For Golf Trust

ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับกีฬาของประเทศไทย

ขอนอกประเด็นจากเรื่องของกีฬากอล์ฟสักวัน หลังจากที่เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรน่า(COVID-19) ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ทำให้รัฐบาลต้องประกาศล็อกดาวน์ กิจการต่างๆต้องปิดให้บริการจนได้รับผลกระทบทางลบกันถ้วนหน้า

ไม้เว้นแม้แต่กิจกรรมกีฬาและการออกกำลังกาย ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆ แม้แต่การออกกำลังกายในสวนธารณะยังไม่สามารถทำได้เช่นเดิม ประชาชนต้องอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่เชื้อโรค แน่นอนว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อลดการสูญเสียในทุกมิติที่อาจจะตามมาในอนาคต

ต่อจากนี้คงต้องมาคุยกันถึงสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง อยากให้ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาช่วยอ่านกัน แม้จะยาวหน่อยแต่อยากให้อ่านจนจบ อ่านจบแล้วแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนกันได้

นั่นคือ ผู้ประกอบกิจการศูนย์กีฬา ศูนย์ออกกำลังกายภาคเอกชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบกันไปถ้วนหน้านั้น จะมีสักกี่รายที่มีทั้งกำลังเงินและกำลังใจในการสานต่อกิจการเพราะเกือบสองเดือนที่ผ่านมาไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย ส่วนใหญ่ต้องนำเงินสะสมซึ่งอาจจะไม่ได้มีมากนักออกมาประคองตนเองและทีมงานค้างจ่ายดอกเบี้ยธนาคาร เป็นต้น หากจะเริ่มกันอีกครั้งต้องรื้อฟื้นการลงทุนกันใหม่ทีเดียว

สถานประกบการเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาและสุขภาพ มักถูกสังคมมองเพียงมิติเดียว คือร่ำรวย มีรายได้ดีจากการเก็บค่าบริการของลูกค้า…แต่ความเป็นจริงนั้น มีเพียงสถานประกอบการไม่กี่แห่งที่ร่ำรวยจริง ที่เห็นกันอยู่ในสังคมส่วนใหญ่เพียงประคับประคองตนเองและทีมงานให้มีอาชีพ มีงานทำ หาเลี้ยงครอบครัวได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ว่าเรามักเห็นปรากฏการณ์แมงเม่าบินเข้ากองไฟ มองผิวเผินคิดว่าเป็นธุรกิจที่หาเงินได้ง่ายๆ พอเข้ามาทำจริงจะทราบเลยว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้งที่ควรเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนควรให้ความสนใจเพราะมันคือสุขภาพของตนเอง กิจการหลายแห่งขาดทุนสะสมจนต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย เพราะทนความกดดันทางเศรษฐกิจไม่ไหว แต่ยังมีบางรายที่อดทนกัดฟันทำกันต่อต้องบอกเลยว่ากลุ่มนี้ทำด้วยใจจริงๆ อดทนทำไปพร้อมความหวังว่าต้องดีขึ้นสักวัน

งานวิจัยที่มีปรากฏอยู่บ้างเกี่ยวกับการประกอบการธุรกิจกีฬายังไม่สามารถตอบโจทย์และนำไปใช้ได้จริงว่าจะประกอบธุรกิจกีฬากันอย่างไรให้ประสบความสำเร็จภายใต้สถานการณเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงแทบตลอดเวลา ส่วนใหญ่อธิบายด้วยหลักการทฤษฎีแต่พอนำมาใช้จริงมันไม่เข้ากัน

ผมอยู่กับวงการกีฬามาตั้งแต่เข้ามาศึกษาระดับอุดมศึกษา ในวิชาเอกพลศึกษา ช่วงการเล่นกีฬาระดับมัธยมไม่นับแล้วกัน รวมๆ แล้ว ประมาณ 40 ปี ผมไม่เห็นว่ากีฬาของประเทศจะพัฒนาไปถึงไหน บางประเภทกีฬาแย่ลง แทบจะล้มหายตายจากไปเลยก็มี มีน้อยแทบนับไม่ได้ว่ากีฬาชนิดใดที่พัฒนาขึ้น ทั้งที่ปัจจุบันมีงบประมาณจากรัฐบาลมาสนับสนุนกีฬาต่อปีเป็นหมื่นล้านบาท

เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา งบประมาณไม่มากเท่านี้ แต่วงการกรีฑา ว่ายน้ำ เทนนิส มันสุดยอดกว่านี้มาก

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการกีฬาของประเทศไทย แต่กลับกลายว่าเรื่องการเรียนพลศึกษาในโรงเรียนกลับลดลง การแข่งขันกีฬาหลายรายการหายไป มีการบรรจุจ้างครูพลศึกษาในโรงเรียนน้อยลง คิดกันเองว่าครูวิชาใดก็สอนวิชากีฬาหรือนำการออกกำลังกายได้เหมือนกัน จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพลศึกษาเลย

สถาบันการศึกษาที่เคยผลิตครูพลศึกษาต้องปรับตัว นำสาขาวิชาอื่นๆ ที่สังคมสนใจเข้ามาทั้งแบบแทนที่และเปิดแบบควบคู่กันไป สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาจึงเป็นที่รู้จักในสังคมกีฬามากขึ้นอย่างชัดเจน มีการใช้องค์ความรู้และอุปกรณ์เครื่องมือที่ดูทันสมัยมาวิเคราะห์พัฒนานักกีฬาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม้เว้นแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนและการแข่งขันกีฬาในทุกระดับ เช่นการกีฬาแห่งประเทศไทย กรมพลศึกษา ต่างให้ความสนใจกับวิทยาศาสตร์การกีฬา

ความเศร้าใจมันเกิดตรงที่ผู้ทำหน้าที่สอนพลศึกษา ให้คนเล่นกีฬาและออกกำลังกายให้เป็น ให้คนได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นผู้ปลูกฝังเจตคติในการรักษาสุขภาพตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเรียนเพื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่รักการออกกำลังกาย คนกลุ่มนี้ได้รับการเหลียวแลน้อยเกินไป แม้แต่วิทยาลัยพลศึกษา(ชื่อเดิม) ก็พยายามดิ้นรนปรับตัวเองจนเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาได้อย่างเต็มรูปแบบมีหลากหลายสาขาวิชา ส่วนวิชาพลศึกษาซึ่งเป็นรากฐานของสถาบันแห่งนี้ปัจจุบันคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาบันเท่านั้นคงไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป 

30 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของประเทศโดยรวมไปทุ่มอยู่กับเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา ผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์การกีฬา นักบริหารจัดการการกีฬาจำนวนมากแต่ปัจจุบันมีนักกีฬาที่มีคุณภาพเพียงไม่กี่คน เพราะอะไร…เพราะเราไม่ได้สร้างนักกีฬาในระดับพื้นฐานหรือระดับเยาวชนขึ้นมาแทนที่นักกีฬารุ่นพี่ที่ต้องปลดระวางไป เราสร้างนักกีฬาไม่ทัน ไม่สามารถส่งต่อนักกีฬาแบบรุ่นต่อรุ่นได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากีฬาระดับพื้นฐานในการจะสอนให้รู้จักกีฬา รักกีฬา ปลูกฝังเจตคติที่ดีกับการดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายและกีฬา รวมถึงทำหน้าที่ฝึกฝนพัฒนาตนเองเพื่อเป็นนักกีฬา ต้องอาศัยครูพลศึกษาเป็นผู้สร้างหากไม่มีบุคลากรพลศึกษา ย่อมเกิดนักกีฬาหน้าใหม่ได้ยาก ร่วมกับรายการแข่งขันกีฬาระดับโรงเรียนหายไปมาก รายการส่วนใหญ่จัดปีละครั้ง  จะเพียงพออะไรในแง่ของการกระตุ้นและส่งเสริมการกีฬาให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต สอดรับกับโรงเรียนที่ต้องสร้างมาตรฐานการศึกษา นักเรียนต้องเรียนดีเรียนเก่ง เรื่องกีฬาจึงเป็นเรื่องรองลงไป

ลองดูประวัตินักกีฬาที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนพัฒนาทักษะกีฬามาจากศูนย์กีฬาหรือสโมสรกีฬาต่างๆ ร่วมกับแรงสนับสนุนของผู้ปกครอง ตัวอย่างกีฬาที่เห็นกันชัดเจน พบว่ากีฬากอล์ฟพัฒนามาไกลมาก บอกได้เลยว่าภาครัฐให้การสนับสนุนน้อยมาก แต่ที่วงการกอล์ฟมีนักกอล์ฟเก่งๆ เกิดขึ้นมากมายทั้งในระดับเยาวชนและอาชีพ ล้วนเริ่มต้นและอาศัยความอดทนของผู้ปกครองในการหางบประมาณ หาสถานที่ฝึกซ้อม หาครู หาโค้ชดีๆ เก่งๆ มาดูแลกัน ส่วนกีฬาชนิดอื่นๆ ก็ไม่ต่างกันมากนัก เช่นแบดมินตัน เทนนิส สนุ้กเกอร์ มวย ปีนหน้าผา 

สิ่งที่ผมกำลังพยายามสื่อสารให้ทราบในขณะนี้ คือ สถานประกอบการเอกชนที่มีศักยภาพและมีผลงานในการสร้างนักกีฬา ควรได้รับการสนับสนุนเพื่อให้มีกำลังในการพัฒนานักกีฬารุ่นต่อไปให้เกิดขึ้นอีกสามารถส่งต่อนักกีฬารุ่นต่อรุ่นได้อย่างต่อเนื่อง อย่ามองแบ่งแยกออกจากกันว่าเป็นภาครัฐกับภาคเอกชน เพราะสุดท้ายเราจะทำงานจนไปบรรจบและสำเร็จไปด้วยกัน

ภาคเอกชนลงทุนทุกอย่างด้วยทุนส่วนตัวของผู้ประกอบการ เมื่อสร้างนักกีฬาจนสามารถก้าวสู่ระดับการแข่งขันเป็นตัวแทนประเทศชาติ หรือสร้างชื่อเสียงในระดับโลก ศูนย์กีฬาหรือสโมสรกีฬากลับไม่มีตัวตน ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น

ผมทราบดีว่า ธุรกิจกีฬาของภาคเอกชน ไม่เคยถูกจัดให้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐ เช่นการกีฬาของประเทศไทย เพราะการกีฬาฯ ทำหน้าที่ควบคุมสนับสนุนดูแลสมาคมกีฬาต่างๆ เท่านั้น กีฬาแต่ละชนิดจะดีหรือแย่อย่างไรขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของนายกและกรรมการบริหารของสมาคมกีฬา ถือเป็นความรับผิดชอบของทีมบริหารสมาคมกีฬา สาหัสไปกว่านั้นสมาคมกีฬาบางสมาคมก็หวังพึ่งงบประมาณจากภาครัฐเพียงทางเดียว ไม่หาหนทางในการหางบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่งบประมาณที่ได้รับมักไม่เพียงพออยู่แล้วหากจะพัฒนากันเต็มรูปแบบ

เชื่อว่ามีเพียงไม่กี่สมาคมกีฬาที่จะมีศักยภาพพอจะสร้างนักกีฬาได้ต่อเนื่องอย่างสมาคมกีฬาแบดมินตัน วอลเลย์บอล เทควันโด ยิมนาสติก เรือพาย เรือใบ เป็นต้น

และมีสมาคมกีฬาที่แทบไม่ต้องลงแรงอะไรมาก เพราะมีจำนวนนักกีฬาให้เลือกเฟ้นมาก จากการฝึกฝนและส่งต่อมายังสมาคมกีฬา จากโรงเรียนกีฬา สโมสรกีฬาหรือศูนย์กีฬาเอกชน ต้องไม่ลืมว่านักกีฬาที่มาจากภาคเอกชนล้วนมาจากกำลังส่งของผู้ปกครองเป็นหลัก เมื่อเก่งขึ้นจนพัฒนาตนเองเป็นตัวแทนประเทศชาติ มีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันในประเทศหรือต่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐถึงจะเริ่มเข้ามามีส่วนในการส่งแข่งขันหรือให้การสนับสนุนเรื่องที่ฝึกซ้อมบ้าง ให้งบประมาณการเดินทาง ค่าสมัครต่างๆ แต่ที่ผ่านมาเป็นการเริ่มต้นจากใคร? ทุ่มเทงบประมาณไปเท่าไหร่?

หากผู้บริหารกีฬาระดับประเทศ มีโอกาสทบทวนนโยบายในการพัฒนากีฬาอย่างยั่งยืน ต่อเนื่องโดยเน้นการคงอยู่และรักษาหรือเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจกีฬาภาคเอกชนจะทำให้กีฬาของประเทศเติบโตและขยายวงกว้างสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการพัฒนาสมาคมกีฬาให้มีศักยภาพในการทำงานเพื่อนักกีฬาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการรับตำแหน่งหน้าที่แต่ต้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วย 

ส่วนเรื่องครูพลศึกษา ครูสอนกีฬา การสอนพลศึกษาในโรงเรียน การแข่งขันกีฬานักเรียน นักศึกษาไม่ทราบว่าจะเสนอแนะอะไรได้ ทุกวันนี้เป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว

ผมขอมีความหวังเรื่องที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ ความมุ่งมั่น ใส่ใจ ของผู้บริหารกีฬาในหน่วยงานระดับชาติให้หันมาสนใจในประเด็นต่างๆ ข้างต้น

…แต่หากไม่ได้รับการสนใจ ตราบใดที่คนในวงการกีฬา (ส่วนใหญ่) และนักกีฬาเล่นกีฬาแล้วเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวไม่ได้ บอกได้เลยว่าอีกยาวนานกว่ากีฬาของประเทศไทยจะขยับก้าวหน้าต่อไปได้อีก คงเป็นเพียงการก้าวย่ำอยู่กับที่เช่นนี้ต่อไปอีกนาน

โปรเชาวรัตน์ เขมรัตน์