Brownie ขนมมาแรง ช่วงกักตัว
ในช่วง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นั้น การไม่ได้ออกไปนั่งร้านกาแฟ กาแฟที่ถูกปาก หาง่าย ชงดื่มเองที่บ้านไม่ยาก แต่ไม่มีเบเกอรี่สดใหม่จากเตาหอมกรุ่น มาแกล้มกาแฟ ก็ทำให้คอกาแฟหลายคนอาจจะรู้สึกชีวิตขาดอะไรไปสักอย่าง จึงต้องเข้าครัว นวดแป้ง ตีไข่ ใส่เตาอบ กันเองเลยทีเดียว ซึ่งขนมที่ทำไม่ยาก ส่วนผสมหาง่าย และได้รับความนิยมจาก พ่อครัว-แม่ครัวมือใหม่ ในช่วงนี้ก็คือ “บราวนี่”
ซึ่งแต่ดั้งแต่เดิมนั้น ขนมท้องถิ่นของทางเมืองหนาวส่วนใหญ่จะเป็นขนมประเภทอบ โดยหลักๆ ก็จะมีแค่ ขนมปัง, เค้ก และคุกกี้ แต่ในระยะหลังๆ ก็จะมี บราวนี่ ขึ้นแท่นมาเป็นขนมที่ได้รับความนิยมในวงกว้างอีกหนึ่งชนิด
บราวนี่ (Brownie) หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า sheet cookies เป็นขนมหวานรสช็อกโกแลต ที่มีสีน้ำตาลเข้ม ตามชื่อ “Brownie” มีส่วนผสมหลัก แป้งสาลี ผงโกโก้ ช็อคโกแลต ไข่ไก่ เนย น้ำตาล และเกลือ และเมื่อนำส่วนผสมต่างๆ มาตีรวมกันตามลำดับและอัตราส่วนตามสูตรแล้ว ก็เข้าเตาอบแค่ชั่วอึดใจ ก็ได้ขนมอร่อยๆ หอมหวานกินคู่กับกาแฟแก้วโปรดแล้ว
ด้วยความที่มีลักษณะคล้ายเค้กช็อกโกแลตเข้มข้น แต่เนื้อไม่ฟูเหมือนเค้ก เพราะบราวนี่มีส่วนผสมของผงฟูน้อยกว่าเค้ก นอกจากนั้น ขนมเค้กส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นก้อนกลม เวลาตัดแบ่งจะเป็นชิ้นสามเหลี่ยม ในขณะที่บราวนี่มีลักษณะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมแบนตามแม่แบบและหนาแค่ราว 1-2 นิ้ว เวลาตัดแบ่งจะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม และด้วยความที่มีลักษณะเป็นชิ้น สามารถใช้มือหยิบกินได้ บราวนี่จึงถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ คุกกี้ เพราะหากเป็นหมวดหมู่เค้ก จะต้องใช้ช้อนส้อมในการรับประทาน
แม้ว่า บราวนี่ จะเป็นขนมอบที่เกิดขึ้นมาในยุคหลังๆ แต่ที่มาที่ไปก็ยังไม่แน่ชัด บ้างก็ว่า บราวนี่ถือกำเนินขึ้นใน สหรัฐอเมริกา ช่วงปลายศตวรรษที่19 เมื่อ เบอร์ธา พ็อตเตอร์ พาล์มเมอร์ เศรษฐีนีนางหนึ่ง เธอแจ้งความจำนงกับพ่อครัวของโรงแรม เดอะ พาล์มเมอร์ เฮ้าส์ ในชิคาโก้ ว่า เธอต้องการขนมหวาน ที่รับประทานง่าย ขนาดเล็ก สามารถใส่ลงในกล่องอาหารกลางวันได้ เพื่อนำไปรับประทานกับเพื่อนๆ ของเธอในระหว่างเดินชมงาน Chicago World’s Columbian Exposition ซึ่งพ่อครัวที่ได้รับมอบหมาย ก็ทำขนมอบรสช็อกโกแลตเนื้อแน่น โรยด้วย ถั่ว วอลนัท มีและเกล็ดน้ำตาลจากน้ำเชื่อมของแอพริคอต ซึ่งขนมสูตรนี้ได้กลายมาเป็นขนมขึ้นชื่อของโรงแรม The Palmer House Hotel จนถึงปัจจุบัน
อีกตำนานก็ว่า แม่ครัวชื่อ มิลเดร็ด บราวน์ ชรัมป์ ที่มีชื่อเล่นว่า บราวนี่ ซึ่งอยู่ในรัฐเมน ได้ทำเค้กช็อกโกแลตขึ้น แต่ลืม ผงฟู ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญ ทำให้เค้กแบนลีบ ไม่ฟู แต่ด้วยความเป็นคนประหยัดไม่อยากทิ้งเค้กแบนๆ ไปเสียเปล่าๆ เธอจึงตัดมันออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับไปให้ครอบครัวรับประทาน กลายเป็นตำนานขนาม บราวนี่ บอกเล่ากันเรื่อยมา แต่เรื่องเล่านี้ก็ถูกทักว่า อาจจะมีความผิดพลาด เพราะ ในปี ค.ศ.1904 ซึ่งขณะที่ มิลเดร็ด บราวน์ ชรัมป์ มีอายุเพียงขวบเดียว (มิลเดร็ด บราวน์ ชรัมป์ เกิดในปี ค.ศ.1903) ก็มีการตีพิมพ์สูตรการทำบราวนี่ ออกมาถึง 2 เล่ม ด้วยกัน เล่มหนึ่งมาจาก สมาชิกคลับของ The Service Club of Chicago ได้ตีพิมพ์สูตรบราวนีที่เรียกว่า บังกอร์ บราวนี่ ส่วนอีกที่มาจากรัฐนิวแฮมเชียร์ เป็นของ เอเลนอร์ พี ควิมบี้ โฮมคุกกี้ ซึ่งทั้งสองสูตรมีส่วนประกอบต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ไม่ว่าที่มาที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร มาจนถึงวันนี้ บราวนี่ ได้กลายเป็นขนมยอดนิยมอีกชนิด ที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง มีการปรับแต่งสูตรไปหลายแบบหลายชนิด ตามความชอบและความคิดสร้างสรรค์ปรุงแต่งให้เกิดรสชาติแปลกใหม่ๆ แล้วในช่วงกักตัวที่ผ่านมา คิดว่าหลายคนที่เข้าครัวเป็นงานอดิเรกใหม่ ต้องลองทำ บราวนี่ สูตรเฉพาะตัวกันบ้าง หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องได้ชิมบราวนี่สูตรใหม่ๆ จากคนรอบข้างกันมาบ้างแน่ๆ เมื่อโควิดผ่านพ้นไปแล้ว ร้านกาแฟบ้านเรา ถ้าไม่มีบราวนี่สูตรใหม่ๆ มาขายมากมาย ก็อาจจะขายยากไปเลย เพราะลูกค้าหันไปทำกินเองที่บ้านกันหมดแล้ว