สันติ ป่าหวาย
สันติ ป่าหวาย
อธิบดี กรมพลศึกษา
“ทุ่มเท ไม่หยุดยั้ง ยึดมั่นทุกคำสัญญา”
เกิดปราจีนฯ โตลพบุรี : คุณพ่อคุณแม่เป็นครู แต่เมื่อเด็ก ๆ ผมโดนรถชนที่ปราจีนฯ จนขาหัก หัวแตก คุณพ่อจึงได้พาไปเลี้ยงที่ลพบุรี จำความได้ตั้งแต่อนุบาล โตขึ้นก็เรียนที่บ้านหนองเมือง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี
ทหารอากาศ : เป็นความใฝ่ฝันของพ่อ แต่ผมไม่ชอบ พอเรียนจบมัธยม ม.6 รุ่นแรก ก็หนีไปสอบที่ วิทยาลัยพลศึกษา สุพรรณบุรี ได้เรียนกับ อาจารย์ ตระกูล ไชยยงค์ ทั้ง อ.สนอง, อ.เสนอ, อ.สำเริง ซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านฟุตบอล ได้เรียนรู้คำว่าพลศึกษา การประพฤติตน การทำงาน ที่ชอบเพราะคนเรียนพลศึกษา ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง มีรุ่นพี่รุ่นน้อง มีสัมมาคารวะ เป็นปัจจัยหลัก ทำให้คนพลศึกษาอยู่ตรงไหนก็ได้
คำถามประจำ : เรียนพละ จบไปแล้วจะทำอะไร เป็นคำถามที่มักจะโดนถาม แต่ผมไม่เคยอายใคร เรียนพลศึกษา เพื่อเป็นครูพลศึกษา อยากทำงานกระทรวงศึกษา หลังจากจบวิทยาลัยพลศึกษา ปกศ.สูง ก็มาสอบปริญญาตรีที่ มศว. พลศึกษา ซึ่งอยู่ในสนามศุภชลาศัย พอได้เดินรอบกรมพลศึกษา ความฝันคือ อยากมาทำงานที่นี่ เป็นความฝันของเด็กสมัยเรียน
เปลี่ยนงานบ่อย : จบจาก มศว.ก็ไปสอนในโรงเรียนเอกชน อยู่ปีกว่า ๆ สมัยนั้นยังแรงมาก ใครจะมาอะไรเราไม่ได้ จนโดนให้ออก ระหว่างตกงาน ก็เคยไปเป็น รปภ. ที่ห้างฯ ผมมองว่า รปภ. มันเท่มากเลยนะ ผมสมัครไปเป็นหัวหน้า สมัยนั้นคนจบปริญญาตรี ไม่ค่อยมีใครสนใจงานแบบนี้ แต่ผมไม่เลือก ถือว่าเราพลศึกษาทำได้ เข้มแข็ง สั่งการได้ เป็นเรื่องของความปลอดภัย ต้องดูแลทั้ง ประชาชน และผู้ว่าจ้าง มีโดนลองของบ้าง แต่ก็รับมือได้ เงินเดือนก็นับว่าสูงพอสมควร ถึงไม่มีประสบการณ์โดยตรง แต่ศึกษาดูว่าเขาทำยังไงกัน เราเป็นหัวหน้ามีหน้าที่คอยกำกับให้ได้ เป็นครูมาก่อน นำมาประยุกต์ใช้ได้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ผมไม่เคยดูถูก เพราะเคยสัมผัสมาแล้ว รู้ว่าสำคัญยังไง
เป็นครูอาชีวะ : ระหว่างนั้นทราบข่าวว่า โรงเรียนอาชีวะดอนบอสโก ถ.เพชรบุรี (วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก กรุงเทพฯ) เปิดรับสมัครครูพลศึกษา ผมก็ไปสอบ จนผ่านเข้าไปได้ทำงาน แต่อายุของผมกับเด็กนักเรียน ยังมีความใกล้เคียงกัน ไปสอนวันแรก ยังไม่รู้ว่าจะต้องแต่งตัวยังไง เลยใส่เสื้อสีขาว กางเกงสีกรมท่า เหมือนกับเด็กเลย ให้ผมไปคุมโรงอาหาร แล้วช่วงนั้นบนไว้ว่า ถ้าสอบได้จะบวช พอสึกออกมาผมก็เพิ่งขึ้น ทำให้ดูเหมือนเด็กนักเรียน สมัยก่อนบู๊มาก ไม่ค่อยยอมใคร ใจร้อนมาก ไปวันแรกก็โดนลองของ จนมีเรื่องชกต่อยกับเด็ก เหตุเกิดเพราะผมเห็นเด็กไม่เข้าแถว ก็เดินไปสั่งให้เข้าแถว เด็กก็ย้อนถามว่า เป็นใคร ทำไมถึงมาสั่ง เท่านั้นแหล่ะ ผมลากตัวไปต่อยที่ห้องน้ำเลย แล้วผมก็โทรไปบอกแม่ว่า โดนไล่ออกแน่ อธิการก็จะให้ออก แต่พอได้สืบสวนเรื่องราว หาเหตุผลกัน คดีพลิก ท่านก็เข้าใจเรา บอกว่าแข็งแบบนี้ถึงจะคุมเด็กได้ จนผมได้เป็นหัวหน้าฝ่ายปกครอง ตอนหลังเด็กเกเรสนิทกับเราหมด เพราะเราเป็นที่พึ่งของเขาได้ เขารักเราในพฤติกรรม ที่คอยปกป้องเขา เห็นเด็กโดนกระทำผมยอมไม่ได้
สอบบรรจุครู : อยู่ได้ปีกว่า ๆ ก็ย้ายงานอีกเพราะรู้ว่าอยู่แบบนี้ก็ไม่รุ่ง ประกอบกับ สอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ ดีใจมาก คนสอบเป็นพันคนผมได้ลำดับที่ 254 แต่ต้องรออีกพักใหญ่กว่าจะได้รับการเรียกตัว วันเลือกโรงเรียน ผมขอที่ไกลสุด กันดารสุด ได้ไปอยู่โรงเรียนบ้านใหม่ไทรทอง อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีจนถึงระดับ ม.3 เข้าไปในดง ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า เวลามีหนังกลางแปลง ในหนังยิงกัน นอกจอก็ยิงกันจริง ๆ
อยากพัฒนากีฬาบ้านนอก : ไฟแรง อยากทำกีฬา อยากให้เด็กรู้ว่ากีฬาคืออะไร ลูกเสือ ยุวกาชาด ก็ทำได้จริง ๆ ปิดเทอมไม่กลับบ้าน ใช้เวลาอยู่กับเด็ก ซ้อมวอลเลย์บอล ซ้อมฟุตบอล เด็ก ๆ เรียกผมว่า ครูกบ เป็นหัวหน้าหมวดพลศึกษา แต่ทำสารพัดหน้าที่
ครูพลศึกษาสู่นักประชาสัมพันธ์ : ต่อมาได้ย้ายมาที่โรงเรียนบ้านโคกมะตูม อ.เมือง จ.สระแก้ว แต่เป็นโรงเรียนเล็ก ไปสอนเด็กอนุบาล ขณะที่ช่วงนั้นก็ทำกีฬาจังหวัดของสระแก้ว จังหวัดมีศูนย์พลศึกษา ขึ้นอยู่กับกรมพลศึกษา เขาเห็นเราทำงานอยู่ มีความสนิทสนมกัน ก็เรียกไปช่วยงาน จนสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดสระแก้ว เปิดรับสมัครนักประชาสัมพันธ์ ผมก็ตัดสินใจไปสมัคร เพราะตอนนั้นคิดว่าไปไหนก็ได้ บังเอิญโชคดีได้เข้าไปรับตำแหน่งติดตามท่านผู้อำนวยการฯ ท่านก็ส่งผมไปจนผ่านการอบรมลูกเสือ 4 ท่อน ได้เป็น ผอ.ฝึก ตั้งแต่อายุสามสิบกว่า ๆ
ได้งานในฝัน : วันหนึ่งได้มาเดินรอบสนามศุภชลาศัย ได้มาเจอผู้ใหญ่ในวงการกีฬา เมื่อได้พูดคุยกันท่านก็ทราบว่าเราอยากจะมาทำงานที่นี่ ก็ช่วยประสานให้ จนผมสามารถโอนมาอยู่ กรมพลศึกษา จากเดิมตำแหน่งนักประชาสัมพันธ์ ซี 6 ย้ายมาเป็น นักพัฒนาการกีฬา เหลือแค่ ซี 5 แต่ผมก็ยินดี
กลับถิ่นเดิม : พอดีศูนย์พลศึกษาและกีฬา จ.สระแก้ว มีตำแหน่งว่าง ถามผมว่าจะกลับไปไหมผมก็กลับไปทำงานด้านกีฬาจนปี 2543 ก็ได้เป็น ผอ.ศูนย์ฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมกีฬานักเรียน นักศึกษา กีฬามวลชน ดูแลลูกเสือ สารวัตรนักเรียน ฯลฯ สมัยนั้นงานครอบคลุมเยอะมาก
ยิ่งย้ายยิ่งชอบ : ผมอยู่ที่ไหนก็ได้ อาศัยความเคารพนบนอบ สิบนิ้วยกมือไหว้ ขอความช่วยเหลือกันได้หมด พอครบปีก็ย้ายไปเป็น ผอ.ศูนย์ฯ จ.น่าน ไปทำกีฬาชาวไทยภูเขา พอทำสักพัก ปี 2545 ก็เกิดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เราก็มาสังกัด สำนักงานพัฒนาการกีฬา (ต่อมาภายหลังก็กลับมาเป็นกรมพลศึกษา) สังกัด ศูนย์ท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัด งานของเราก็เหมือนเดิม แต่เพิ่มท่องเที่ยวขึ้นมา
ไม่เคยท้อ : สมัยก่อนคนดูถูกพวกเรามาก บอกว่าเอาพละมาทำท่องเที่ยว จะได้เรื่องรึ ผมก็เลยบอกว่า คอยดูละกัน พละทำได้ทุกอย่าง ผมทำท่องเที่ยวร่วมกับท่าน ผู้ว่าฯ วีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ในโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว “น่านนิรันดร์ ๑๐๐ ภาพฝัน บันทึกแผ่นดิน” โดยจังหวัดน่าน ร่วมกับ “กลุ่มสห + ภาพ” และภาคีเครือข่าย เชิญศิลปินระดับชาติหลายท่านมาร่วมทำกิจกรรม และยังได้ทำรถรางเมืองน่านเพื่อการท่องเที่ยวขึ้นเป็นครั้งแรกทำให้ช่วงนั้น จ.น่าน เป็นที่รู้จัก อยู่น่านครบสองปีก็ย้ายกลับมาสระแก้ว ท่านผู้ว่าฯ ศานิตย์ นาคสุขศรี ขอตัวให้มาช่วยทำโครงการ “สระแก้วขึ้นกล้อง 100 มุมมอง แผ่นดินทองบูรพา” โดยมีคุณจิรนันท์ พิตรปรีชา มาแต่งบทกวีคำนำให้ เป็นหนังสือที่ทาง จังหวัดสระแก้ว กับ “กลุ่ม สห + ภาพ” ร่วมมือกันจัดทำขึ้น มีการจัดกีฬาตามแนวเขตชายแดน จนกระทั่งครบปี ก็ไปรับตำแหน่ง อำนวยการต้น ไปจังหวัดตรัง ไปทำท่องเที่ยวชุมชน และยังต้องไปประจำที่ภูเก็ต สี่ปีสี่เดือน นานที่สุด มีงานที่มาพร้อมกับปัญหาเยอะมาก ก็ค่อย ๆ ทำไป แก้ปัญหากันไป จนในที่สุด ได้รับโอกาส ให้เข้ามาเป็น ผอ.สถาบันพัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและการกีฬา กรมพลศึกษา ดูแลเรื่องเจ้าหน้าที่พลศึกษาที่มีอยู่ทั่วประเทศราวหนึ่งพันคน การอบรม ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน อบรมผู้นำนันทนาการ ฯลฯ เป็นอยู่ได้ราวแปดเดือน ตำแหน่งรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวว่าง เจ้านายก็บอกว่าดูแล้วเหมาะกับผม ทำให้ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นรองฯ อยู่ประมาณเกือบปี และได้ขึ้นไปช่วยงานเป็น รองปลัดกระทรวงฯ ประมาณ ปีเศษ ๆ จนได้กลับมาดูงานกีฬาอีกครั้ง
ไม่ทิ้งการศึกษา : ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ช่วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสระแก้ว ก็ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท (สาขาบริหารการศึกษา) ที่มหาวิทยาลัยบูรพา และต่อมาระหว่างดำรงตำแหน่งท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ก็ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก (การบริหารการจัดการ) ที่มหาวิทยาลัยนอร์ท กรุงเทพฯ และสำเร็จการศึกษาตอนเป็นรองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ได้รับโอกาส : โดยท่านปลัด พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้โอกาสในการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร กรมพลศึกษาและกีฬา รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว และท่านรัฐมนตรี วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบโอกาสให้มาปฏิบัติราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ และอธิบดีกรมพลศึกษา
กรมพลศึกษา : มีหน้าที่ในการส่งเสริม ให้คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ได้ออกกำลังกาย ประกอบกิจกรรมนันทนาการ ให้เป็นวิถีชีวิต เราจึงต้องมีบุคลากร ต้องมีโครงการ เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ให้ประชาชน มีร่างกายแข็งแรง จิตใจสมบูรณ์ เพราะจิตใจที่แจ่มใส อยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์
ความแตกต่าง : กรมพลศึกษา ดูแลเรื่องกีฬาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่อนุบาล จนถึงอายุไม่เกิน 18 ปี ชั้น ม.6 หรือ อาชีวศึกษา เราดูแลกีฬามวลชนทั่วไป จะแตกต่างกับ กกท. ที่ดูแลเรื่อง กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ กับกีฬาอาชีพ ภารกิจแตกต่างกันอย่างชัดเจน
รื้อฟื้นโครงการ : กีฬานักเรียนนักศึกษา ส่วนภูมิภาค สมัยก่อนยิ่งใหญ่มาก มีการแข่งคัดเลือกในระดับกลุ่ม อำเภอ คัดกรองกันเข้ามา แต่พักหลังนี่เงียบไป เพราะขาดแคลนงบประมาณ และปัญหาที่สำคัญกว่าก็คือ เด็กที่อยู่ห่างไกล ไม่มีโอกาสเข้ามาเล่น ยิ่งถ้าผู้บริหารสถานศึกษา ครูพละ ไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยิ่งทำให้เป็นไปได้ยาก ที่เด็กของเราจะได้ฉายแววเป็นช้างเผือก นี่คือภารกิจของกรมพลศึกษา ถึงแม้จะติดขัดในเรื่องต่าง ๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมอยากจะผลักดันให้ทำให้ได้ ถือว่าเป็นหัวใจของกรมพลศึกษา อยากให้เด็กทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในพื้นที่กันดาร มีโอกาสได้เล่นกีฬา และยังมีกีฬามวลชน ชาวไทยภูเขา กีฬาผู้สูงอายุ ฯลฯ ถึงแม้จะขาดแคลนงบประมาณ แต่ถ้าหากพยายามช่วยกันผลักดัน และขอความร่วมมือกับฝ่ายต่าง ๆ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ย่อมมีมากขึ้น
ตั้งศูนย์ฯ : ในปี 2564 เราจะทำโครงสร้างใหม่ อาจจะทำเป็นศูนย์พัฒนาบุคลากรการพลศึกษาและวิทยาศาสตร์การกีฬา ประจำทั้ง 10 เขต คือเป้าหมายของเรา เอาคนในกรมฯ ของเราไปอยู่ประจำ มีหน้าที่ไปจัดกีฬา ส่งเสริมกีฬา ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น มีการทดสอบ สมรรถภาพ ให้คำแนะนำการออกกำลังกาย ส่งเสริมองค์ความรู้ หลักการ วิธีการ เทคนิค โดยงบประมาณส่งตรงไปให้ถึงได้ ควบคุมคนของเราได้ ขณะนี้ได้มีการเตรียมงานกันอยู่
ไม่ใช่นักกีฬา : แต่เป็นนักออกกำลังกาย สมัยก่อนที่เรียน พลศึกษาสุพรรณ ชอบเล่นฟุตบอล ตัวเล็ก ไว เล่นจนขาหัก เข่าหลุด เจ็บจนต้องเลิกเล่นหันมาตัดสินกีฬาได้ทุกประเภท ส่วนกีฬาก็เล่นได้ทุกประเภท แต่เพื่อออกกำลังกาย รวมถึงกอล์ฟด้วย วันไหนไม่ได้ออกกำลังกาย จะรู้สึกขาดอะไรไป ที่บ้านต้องมีลู่วิ่ง ยิ่งช่วงที่อยู่กรมพลศึกษา ถ้าพอมีเวลา ผมจะไปอาคารนิมิตรบุตร ออกกำลังกายให้เหงื่อออก ชีวิตไม่ห่างเรื่องออกกำลังกาย เป็นสิ่งจำเป็น
อสก. : เราตั้งเป้าผลิตอาสาสมัครกีฬาและผู้นำการออกกำลังกาย เริ่มทำมาแล้วหมื่นกว่าแห่ง คนกลุ่มนี้จะเป็นเครือข่าย อยู่ในพื้นที่ เป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมให้ชุมชนต่าง ๆ หันมาใส่ใจสุขภาพ ก่อนหน้านี้คาดว่าจะทำให้ครบทั้ง 75,032 หมู่บ้าน ในปี 2565 หลังจากหมดวิกฤติโควิด-19 ก็จะเร่งอบรมบุคลากรกลุ่มนี้ให้เร็วที่สุด
เคารพทุกความคิด : เห็นคุณค่าทุกการตัดสินใจ ให้โอกาส ให้กำลังใจ ทำงานแบบให้ใจลูกน้องเมื่อมอบหมายแล้วต้องไว้ใจ ให้กำลังใจและเคารพในการตัดสินใจ ผมจะไม่มีการสั่งว่าให้ทำยังไง แต่จะให้เสนอมาว่าจะทำยังไงถึงจะสำเร็จ คนที่เสนอก็จะภูมิใจ ได้ลุยงานกันเต็มที่ เราก็พร้อมจะสนับสนุน ผลงานที่ออกมาก็จะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
จริงใจและให้ใจ : ผมมีเพื่อนเยอะ และผมก็จริงใจกับทุกคน ซึ่งผมเป็นคนที่ทุ่มเทและจริงใจกับทุกคนที่อยู่รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ผู้บังคับบัญชา หรือลูกน้องที่ร่วมงานด้วยกัน
ดุเพราะรัก : ผมบอกลูกน้องเสมอว่า ถ้าวันไหนผมยังด่ายังดุอยู่ นั่นคือผมยังรัก แต่ถ้าเมื่อไหร่ผมเงียบ นั่นคือจบ โกรธสุดคือจะเงียบไม่คุยเลย เพราะนั่นคือผมต้องใช้เวลาไตร่ตรอง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้บริหาร ผมอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย โกรธง่าย โมโหง่าย สะกิดไม่ได้เลย จนคนรู้ว่านี่คือจุดอ่อน แต่เมื่อเราโตขึ้น ต้องคิดก่อนพูด ถ้าไม่มีสมาธิ ไม่มีหลักการ เราจะเหนื่อย เพราะพูดไปแล้ว กลับคำไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีสงบเข้าไว้
วิกฤติคือโอกาส : ชีวิตผมไม่เคยอยู่กับครอบครัวนานขนาดนี้มาก่อน ไม่เคยกินข้าวด้วยกันทุกเย็น ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยอยู่บ้าน เพราะผมชอบทำงานในพื้นที่ ไปติดตาม ไปช่วยดูแล แก้ไข ทุกกิจกรรม อยากไปสัมผัส ไปให้กำลังใจ ผมไปหมด ไม่เลือกงาน ไปดู ไปให้กำลังใจ พอเกิดวิกฤติ ผมได้กลับมาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้น และยังได้พบว่า การออกกำลังกาย จะอยู่ที่ไหนก็ทำได้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ของเรา ทำคลิปแนะนำการออกกำลังกายระหว่างที่เก็บตัวอยู่กับบ้าน และยังจัดกิจกรรมให้ผู้คนส่งคลิปเข้ามาประกวดเพื่อชิงรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อร่วมสนุกอีกด้วย
หลังโควิด : ต้องกลับมาคิดว่า เราจะทำอะไรกันถึงจะเหมาะสม กีฬานักเรียนยังจัดไม่ได้ เปิดเทอมมาก็ไม่มีเวลาให้แข่งขัน เด็กต้องรีบเรียน รีบสอบ ต้องมาปรับยุทธศาสตร์กันใหม่ ให้เขาได้ออกกำลังกาย ไม่ต้องแข่งขัน จังหวัดไหน จัดการออกกำลังกายแบบไหนเสนอมา คิดกิจกรรมมา เพราะแต่ละแห่งพื้นฐานไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาอาจจะคิดอะไรได้ดีกว่าเราก็ได้ ถึงอาจจะไม่ครบทุกแห่ง แต่เราก็มีความตั้งใจที่จะช่วยอย่างเต็มที่
กอล์ฟ ส่วนผสมความสุข : เริ่มเล่นตั้งแต่ราวปี 2550 เมื่ออยู่ที่ จ.สระแก้ว เห็นคนอื่นเล่นกัน เราพลศึกษาไม่กลัวเรื่องกีฬาอยู่แล้ว ก็อยากลองบ้าง จับเอง ตีเอง แล้วค่อย ๆ พัฒนามาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้เล่นบ่อยมากนัก จนเมื่อเข้ามาเป็น ผอ.สถาบันพัฒนาบุคลากรฯ กรมพล ถึงได้เล่นช่วงวันหยุด แต่จะเล่นสนุกแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ 1. ความสมบูรณ์ของร่างกาย 2. จิตใจ 3. อุปกรณ์ และ 4. ก๊วน เป็นกีฬาเดียวที่ปลดปล่อยได้เต็มที่ หัวเราะเสียงดังได้ หยอกล้อกับเพื่อนฝูง ผ่อนคลาย ชีวิตผมไม่เคยหัวเสียกับการเล่นกอล์ฟ เพราะเรามา ออกกำลังกาย ตีได้ ตีไม่ดี เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่แค้ดดี้ บอกไลน์มาพัตต์ไม่ลงก็หัวเราะ สนุกสนานกันไป เรามาตักตวงความสุข เป็นกีฬาที่ต้องมีครบทั้ง ศีล สมาธิ และ ปัญญา ถึงจะเล่นได้ดีครับ