ดร.ปวริส มินา
ดร.ปวริส มินา
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร
“การสอนละคร คือการสอนให้เข้าใจในความเป็นมนุษย์”
ละคร สะท้อนสังคม : เมื่อตอนอยู่ ม.ปลาย ผมไปดูละครเวทีของพี่ ๆ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นครั้งแรก จนเกิดความประทับใจ เมื่อได้เข้ามาเรียนใน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พอรู้ว่ามีละครเวที ก็ไปดูก่อน จนได้รู้จักกับพี่ ๆ ที่ทำงานด้านนี้กัน และในทรานสคริปต์ ในปริญญาของผม ไม่มีวงเล็บว่า การละคร หรือ นาฏยสังคีต ผมมองว่า มันยากมากที่จะเข้าไปทำงานทางด้านนั้น แต่ละครเป็นกิจกรรมที่ผมชอบที่สุด ทำเต็มที่ ทำมาตลอด เมื่อเรียนอยู่ปี 4 อาจารย์ให้ทำละครจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 เรื่อง วิไลเลือกคู่ จัดแสดงเนื่องในวันมหาธีรราชเจ้า ผมขอเป็นผู้กำกับ แล้วก็ทำละครเวทีมาตลอด บทบาทหน้าที่ต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้ทั้งนั้น เหมือนจำลองสังคมภายนอก ทำให้เราเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ได้เรียนรู้บทบาทต่าง ๆ ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความหลากหลาย ไม่เหมือนกัน เป็นการฝึกตัวเอง เปิดโลกการทำงาน
ทางเลือก : ผมมีสองแผนตอนใกล้เรียนจบ เคยคุยกับที่บ้านไว้ว่า อยากหางานทำ ที่คิดไว้แผนแรกคือ บริษัท ทีวีบูรพา ซึ่งผลิตรายการ คนค้นคน ที่เคยไปฝึกงานมาแล้ว แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้สอบปริญญาโท ผมก็ตกลง ถ้าสอบติดจะเรียนต่อ แต่ถ้าไม่ติดจะขอไปหางานทำ ช่วงกำลังจะจบปี 4 ก็ไปสอบที่ อักษร จุฬาฯ , มนุษยศาสตร์ เกษตรฯ และ อักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาไทย ศิลปากร ผลออกมา ติดทั้งหมด ทำให้ต้องเลือก และบังเอิญมีปัจจัยสำคัญเกิดขึ้น คือน้องสาวสอบติดคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังจะขึ้นปี 1 ทำให้ผมตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะไม่อยากเข้ากรุงเทพฯ อยู่แล้ว
สอบสัมภาษณ์ : คนอื่นอาจารย์ใช้เวลาไม่นาน แต่สำหรับผมยากมาก ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะผมไม่ได้เป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีสักเท่าไหร่ ไม่ใช่เป็นคนเรียนเก่ง แต่ผมรู้ว่า เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ อาจารย์ต้องการให้ตอบด้วยความมั่นใจว่า ถ้ามีโอกาสเรียนปริญญาโท จะทำตัวเหมือนเดิมมั้ย จะทำตัวเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรที่คิดว่าเป็นข้อบกพร่องของคุณ ในช่วงการเรียนปริญญาตรีที่นี่ แล้วเข้าใจใช่มั้ยว่า การเรียนปริญญาโท จะไม่เหมือนปริญญาตรีแล้วนะ จะต้องเข้มข้นมากขึ้น จะเรียนไปเล่นไป ทำกิจกรรมไป อาจจะไม่ได้แล้วนะ คุณต้องเรียนรู้ วางตัวใหม่ แต่งตัวให้เหมาะสม อยู่กับหนังสือมากขึ้น
อักษรศาสตร์บัณฑิต (ภาษาไทย) : ผมเลือกที่จะเชี่ยวชาญ หรือจำเพาะเลือกไปทางวรรณคดี อีกทางคือ ภาษาศาสตร์ เพราะมีเรื่องในใจที่อยากทำ อยากจะวิเคราะห์บทละครในรัชกาลที่ 6 อาจจะเป็นเพราะชอบละครเวทีอยู่แล้ว หัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ คือ การเปรียบเทียบ บทละครของพระองค์ท่าน ซึ่งดัดแปลงมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายของผมคือ ต้องวิเคราะห์ว่า พระองค์ดัดแปลงอะไรบ้าง เพื่อให้บทละคร เข้ากับบริบทของสังคมไทย
พระอัจฉริยภาพ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระอัจฉริยภาพทางด้านศิลปะการละครเป็นอย่างสูง มิได้แค่เพียงพระราชนิพนธ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังทรงจัดแสดง ทรงเล่น ทรงกำกับ ฯลฯ และที่สำคัญ มิได้เขียนบทขึ้นมาใหม่ หรือแปล แต่มีกลวิธีในการดัดแปลง บทละครของต่างประเทศ เรื่องราวแบบตะวันตก ให้มาเป็นแบบไทย ๆ เพื่อให้คนไทยดูรู้เรื่อง และใช้บทละครในการอบรมสั่งสอนประชาชนให้เข้าใจ โดยดัดแปลงจากฝรั่งเศสเป็นไทย เช่น ล่ามดี วิไลเลือกคู่ ตบตา หลวงจำเนียรเดินทาง ฯลฯ โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบบทละครพูดชวนหัว ชอบบทละครตลก
เรียนหนัก แต่ไม่ทิ้งละคร : ตอนปริญญาตรี สนุก ไม่เครียด เรียนไป ทำกิจกรรมไป เข้าเรียนบ้าง ไม่เข้าเรียนบ้าง เกรดก็ไม่ค่อยดีนัก แต่พอปริญญาโท ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องตั้งใจ ฝึกทำงานวิจัยให้มากขึ้น กิจกรรมที่ยังคงทำอยู่ คือการเล่นละคร ไปช่วยน้อง ๆ อยู่บ้าง อีกทั้ง รศ.กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้าน รัชกาลที่ 6 เมื่อมีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับผู้คน ท่านก็บอกว่า มีลูกศิษย์ที่มีประสบการณ์ด้านนี้ ทำให้ผมมีโอกาสได้ทำละครเวที จากบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ตามสถานที่ต่าง ๆ หลายครั้ง
พระราชวังพญาไท : เป็นความประทับใจที่สุดของผม ในการจัดแสดงละครเรื่อง หัวใจนักรบ ณ พระราชวังพญาไท เมื่อปี 2554 เป็นงานใหญ่ ผมไม่เคยมีโอกาสได้จัดการแสดงละครในพระราชวังมาก่อน และเป็นสถานที่จริง ที่เคยมีการแสดงของพระองค์ท่านมาแล้วในอดีต ถึงแม้โปรดักชั่นของเรา ไม่ได้ยิ่งใหญ่มาก เพราะไม่ได้ใช้มืออาชีพ แต่ใช้วิธีการ ดึงพี่ ๆ น้อง ๆ ที่รู้จักกัน คนที่อยากจะทำ ให้มาร่วมกัน เรามาทำโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน ให้แผ่ขยายออกไป ให้คนในสังคมได้รับรู้ ให้ผู้ชม ซึ่งมีทั้ง เยาวชน คนต่าง ๆ ที่สนใจในประวัติศาสตร์ ได้เข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์การชมละคร ตามขนบแบบ รัชกาลที่ 6
สอนละคร : เมื่อจบปริญญาโท ผมได้รับโอกาส จากภาควิชา นาฏยสังคีต สาขาวิชาการละคร ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้เข้ามาบรรจุ ผมตอบรับทันที เหตุผลคือ เป็นโอกาสที่ผมจะได้ตอบแทนคณะวิชา ตอบแทนครูบาอาจารย์ที่หยิบยื่นโอกาสให้ ผมมีประสบการณ์ในการทำละครมาค่อนข้างเยอะมาก แต่จบไม่ตรงสาขา ที่เรียนปริญญาโทภาษาไทย เนื่องจากว่า สำหรับผม อักษรศาสตร์คือชีวิต คือคณะวิชาที่สร้างผมขึ้นมา
ปฏิเสธไม่เป็น : ช่วงปริญญาโท ได้มีโอกาสไปเป็นผู้ช่วยวิจัย ให้กับอาจารย์ที่ภาควิชา นาฏยสังคีต ทำให้ได้รู้จักกับบุคลากรทางสาขานั้น ทำละครไปด้วย ขอคำแนะนำจากอาจารย์ เข้าไปทำวิจัย ผมไม่ปฏิเสธใคร ถ้าผมช่วยได้ไม่ว่าจะเรื่องไหน ยินดีช่วยเสมอ ไม่เคยเกี่ยง ซ่อมผนัง อุดรูรั่ว ยกของ ซื้อของ เป็นพิธีกร ดังนั้น ไม่ว่าอาจารย์จากภาควิชาไหน จะมาขอให้ช่วยทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ผมรับหมด
ภาควิชานาฏยสังคีต : สาขาวิชาการละคร คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรามีปณิธานสำคัญในการสอนให้ผู้เข้ามาศึกษา เป็นนักวิชาการทางด้านศิลปะ และศิลปะการแสดง คนที่เข้ามาเรียน ต้องเหนื่อย ต้องหนัก เพราะต้องเรียนรู้ทั้ง การเขียนบท การแสดง การกำกับ การออกแบบฉาก เทคนิคแสงเสียง การวิเคราะห์บทละคร การเป็นผู้วิจารณ์ เราสอนให้เป็นเป็ด ทำให้หมด รู้หมด คุณต้องทำละครเวที 1 คน ต่อ 1 เรื่อง เพื่อจบการศึกษา ทำเองทั้งหมด นี่คือสิ่งที่แตกต่างจากศิลปกรรม ซึ่งมุ่งสร้างให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปเลย ต้องเลือกว่าจะเชี่ยวชาญทางด้านไหน ขณะที่เราสอนให้ทำได้หมด แต่คุณจะไปเชี่ยวชาญ หรือชอบเรื่องใดเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่ต้องไปขวนขวายเองในอนาคต
บทบาทของครู : ต้องให้ความสำคัญตามช่วงเวลาที่แตกต่างกัน การเป็นนักแสดงให้ความสำคัญกับบทบาทที่ได้รับ การมีสมาธิ การทำความเข้าใจกับตัวละคร เพื่อที่จะสื่อสารออกไปให้ผู้ชมเข้าใจ แต่การเป็นอาจารย์ผู้สอนมันมีมากกว่านั้น นักศึกษาแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะสอนอย่างไรให้เขาเข้าใจ อธิบายแบบไหน วิชาละครเป็นวิชาที่ให้ความสำคัญกับนักศึกษาในลักษณะเฉพาะคนพอสมควร ซึ่งยากทุกคน ในความเป็นมนุษย์ทุกคนมีความหลากหลาย แตกต่างกัน เขาอาจจะไม่ได้เปิดใจ ต้องอธิบายหลาย ๆ ครั้ง พยายามหาวิธีเปิดใจเขาให้ได้
เรียนต่อปริญญาเอก : สำหรับผมการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ควรที่จบด้วยวุฒิปริญญาเอก อีกเหตุผลคือ ได้รับปากกับอาจารย์ที่รับผมเข้ามาทำงานว่า จะไปเรียนต่อปริญญาเอก ทางด้านสาขาวิชาที่ตรงสาย เพื่ออนาคตในการประจำหลักสูตร, การทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่ได้แค่สอนอย่างเดียว ภารกิจสำคัญคือ การทำวิจัย แล้วนำเสนอผลงานในทุก ๆ ปี ช่วงแรก ๆ สอน, ทำวิจัย และนำเสนอผลงาน ได้มีโอกาสพบกับอาจารย์ผู้ใหญ่ของที่อื่น ๆ หลายครั้ง จนเริ่มคุ้นหน้าค่าตา เมื่อต้นปี 2559 ผมนำเสนอผลงานละครและบรรยาย ผู้ทรงคุณวุฒิที่สำคัญ ท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ให้เกียรติมาดูถึงที่ ม.ศิลปากร นครปฐม พอนำเสนอเสร็จ ท่านแนะนำว่า ให้ลองไปสอบปริญญาเอก ที่ศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชา นาฏยศิลปะไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ วันนั้นผมค่อนข้างตกใจ ที่อาจจะได้โอกาสสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิต วันสัมภาษณ์ ผมนำเอกสารโครงร่างปริญญาเอก ไปเสนอกับคณะกรรมการ แต่ท่านประธานฯ โยนทั้งหมดทิ้งลงพื้น อยากให้อธิบายรายละเอียดด้วยตัวเอง ใจตอนนั้นก็ระส่ำอยู่เหมือนกัน จนในที่สุดก็ผ่านออกมาได้
งานวิจัย : เป็นการวิเคราะห์การแสดงตลก ที่ปรากฏในนาฏกรรมไทย ในศิลปะการแสดงของไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน เพราะผมรู้สึกว่า อารมณ์ขัน เป็นรสนิยมหนึ่งที่สำคัญของสังคมไทย ที่สัมผัสแล้วคุ้นชิน ความตลกเป็นความรู้สึกที่เหมือนน้ำ ไม่ว่าเราจะสร้างภาชนะใดมารองรับ มันก็เลื่อนไหลไปตามภาชนะนั้น และยังคงอยู่ร่วมกับโลกใบนี้ อาจจะระเหยไปบ้างตามกาลเวลา แต่มันก็ยังมีอยู่เสมอคู่กับสังคม ทำไมคนไทยถึงขาดอารมณ์ขันไม่ได้ ทำไมอารมณ์ขันจึงปรากฎอยู่ในการแสดงต่าง ๆ แม้กระทั่งการรายงานข่าว ก็ถือเป็นการแสดงอย่างหนึ่ง ณ วันนี้เปลี่ยนไปเป็นการเล่าข่าว ผสมผสานกับการใส่ความคิดเห็นของผู้เล่า สร้างมุขตลกบางอย่าง ทำไมรายการต่าง ๆ ถึงเปิดพื้นที่ให้นักแสดงตลก ได้เข้าไปมีบทบาทมากขนาดนั้น อะไรที่เป็นจุดสำคัญ
ทำงานบริหาร : ผมเรียนแบบไม่ได้ลา ต้องทำงานไปด้วย ภาควิชาการละคร อาจารย์ผู้สอนค่อนข้างน้อย ถ้าขาดคนใดคนหนึ่ง คนที่เหลือก็ต้องเหนื่อย และระหว่างที่เรียนปริญญาเอกไปได้หนึ่งเทอม ก็ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ณ วันนั้นตัดสินใจยากมาก กำลังทำวิทยานิพนธ์อยู่ ยังมีภาระงานสอน ต้องทำงานวิจัย แล้วเราจะเข้ามาทำงานตรงนี้ จะไหวมั้ยตัดสินใจอยู่หนึ่งคืน ถามตัวเองเยอะ ๆ ว่าไหวมั้ย ถ้ารับตำแหน่งนี้ จะบริหารจัดการ เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร จะต้องมีวินัยในชีวิตแบบใหม่ การทำหน้าที่ผู้ช่วยฯ ฝ่ายกิจการนักศึกษา ต้องหาไอเดียในการคุยกับสโมสรนักศึกษาในการสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เราจะปลูกฝังนักศึกษาของเราให้ไปในทิศทางไหน พัฒนาอย่างไร อยากให้เขาเข้าใจอะไร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก
สมุดช่วยชีวิต : ผมมีสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง ไว้คอยเขียนว่าวันพรุ่งนี้จะทำอะไร วันต่อไปต้องทำอะไร เพื่อให้แผนการทำงานได้สำเร็จ ทำมาเป็นสิบปีแล้ว นั่นคือแผนในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน กำหนดไว้เพื่อประเมินตัวเองว่าใช้เวลาเท่าไหร่ พอทำเสร็จก็ขีดฆ่าทิ้ง ผมภูมิใจกับรอยขีดฆ่า เพราะนั่นคือทำเสร็จตามที่ตั้งไว้ แต่ถ้าไม่ จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในวันนั้น มันทำให้ผมมีวินัยในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความรับผิดชอบต่องาน ต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง แต่ผมใช้สมุดนี้วางแผนแค่เรื่องงาน ไม่ได้วางแผนชีวิตโดยละเอียด เพราะผมไม่เคยวางแผนชีวิตส่วนตัว
ดูแลตัวเอง : ผมสอนละครเวที กลางวันนั่งทำงานบริหาร เย็นไปสอนจนถึงค่ำ หลังจากนั้น ไปดูเด็ก ๆ ซ้อมละคร ออกจากมหาวิทยาลัย ตี 1, ตี 2, ตี 3 จนเป็นเรื่องปกติในช่วงเปิดเทอม และกลับเข้ามามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ตอน 8 – 9 โมงเช้า นอนวันละ 3 – 4 ชม. มาหลายปีแล้ว ดูแลตัวเองน้อยมาก อาศัยกินน้ำเยอะ ๆ ไปไหนมาไหนพยายามเดิน การสอนละคร ไม่ได้นั่งสอน มันนั่งไม่ได้ วิ่งวอร์มไปกับเด็ก มีท่าทางไหนก็ทำไปพร้อมกับเด็ก ก็ทำให้ได้ออกกำลังไปด้วยในตัว เพราะมันคือกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
โกรธง่าย หายเร็ว : การสอนละคร คือการสอนให้เข้าใจในความเป็นมนุษย์ พอโมโหทุกครั้ง จะเสียงดังขึ้น ก็ต้องตอบตัวเองว่า นี่แหล่ะมนุษย์ ปรับเปลี่ยนมุมมองของเราเอง แล้วลองมองเขาใหม่ ด้วยชุดความคิดและทัศนคติอีกแบบ ทำความเข้าใจกับความต้องการของเขาดี ๆ ค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ อธิบายกันไป รีบจบเรื่องนั้น แค่นี้ก็หายโมโหแล้วครับ.