ครบรอบ 140 ปี การเสด็จทิวงคต ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์
ครบรอบ 140 ปี การเสด็จทิวงคต ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5)
พระราชประวัติ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี เป็นพระราชธิดาลำดับที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ประสูติภายใต้ร่มมหาเศวตฉัตร ในปราสาทราชมณเฑียร แห่งพระบรมมหาราชวัง ณ วันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก จุลศักราช 1222 ตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2403 และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ต่อมาในรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เลื่อนพระอิสริยศักดิ์ เป็น “พระอัยยิกา” และยังเป็นพระอัยยิกาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9)
พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในเจ้าจอมมารดาเปี่ยม แต่เป็นลำดับพระองค์ที่ 3 ปรากฏพระนามตามลำดับต่อไปนี้
พระองค์ที่ 1 พระองค์เจ้าชายอุณากรรณอนันตนรไชย
พระองค์ที่ 2 พระองค์เจ้าชายเทวัญอุไทยวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล “เทวกุล ณ อยุธยา”
พระองค์ที่ 3 พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์
พระองค์ที่ 4 พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา พระองค์ทรงเป็น “สมเด็จย่า” ของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันนี้ด้วย
พระองค์ที่ 5 พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี
พระองค์ที่ 6 พระองค์เจ้าชายสวัสดิโสภณ ทรงเป็นต้นราชสกุล “สวัสดิวัฒน์ ณ อยุธยา”
หลังจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) ทรงเสด็จสวรรคตในเวลานั้นพระองค์เจ้าหญิงสุนันทกุมารีรัตน์ พระชนมายุประมาณ 9 พระชันษา เท่านั้น จึงได้ทรงอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทรในพระอุปการะของพระเชษฐาธิราชต่างพระราชชนนี
ซึ่งต่อมาเสด็จเถลิงถวัลย์ราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ เจริญวัยถึงพระชนมายุประมาณ 16 พระชันษา และได้ถวายพระองค์เป็นพระมเหสีฉลองพระเดชพระคุณต่อพระเชษฐาธิราช ซึ่งในขณะนั้นพระชนมายุได้ประมาณ 21 พระชันษา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) แม้จะมีพระราชกรณียกิจมากมายเพียงใด พระองค์มิได้ทรงละเลยในหน้าที่ของพระราชสวามีที่ดียิ่ง โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระองค์ทรงเป็นทั้งพระเชษฐาธิราช และพระราชสวามี ได้ทรงพระมหากรุณาอย่สงดื่มด่ำสุดรำพัน ดังนั้นหลังจากทรงเสกสมรสได้ไม่นาน สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี อัครมเหสี ก็ทรงพระครรภ์
กล่าวกันว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงประกอบด้วยพระรูปสมบัติอันฉวีวรรณผุดผาด พระคุณสมบัติตลอดจนพระอัธยาศัยสุภาพสงบเสงี่ยม ไม่ถือพระองค์ เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งหลาย สมดังเป็นพระอัครมเหสี ปฐมราชินีคู่บัลลังก์โดยแท้จริง
เรื่องราวของพระองค์เจ้าหญิงสุนันทา ซึ่งอุบัติภายใต้ร่มแห่งมหาเศวตฉัตร เป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดคิดว่านาทีแห่งโศกนาฏกรรมกลางลำน้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) ได้ทรงสูญเสียพระนางอันเป็นที่รัก พระราชธิดา พระราชโอรสที่ยังมิลืมตาขึ้นดูโลก เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ นำความโศกเศร้าอย่างใหญ่หลวงนักในครั้งกระโน้น เป็นการสูญเสียที่มหาศาล หากไม่หนักหนาจะไม่มีใครเห็นน้ำพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ) ท่านหลั่งไหลด้วยมิอาจจะกลั้นความทุกข์ระทม ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักย่อมเกิดความทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอไม่มีวันที่จะหลีกเลี่ยงได้ก็จริง แต่มันช่างรวดเร็วและโหดร้ายเกินกว่ามนุษย์ใดจะทำใจได้ในระยะเวลาอันสั้น ไม่มีใครเคยคาดคิด แต่มันเกิดขึ้นแล้วคงไม่มีวันที่คนไทยทั้งชาติจะลืมเลือนเหตุการณ์ เรือพระประเทียบล่มในครั้งนั้นได้ เป็นความเศร้าลึกของ “จักรีวงศ์” เสมือนหนึ่งเป็นนวนิยายแห่งราชวงศ์จักรีที่ยังคงเป็นความทรงจำของคนไทยนานเท่านาน
สามสิบเอ็ดพฤษภา น้ำตาหลั่ง
ชาวไทยยัง มิลืมเลือนเดือนวันดับ
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา พระโอรส พระธิดา มาลาลับ
ไปไม่กลับลับหาย กับสายนที
ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตา
พระมหากรุณา สมเป็นยอดมเหสี
นามสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา พระบรมราชเทวี
อัครมเหสีผู้มีสัจจะวาจา
ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ หาใดเท่า
ความโศกเศร้า จารึกรอยระห้อยหา
องค์สมเด็จพระปิยะมหาราชา
ทรงปรารถนา เคียงคู่อยู่นิรันดร
อนุสาวรีย์ มีไว้ชาวไทยประจักษ์
ด้วยความรักของพระองค์ ทรงอักษร
มอบแด่มเหสีเทวี ชั่วนิจนิรันดร
เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ชั่วกาลเวลา
ขอทั้งสองพระองค์ จงสมหวัง
ประดุจดัง เจ้าหญิงชาย ที่ปรายฟ้า
ด้วยความรัก อันยิ่งใหญ่ ดุจดัง ทัชมาฮา
เทพเทวา จงประจักษ์ รักนิรันดร์
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
นางสุชาภา ผลชีวิน ผู้ประพันธ์