งบางแห่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ มนุษย์มิอาจลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำลาย เพราะจะทำให้เกิดภัยพิบัติ ความเชื่อจากประสบการณ์ที่สืบทอดต่อกันมาแม่น้ำโขงเส้นเลือดหลักของชุมชนสองฝั่งโขงมีความซับซ้อนและยิ่งใหญ่มากนะลูก”
“พบกับแพ ลูกยังจำได้ไหม ที่ยายเคยเล่าให้ฟังแล้วว่าตอนที่ท่านปู่พญานาคราชและท่านย่าพญานาคี นำเหล่าพญานาคทั้งหลายที่เป็นฝ่ายปฏิบัติธรรม ถือศีล ภาวนา พากันขุดคุ้ยคูคลองร่นถอยหนีไปออกทะเลทัพพระยา จนกลายเป็นแม่น้ำสองสี สีขุ่นคือน้ำโขง และสีเขียวมรกตที่เปรียบประดุจโลหิตของพญานาคที่กลั่นออกมาจากหัวใจเลยทีเดียวคือน้ำทะเล พญานาคที่บำเพ็ญเพียร ถือศีล ภาวนา จนเพชรพญานาคกลายเป็นสีขาวเรียก เพชรตาแมว นะลูก ซึ่งเป็นของมงคลที่ต้องอยู่คู่กับมรกต เป็นสิ่งที่มนุษย์ทั้งหลายเฝ้าเสาะแสวงหา เพื่อจะมีไว้ครอบครอง ซึ่งผู้ที่ครอบครองต้องเป็นผู้มีบุญบารมีเท่านั้นที่จะได้ครอบครองของมงคลนี้ไว้ได้ จริงแท้ต้องเกิดจากการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติของเหล่าพญานาคที่ใฝ่ธรรมเท่านั้น เมื่อถึงเวลาของใครก็ของใคร มนุษย์เองก็เช่นกันหากมีบุญบารมีก็จะได้ครอบครองโดยไม่ต้องซื้อหา จะได้มาครอบครองโดยการปฏิบัติธรรมเท่านั้น”
“เวลานี้อยู่ในพรรษา ท่านปู่พญานาคราช และท่านย่าพญานาคี และเหล่าพญานาค นาคี ทั้งหลาย ก็จะเร่งบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม เพื่อจะได้ขึ้นมาทำนุบำรุงพระศาสนาให้อยู่คู่ชั่วฟ้าจบดินเป็นนิรันดร เหล่าพญานาค นาคี นาคาทั้งหลายจะเปล่งวาจาว่า
พุทธังบังเกิด เปิดโลกนาคิน ธัมมังบังเกิด เปิดโลกนาคิน สังฆังบังเกิด เปิดโลกนาคิน
เพราะใกล้ถึงเวลาของท่านปู่พญานาคราชและท่านย่าพญานาคีและเหล่านาคทั้งหลายที่ปฏิบัติชอบแล้ว ยายเคยบอกกับแพและพบเสมอให้สวดมนต์ภาวนาให้ท่านปู่ฯท่านย่าฯยังจำได้รึเปล่า”
“จำได้ค่ะยาย”
“จำได้ครับ พบท่องก่อนนอนทุกคืน”
พบกับแพรีบบอกด้วยสีหน้าแช่มชื่น
“พรรษานี้ให้ต่ออีกประโยคคือสังฆังบาทา นะลูก”
ยายพริ้มบอก แพรีบท่อง
“พุทธังบังเกิด เปิดโลกนาคิน ธัมมังบังเกิดเปิดโลกนาคิน สังฆังบังเกิดเปิดโลกนาคิน
สังฆังบาทา”
ยายยิ้มอย่างพอใจ
“เก่งมากลูก การส่งบุญกุศลให้ท่านปู่ฯท่านย่าฯให้ได้รับบุญกุศลเท่าๆกันกับเรา เราก็จะได้อานิสงฆ์มากมายทีเดียวเพราะท่านปู่พญานาคราชและท่านย่าพญานาคีบำเพ็ญเพียรเพื่อขึ้นมาทำนุบำรุงพระศาสนา ถ้าบุญบารมีเราสั่งสมได้พอเราก็จะได้เพชรพญานาคมาครอบครอง เร่งบุญเร่งกุศลนะ พบ แพ ยายแก่แล้วจึงอยากให้หนูทั้งสองคนสร้างคุณงามความดีตั้งแต่เยาว์วัย โตขึ้นไปจะได้ไม่ลำบาก มีบุญกุศลนำทางสว่างทุกอย่างและความสำเร็จก็จะตามมา”
“อิฉันขอนำบุญของอิฉันที่ทำมาในภพชาตินี้ต่อขาให้ท่านปู่ท่านย่าด้วยนะเจ้าคะ”
ยายพริ้มรำพึงในใจ
…………………………………….
เวลานี้เป็นช่วงฤดูฝน บรรยากาศขมุกขมัว อึมครึมตลอดทั้งวี่ทั้งวัน หญิงชราวัยใกล้ฝั่งก็ยังคงทำกิจวัตรประจำวัน ใส่บาตรหลวงตาทุกๆเช้า วันพระก็จะไปทำบุญใส่บาตรที่วัดโพธิ์ชัย กราบไหว้หลวงพ่อพระใส วัดพระศรีคุณเมือง ไหว้หลวงพ่อพระสุกองค์จำลองบ้าง แล้วแต่โอกาสจะอำนวย โดยมีพบกับแพเป็นเพื่อน ทุกเช้าค่ำหญิงชราก็จะทำวัตรเช้า ค่ำมาหญิงชราก็จะทำวัตรเย็น และสอนให้พบกับแพเข้าสมาธิ
“ก่อนจะเข้าสมาธิ ให้นั่งขัดสมาธิราบ โดยใช้ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย หงายฝ่ามือทั้งสองขึ้นนั่งตัวให้ตรง ดำรงสติอยู่เฉพาะหน้าค่อยๆหลับตาลงเอาจิตมาจับไว้ที่ปลายจมูก กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ขณะหายใจเข้าให้กำหนดว่า พุท หายใจออกให้กำหนดว่า โธ และยิ้มกับตัวเราเองนะลูก”
“การทำสมาธิด้วยการนำธรรมสมาธิ จะช่วยให้เกิดสมาธิสงบนิ่งเป็นอย่างดี ต้องมีความปราโมทย์ คือความแช่มชื่นใจ ความเบิกบานใจ ร่าเริงแจ่มใส ความสดชื่นซึ่งเมื่อเกิดอารมณ์ในแง่บวกนี้แล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย เพราะจิตใจไม่เศร้าหมองตกต่ำ มีความปิติ คือความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ซึ่งเหนือกว่าความดีใจธรรมดา มีความสงบเย็นทั้งกายใจ มีความผ่อนคลายสบายใจทำให้เราไม่เครียด ไม่มีสิ่งใดมาตัดรอนรบกวนจิตใจ มีความสุขรู้สึกไร้ความขัดข้อง ไร้ความกังวลทั้งปวง ท้ายสุดก็คือสมาธิ คือความสงบรออยู่ ตั้งมั่นอยู่ โดยที่จิตใจไม่มีสิ่งใดรบกวนรบเร้า ซึ่งความรู้สึกสงบเช่นนี้ ก็คือเราเข้าสมาธิได้แล้ว ก็จะทำให้เราเกิดสติปัญญา รู้เท่าทันเหตุการณ์ สามารถระลึกรู้ ยิ่งในห้วงที่สงบเช่นห้องพระก็จะเสมือนห้อง “ทิพยญาณ” เลยทีเดียวลูก แต่เมื่อจิตเราฟุ้งซ่านขึ้นเมื่อไหร่ก็ให้ดึงกลับมาทันทีด้วยคำว่า พุท-โธ เมื่อเราออกจากสมาธิแล้วจึงสวดบทแผ่เมตตาอุทิศบุญกุศลให้ตนเองและสรรพชีวิตทั้งหลาย”
“เพราะเมตตา หมายถึง ความรักความปรารถนาดี ต้องการให้เขามีความสุขยิ่งๆขึ้นไป คุณธรรมอย่างหนึ่งซึ่งควรปลูกฝังให้เกิดในใจ นั่นคือ เมตตาธรรม เพราะเป็นคุณสมบัติของเมตตา คือความเย็นใจ ด้วยเหตุที่ดับความโกรธ ความประทุษร้าย ความพยาบาทลงได้ด้วยเมตตาธรรม ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ แล้ว”
มณีจันทร์ฉาย