เรื่องของการศึกษา
วันเวลาที่ควรจะเป็นไปตามความต่อเนื่องของเด็กนักเรียน กล่าวคือเรียนเดือนนั้นปิดเดือนนี้เพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาลตามธรรมชาติที่บ้านเรามีหรือรวมถึงวันเวลาของชาวโลกที่เขาทำกัน บางทีเราก็ยึดเอาช่วงเวลาของยุโรปบ้างหรือบางคราก็เอนเอียงไปฟากฝั่งอเมริกาก็แล้วแต่ว่าใครจะมากุม “อำนาจ”ทางการศึกษาที่เรียกว่า “กระทรวงศึกษา”นั่นเอง ความจริงเราเองก็พยายามดูประเทศที่อยู่รอบบ้านเราอยู่เหมือนกันสุดท้ายก็อย่างที่เป็นอยู่ครับ การศึกษาของเด็กบ้านเรายังคงล้มลุกคลุกคลานอย่างที่เป็นอยู่นี่แหละ จะกี่ภพกี่ชาติหากเราเรียนรู้อะไรไปจากโรงเรียนไปแล้วพอกลับบ้านแล้วมันใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เอาเสียเลย ก็แลดูว่ามันจะเปล่าประโยชน์ไปเสียเท่านั้นเอง
บางครั้งผมเองมองการศึกษาบ้านเราเป็นเหมือนม้าแข่งนั่นคือไม่ต้องคิดอะไรวิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว แล้วแต่ว่าคนที่อยู่บนหลังจะให้จังหวะอย่างไร เพราะว่าม้าแข่งที่เราเห็นนั้นจะมีเครื่องกั้นด้านข้างของตาเพื่อให้มองทางอย่างเดียวห้ามตกใจจากอะไรก็ช่างที่อยู่ด้านข้างทั้งหมด หากเด็กของเรามีสภาพแบบม้าแข่งเหล่านั้นทุกอย่างจะไม่มีอะไรเจริญก้าวหน้ามากมายนัก ผู้คนทำงานกันแบบไม่ต้องมีความคิดอะไรมากมายคือ “ทำแบบหุ่นเชิด”ไม่ต้องมีการเสนอแนวความคิดหรืออะไรทั้งหมดแบบทำงานหมดวันแล้วกลับบ้าน การศึกษาบ้านเรามันเป็นแบบนั้นจริงๆครับ
แต่กับชั่วโมงนี้เวลาที่เคยเป็นของที่ต้องอยู่ด้วยกันนั่นคือ โรงเรียน เด็กและครู ที่ประกอบเข้าด้วยกัน กลายเป็นชั้นเรียนทำให้เกิดความผูกพันกันทั้งหมดรวมเป็นสังคมของโรงเรียนที่จะส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ของทุกอย่างที่เคยปฏิบัติกันมายาวนานตอนนี้ทุกอย่างอยู่กับที่โรงเรียนที่ควรจะเปิดเรียน เพื่อนได้พบเพื่อน ครูได้พบครู แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน ทุกคนปักหลักอยู่บ้านทำได้แค่เรียน “ออนไลน์” เด็กจะรู้เรื่องหรือไม่เราคงจะไม่สามารถตอบอะไรได้มากนัก…นอกจากเด็กๆที่เป็นนักเรียนที่อยู่ในประเทศแล้วครูไก่เองก็มีนักเรียนที่อยู่อีกฟากฝั่งของโลกไม่ว่ายุโรปหรืออเมริกา รวมถึงบางประเทศในเอเชียด้วย ทุกคนก็ต้องทำเหมือนกันนั่นคือเรียนกันตามที่เวลาของตัวเองในประเทศที่โรงเรียนตั้งอยู่ ตัวอย่างเช่นในโซนยุโรปโดยเฉลี่ยแล้วจะมี 5-6 ชั่วโมงกับบ้านเรา ก็ถ้าอังกฤษมันก็เราเที่ยงวัน ส่วนที่โน่น 6 โมงเช้า เวลาที่คาบเกี่ยวแบบนี้บรรดาเด็กๆเหล่านี้จะต้องอดตาหลับขับตานอนในการเรียน คือกว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืนตีหนึ่งเข้าไปแล้ว
นี่แหละคือการศึกษาที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองกันยกใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในดินแดนไหนในโลกหากเรายังทุ่มให้การศึกษากันมากมายขนาดนี้แล้วพอเมืองกลับมาง่อยเปลี้ยเสียขากับโรคอุบัติใหม่นามว่า “อู่ฮั่น”สุดท้ายได้ชื่อใหม่ว่า “โควิด-19”แล้วก็ยังไม่รู้ว่าทุกอย่างจะสงบลงเมื่อใด ลองมองดูว่าอะไรที่มนุษย์ทำการล้ำเส้นของธรรมชาติมากเกินไปมันก็เป็นแบบนี้ ประเทศที่มีความเป็น “เสรี”ในทางความคิดและการกระทำซึ่งเหล่านั้นมันมีมาเป็นร้อยปีไปแล้วและมันพ่วงมาจากการศึกษาในอดีต สุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าเจ้าความคิดที่เขาทำแล้วเรากำลังทำตามมันถูกหรือผิด เพราะถ้าเขาดีจริงผู้คนคงไม่ล้มตายกลายเป็นใบไม้ร่วงแบบนี้…หากจะหาคนทำผิดก็คงได้แค่ข้อแก้ตัวข้างๆคูๆเท่านั้นตามที่เขาสั่งสอนกันมานั่นแหละ
ครูไก่