นาวาอากาศตรี นิธิพัฒน์ ศิริวัฒน์
นาวาอากาศตรี นิธิพัฒน์ ศิริวัฒน์
“เล่นกีฬา ต้องทำให้คนรัก ไม่ใช่ทำให้คนเกลียด”
ALL – STAR GOLFER CLUB FOUNDER
AGC GOLF ACADEMY FOUNDER
ครอบครัวนักกอล์ฟ : คุณพ่อกับคุณแม่เล่นกอล์ฟมาก่อนตั้งแต่ยังไม่มีผมกับพี่ชาย ถ้วยรางวัลเต็มบ้าน คุณพ่อเป็นประธานชมรมกอล์ฟแพทย์จุฬาฯ จัดกิจกรรมทางด้านกอล์ฟ คุณแม่ก็เข้ามาช่วย เมื่อผมอายุได้ราว 5-6 ขวบ พี่ชายจะเริ่มเล่นกอล์ฟก่อน คุณพ่อซื้อไม้สำหรับเด็กมาให้ เป็นเหล็ก 7 ผมห่างจากพี่ชาย 2 ปี เห็นเขาเล่นก็อยากจะเล่นบ้าง แต่ยังถือไม้ไม่ไหว คุณพ่อก็หาไม้พลาสติกมาให้ ตีเล่นที่หน้าบ้าน ยังได้ถ่ายเป็นหนังฟิล์มเก็บไว้เลย
ไม้กอล์ฟชุดแรก : ได้มาจับเหล็กจริง ๆ เมื่อได้ไม้จากคุณลุง คุณพ่อมาตัดให้ขนาดพอดีตัว ทั้งถุงจึงมีหลากหลายยี่ห้อรวมกัน แต่ด้วยความเป็นเด็ก ก็เล่นได้หมด แล้วใช้ต่อเนื่องจนถึงแข่งเยาวชน ส่วนของพี่ชายก็เป็นชุดเหล็กตัดคล้าย ๆ กัน แต่เขามีเหล็ก 7 สำหรับเด็กจริง ๆ อยู่ด้วย ส่วนผมไม่มีเลยสักชิ้น
เรียนกับโปร : คุณพ่อให้โปรมาสอนคุณแม่ แล้วท่านก็เลยหัดไปพร้อมกัน พอมาถึงรุ่นผม คุณพ่อให้โปร (ปรารถนา งามพร้อม) จับวงตั้งแต่เริ่ม จนเมื่อเป็นเยาวชน ก็ได้โปรสุชิน สังขเศวต มาช่วยดูวง ดูลูกสั้น คอยดูแลก่อนแข่ง
เล่นกับผู้ใหญ่ : ชมรมฯ ของคุณพ่อมีจัดค่อนข้างบ่อย ผมก็เริ่มเล่นกับพี่ชายที่นั่น เป็นเด็กแค่สองคนที่ไปแข่งกับผู้ใหญ่ ตีไป ร้องไห้ไป บางครั้งก็งอแงจนคุณแม่ต้องถือไม้เรียว เพราะหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห เวลาเล่นไม่ดี ตามประสาเด็ก จนได้ถ้วยรางวัลใบแรก คุณแม่บอกว่า เมื่อตอนท่านได้ถ้วยใบแรก นั่งกอดถ้วยมาในรถตลอดทาง และคิดว่า ตอนผมได้ถ้วยใบแรกก็เป็นแบบนั้น เพราะก่อนหน้านี้เฉียดจะได้มาหลายครั้งแล้ว ทุกวันนี้ยังเก็บไว้อยู่เลย
แบบอย่างที่ดี : เวลาคุณพ่อดูกอล์ฟ ท่านจะอัดวีดีโอไว้ด้วย หนังสือกอล์ฟมีเต็มไปหมด เวลาไปออกรอบ ก็จะจดบันทึกไว้หมดว่า ผลงานแต่ละสนามเป็นยังไงบ้าง เก็บสกอร์ไว้ทุกใบ เมื่อผมเห็น มันสร้างแรงบันดาลใจให้ แต่จนถึงปัจจุบันผมยังทำไม่ได้อย่างนั้นเลย
แข่งเยาวชน : คุณแม่ตัดหนังสือพิมพ์มาให้ดู บอกว่าจะมีแข่งรายการเยาวชนที่ สนาม ทบ. ตอนนั้นผมอายุ 9 ขวบ เริ่มตีออกรอบได้แล้ว แต่ไม่เคยแข่งกับเด็กด้วยกันเลย ตอนแรกจะไม่แข่ง ยังเด็กมาก ๆ เอาแต่ใจ ขี้เกียจ จนในที่สุดก็ได้เข้าไปแข่ง บรรยากาศแตกต่างจากที่เคยเล่นกับผู้ใหญ่ ครั้งแรกไม่คิดมาก เขาให้ตีก็ตีไป คู่แข่งไม่ได้มีผลกับเรา ไม่มีใครมาบีบ ยังไม่รู้จักว่าโดนบีบเป็นยังไง แม่มาบอกว่า เรานี่แหล่ะ ที่ไปบีบเขา แต่เราไม่รู้ตัว เพราะยังไม่รู้จักเรื่องแพ้ชนะอะไรเลย ผลการแข่งขัน ผมได้อันดับ 1 เน็ตสกอร์ ถ้าเรียงกรอสสกอร์ผมได้ที่ 3
ติดทีมชาติ : ช่วง เมษายน ปิดเทอมใหญ่ มีการคัดตัวทีมชาติ แข่งกันในย่านอาเชี่ยน ปี 2524 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงมีนักกีฬาค่อนข้างเยอะ ผมติดทีมคลาสซี รุ่นอายุต่ำกว่า 11 ปี ซึ่งผู้ชายกับผู้หญิงแข่งรวมกัน โปรเปิ้ล (ษาริณี เล็กสุวรรณ) ก็อยู่ในทีมด้วย โดยปีนั้น อ่ำ (อัมรินทร์ นิติพน) ได้แชมป์ ส่วนผมอยู่กลาง ๆ ตาราง
ความภาคภูมิใจ : การได้ติดธงชาติไทยที่หน้าอก ผมดีใจที่สุดแล้ว เป็นความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติ พอปีถัดไป คัดตัวไปฟิลิปปินส์ ผมยังไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบิน ถ้าติดทีม สมาคมฯ จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ รู้สึกตื่นเต้นมาก ต้องคัดตัวจาก 4 ให้เหลือ 3, อันดับ 1 กับ 2 ลอยลำไปแล้ว ส่วน 3 กับ 4 คู่คี่กันมาก ต้องแข่งเพื่อชิงตำแหน่งที่ 3 แล้วก็ผมเฉือนมาได้แค่แต้มเดียว ติดทีมเป็นคนสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด ปีต่อ ๆ มาก็ได้เป็นตัวแทนไป ฟิลิปปินส์ (1982), อินโดนีเซีย (1983) แล้วพอข้ามมาคลาส บี ปีนั้นไต้หวันขอเลื่อนไม่ได้จัด แล้วกลับมาประเทศไทยอีกรอบ (1985) ก่อนจะไปจัดที่ไต้หวัน (1986) รวมแล้วได้เล่นทีมชาติประมาณ 5 ปี
สไตล์กอล์ฟตัวเอง : ผมมักจะเล่นวันแรกกลาง ๆ วันที่สองตีดีมาก วันที่สามพัง วันที่สี่ ตามไม่ทัน จะเล่นแบบนี้เป็นประจำ จนคนที่เดินตามดู น้องที่ตามเชียร์ รู้กันหมด ลูกสั้น ลูกพัตต์ เมื่อก่อนเล่นได้ดีกว่าตอนนี้ สมาธิอยู่กับการเล่น จนเคยไปบอกแม่ว่า เหมือนกับสั่งได้ว่าลูกนี้ต้องลง เคยทำได้อย่างนั้นอยู่ช่วงไปแข่งที่อินโดฯ ก่อนพัตต์นี่รู้เลยว่าลูกนี้จะต้องลง ไดร์ฟถึงไม่ได้ไกลมาก แต่ก็อยู่ในแฟร์เวย์ ควบคุมได้ แต่เรื่องอารมณ์ ก็เป็นไปตามวัย ช่วงเริ่มต้น ผมซีเรียสกับเกมมาก เสียแล้วหงุดหงิด ต้องมีแค้ดดี้ที่รู้ใจ เวลามีอาการแบบไหน เขาจะต้องพูดจากับเรายังไง คอยให้กำลังใจ พูดในแง่บวก ฟังแล้วสบายใจ มีทางไป แก้ไขได้ ไม่เสียมาก แค้ดดี้มีผลกับเกมของผมเยอะมาก ขณะที่บางคน พอตีเสีย อาจจะพูดว่า ตีอย่างนี้ได้ยังไง เจอแบบนี้ก็แย่ ยิ่งหงุดหงิด เล่นไม่ได้ คู่แข่งก็มีผลในเรื่องแรงกดดัน การนับแต้มของเขาแต่เราเก็บมาคิด จริง ๆ แล้วไม่ควร ระหว่างแข่งเยาวชน ผมจริงจังมาก กดดันตัวเองตลอด ยิ่งสมัยก่อน สอนเน้นแต่เรื่องสวิง เรื่องจิตวิทยา การควบคุมสมาธิ จิตใจ ยังไม่เยอะเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
กอล์ฟอยู่ในสายเลือด : แทบทุกลมหายใจ กอล์ฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ก่อนตี ก่อนแข่ง ผมจะลูกออกมาดู มาเรียง มาคัด ไม้ถึงแม้จะเก่า ก็เช็ดทำความสะอาด ถุงกอล์ฟก็เก็บเงินซื้อเอง เคยได้รางวัลเป็นรองเท้าผู้ใหญ่ ผมใส่ไม่ได้ ก็ขอไปเปลี่ยนเป็นถุงกอล์ฟ เพิ่มเงินเอง
อาชีพในฝัน : สมัยเด็ก ๆ ก็อยากเป็นหมอตามพ่อ จนกระทั่ง ม.3 พี่ชาย จบ ม.6 คุณน้าที่เป็นทหารอากาศ มาแนะนำว่า จบ ม.6 ให้ไปสอบเข้านายเรืออากาศ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อจบมา จะทำงานอะไรได้บ้าง มีลักษณะอย่างไร แล้วเครือญาติทางฝั่งคุณตา ส่วนใหญ่เป็นทหารอากาศ เป็นนักบิน คุณแม่ก็โตขึ้นมาในแวดวงทหาร ใกล้ชิดกับทหารเหล่าต่าง ๆ แต่น้ำหนักมาลงที่ทหารอากาศ ทำให้ผมซึมซับถึงลักษณะการทำงาน การใช้ชีวิต ใช้ความสามารถ การขับเครื่องบิน คุณลุงก็เป็นกัปตัน ลูกของลุงก็เรียนการบิน เวลาไปบินต่างประเทศ ก็จะมีของแปลก ๆ ของสะสม มาให้เห็นอยู่เป็นประจำ ส่วนพี่ชายก็ชอบต่อโมเดล สะสมเครื่องบิน ทำให้ผมซึมซับทางทหารอากาศมาเยอะมาก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจ
อนาคตต้องเลือก : ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เคยมีทางเลือกเหมือนกัน รุ่นพี่บางคนก็เอาดีทางสายกอล์ฟ ไปเรียนต่างประเทศไปเลย แต่ในยุคผมยังไม่บูม ณ ตอนนั้นยังไม่ชัดเจนว่าถ้าไปเป็นโปรกลับมาจะรอดมั้ย ถ้าผมเลือกทางนี้ ก็น่าจะไปได้เหมือนเพื่อน ๆ แต่อย่างน้อยต้องมีปริญญาติดตัว สมัยนั้นบ้านเรายังไม่มี ต้องไปเรียนต่างประเทศ แต่ผมก็ไม่ได้เลือก พ่อกับแม่เลยบอกว่า ให้กอล์ฟเป็นความสามารถเสริมไปละกัน ถ้าเราได้ทำงานอย่างอื่น แต่มีฝีมือทางด้านกอล์ฟด้วย ก็ควบคู่กันไปได้ ต้องมีอาชีพหลัก
โรงเรียนเตรียมทหาร : กลับมาเปิดรับนักเรียนที่จบ ม.4 เป็นรุ่นแรก ซึ่งตรงกับเวลาของผมพอดี ก่อนนั้น ในหัวเคยมีทางเลือกว่า จะเป็นหมอหรือทหาร คุณแม่ก็ส่งเสริมทั้งสองทาง ให้เลือกได้เอง และผมก็ขอเลือกทหารอากาศอย่างเดียวเท่านั้น ทางด้านวิชาการไม่น่าจะมีปัญหา แต่มีความกังวลว่า ผมตัวเล็ก จะทำได้หรือเปล่า ก็หันไปฟิตร่างกาย เพื่อจะให้ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ก่อนหน้านี้ก็เล่นกีฬาฟิตมาระดับนึง แต่พอเตรียมสอบ ต้องฟิตเพิ่มอีกเป็นทวีคูณ
ตัดสินใจเด็ดขาด : พอผลออกมาว่าสอบได้เรียบร้อย คุณแม่ก็กลัวอยู่เหมือนกันว่าผมจะไหวมั้ย เข้าไปแล้วจะถอนตัวหรือเปล่า โรงเรียนก็จะให้ไปเอาใบรับรอง นั่นคือต้องลาออก ตอนนั้นเกิดมีความลังเล ว่าจะวางเงินค่าเทอมโรงเรียนเก่าไว้ก่อน เผื่อเรียนไม่ไหวจะได้กลับมา แต่พ่อบอกว่า ไม่ได้ ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ถ้าไปแล้วต้องไปเลย ไม่มีการลังเล ไม่มีการหันหลังกลับ ผมก็บอกว่า งั้นเดินหน้าเต็มที่
อีกเหตุผลที่เลือกทหารอากาศ : ก่อนหน้านั้นคุณแม่เคยพาไปดูโรงเรียนนายเรืออากาศ แล้วเห็นกรีนกอล์ฟที่นั่น คุณแม่บอกว่าเขาเอาไว้ให้นักเรียนมาซ้อม ในความคิดผม ดูเหมือนว่า ทหารอากาศ น่าจะส่งเสริมกอล์ฟมากกว่าเหล่าอื่น แล้วผมก็เคยเล่นที่สนามงู (กานตรัตน์), สนามธูปะเตมีย์ จนแว่บนึงแอบคิดว่า ถ้าเป็นนักกอล์ฟเข้าไปเรียน น่าจะเข้าทาง ได้รับการส่งเสริม แต่พอเข้าไปจริง ๆ กรีนที่เคยเห็นนั้น ไม่เคยได้ไปเล่นเลย อยู่ยังไงก็อยู่ยังงั้น โชคดีที่เข้าไปแล้วมีชมรมกอล์ฟ ในรุ่นผมก็มีผมคนเดียว ทั้งโรงเรียนมีไม่กี่คน
เว้นกอล์ฟเพราะหน้าที่ : ช่วงเรียนทหารก็ยังได้ตีกอล์ฟบ้าง แต่พอเข้าไปเป็นนักบิน ไปมุ่งเรื่องการบินเยอะมาก กอล์ฟก็ห่าง บางช่วงไม่ได้เล่นเลย จนคิดจะขายไม้กอล์ฟทิ้ง ลูกก็ไม่ได้เล่น ครอบครัวก็ไม่ได้เล่น เราเอาไปตีคนเดียวคงไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาอยู่กับครอบครัว จนคิดจะยกให้คนอื่นไปเลย
ค้นพบกิจกรรมความสุข : ครั้งหนึ่งผมได้ไปบินกับรุ่นน้อง ที่เขามีไลฟ์สไตล์ของตัวเอง พอบินไปถึง เสร็จภารกิจ เข้าโรงแรม เขาก็เอาหน้ากากไปดำน้ำ ไปเที่ยว ทำในสิ่งที่เขาชอบ มีความสุขกับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่ว่าง ก่อนจะกลับมาทำงานอย่างสดชื่น ผมก็ได้ไอเดียบ้าง แว่บแรกคิดว่าเราน่าจะตีกอล์ฟได้ เอาไม้ชุดเก่ามาลอง ก็ยังตีได้ เลยกลับไปเล่นกับเพื่อน ๆ จนโดนแซวว่า วงน่ะน่ากลัว แต่อุปกรณ์ไม่น่าจะไหว ทำให้ผมต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งชุด แล้วเริ่มกลับมาจริงจัง อีกเหตุผลที่กลับมาเล่นอีกทีเพราะเริ่มว่างมากขึ้น ลูกเริ่มโต มีเพื่อนชวนไปตี แต่ถ้าจะกลับมาตี ต้องเล่นจริงจัง ต้องไปให้ถึงเป้า ต้องตีให้ดีไปเลย กลุ่มเพื่อนเล่นกอล์ฟก็เริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ บางทีมีคนที่รู้ว่าเราเคยเป็นนักกอล์ฟเยาวชนมาก่อน เข้ามาถามเรื่องกฎ กติกา เราก็รู้แบบกระท่อนกระแท่น จนคิดว่า ต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ มากกว่านี้ ไหน ๆ ก็กลับมาแล้ว เราเคยผ่านมาหมดแล้ว จะมาเป็นแค่วีคเอนด์กอล์ฟเฟอร์มันไม่พอ
เทิร์นโปร : ผมเริ่มกลับมาจริงจังกับกอล์ฟ เพราะมีเวลามากขึ้น กลับมาทุ่มเทได้ เพราะรู้ว่าเส้นทางจะไปยังไง ตอนแรกไม่ได้คิดสอบโปร แต่พอได้ข้อมูล มีคนให้แนะนำ แทนที่จะเป็นซีเรียสกอล์ฟเฟอร์ธรรมดา ถ้าหากมีโอกาสไปให้ถึงตรงนั้นได้ ก็ควรไป เลยฟิตตัวเอง ระหว่างรอสอบ ก็ไปเรียนโค้ช ช่วงสอบเกิดอาการบาดเจ็บ จนต้องขอเลื่อนไปก่อน ระหว่างนั้น ก็เข้าไปอบรมของ อ.วิชิต บัณฑุวงษ์ และสอบทิชชิ่งโปรผ่านเมื่อกลางปี 2017
ดูแลลูก : เมื่อสอบโปรผ่าน เหมือนมีใบรับรองไว้ เพื่อเบิกทาง การันตีว่า เรามีความสามารถระดับนึง การสอบได้ อาจจะสอนไม่ได้ก็มี แต่ก็ถือว่าตีได้สกอร์ผ่านเกณฑ์ และการได้อบรมหลักสูตรต่าง ๆ อย่างน้อยก็นำไปดูแลลูกตัวเองได้มากขึ้น วิธีของผมคือ ปล่อยเขาตามธรรมชาติ ให้เป็นตัวของเขาเอง อาจจะมีกิจกรรมอย่างอื่นประกอบ จะเล่นเกมส์บ้าง ก็ต้องปล่อย ถ้าบังคับให้อยู่กับกอล์ฟอย่างเดียว เป็นการฝืน และถ้าบังคับมากเกินไป เขาอาจจะไม่เอาเลยก็ได้ ที่ทำมาจะเสียเปล่า พยายามเอากอล์ฟสอดแทรกเข้าไป เท่าที่เขาจะรับได้ เราเปิดช่องทางต่าง ๆ ให้ แต่ให้เขาเป็นคนเลือก การซ้อม การแข่ง ก็จัดแบบหลวม ๆ ไว้ให้
เป้าหมาย : ในระยะยาวก็คือ เขาน่าจะเป็นนักกอล์ฟฝีมือดีคนนึง ถึงจะขึ้นไปไม่ถึงทัวร์ริ่งโปรก็ไม่เป็นไร หากมีแต้มต่อตัวเดียว ก็ต่อยอดไปสอนเป็นอาชีพได้ ซึ่งแนวโน้มเด็กที่เล่นมาตั้งแต่เล็ก น่าจะทำได้อยู่แล้ว อยากให้กอล์ฟอยู่ในชีวิต ควบคู่ไปกับเขา อยากให้เป็นความสามารถพิเศษติดตัว ให้รู้ว่าเล่นกอล์ฟเป็นยังไง นักกอล์ฟที่ดีเป็นยังไง ส่วนฝีมือก็ตามประสบการณ์ของเขา เราไม่บังคับ อาจจะมีโพรไฟล์ต่อยอดในการเรียนมหาวิทยาลัย หรือทำงาน และในอนาคต หากโชคดีรักกอล์ฟจริงจัง ตีดีขึ้นด้วยสมรรถภาพของตัวเอง จนอาจจะชอบ หรือกลายเป็นชีวิตของเขาไปเลยก็ได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน กว่าครึ่งของชีวิตเรา จะเป็นเรื่องกอล์ฟ ถ้าเขาอยู่กับตรงนี้ได้ พ่อก็ทำอยู่ จะต่อยอด เป็นชมรม เป็นสถาบันสอน
นิยามกีฬา : แพ้ชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งที่เหนือกว่าคือ ต้องทำตามกฎ ยอมรับกติกาให้ได้ เล่นแล้วต้องสร้างเพื่อน ไม่ใช่ทำลายเพื่อน มีคอนเนคชั่น มีสายสัมพันธ์ที่ดี ต้องมีความสุข… เล่นกีฬา ต้องทำให้คนรัก ไม่ใช่ทำให้คนเกลียดครับ.
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2537-2548 นักบินกองทัพอากาศ
พ.ศ. 2548-2555 นักบิน AIRBUS 330-300 บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)
พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน กัปตันเครื่องบิน AIRBUS 320-200 บริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด
ประวัติด้านกีฬากอล์ฟ
-GOLF INSTRUCTOR THAILAND PGA Q-SCHOOL 2017
-GOLF COACH LEVEL 3 FROM SAT & TGA 2018
-TGA REFEREE 2017
– R&A LEVEL II RULES SCHOOL 2017
– GOLF MANAGEMENT PROGRAM 2017 TGA